คาร์บาเมต (Carbamate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- คาร์บาเมตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คาร์บาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์บาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์บาเมตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คาร์บาเมตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คาร์บาเมตอย่างไร?
- คาร์บาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคาร์บาเมตอย่างไร?
- คาร์บาเมตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์: เอซีเฮชอีไอ (Acetylcholinesterase inhibitor: AChEI)
- ยาคลายกังวล (Anxiolytic)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
บทนำ
ยาคาร์บาเมต(Carbamate) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นอนุพันธ์ของกรดคาร์บามิก (Carbamic acid,สารเคมีชนิดหนึ่ง) ประโยชน์จาก สารคาร์บาเมตมีหลายประการและถูกนำไปใช้ในลักษณะต่างๆ เช่น
- เป็นยาฆ่าแมลง (Carbamate insecticides)
- ใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (Preservatives and cosmetics)
- ใช้เป็นยารักษาโรค (Medicine)
ในบทความนี้จะกล่าวถึงประโยชน์ของการนำสารคาร์บาเมตมาใช้เป็นยาเท่านั้น อาจจำแนกยาคาร์บาเมต ออกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
1. Ethyl carbamate: มีการนำไปใช้ในประเทศญี่ปุ่นโดยนำไปเป็นตัวทำละลาย กับยาแก้ปวดที่ฉีดให้ผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัด และในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 Ethyl carbamate ถูกนำไปใช้รักษามะเร็งชนิดที่เรียกว่า Multiple myeloma แต่กลับ พบว่า Ethyl carbamate ก่อให้เกิดพิษกับตัวผู้ป่วยและสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งอื่นๆ ได้เช่นกัน จึงถูกเพิกถอนการใช้กับมนุษย์ ปัจจุบันสารชนิดนี้ถูกนำกลับมาใช้เป็นยาสลบ หรือยาชากับสัตว์ทดลองแทน
2. Acethylcholinesterase inhibitor/Anti-cholinesterase: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านเอนไซม์ในร่างกายที่มีชื่อว่า Acetylcholinesterase(เอนไซม์ที่ช่วยการทำงานของสาร Acetylcholine) ประโยชน์ทางคลินิกที่ปรากฏในปัจจุบัน ได้แก่
- ใช้บำบัดอาการโรคต้อหิน (Glaucoma) และช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ อย่างเช่นยา Physostigmine
- บำบัดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) อย่างเช่นยา Neostigmine, Pyridostigmine, Ambenonium
- บำบัดอาการความจำเสื่อมของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อย่างเช่นยา Rivastigmine
- นำมาใช้รักษาอาการต้อหินในสัตว์ เช่นยา Demecarium
3. Meprobamate: เป็นยาคาร์บาเมตอีกประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการ วิตกกังวล (Anxiolytic) และอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) โดยมีระยะเวลาของการ ใช้ยาเพียงสั้นๆ ปัจจุบัน ยา Meprobamate จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับ Benzodiazepines และยังพบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Reinbamate
4. Carisoprodol: เป็นยาที่มีโครงสร้างและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายกับยา Meprobamate ถูกนำมาเป็นยาทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว/ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxant) สามารถพบเห็นการใช้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Caritasone
5. Febamate: ถูกนำมาใช้รักษาอาการชัก/ยากันชัก(Anticonvulsant) สามารถใช้รักษาได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ยาFebamate อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง (Aplastic anemia) และทำให้ตับวาย ไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศ มียานี้จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Felbatol
6. Mebutamate: ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวลและสงบประสาท/ยาคลายเครียด มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย ยังไม่พบเห็นยานี้จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใด อาจเป็นช่วงของการศึกษาฤทธิ์ของการรักษาในระยะยาว รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆจนกว่าจะมีข้อสรุปออกมาจึงค่อยทำการตลาด
7. Tybamate: มีคุณสมบัติบำบัดอาการวิตกกังวล ยานี้จะต้องถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็น Meprobamate เสียก่อนจึงจะเริ่มออกฤทธิ์ (Produg) ยังไม่พบเห็นการ จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใดๆ
อาจกล่าวได้ว่า ยาคาร์บาเมตเป็นกลุ่มยาที่ยังมีการใช้ในปัจจุบัน ด้วยมีประโยชน์ทางคลินิก แต่ก็มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยอาจไม่ทราบรายละเอียด เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภคเอง การใช้ยากลุ่มคาร์บาเมตควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว
คาร์บาเมตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาคาร์บาเมตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) อย่างเช่นยา Neostigmine, Ambenonium, Pyridostigmine
- บำบัดรักษาโรคต้อหิน อย่างเช่นยา Physostigmine
- รักษาอาการวิตกกังวล อย่างเช่นยา Meprobamate
- ช่วยคลายกล้ามเนื้อ อย่างเช่นยา Carisoprodol
- รักษาอาการชัก อย่างเช่นยา Febamate
- รักษาอาการโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เช่นยา Rivastigmine
คาร์บาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวในกลุ่มยาคาร์บาเมต มีทั้งความคล้ายคลึงและแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของตัวยา และมีความสัมพันธ์กับอวัยวะที่ยาออกฤทธิ์ เช่น สมอง ตา กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งในภาพรวม กลุ่มยาคาร์บาเมต มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในอวัยวะต่างๆที่ตัวยาออกฤทธ์ โดยทำให้สารสื่อประสาทนั้นๆกลับมามีปริมาณเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติและส่งผลให้มีฤทธิ์ของการรักษาเกิดขึ้น
คาร์บาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์บาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
คาร์บาเมตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มยาคาร์บาเมต มีหลากหลายรายการ ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย เช่น อาการโรค ความรุนแรงโรค ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาอื่นๆ แล้วจึงนำมาประกอบการเลือกใช้ยานี้ให้ตรงตามอาการ เกิดความเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุดกับผู้ป่วย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์บาเมต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น เยื่อตาอักเสบ ระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บาเมต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีใช้ยาคาร์บาเมตที่เป็นยาชนิดรับประทาน เช่นยา Pyridostigmine, Rivastigmine, หากลืมรับประทานยาเหล่านี้ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
คาร์บาเมตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มคาร์บาเมตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการ-ข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อหัวใจ : เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ : เช่นหลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร : เช่น กระเพาะอาหาร-ลำไส้มีการเคลื่อนไหวมากผิดปกติ ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อมีการหดตัวเป็นเวลานาน/เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ชัก
- ผลต่อตา: เช่น ความดันในลูกตาต่ำ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย การครองสติไม่เป็นปกติ
- ผลต่อตับ: ตัวเหลือง/ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้คาร์บาเมตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บาเมต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาต่างๆกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดย ไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด อวัยวะในช่องทางเดินอาหาร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มคาร์บาเมตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คาร์บาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์บาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่ม Acetylcholinesterase inhibitor/AChEI ร่วมกับยาแก้ปวด กลุ่ม NSAIDs จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระตุ้นให้กรดหลั่งออกมามากจากกระเพาะอาหารจนอาจก่อให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Physostigmine ร่วมกับยากลุ่ม Beta blockers สามารถก่อให้เกิดภาวะ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Neostigmine ร่วมกับยา Tramadol, Bupropion, อาจทำให้มีความเสี่ยงของภาวะลมชักเกิดขึ้นได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามใช้ยา Carisoprodol ร่วมกับการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะเสริมฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง จนทำให้เกิดอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง
ควรเก็บรักษาคาร์บาเมตอย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์บาเมต ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
คาร์บาเมตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์บาเมต ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Neostigmine GPO (นีโอสติกมีน จีพีโอ) | GPO |
Neostigmine Chi Sheng (นีโอสติกมีน ไชเชง) | Chi Sheng |
Prostigmin (โพรสติกมิน) | A.Menarini |
Mestinon (เมสทินอน) | A.Menarini |
Pyrimine 60 (ไพริมีน 60) | Sriprasit Pharma |
Exelon Patch (เอ็กเซลอน แพช) | Novartis |
Exelon (เอ็กเซลอน) | Novartis |
Rivasta (ไรเวสตา) | Siam Bheasach |
Reinbamate (รีนบาเมต) | Chew Brothers |
Caritasone (คาริทาโซน) | Pharma Square |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbamate#Medicine [2016,Dec17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ethyl_carbamate#Uses [2016,Dec17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholinesterase_inhibitor [2016,Dec17]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/meprobamate/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Felbamate [2016,Dec17]