คาร์บิโดปา (Carbidopa)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- คาร์บิโดปามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- คาร์บิโดปามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์บิโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์บิโดปามีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คาร์บิโดปามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาร์บิโดปาอย่างไร?
- คาร์บิโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาร์บิโดปาอย่างไร?
- คาร์บิโดปามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- เลโวโดปา (Levodopa)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- โดพามีน (Dopamine)
บทนำ
ยาคาร์บิโดปา (Carbidopa) เป็นยาที่นำมารักษาอาการของโรคพาร์กินสัน โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะไปชะลอการทำลายสารสื่อประสาทตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า Levodopa ซึ่งอยู่ในสมองของมนุษย์ ทางคลินิกเราจะพบเห็นการใช้ยาคาร์บิโดปาของสูตรตำรับที่มีตัวยา Levodopa ร่วมด้วย ทั้งนี้การใช้ยาร่วมกันจะทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาดีกว่าการใช้ยาคาร์บิโดปาเดี่ยวๆ อีกทั้งยังช่วย ลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากตัวยา Levodopa เช่น อาการคลื่นไส้ได้อีกด้วย การออกแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน แพทย์มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กเนื่องจากจะลดการดูดซึมของยาคาร์บิโดปาลงไป
อนึ่ง ก่อนการใช้ยานี้ผู้ป่วยอาจได้รับคำถามต่างๆจากแพทย์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยานี้ดังนี้เช่น
- มีประวัติของอาการทางจิตหรือไม่เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือเคยคิดฆ่าตัวตายหรือไม่
- รับประทานยากลุ่ม MAOIs หรือยาลดความดันโลหิตอยู่หรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
และเมื่อมีการสั่งจ่ายยานี้เกิดขึ้น แพทย์จะกำชับให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ตรงเวลาและเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ อาจใช้เวลา 2 - 3 อาทิตย์อาการจะเริ่มดีขึ้นจนเหมือนปกติ
สำหรับประเทศไทยเราได้จัดให้ยาคาร์บิโดปาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและระบุการให้ใช้ร่วมกับยา Levodopa เป็นลักษณะยาเม็ดร่วมดังนี้
- Levodopa 100 มิลลิกรัม + Carbidopa 25 มิลลิกรัม และ
- Levodopa 250 มิลลิกรัม + Carbidopa 25 มิลลิกรัม
การเลือกขนาดรับประทานเป็นยาแบบใดดังข้างต้นนั้นจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะคอยคัดกรองและสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะสมที่สุด
คาร์บิโดปามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคาร์บิโดปามีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน
คาร์บิโดปามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ด้วยโรคพาร์กินสันมีสาเหตุจากการขาดสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า Dopamine การรับ ประทานยานี้จะส่งผล 2 กลไกหลักคือ
- หลังรับประทานตัวยา Levodopa จะถูกเปลี่ยนไปเป็นสาร Dopamine
- ยาคาร์บิโดบาจะคอยป้องกันมิให้ตัวยา Levodopa ถูกทำลายจากเอนไซม์ในร่างกายมนุษย์
จากกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาโรคพาร์กินสันตามสรรพคุณ
คาร์บิโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์บิโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Carbidopa 25 มิลลิกรัม + Levodopa 100 มิลลิกรัม
- Carbidopa 25 มิลลิกรัม + Levodopa 250 มิลลิกรัม
- Carbidopa 12.5 มิลลิกรัม + Levodopa 50 มิลลิกรัม + Entacapone 200 มิลลิกรัม
- Carbidopa 25 มิลลิกรัม + Levodopa 100 มิลลิกรัม + Entacapone 200 มิลลิกรัม
- Carbidopa 37.5 มิลลิกรัม + Levodopa 150 มิลลิกรัม + Entacapone 200 มิลลิกรัม
- Carbidopa 50 มิลลิกรัม + Levodopa 200 มิลลิกรัม + Entacapone 200 มิลลิกรัม
คาร์บิโดปามีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคาร์บิโดปามีขนาดรับประทานสำหรับรักษาอาการพาร์กินสันซึ่งเป็นโรคของผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ขนาดยาคาร์บิโดปาเช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานคาร์บิโดปาครั้งละ 25 มิลลิกรัมร่วมกับ Levodopa วันละ 3 ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยาคาร์บิโดปาเพิ่มขึ้นครั้งละ 12.5 - 25 มิลลิกรัมของแต่ละวัน แต่ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่างเพื่อเพิ่มการดูดซึม หากพบว่ามีอาการไม่สบายในกระเพาะอาหาร - ลำไส้หลังรับประทานยานี้ให้ปรับเปลี่ยนมารับประทานยาพร้อมอาหารได้
*****หมายเหตุ:
• ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคาร์บิโดปา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บิโดปาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคาร์บิโดปาสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
คาร์บิโดปามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์บิโดปาสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการคลื่นไส้ รู้สึกไม่สาบายในกระเพาะอาหาร นอนหลับยาก ฝันร้าย ปากแห้ง รู้สึกแสบร้อนที่ลิ้น ตรวจเลือดอาจพบตับทำงานผิดปกติ
หากพบอาการที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นเช่น การควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าทำได้ไม่เหมือนปกติ มีอาการสั่น คลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง ท้องเสีย รู้สึกสับสน ซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย มีอาการชัก ไข้สูง เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นช้า ต้องรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
อนึ่ง ผู้ป่วยบางรายอาจพบเห็นอาการเหงื่อ ปัสสาวะ และ/หรือน้ำลายมีสีคล้ำเช่น เป็นสีแดง น้ำตาล หรือดำ อาการเหล่านี้เกิดจากผลข้างเคียงอย่างหนึ่งจากยานี้ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด แต่ควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ และถ้ากังวลในอาการและ/หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
มีข้อควรระวังการใช้คาร์บิโดปาอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้คาร์บิโดปา เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน (Narrow-angle glaucoma)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยากลุ่ม MAOIs ภายใน 14 วันก่อนการใช้ยาคาร์บิโดปา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองก่อนปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
- ควรรับประทานยานี้ตรงเวลาเพื่อให้ปริมาณสารสื่อประสาทในสมองคงที่และมีระดับความเข้มข้นอย่างสม่ำเสมอ
- ระหว่างการใช้ยานี้แพทย์จะมีการตรวจร่างกายเกี่ยวกับระบบการทำงานของหัวใจ ตับ ไต เป็นระยะๆว่ายังทำงานเป็นปกติหรือไม่
- อาการป่วยพาร์กินสันจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์หลังใช้ยานี้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษาใหม่
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบเช่น วิตามินรวมที่เสริมธาตุเหล็ก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหารที่มีโปรตีนสูงเช่น เนื้อ ไข่ เนยแข็ง ด้วยอาหารกลุ่มนี้จะทำให้การดูดซึมยานี้ได้น้อยลง
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะด้วยตัวยาอาจทำให้ความสามารถของการตัดสินใจช้าลง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์บิโดปาด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คาร์บิโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์บิโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาคาร์บิโดปาร่วมกับยาบางกลุ่มจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาโรคพาร์กินสันด้อยลงไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Phenothiazines, Haloperidol, Reserpine, Pyridoxine, Diazepam, Oxazepam, Chlordiazepoxide, Phenobarbitone/Barbiturate หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีก เลี่ยงการใช้คาร์บิโดปาร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว
- การใช้ยาคาร์บิโดปาร่วมกับยา 5-hydroxytryptophan (5-HTP, ยาต้านเศร้า) อาจทำให้ผล ข้างเคียงของยา 5-HTP เพิ่มขึ้นเช่น มีอาการสับสน การครองสติทำได้ยาก การควบคุมกล้ามเนื้อลายไม่เป็นปกติ เป็นตะคริว ความดันโลหิตสูง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาคาร์บิโดปาอย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์บิโดปาที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คาร์บิโดปามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์บิโดปาที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Duodopa (ดูโอโดปา) | Pond’s Chemical |
Levomed (ลีโวเมด) | Medochemie |
Levomet (ลีโวเมท) | Unison |
Sinemet (ซายน์เมท) | M & H Manufacturing |
Stalevo (สเตลีโว) | Novartis |
Tidomet (ไทโดเมท) | Torrent |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/L-DOPA [2015,July18]
2 https://en.wikipedia.org/wiki/Carbidopa [2015,July18]
3 http://www.webmd.com/drugs/2/drug-17803/carbidopa-oral/details [2015,July18]
4 http://www.drugs.com/mtm/carbidopa.html [2015,July18]
5 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=carbidopa [2015,July18]
6 http://www.mimsonline.com/Hongkong/Drug/info/Apo-Levocarb/ [2015,July18]
7 http://www.mimsonline.com/India/Drug/info/carbidopa%20%2b%20levodopa/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,July18]
8 http://www.drugs.com/drug-interactions/5-htp-with-carbidopa-1-10727-513-0.html [2015,July18]
9 http://www.mimsonline.com/Thailand/Drug/search/?q=carbidopa [2015,July18]