ควอดริเดอร์ม (Quadriderm)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาควอดริเดอร์ม(Quadriderm) เป็นยาชื่อการค้าของยาทาผิวหนังภายนอก มีฤทธิ์บำบัดการอักเสบ และต่อต้านการติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในบริเวณผิวหนัง มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาครีม โดยมีองค์ประกอบที่เป็นตัวยาสำคัญ 4 ชนิด คือยา

  • Betamethasone valerate 0.05%
  • Gentamicin sulfate 0.1%
  • Tolnaftate 1%
  • Iodochlorhydroxyquin 1%

ก. Betamethasone: เป็นยาในกลุ่มยา Glucocorticoid steroid มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ บรรเทาอาการคัน และกดภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกาย สามารถใช้ยานี้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ห้ามใช้ยา Betamethasone ที่เป็นสูตรตำรับยาเดี่ยวในการทาผิวหนังเพื่อบำบัดการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราเพราะยิ่งทำให้อาการของโรครุนแรงและมีการแพร่กระจายตามผิวหนังได้เป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ข. Gentamicin: เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์(Aminoglycoside)มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ถูกนำมาประกอบในสูตรตำรับของยาควอดริเดอร์มเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของแบคทีเรียบนผิวหนัง ส่งผลให้อาการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังหายเร็วขึ้น

ค. Tolnaftate: เป็นสารเคมีสังเคราะห์ประเภทไทโอคาร์บาเมท (Thiocarbamate) มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อราที่ผิวหนัง เช่นเชื้อ Epidermophyton, Microsporum, Trichophyton และ Malassezia furfur แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราชนิด Candida การใช้ยา Tolnaftate เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอต่อการต้านเชื้อราที่ตอบสนองกับยานี้อยู่แล้ว การใช้ยานี้ร่วมกับยา Gentamicin และ Betamethasone จะเกิดฤทธิ์สนับสนุนการรักษาอาการติดเชื้อรา-แบคทีเรีย และลดการอักเสบของผิวหนังได้มากยิ่งขึ้น

ง. Iodochlorhydroxyquin: เป็นสารเคมีกลุ่มไฮดรอกซีควิโนลีน(Hydroxyquinolines)ที่มีฤทธิ์ต้าน เชื้อรา แบคทีเรีย เชื้อโปรโตซัว (Protozoa) และเชื้อไวรัส หากร่างกายได้รับยานี้เป็นปริมาณมากๆอาจทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาทได้ อาจกล่าวได้ว่าประโยชน์ของ Iodochlorhydroxyquin ในสูตรตำรับมีวัตถุประ สงค์ช่วยต่อต้านกลุ่มเชื้อโรคได้กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

หากมองในภาพรวม เราจะพบว่า ยาควอดริเดอร์มเป็นยาครีมทาภายนอกที่มีฤทธิ์เบ็ดเสร็จ ใช้รักษาอาการอักเสบของผิวหนัง และป้องกันมิให้เกิดการติดเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นเชื้อราหรือแบคทีเรียก็ตาม

ยังมีข้อจำกัดและข้อควรระวังบางประการ ที่ควรทราบเพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารยา/ใช้ยาควอดริเดอร์ม ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้เป็นยานี้ทารักษาผิวหนังที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เช่น งูสวัด อีสุกอีใส หัด เริม ด้วยองค์ประกอบของสเตียรอยด์อย่างยา Betamethasone ที่มีในสูตร ตำรับ จะทำให้อาการของการติดเชื้อไวรัสทวีความรุนแรงและแพร่กระจายได้ มากยิ่งขึ้น
  • ห้ามรับประทานหรือใช้ยาควอดริเดอร์ม ป้ายตา ป้ายปาก/ในปาก ป้ายในโพรงจมูก ด้วยยาควอดริเดอร์มเป็นยาทาภายนอก การใช้ยาผิดวิธี นอกจากจะไม่ทำให้อาการป่วยทุเลาลงแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ต่อตัวผู้ป่วยเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ขนาดและระยะเวลาการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ การใช้ยานี้เป็นปริมาณมากและเป็นระยะเวลานานเกินความจำเป็น จะก่อให้เกิดผลเสีย/ผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงตามมา ด้วยยา Betamethasone อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะมียา Corticosteroids ในร่างกายมีมากเกินไปจนเกิดฤทธิ์กดการทำงานของต่อมหมวกไต จนเป็นเหตุให้เกิดโรคคุชชิง (Cushing disease) ตามมา นอกจากนี้ยังสามารถทำให้ร่างกายติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆที่ไม่ได้ตอบสนองต่อตัวยาในสูตรตำรับของยาควอดริเดอร์มได้อีกด้วย

ภาวะอักเสบหรือการเกิดโรคผิวหนัง (Skin disorder) ควรต้องได้รับการดูแลในลักษณะเชิงป้องกันมิให้เกิดโรค การใช้ ยาควอดริเดอร์ม เป็นเรื่องของปลายเหตุและมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ยาควอดริเดอร์ม ทารักษาผิวหนังทุกครั้ง ควรศึกษารายละเอียดการใช้อย่างถูกต้อง โดยสอบถามได้จาก แพทย์ผู้สั่งยา เภสัชกร รวมถึงศึกษาจากเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์

ควอดริเดอร์มมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ควอดริเดอร์ม

ยาควอดริเดอร์มมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการอักเสบ รวมถึงบำบัดและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ของผิวหนัง

ควอดริเดอร์มมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อาจกล่าวถึงกลไกการออกฤทธิ์ของยาควอดริเดอร์มในภาพกว้างได้ดังนี้ เช่น

  • Betamethasone: จะลดอาการอักเสบ อาการแพ้ อาการคัน ทางผิวหนังและทำให้ผิวหนังฟื้นสภาพเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว
  • Gentamicin: จะช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการอักเสบ ทำให้ผิวหนังหายเร็วขึ้น
  • Tolnaftate: จะช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อรา ป้องกันมิให้เกิดการแพร่กระจายหรือลุกลามของเชื้อรา และสนับสนุนการรักษาของยา Gentamicin และ Betamethasone
  • Iodochlorhydroxyquin: สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยตัวยาจะมีการออกฤทธิ์กว้างขวาง สามารถยับยั้งและต่อต้าน เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อปรสิต

ด้วยกลไกดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้ยาควอดริเดอร์มมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนังได้ตามสรรพคุณ

ควอดริเดอร์มมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาควอดริเดอร์มมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาครีมใช้ทาผิวหนัง ที่มีส่วนประกอบของตัวยาสำคัญ 4 รายการ คือ Betamethasone valerate 0.05% + Gentamicin sulfate 0.1% +Tolnaftate 1% + Iodochlorhydroxyquin 1%

ควอดริเดอร์มมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาควอดริเดอร์ม มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณผิวหนังอักเสบเพียงบางๆ วันละ 2–3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

อนึ่ง:

  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยแพทย์จะประเมินจากการตอบสนองของรอยโรคที่ผิวหนังผู้ป่วย เช่น การติดเชื้อราที่เท้า(Tinea pedis) อาจต้องใช้ยานี้นาน 2–4 สัปดาห์ เป็นต้น
  • หลังทายานี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าพันแผลปิดคลุมผิวหนังบริเวณที่ทายา นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์/พยาบาล
  • ห้ามนำยานี้ไปรักษาโรคผิวหนังที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เริม งูสวัด อีสุกอีใส เป็นต้น
  • กรณีที่ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับแย่ลง ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาควอดริเดอร์ม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัด อีสุกอีใส งูสวัด เริม รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาควอดริเดอร์มอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาวอดริเดอร์ม สามารถทายานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ให้ทายานี้ในขนาดปกติ โดยไม่ต้องปรับขนาดการใช้ยานี้เป็น 2เท่า

อย่างไรก็ดี การใช้ยาทาวอดริเดอร์มอย่างมีประสิทธิผล ต้องใช้ตามขนาดและทายาตามเวลาที่แพทย์แนะนำเสมอ

ควอดริเดอร์มมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ด้วยในสูตรตำรับยาวอดริเดอร์ม มีตัวยาออกฤทธิ์สำคัญๆ ถึง 4 รายการยา และอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ ส่วนมากจะเกิดที่ผิวหนัง ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ เช่น ก่อให้เกิดอาการ แสบ คัน ระคายเคืองในบริเวณผิวหนังที่ทายา อาจทำให้ผิวที่สัมผัสยาเกิดมี ผิวแห้ง รูขุมขนอักเสบ ก่อให้เกิดขนขึ้นในบริเวณที่ใช้ยานี้ มีอาการพุพองของผิวหนังคล้ายสิวแตก สีผิวซีดจาง ผิวหนังที่สัมผัสยาเปื่อยยุ่ย ตลอดจนเกิดการติดเชื้อ(ที่ผิวหนัง)ชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อยานี้

การใช้ยานี้ ตรงตามคำแนะนำของ แพทย์หรือเภสัชกร เป็นหนึ่งช่องทางที่ลดความเสี่ยงของการเกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวได้

มีข้อควรระวังการใช้ควอดริเดอร์มอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาควอดริเดอร์ม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับปริมาณยาที่ทาผิวหนังด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป เนื้อยาเหลวเป็นน้ำ เป็นต้น
  • ห้ามทายานี้ที่บริเวณ ตา อวัยวะเพศ รวมถึงในช่องคลอด ในโพรงจมูก และในช่องปาก
  • ทายานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและตรงเวลาในแต่ละวันตามคำสั่งแพทย์
  • ก่อนใช้ยานี้ควรให้แพทย์ตรวจอาการที่ผิวหนัง เพื่อให้มั่นใจว่า ยานี้เหมาะสมต่ออาการของโรคผิวหนังที่เป็นอยู่
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมอดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควอดริเดอร์มด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ เมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองด้วยเช่นกัน

ควอดริเดอร์มมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาควอดริเดอร์มเป็นยาทาภายนอก มีระยะเวลาของการใช้ยาเพียงไม่นาน ดังนั้นจึงยังไม่มีรายงานที่พบการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาควอดริเดอร์มอย่างไร?

ควรเก็บยาควอดริเดอร์ม ภายใต้อุณหภูมิ 2–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ควอดริเดอร์มมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาควอดริเดอร์ม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dermaheu (เดอมาเฮอว) Thai Nakorn Patana
Quadriderm (ควอดริเดอร์ม) MSD

บรรณานุกรม

  1. http://www.meppo.com/pdf/drugs/1459-QUADRIDERM-1321612536.pdf[2017,April22]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/quadriderm/[2017,April22]
  3. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682799.html[2017,April22]
  4. https://www.drugs.com/cdi/gentamicin-cream.html[2017,April22]
  5. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-61296/iodochlorhydroxyquin-topical/details[2017,April22]
  6. https://www.drugs.com/cdi/tolnaftate-cream.html[2017,April22]
  7. http://www.ndrugs.com/?s=betamethasone%20valerate/gentamicin%20sulphate/tolnaftate/iodochlorhydroxyquin[2017,April22]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dermaheu[2017,April22]
  9. http://www.mims.com/thailand/company/info/thai%20nakorn%20patana[2017,April22]