คิดใหม่ ตอน นักศึกษาแพทย์ทำไมไม่มีวันหยุด

คิดใหม่-1

      

คิดใหม่ ตอน นักศึกษาแพทย์ทำไมไม่มีวันหยุด

ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 เมื่อปี 2527 ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งในขณะนั้นเป็น 1 ใน 3 ของคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค การเรียน การสอนต้องบอกว่าเข้มข้นครับ ช่วงปีที่ 1 เรียนรวมกับนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่คณะวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนใหญ่ แต่พอขึ้นปีที่ 2 ทุกอย่างเปลี่ยนหมดครับ มาเรียนที่คณะแพทย์เกือบทั้งหมด เหลือเฉพาะวิชาภาษาพละศึกษาเท่านั้นที่เรียนนอกคณะแพทย์ การเรียนก็อึดมากครับ ตั้งแต่ 8.00-17.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ปิดเทอมก็แค่ 2 สัปดาห์ แต่ที่ว่าหนักหน่วงแล้วขึ้นปีที่ 4 คราวนี้หนักมากขึ้นอีกครับ เรียนทุกวันตั้งแต่ 6.00 น. ถึงเมื่อไหร่ไม่มีกำหนดครับ ขึ้นกับเสร็จงานหรือไม่ ปีที่ 5 ค่อยเริ่มชิน ต้องขอบอกว่าเราทุกคนเรียนติดต่อกัน 48 สัปดาห์ไม่มีปิดเทอมนะครับ ไม่มีหยุดเสาร์ อาทิตย์ ต้องมาดูคนไข้ทุกวัน แล้วก็ต้องอยู่เวรด้วยประมาณทุก 3 วันโดยประมาณ แต่พอเป็นปีที่ 6 คราวนี้ไม่ต้องคิดแล้วครับว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร คือตั้งแต่เช้าจนเย็นอีกวันนะครับ ถ้าอยู่เวร ต้องสามารถอึด อดทนได้ 36 ชั่วโมง แต่เราทุกคนก็ผ่านมาด้วยดี พอจบเป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 1-3 ทุกคนก็สามารถให้การดูแลรักษาคนไข้ได้ทุกรูปแบบ สมัยก่อนไม่มีแพทย์พี่เลี้ยงครับ

ที่ผมเล่ามายาวก่อนเข้าเรื่องที่จะชวนคิดใหม่ คิดทบทวนวันนี้ ก็เพราะอยากบอกว่าการทำงานหนัก การเรียนหนัก การทำอะไรที่มาก มันยิ่งได้ประโยชน์ครับ สร้างเสริมประสบการณ์มากมาย ทำให้เรามีความมั่นใจในการรักษาผู้ป่วย ยิ่งพอจบออกมาแล้ว ยิ่งคิดถึงอาจารย์มากๆ เลย รู้อย่างนี้สมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ตั้งใจเรียน ขอทำการผ่าตัดหรือร่วมรักษากับพี่ๆ ให้มากกว่านี้ก็จะดี เพราะจบมาแล้วเราต้องทำเองให้ได้มากที่สุด ประเด็นที่ผมชวนคุย ชวนคิดใหม่ในวันนี้ว่า ทำไมนักศึกษาแพทย์ถึงต้องเรียนหนักขนาดนี้ เรียนแบบไม่มีวันหยุด แล้วก็ไม่มีหยุดปิดเทอมกลางด้วย คือ ยาวรวดเดียว 48 สัปดาห์จาก 52 สัปดาห์ต่อปี ลองคิดใหม่ดูครับว่าการเรียนแบบนี้ของนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 4,5,6 นั้น ควรเป็นอย่างไร ลองคิดใหม่ คิดทบทวนกันครับ

1. การเรียนหนักแบบนี้มีประโยชน์แน่นอนครับ ผมยังคิดอย่างงั้นจริง แต่ถ้าหนักลดลงบ้าง เช่น ไม่ต้องมาตั้งแต่เช้า เอาแบบนักศึกษาคณะอื่นๆ เช่น 8.00 น. ได้หรือไม่ ก็ต้องกลับมาดูใหม่ครับ ว่าที่นักศึกษาแพทย์มาแต่เช้ามากๆ เพราะต้องมาทำแผล ทำหัตถการต่างๆ มาตรวจประเมินคนไข้จำนวนมาก เพื่อให้ทุกอย่างต้องเสร็จก่อนที่อาจารย์แพทย์จะมาให้การดูแล หรือให้การปรึกษา ถ้าจะให้มาสายกว่านี้ก็คงจะต้องทำให้จำนวนผู้ป่วยนั้นลดลง ซึ่งก็ทำไม่ได้อีก หรือ

2. ต้องมีการกำหนดจำนวนผู้ป่วยต่อนักศึกษาแพทย์ ซึ่งน่าคิดใหม่เหมือนกัน แต่ก็มีคำถามขึ้นมาอีก คือ แล้วผู้ป่วยที่มีจำนวนมากแล้วไม่มีนักศึกษาแพทย์ร่วมดูแลนั้น จะให้แพทย์ดูแลเพียงพอหรือไม่ แล้วนักศึกษาแพทย์จะได้เรียนรู้ครบทุกโรคหรือไม่ ประสบการณ์เพียงพอหรือไม่ ก็ต้องคิดต่อครับ

3. วันหยุดควรมาเรียนหรือไม่ ผมคิดว่าต้องมา เพราะคนไข้ก็มีทุกวันไม่เว้นวันหยุด และถ้าวันหยุดไม่มา 2 วันนั้น ก็เท่ากับประสบการณ์หายไป 2 ใน 7 เลยครับ แล้วถ้ามีการกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยต่อนักศึกษาแพทย์อีก ประสบการณ์ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก แต่ที่สำคัญ คือ การเรียนในวันหยุดกับการเรียนในวันราชการนั้นมีความต่างกันในหลายๆ ด้าน ความพร้อม จำนวนผู้ป่วย จำนวนเจ้าหน้าที่ กลุ่มอาการของผู้ป่วย ความรีบด่วน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากในวันราชการ หรือวันหยุดมาเรียนเฉพาะนักศึกษาแพทย์ที่อยู่เวร แต่ก็จะเป็นภาระที่หนักหน่วงมากเลย เพราะจำนวนผู้ป่วยต่อนักศึกษาแพทย์ก็จะมากเกินกว่าที่จะให้การดูแลได้แน่นอน ผมคิดทบทวน คิดใหม่อย่างไรก็คิดว่าอย่างไรนักศึกษาแพทย์ก็คงต้องมาเรียนในวันหยุด ซึ่งพอส่งเวร ก็กลับไปพักผ่อนได้ ซึ่งก็ไม่น่าจะเกินครึ่งวันเช้าเท่านั้น

4. นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 มีลักษณะการเรียนเหมือนการทำงานของแพทย์ฝึกหัด ควรได้ค่าตอบแทนหรือไม่ การเป็นนักศึกษาแพทย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในแต่ละปี เป็นค่าใช้จ่ายด้านการเรียนอยู่แล้ว สังเกตเห็นว่าค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาแพทย์นั้นไม่สูงเลย ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และยังเป็นนักศึกษา อยู่ในระหว่างการเรียน ก็คงไม่เหมาะที่จะได้ค่าตอบแทน

5. การเรียนแพทย์นั้นต้องพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะด้านต่างๆ และวิธีคิดในการทำงานเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความลำบาก ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ให้หายหรือลดลง รวมทั้งทัศนคติที่มีต่อการทำงาน การแสดงออก ซึ่งการเรียนด้วยการลงมือทำ การได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากแพทย์รุ่นพี่ ครูแพทย์ รวมทั้งทีมสุขภาพ การเรียนแพทย์ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนนั้น คงต้องหนักอย่างแน่นอน

นักเรียนที่ตั้งใจจะมาเรียนแพทย์นั้นต้องคิดใหม่ คิดทบทวนหลายๆ รอบว่ามีความรัก ความชอบ ความสุขในการเรียนแพทย์ และพร้อมเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคต