คาร์เบนอกโซโลน (Carbenoxolone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะมอกซิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- แผลร้อนใน (Aphthous ulcer)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคตับ (Liver disease)
บทนำ
ยาคารเบนอกโซโลน (Carbenoxolone) เป็นสารอนุพันธุ์ของกรดที่มีชื่อว่า Glycyrrhetinic acid (กรดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสาร Prostaglandin สารที่เกี่ยวข้องกับการหลังน้ำย่อยของ กระเพาะอาหาร ลำไส้ และตับอ่อน) สรรพคุณทางยาที่นำมาใช้ในวงการแพทย์ได้แก่ ช่วยรักษาแผลอักเสบของหลอดอาหาร(หลอดอาหารอักเสบ)อันมีสาเหตุจากอาการกรดไหลย้อนรวมถึงแผลในปาก และในบางงานวิจัย ยังกล่าวถึงการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก(แผลเปบติค)อีกด้วย
ยาคาร์เบนอกโซโลนดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหารของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้เป็นอย่างดีและเป็นปริมาณมาก ยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับน้ำดีและขับออกมากับอุจจาระ รูปแบบที่มีจัดจำหน่ายจะเป็นทั้งชนิดรับประทานและเจลทาแผลในปาก โดยมีบริษัทข้ามชาติเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสียเป็นส่วนใหญ่
คาร์เบนอกโซโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคาร์เบนอกโซโลนมีสรรพคุณ/ข้องบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะกรดไหลย้อน (GERD)
- รักษาแผลในปาก (Mouth ulceration) เช่น แผลร้อนใน
คาร์เบนอกโซโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคาร์เบนอกโซโลนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการสร้างเมือกจากเยื่อเมือก (Mocosal barrier) ขึ้นมาปกคลุมตั้งแต่ใน ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ โดยเมือกเหล่านี้จะทำหน้าที่ป้องกันกรดและน้ำย่อยไม่ให้ทำลายเนื้อเยื่อบุภายในอวัยวะดัง กล่าว
คาร์เบนอกโซโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์เบนอกโซโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเจล ขนาดความแรง 2% (ตัวยา 20 มิลลิกรัม/ยาเจล 1 กรัม)
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด
คาร์เบนอกโซโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคาร์เบนอกโซโลนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับโรคกรดไหลย้อน (GERD: Gastroesophageal reflux disease): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
ข. สำหรับแผลในปาก: เช่น
- ผู้ใหญ่: ทายาขนาดความเข้มข้น 2% (ตัวยา 20 มิลลิกรัม/ยาเจล 1 กรัม) ในบริเวณที่เป็นแผลวันละ 4 ครั้ง
อนึ่ง:
- ในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคาร์เบนอกโซโลน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก / หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์เบนอกโซโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน/ใช้ยาคาร์เบนอกโซโลน สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
คาร์เบนอกโซโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์เบนอกโซโลนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดอาการบวมน้ำ
- ตรวจเลือดพบระดับเกลือโซเดียมในเลือดสูง และระดับของเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- น้ำหนักตัวขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้คาร์เบนอกโซโลนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้คาร์เบนอกโซโลน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalaemia) ตรวจพบจากการตรวจเลือด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยากลุ่ม Cardiac glycolsides
- ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี รวมถึงเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 20 กิโลกรัม
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
- หากพบการติดเชื้อของแผลในปาก ต้องใช้ยารักษาอาการติดเชื้อร่วมกับยาทาปากคาร์เบนอกโซโลนด้วย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์เบนอกโซโลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คาร์เบนอกโซโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
คาร์เบนอกโซโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาคาร์เบนอกโซโลน ร่วมกับ ยา Amiloride และยา Spironolactone จะเกิดการต้านฤทธิ์ซึ่งกันและกัน มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาดังกล่าวด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงและไม่ใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
- การใช้ยาคาร์เบนอกโซโลน ร่วมกับ กลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics เช่น Hydrochlorothiazide ) จะเร่งให้ร่างกายขาดเกลือโพแทสเซียมได้เร็วยิ่งขึ้น การใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์และควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัด
ควรเก็บรักษาคาร์เบนอกโซโลนอย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์เบนอกโซโลน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
คาร์เบนอกโซโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์เบนอกโซโลน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Duogastrone (ดูแก๊สโตรน) | Sanofi-Aventis |
Herpesan (เฮอร์พีแซน) | Rowa |
Carbelone (คาร์เบโลน) | Royal, Taiwan |
Carbosan (คาร์โบแซน) | Rowa Pharmaceuticals |
Carboxe (คาร์บอกซ์) | Shiteh Organic |
Copu (โคพู) | Winston |
Herpesan (เฮอร์พีแซน) | Rowa |
Rowadermat (โรวาเดอร์แมท) | Rösch & Handel |
Rowagel (โรวาเจล) | Rowa |
Sanodin (แซโนดิน) | Ern |
บรรณานุกรม
1. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fcarbenoxolone%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage[2020,Nov14]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Carbenoxolone[2020,Nov14]
3. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/780088[2020,Nov14]
4. http://www.drugs.com/international/carbenoxolone.html [2020,Nov14]
5. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=129&drugName=&type=9 [2020,Nov14]
6. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fPhilippines%2fdrug%2finfo%2fRowagel%2f%3ftype%3dfull#Indications [2020,Nov14]
7. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/320112 [2020,Nov14]
8. http://www.catalog.md/drugs/duogastrone.html[2020,Nov14]