คอนดรอยติน ซัลเฟต (Chondroitin sulfate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- คอนดรอยติน ซัลเฟตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- คอนดรอยติน ซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คอนดรอยติน ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คอนดรอยติน ซัลเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คอนดรอยติน ซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คอนดรอยติน ซัลเฟตอย่างไร?
- คอนดรอยติน ซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคอนดรอยติน ซัลเฟตอย่างไร?
- คอนดรอยติน ซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- ตาแห้ง (Dry eye)
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- กลูโคซามีน (Glucosamine)
บทนำ
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต(Chondroitin sulfate) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างโมเลกุลของกรด Glucuronic acid และสาร N-acetylgalactosamine เราสามารถพบสารประกอบชนิดนี้ตามกระดูกอ่อนของร่างกาย ทางคลินิกนำยาคอนดรอยติน ซัลเฟตมาใช้บำบัดอาการข้อเสื่อม(Osteoarthritis)
ต่างประเทศจะมีการจำหน่าย ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต ในลักษณะเป็นอาหารเสริม แต่ในประเทศไทย ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นยา โดยมีส่วนผสมในสูตรตำรับร่วมกับ ยากลูโคซามีน(Glucosamine) และจัดให้เป็นยาอันตรายแบบรับประทาน ซึ่งต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์
อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังนำ ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต มาบำบัดอาการ ตาแห้งโดยใช้ในรูปแบบของยาหยอดตา โดยใช้ชื่อการค้าว่า ‘Viscoat’ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยการนำยาคอนดรอยติน ซัลเฟต มาบำบัดอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อ/ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ อีกด้วย
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต ที่นำมาใช้ทำยาแผนปัจจุบัน ถูกสกัดจากกระดูกอ่อนของสัตว์จำพวก วัว และ สุกร หรือแม้แต่การสกัดจากกระดูกของปลาฉลาม ก็ใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบของยาคอนดรอยติน ซัลเฟตได้เช่นเดียวกัน การใช้ยา/สารประกอบคอนดรอยติน ซัลเฟตเพื่อรักษาโรค จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และขนาดการบริหารยา อย่างเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จึงจะเกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ดังนั้นก่อนการใช้ยาคอนดรอยติน ซัลเฟตทุกครั้ง ผู้บริโภคควรต้องปรึกษา แพทย์ เภสัชกร เสมอ
คอนดรอยติน ซัลเฟตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษา ข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
- บำบัดอาการตาแห้ง ในรูปแบบของยาหยอดตา
คอนดรอยติน ซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร 15–24% ตัวยาชนิดนี้ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นการสังเคราะห์สาร Proteoglycans ซึ่งเป็นองค์ ประกอบของกระดูกอ่อนของร่างกาย จึงเป็นผลให้ตัวยาชนิดนี้สามารถลดอัตราการทำลายตัวของกระดูกอ่อน ในต่างประเทศมีรายงานการใช้ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต ตามคำสั่งแพทย์เป็นระยะเวลายาวนานถึง 2 ปี สามารถชะลอภาวะข้อเสื่อมได้
คอนดรอยติน ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Glucosamine sulfate 500 mg +Chondroitin sulfate Na 400 mg
- ยาผงแบบละลายน้ำสำหรับรับประทาน ที่ประกอบด้วย
- Glucosamine sulfate NaCl 942 mg + Chondroitin sulfate Na 600 mg
- และ Glucosamine sulfate NaCl 1884 mg + Chondroitin sulfate Na 1200 mg
คอนดรอยติน ซัลเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต มีขนาดรับประทาน สำหรับรักษาอาการข้อเสื่อม เช่น
- ผู้ใหญ่:
- รับประทานยาเม็ด(Glucosamine sulfate 500 mg+Chondroitin sulfate Na 400 mg) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารประมาณ 15 นาที
- หรือ รับประทานยาผง (Glucosamine sulfate NaCl 942 mg + Chondroitin sulfate Na 600 mg) โดยละลายน้ำครั้งละ 1 ซอง วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารประมาณ 15 นาที
- หรือ รับประทานยาผง (Glucosamine sulfate NaCl 1884 mg + Chondroitin sulfate Na 1200 mg) โดยละลายน้ำ 1 ซอง วันละครั้ง ก่อนอาหารประมาณ 15 นาที
อนึ่ง:
- ระยะเวลาการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- ห้ามรับประทาน ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต ชนิดผงในลักษณะผงแห้ง ต้องนำมาละลายน้ำแล้วดื่มจนหมด
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ในการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาคอนดรอยติน ซัลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคอนดรอยติน ซัลเฟต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาคอนดรอยติน ซัลเฟต สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
คอนดรอยติน ซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง
- ผลต่อตา: เช่น ตาบวม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผมร่วง
*อนึ่ง กรณีที่หลังรับประทานยานี้ แล้วพบอาการ หัวใจเต้นผิดปกติ อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดอาการบวมที่ขา หรือมีอาการแพ้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยด้วยโรคหืด ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคตับ ด้วยตัวยาคอนดรอยติน ซัลเฟต อาจทำให้อาการโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น
- ห้ามรับประทาน ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต ชนิดผงในลักษณะผงแห้ง ต้องนำมาละลายน้ำ แล้วจึงดื่มรับประทานจนหมด
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยา โดยสังเกตจากอาการเกิดผื่น หรือมี อาการบวมตามร่างกาย อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด(รวมยาคอนดรอยติน ซัลเฟตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
คอนดรอยติน ซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคอนดรอยติน ซัลเฟตกับยา Anisindione, Dicumarol, และ Warfarin ด้วยการใช้ยาร่วมกันสามารถทำให้ร่างกายเกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาคอนดรอยติน ซัลเฟตร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาคอนดรอยติน ซัลเฟตอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาคอนดรอยติน ซัลเฟต เช่น
- สามารถเก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยานี้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยานี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยานี้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
คอนดรอยติน ซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคอนดรอยติน ซัลเฟต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Coxium (ค็อกเซียม) | Millimed |
บรรณานุกรม
- https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/chondroitin-sulfate [2019,April6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chondroitin_sulfate[2019,April6]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/coxium%20plus-coxium-s%20plus/?type=brief [2019,April6]
- https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-744/chondroitin-sulfate [2019,April6]
- https://www.drugs.com/sfx/chondroitin-side-effects.htmll [2019,April6]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/viscoat [2019,April6]