คอน-คอน (Con-Con)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคอน-คอน(Con-Con) เป็นชื่อการค้าของยาทาภายนอกที่ใช้รักษาโรคตาปลา (Corns) ภาวะผิวหนังด้าน(Callus) เช่น ที่ส้นเท้า และโรคหูด(Warts) โดยยานี้ประกอบไปด้วยตัวยา 2 ชนิด/ตัวยา คือ ยา Salicylic acid และยา Phenol

ก. Salicylic acid: หรือกรดซาลิไซลิก ในทางคลินิกเมื่อค้นพบตัวยานี้ในครั้งแรกจะใช้ยา/กรดชนิดนี้เพื่อลดอาการปวด อาการไข้ อาการอักเสบ แต่ปัจจุบันมีการขยายผลและนำยา Salicylic acid มารักษาโรคผิวหนังอักเสบชนิดที่เรียกว่า Seborrheic dermatitis สิว และโรคสะเก็ดเงิน ภาวะหนังด้าน ตาปลา หูด โดยใช้ความเข้มข้นของกรดนี้แตกต่างกันออกไป กรดนี้มีฤทธิ์กัดลอกผิวหนังได้ และสามารถละลายสารคอมีโด(Comedo,สารจากซากเซลล์ผิวหนังที่ตายที่อุดกั้นรูขุมขนจนเป็นเหตุให้เกิดสิว)ที่เป็นสาเหตุของสิว เรียกฤทธิ์นี้ว่า Comedolytic รวมถึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ ในบางสูตรตำรับของแชมพูบางชนิดได้นำกรดชนิดนี้มาเป็นส่วนประกอบเพื่อรักษาอาการของรังแคอีกด้วย หรือ ในวงการอาหารบางชนิด ใช้ Salicylic acid มาเป็นส่วนผสมเพื่อป้องกันการบูดของอาหารได้เช่นกัน

การใช้ยา Salicylic acid ในสูตรตำรับยาทาภายนอก จะต้องใช้ความเข้มข้นที่เหมาะสม ยิ่งตำรับใดมีกรดนี้เป็นปริมาณหรือความเข้มข้นมาก อาจเกิดการทำลายของรูขุมขน การใช้กรดนี้ทาใบหน้าจึงกำหนดให้ใช้ Salicylic acid ไม่เกิน 2% ส่วนระดับความเข้มข้น 17% และ 27% เหมาะที่จะใช้รักษาหูด

ในการรักษา แพทย์อาจสั่งให้ทายากรดนี้ วันละ 1 – 2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของอาการ

ทางคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ยังได้บรรจุให้ยา Salicylic acid อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อรักษา หูด ตาปลา และสะเก็ดเงิน

ข. Phenol: อาจเรียกในชื่ออื่นว่า Carbolic acid เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ สามารถสกัดสารนี้ได้จากน้ำมันดิน ทางคลินิกได้นำยา Phenol มาผสมในสูตรตำรับเพื่อใช้เป็นยาพ่นคอ/ยาพ่นปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในช่องปากและคอด้วย Phenol มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาในเนื้อเยื่อที่สัมผัสยานี้ อีกทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่ง ทางวงการแพทย์จึงนำ Phenol มาผสมในสูตรตำรับของยารักษา หูด และตาปลา

สำหรับสูตรตำรับของยา คอน-คอน จะมีส่วนประกอบของตัวยาสำคัญดังนี้ Salicylic acid 25 กรัม+ Liquefied phenol 1.5 มิลลิลิตร/100 มิลลิลิตร

คอน-คอนเป็นยาสำหรับทาและใช้แต่ภายนอก มีฤทธิ์เป็นกรดกัดผิวหนัง จึงห้ามรับประทาน ห้ามให้ยาเข้าตา-จมูก-หู-ช่องปาก การใช้ยานี้ ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และในการจะบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผล ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยและเงื่อนไขที่จะทำให้โรคที่ใช้ยานี้รักษา ย้อนกลับเป็นซ้ำขึ้นมาใหม่ด้วย

คอน-คอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คอนคอน

ยาคอน-คอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นยาทารักษา หูด และ ตาปลา

คอน-คอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคอน-คอน คือ ส่วนประกอบในสูตรตำรับ คือ Salicylic acid จะออกฤทธิ์กัดเซลล์ผิวหนังบริเวณที่เป็น หูด ตาปลา ทำให้เกิดการหลุดลอก ในขณะที่ Phenol เป็นยาต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาจึงช่วยลดอาการแสบคันจากการใช้ยาSalicylic acid และ/หรือของตัวรอยโรคได้ในระดับหนึ่ง จากกลไกดังกล่าว จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

คอน-คอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคอน-คอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำประเภทสารละลาย/โลชั่น ที่มีส่วนประกอบ ดังนี้ Salicylic acid 25 กรัม+ Liquefied phenol 1.5 มิลลิลิตร/ 100 มิลลิลิตร

คอน-คอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาคอน-คอนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณที่เป็น หูด ตาปลา วันละ 2 – 3 ครั้ง หรือตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงและความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคอน-คอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคอน-คอน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาคอน-คอน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ให้ทายาโดยใช้ขนาดปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรใช้ยาคอน-คอนตรงตามคำสั่งของแพทย์

คอน-คอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคอน-คอน เป็นยาใช้ภายนอก ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จึงพบได้น้อย โดยอาจเกิดจากตัวยาสำคัญในยาคอน-คอน อย่าง Salicylic acid ซึ่งที่อาจพบได้ เช่น อาการระคายเคืองและแสบคันในบริเวณที่มีการทายานี้

มีข้อควรระวังการใช้คอน-คอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคอน-คอน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาคอน-คอน และ/หรือ ตัวยาในสูตรตำรับ คือ Salicylic acid และ/หรือ Phenol
  • ห้ามรับประทานยานี้
  • ห้ามไม่ให้ใช้ยาในบริเวณ ตา ช่องปาก จมูก ภายในหู
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้หรือใช้ยานี้เกินคำสั่งของแพทย์
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้กับบริเวณที่มีแผลเปิด หรือแผลฉีก-ขาด รวมถึงผิวหนังที่มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่ออ่อนบาง เช่น บริเวณอวัยวะเพศ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ หรือทาเป็นบริเวณกว้างบนพื้นที่ผิวของร่างกาย
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น เกิดผื่นคันขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวมให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และหลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้โรคเกิดเป็นซ้ำ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคอน-คอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คอน-คอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคอน-คอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการทายาคอน-คอน ร่วมกับยาทากลุ่มเรตินอยด์(Retinoid) อย่างเช่น Isotretinoin, Alitretinoin, Tretinoin, Tazarotene, ด้วยจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณที่สัมผัสยาคอน-คอน และทำให้ผิวแห้งมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาคอน-คอนอย่างไร?

ควรเก็บยาคอน-คอนในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น หรือในช่วง 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

คอน-คอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคอน-คอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Collomak (คอลโลแมค)Asmeco
Con Con (คอน คอน)B L Hua
Duofilm (ดูโอฟิล์ม)Stiefel

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Salicylic_acid [2016,July23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenol#Tautomerism [2016,July23]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/con%20con/?type=brief [2016,July23]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/190#item-9043 [2016,July23]
  5. https://www.drugs.com/cdi/virasal-film-forming-liquid.html [2016,July23]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/salicylic-acid-topical-index.html?filter=2&generic_only= [2016,July23]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/collomak/ [2016,July23]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/duofilm/ [2016,July23]