คิดใหม่ ตอน คนไข้มาผิดนัด ดีกว่าขาดการรักษา
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 9 กรกฎาคม 2564
- Tweet
การรักษาโรคเรื้อรังต้องมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง แพทย์ต้องมีการนัดมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุกๆ 3 เดือน เพื่อประเมินอาการ ตรวจเลือด และติดตามอาการว่ามีผลแทรกซ้อนจากโรคหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ก็มาติดตามการรักษาตามนัด เพราะถ้ามาตามนัด การตรวจกับแพทย์ก็เป็นไปด้วยความสะดวก แต่ถ้ามาผิดนัด ไม่ตรงนัด ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวก เช่น ได้ตรวจเป็นคิวหลังๆ เนื่องจากต้องตรวจผู้ป่วยที่มาตามนัดก่อน บางครั้งถูกบ่น หรือต่อว่าจากเจ้าหน้าที่และหมอผู้ให้การรักษาว่าทำไมมาไม่ตรงนัด หรือไม่ได้ตรวจกับหมอคนเดิม ดังนั้น ผู้ป่วยที่ผิดนัดส่วนหนึ่งจึงมีความกังวลใจ และไม่กล้ามาตรวจอีกเลย หรือบางโรงพยาบาลก็ออกแบบระบบไว้ว่า ผู้ป่วยผิดนัดมากกว่า 6 เดือนก็ต้องเริ่มตรวจกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ยิ่งทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องลดน้อยลงไปอีก สุดท้ายผู้ป่วยเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ผมอยากให้เรามาคิดใหม่ คิดทบทวนแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มาผิดนัดกันครับ ลองคิดใหม่ ดังนี้
1. โรงพยาบาลต้องมีศูนย์ประสานงานที่ให้ผู้ป่วยกลุ่มที่มาผิดนัดนั้นได้มาติดต่อ เพื่อให้ได้ทำการรักษาที่เหมาะสมในครั้งนั้น และนัดหมายใหม่ให้ได้ทำการรักษาต่อเนื่องกับแพทย์ทีมเดิม
2. เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แพทย์ พยาบาลต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติกับผู้ป่วยมาผิดนัดว่าเป็นคนที่ไม่ปฏิบัติตามกูฏระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล ส่งผลให้คนอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามแนวทางได้รับผลกระทบ ต้องคิดใหม่ว่าทำไมผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึงมาผิดนัด และจะหาทางช่วยแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยกลุ่มผิดนัดอย่างไร อย่าลืมว่าถึงอย่างไรผู้ป่วยในภาพรวมทั้งหมด็มีจำนวยเท่าเดิม ไม่ได้มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น
3. โรงพยาบาลต้องให้คำแนะนำถึงวิธีการเข้ารับการรักษาถ้ารู้ว่าไม่สามารถมาตรวจรักษาตรงตามวันที่นัดไว้ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
4. โรงพยาบาลต้องมีระบบการให้คำแนะนำกับผู้ป่วย ญาติที่มารับการรักษาไม่ตรงนัดว่า ประโยชน์ของการมาตรวจตรงตามนัดเป็นอย่างไร ถ้ามาไม่ตรงตามนัดต้องทำอย่างไรบ้าง ครั้งต่อไปควรทำอย่างไร
5. โรงพยาบาลควรศึกษาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมาตรวจตรงตามนัด เพื่อจะได้ออกแบบระบบการให้บริการที่ตอบสนองต่อผู้ป่วยได้มากที่สุด และไม่รบกวนต่อระบบบิการปกติด้วย
การคิดใหม่ คิดทบทวน คิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือลองเปลี่ยนให้เราไปเป็นผู้ป่วยหรือญาติบ้าง อาจทำให้เราคิดพัฒนาระบบบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยได้ มากกว่าการออกแบบระบบที่คิดโดยเอาความสะดวกของผู้ให้บริการเป็นหลักครับ