ความดันลูกตา ความดันตา (Intra ocular pressure)

ความดันลูกตา หรือ ความดันในลูกตาหรือ ความดันตา ในทางการแพทย์ เรียกย่อว่า ไอโอพี (IOP, Intra ocular pressure) คือ ความดันที่ปกติจะมีอยู่ในวัตถุที่มีทรงเป็นปริมาตร เช่น ทรงกลม (เช่น ลูกตา) เป็นต้น

ในภาวะปกติ ภายในลูกตาจะมีความดันประมาณ 10-20 มิลลิเมตร-ปรอท (หน่วยวัดความดันทางการแพทย์) ซึ่งจะเป็นความดันคงที่ตลอดเวลา แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยใน ช่วงต่างเวลาของวัน, ระหว่างการออกกำลังกาย, และจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด ซึ่งความดันปกติของลูกตาของเพศหญิงและเพศชายจะใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ จักษุแพทย์จะวัดความดันลูกตาได้จากการตรวจตาร่วมกับการตรวจวัดที่เรียกว่า Ocular tonometry

ความดันลูกตา จะช่วยคงการทำงานของเนื้อเยื่อต่างๆในลูกตาให้เป็นปกติ โดยเฉพาะ จอตา ทั้งนี้การคงความดันในลูกตา จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ปริมาณและการไหล เวียนของสารน้ำในลูกตา, ปริมาณของเลือดในร่างกาย, ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงลูกตา, และการไหลเวียนและปริมาณเลือดของหลอดเลือดดำที่เปลือกลูกตา (Episclera vein)

สาเหตุความดันลูกตาสูง มีได้หลายสาเหตุ เช่น

  • จากการไอที่รุนแรง
  • การเบ่ง เช่น เบ่งอุจจาระต่อเนื่อง การยกน้ำหนัก อาเจียนรุนแรง
  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดลูกตา
  • มีสิ่งแปลกปลอมในลูกตาจากการเกิดอุบัติเหตุ
  • มีเนื้องอกในลูกตา
  • หรือโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติในการสร้าง และ/หรือในการไหลเวียนของสารน้ำในลูกตา เช่น โรคต้อหิน ซึ่งเป็นโรคพบบ่อย เป็นต้น

อาการจากมีความดันลูกตาสูง ได้แก่ ไม่มีอาการในระยะแรก ต่อเมื่อ มีความดันลูกตาสูงต่อเนื่อง และ/หรือสูงมาก ซึ่งอาการที่พบได้ เช่น ปวดตา ปวดศีรษะ ตาพร่า เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพมีลักษณะผิดปกติ (เช่น ภาพตีบแคบกว่าภาพจริง) จนในที่สุดอาจตาบอดได้ (อาการทางการเห็นภาพ จะเกิดจากมีการทำลายเซลล์ของจอตา จากการมีความดันลูกตาที่สูงขึ้น) ดัง นั้นเมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ

อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวแล้วว่า เมื่อเริ่มมีความดันลูกตาสูง จะไม่มีอาการ ดังนั้น การดูแลตนเองที่สำคัญ เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีการทำลายเซลล์ของจอตา คือ การตรวจตากับจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี หรือบ่อยตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ โดยเริ่มได้ตั้งแต่ในเด็ก วัยที่สามารถเข้าใจ และปฏิบัติตามคำสั่งได้

บรรณานุกรม

  1. Intra ocular pressure http://ceaccp.oxfordjournals.org/content/8/3/100.full [2014,Jan20].
  2. Intra ocular pressure http://en.wikipedia.org/wiki/Intraocular_pressure [2014,Jan20].