ควินาครีน (Quinacrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- ควินาครีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ควินาครีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ควินาครีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ควินาครีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ควินาครีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ควินาครีนอย่างไร?
- ควินาครีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาควินาครีนอย่างไร?
- ควินาครีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
บทนำ
ยาควินาครีน (Quinacrine) หรือชื่ออื่นเช่น Mepacrine, Atabrine ทางคลินิกใช้เป็นยารัก ษาการติดเชื้อโปรโตซัว (Protozoa, สัตว์เซลล์เดียว) เช่น กลุ่มเชื้อมาลาเรีย อาการท้องร่วง/ท้อง เสียจากเชื้อ Giardia lambia อาจใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิตัวตืด (เช่น ตืดวัว ตืดหมู) นอกจากนี้ยังใช้ยาควินาครีนมาบำบัดอาการ Systemic lupus erythematosus อีกด้วย
ยาควินาครีนสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อตัวยานี้เข้าสู่ร่างกายจะกระจายตัวไปตามกระแสเลือดและเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆของอวัยวะต่างๆ สามารถซึมผ่านรก และผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้ ร่างกายจะกำจัดยานี้โดยผ่านไปกับปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ และน้ำลาย โดยต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 14 วัน
กลไกการออกฤทธิ์โดยรวมๆของยาควินาครีนจะมีผลต่อสารพันธุกรรมของเชื้อโปรโตซัว โดยยับยั้งการถ่ายทอดและการแปลรหัสของสารพันธุกรรมชนิด RNA ทำให้โปรโตซัวที่ก่อโรคหยุดการเจริญเติบโต
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากยาควินาครีนจะเป็นการรบกวนการทำงานกับอวัยวะในระบบต่างๆของร่างกายเช่น ผิวหนัง ตับ อวัยวะในอุ้งเชิงกราน ระบบประสาทส่วนกลาง และไขกระ ดูก เป็นต้น
ทั้งนี้มีกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สมควรใช้ยาควินาครีนอาทิ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็กๆ นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น หรือการรับประทานยานี้ร่วม กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็อาจก่อให้เกิดภาวะ Disulfiram-like action (อาการคล้ายกับผลข้างเคียงจากยา Disulfiram ที่ใช้รักษาภาวะติดสุรา) ได้เช่นกัน
ในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) องค์การอนามัยโรคได้มีข้อสรุปของการใช้ยานี้กับการทำหมันของผู้หญิงกว่า 100,000 คนในประเทศที่กำลังพัฒนาและพบข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ยาควินาครีนดังนี้
- ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ (Reproductive tract cancers)
- ยานี้อาจทำให้เกิดแผลในมดลูก (Abnormal uterine lesions)
- อาจมีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ยาควินาครีนถูกเพิกถอนการจำหน่ายจากประเทศในแถบอเมริกา แต่ยังมีการใช้อยู่ในบางประเทศแถบทวีปเอเชียเช่น อินเดีย ไทย เป็นต้น
ควินาครีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาควินาครีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดรักษาการติดเชื้อโปรโตซัว Giardia lambia ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียในคน (Giardiasis)
- รักษาโรคลูปัส (Systemic lupus erythematosus)
ควินาครีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาควินาครีนมีกลไกการออกฤทธ์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมในเชื้อโปรโตซัวที่เรียก ว่า RNA ก่อให้เกิดการรบกวนการแปลรหัสของสารพันธุกรรม ส่งผลให้การขยายพันธุ์ถูกยับยั้ง เชื้อโปรโตซัวหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถขยายพันธุ์และตายลงในที่สุด
ควินาครีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาควินาครีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 และ 300 มิลลิ กรัม/เม็ด
ควินาครีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาควินาครีนมีขนาดรับประทานเช่น
ก. สำหรับรักษาโรค Giardiasis:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 5 - 7 วัน
- เด็ก: รับประทานครั้งละ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 5 - 7 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กต้องไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับรักษาโรค Systemic lupus erythematosus:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละครั้งใน 1 - 2 เดือนแรกจากนั้นแพทย์อาจลดขนาดรับประทานลงมาที่ 25 - 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: รับประทานครั้งละ 1 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
*อนึ่ง ควรรับประทานยานี้หลังอาหารหรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาควินาครีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาควินาครีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาควินาครีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาควินาครีนตรงเวลา
ควินาครีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาควินาครีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง มีภาวะตับเป็นพิษ/ตับอักเสบ กระตุ้นการทำงานของสมอง (เช่น เกิดอาการชัก) และอาจทำให้เกิดโลหิตจางชนิด Aplastic anaemia
มีข้อควรระวังการใช้ควินาครีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ควินาครีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยด้วยโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยอาการทางจิต ผู้ป่วยด้วยโรค Porphyria (โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่พบได้น้อยมากทีมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง)
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้แล้วนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเพื่อตรวจสอบควาก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควินาครีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควินาครีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาควินาครีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามรับประทานยาควินาครีนร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า Disulfiram-like action
- การใช้ยาควินาครีนร่วมกับยา Primaquine จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน อาเจียน มีภาวะเม็ดเลือดต่ำหรือเกิดการติดเชื้อชนิดอื่นตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาควินาครีนร่วมกับยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์เช่น ยา Auranofin ด้วยอาจก่อให้เกิด การทำงานของระบบเลือดในร่างกายผิดปกติรวมถึงมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงติดตามมา
- ห้ามใช้ยาควินาครีนร่วมกับยา Thioridazine (ยารักษาทางจิตเวช) ด้วยจะทำให้ระดับยา Thioridazine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายโดยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
ควรเก็บรักษาควินาครีนอย่างไร?
ควรเก็บยาควินาครีนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ควินาครีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาควินาครีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
MALADIN (มาลาดิน) | Unicure |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mepacrine [2016,Jan23]
- http://www.drugs.com/mmx/quinacrine-hydrochloride.html [2016,Jan23]
- http://www.mims.com/India/drug/info/MALADIN/MALADIN%20tab [2016,Jan23]
- http://www.mims.com/India/drug/info/mepacrine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2016,Jan23]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/quinacrine-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan23]