คาร์บีโทซิน (Carbetocin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- คาร์บีโทซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คาร์บีโทซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์บีโทซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์บีโทซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- คาร์บีโทซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาร์บีโทซินอย่างไร?
- คาร์บีโทซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาร์บีโทซินอย่างไร?
- คาร์บีโทซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
- ออกซิโทซิน (Oxytocin)
- มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ (Uterine rupture in pregnancy)
- ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด (Uterine atony)
- การผ่าท้องคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง (Caesarean section)
บทนำ
ในวงการสูติศาสตร์ ตัวยา/ยาคาร์บีโทซิน (Carbetocin)จะเป็นที่รู้จักกันดี ทางคลินิกจะใช้ยานี้ยับยั้งภาวะเลือดออกจากมดลูกของมารดาหลังการผ่าท้องทำคลอด(ภาวะตกเลือดหลังคลอด) ทั้งนี้ยาคาร์บีโทซินมีโครงสร้างโมเลกุลเลียนแบบตัวยาOxytocin ทำให้ยาทั้ง 2 ตัวมีกลไกการออกฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกัน
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาคาร์บีโทซิน เป็นยาชนิดฉีด ที่ออกฤทธิ์เร็ว และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานประมาณ 1 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 40 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ
อนึ่งมีข้อควรทราบเกี่ยวกับยาคาร์บีโทซินที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์พึงระวัง เช่น
- ยาคาร์บีโทซินมีฤทธิ์ทำให้มดลูกมีการหดตัว ยานี้มีเวลาการออกฤทธิ์นานการให้ ยานี้กับผู้ป่วยควรกระทำทันทีเมื่อผ่าตัดนำตัวทารกออกจากครรภ์มารดาแล้วเท่านั้น
- ห้ามใช้ยานี้กระตุ้นให้คลอดเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจ เกิดขึ้น ด้วยร่างกายต้องใช้เวลาในการกำจัดยาคาร์บีโทซินยาวนานกว่ายากระตุ้น การคลอดตัวอื่น(ยาชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด) อย่างเช่นยา Oxytocin และ Dinoprostone
- ห้ามใช้ยานี้กับมารดาที่มีอาการชักด้วยครรภ์เป็นพิษ หรือมีประวัติเป็นโรคลมชัก โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ด้วยตัวยาคาร์บีโทซินจะกระตุ้นให้อาการของโรค ดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- *หากได้รับยานี้เกินขนาด จะทำให้มดลูกมีการบีบตัวรุนแรงมากจนกระทั่งอาจทำให้เกิดการปริแตก/ภาวะมดลูกแตก มีการตกเลือดหลังคลอด และทำให้ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำลง การดูแลผู้ที่ได้รับยาคาร์บีโทซินเกินขนาด แพทย์จะรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย จำกัดการให้สารละลายต่างๆกับผู้ป่วย แพทย์อาจจะใช้หัตถการที่เหมาะสมกระตุ้นให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะเพื่อกำจัดยาชนิดนี้ออกไปโดยเร็ว ในขณะเดียวกันจะคอยควบคุมสมดุลเกลือแร่ในร่างกายให้เหมาะสมใกล้เคียงกับภาวะปกติ ด้วยตัวยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะเกลือโซเดียมใน ร่างกาย/ในเลือดต่ำเกินไป ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะน้ำเป็นพิษหรือ Water intoxication”
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาคาร์บีโทซินเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
คาร์บีโทซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาคาร์บีโทซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ป้องกันการสูญเสียเลือดจากภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด (Uterine atony)
คาร์บีโทซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาคาร์บีโทซินถูกสร้างและสังเคราะห์ขึ้นมาเลียนแบบและมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) โดยยาชนิดนี้จะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Oxytocin receptor ตรงผนังกล้ามเนื้อมดลูก ส่งผลให้มดลูก/กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวเป็นจังหวะ ตลอดจนทำให้มดลูกมีความถี่ในการบีบตัวมากขึ้นเรื่อยๆ การหดรัดตัวของมดลูกนี้เอง ทำให้เกิดการปิดกั้นเส้นเลือดในโพรงมดลูกที่ฉีกขาดจากการผ่าตัดทำคลอด ทำให้เลือดหยุดไหลและลดการสูญเสียเลือดในที่สุด
*หมายเหตุ: ยานี้จะไม่ส่งผลต่อมดลูกของสตรีที่ไม่ได้มีการตั้งครรภ์
คาร์บีโทซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์บีโทซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Carbetocin ขนาด 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
คาร์บีโทซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาคาร์บีโทซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 100 ไมโครกรัม เข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าโดยใช้เวลาในการฉีดยานานมากกว่า 1 นาทีขึ้นไป โดยการให้ยาต้องกระทำทันทีหลังผ่าตัดนำเด็กออกมาจากครรภ์มารดา
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยการใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์บีโทซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บีโทซินอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
คาร์บีโทซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์บีโทซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน รู้สึกหนาวสั่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจาง
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจขัด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีผื่นคัน เหงื่อออกมาก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง การรับรสชาติอาหารผิดปกติ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล
มีข้อควรระวังการใช้คาร์บีโทซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บีโทซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา และเริ่มใช้ยานี้ทันทีเมื่อผ่าตัด นำตัวทารกออกมาจากครรภ์มารดาแล้วเท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติ ไมเกรน โรคหืด โรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ต้องตรวจสภาพร่างกายผู้ป่วยว่า ไม่มีการตกเลือดภายใน มดลูก รวมถึงควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติตลอดเวลา
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาร์บีโทซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คาร์บีโทซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์บีโทซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาคาร์บีโทซินร่วมกับ ยาDinoprostone ด้วยจะทำให้เกิดการบีบตัวของ มดลูกอย่างรุนแรง(Oxytocic effect)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาร์บีโทซินร่วมกับ ยาMethylergometrine ด้วยจะทำให้ ความดันโลหิตผิดปกติ อาจต่ำหรือสูงก็ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาร์บีโทซินพร้อมกับยาดมสลบอย่างเช่นยา Halothane เพราะจะทำให้ความดันโลหิตต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาคาร์บีโทซินอย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์บีโทซิน ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คาร์บีโทซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์บีโทซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Duratocin (ดูราโทซิน) | Ferring |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Arbecin, Carbeshot
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/carbetocin/?type=brief&mtype=generic [2018,March31]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/duratocin/?type=brief [2018,March31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbetocin [2018,March31]