คาร์วีดิลอล (Carvedilol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 มีนาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- คาร์วีดิลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- คาร์วีดิลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์วีดิลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์วีดิลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คาร์วีดิลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาร์วีดิลอลอย่างไร?
- คาร์วีดิลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาร์วีดิลอลอย่างไร?
- คาร์วีดิลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- โรคหืด (Asthma)
บทนำ
ยาคาร์วีดิลอล (Carvedilol) เป็นยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) ที่นำมาใช้รักษาอาการหัวใจล้มเหลวรวมถึงภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานที่มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและผ่านเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 25 - 35% จากนั้นตัวยาเกือบทั้งหมดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ตับเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาคาร์วีดิลอลอยู่ตลอดเวลา ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 - 10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ให้ออกมากับปัสสาวะและอุจจาระ
การออกฤทธิ์ของยาคาร์วีดิลอลจะมีผลทำให้อัตราการเต้นรวมถึงการบีบตัวของหัวใจลดลงซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยาคาร์วีดิลอลยังออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกและเป็นผลให้ความดันโลหิตลดลง
แพทย์/เภสัชกร/พยาบาลจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาคาร์วีดิลอลหลังอาหารเพื่อชะลอการดูดซึมซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำที่อาจเกิดได้หลังรับประทานยานี้ และแพทย์มักเริ่มการใช้ยานี้ในขนาดต่ำๆก่อนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย (อ่านเพิ่มเติมเรื่องขนาดยา ในหัวข้อ ขนาดการใช้ยา) ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อการตรวจร่างกาย และแพทย์อาจมีการปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น การหยุดใช้ยานี้เองในทันทีหรือการลืมรับประทานยานี้ในแต่ละวันสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบของโรคให้รุนแรงขึ้นได้
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางกลุ่มอาจไม่สามารถใช้ยาคาร์วีดิลอลได้ หากมีประวัติหรืออาการป่วยอื่นๆร่วมด้วยดังนี้
- เป็นผู้ป่วยโรคหืด
- มีอาการทางโรคลิ้นหัวใจในระดับต่างๆ (Second - third degree AV block) หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติกลุ่ม Sick sinus syndrome หรือมีอาการหัวใจเต้นช้าในระดับรุนแรง
- ป่วยด้วยโรคตับขั้นรุนแรงมาก
- ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาคาร์วีดิลอล
นอกจากนั้นยังมีการเจ็บป่วยอื่นๆที่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้งก่อนที่จะมีการสั่งจ่ายยาคาร์วีดิลอลเช่น มีอาการของโรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการป่วยของโรคไต โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ เนื้องอกฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่สามารถพบเห็นได้ขณะที่ใช้ยาคาร์วีดิลอลได้แก่ วิงเวียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย ตาแห้ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ระหว่างการใช้ยาคาร์วีดิลอลแล้วกลับพบอาการใบหน้าบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เหล่านี้ถือเป็นอาการรุนแรงจากการแพ้ยานี้ ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ยาคาร์วีดิลอลเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยอีกหนึ่งรายการโดยระบุเงื่อนไขการใช้สำหรับบำบัดอาการหัวใจล้มเหลวชนิด Systolic heart failure และอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไปซื้อหายานี้มารับประทานเองเป็นอันขาด
คาร์วีดิลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคาร์วีดิลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
- รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- บำบัดอาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
- บำบัดภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานผิดปกติ (Left ventricular dysfunction)
คาร์วีดิลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคาร์วีดิลอลเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและต่อหลอดเลือดดังนี้
ก. ต่อหัวใจ: ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานในบริเวณตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อเรียกว่า Beta adrenergic receptors ที่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การหดตัวและการเต้นของหัวใจลดลง ถือเป็นกลไกการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
ข. ต่อหลอดเลือด: มีการออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับในผนังหลอดเลือดที่มีชื่อว่า Alpha1-receptors ส่งผลให้หลอดเลือดคลายตัว เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และเป็นที่มาของการลดความดันโลหิตตามสรรพคุณ
คาร์วีดิลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์วีดิลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 6.25, 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
คาร์วีดิลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคาร์วีดิลอลมีขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดอาการโรคและความรุนแรงของอาการ ขนาดยานี้จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น
ก. สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 3.125 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าทุกๆ 2 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัว 85 กิโลกรัมขึ้นไปรับประทานยาได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง และผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 85 กิโลกรัมลงมารับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
ข. สำหรับภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 6.25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาให้รับประทาน 6.25 - 25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิ กรัม/วัน
*อนึ่ง
- เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กยังมิได้ถูกระบุในทางคลินิกด้วยยังไม่ทราบผลข้างเคียงที่แน่ชัด การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- เพื่อการดูดซึมและการออกฤทธิ์ที่ดีควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
- รับประทานยานี้ตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์เสมอ ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองในทันทีถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการป่วยหายดีแล้ว
- ตรวจสอบความดันโลหิตระหว่างที่ใช้ยาคาร์ดีวิลอลเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- กรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเช่น ผ่าตัดต้อกระจก ควรต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบและแพทย์อาจต้องเว้นการใช้ยานี้สักระยะหนึ่งด้วยตัวยามีผลต่อรูม่านตาของผู้ป่วย
- ออกกำลังกายตามความเหมาะสมหรือตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วยเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์ดีวิลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์ดีวิลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคาร์ดีวิลอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาคาร์ดีวิลอลตรงเวลา
คาร์วีดิลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์วีดิลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ มีภาวะหัวใจเต้นช้า เจ็บหน้าอก บวมตามร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะไมเกรน การรับรู้อุณหภูมิของผิวหนังผิดปกติ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจพบอาการไอ หอบหืด หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผลต่อการทำงานของไต: เช่น ตรวจปัสสาวะพบมีโปรตีนปนในปัสสาวะ (Albuminuria/Proteinuria)
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวในเลือดน้อยกว่าปกติ ภาวะเม็ดเลือดทุกชนิดลดลง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักตัวเพิ่ม คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ผลต่ออารมณ์ความรู้สึก: เช่น ง่วงนอน กระสับกระส่าย ซึมเศร้า
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดตะคริว ปวดข้อ มีอาการโรคเกาต์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า การมองเห็นภาพผิดปกติ
มีข้อควรระวังการใช้คาร์วีดิลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์วีดิลอลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองในทันที
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด โรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อก/อาการช็อก
- คอยตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอระหว่างที่ใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์
- หากพบอาการแพ้ยานี้ให้หยุดใช้ยานี้ทันทีและรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ออกกำลังกาย รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ พักผ่อน ตามคำแนะนำของแพทย์
- ระหว่างการใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์วีดิลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คาร์วีดิลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์วีดิลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาคาร์วีดิลอลร่วมกับยารักษาอาการหอบหืดเช่น Albuterol (ยาขยายหลอดลม) พบว่ายาคาร์วีดิลอลอาจทำให้มีภาวะหลอดลมตีบลงจนส่งผลให้การรักษาของยา Albuterol ด้อยประสิทธิภาพลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาคาร์วีดิลอลร่วมกับยา Epinephrine จะทำให้ร่างกายผู้ป่วยตอบสนองต่อยา Epine phrine น้อยลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาคาร์วีดิลอลร่วมกับยา Verapamil อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆเช่น อ่อนแรง ปวดศีรษะ เป็นลม บวมตามปลายมือและเท้า น้ำหนักตัวเพิ่ม หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หัวใจ เต้นแผ่วและหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามรับประทานยาคาร์วีดิลอลร่วมกับการดื่มสุราด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน เป็นลม และชีพจรเต้นผิดปกติ
ควรเก็บรักษาคาร์วีดิลอลอย่างไร?
อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บยาคาร์วีดิลอลอยู่ในช่วง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือควรเก็บยาในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
คาร์วีดิลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์วีดิลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Caraten (คาราเทน) | Berlin Pharm |
Dilatrend (ไดลาเทรน) | Roche |
Tocarlol 25 (โทคาร์ลอล 25) | T. O. Chemicals |
อนึ่งยาชื่อการค้าของยาคาร์วีดิลอลในต่างประเทศเช่น Coreg, Coreg CR
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carvedilol [2016,Feb27]
- http://www.drugs.com/pro/carvedilol.html#Section_14.2 [2016,Feb27]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/29#item-8398 [2016,Feb27]
- http://www.drugs.com/carvedilol.html [2016,Feb27]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/carvedilol-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Feb27]