คลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ถูกนำมาใช้ในการทำความสะอาดมือ ผิวหนัง ให้ปราศจากจุลชีพต่างๆ ทางวงการเครื่องสำอางนำมาเป็นสารยับยั้งเชื้อในผลิต ภัณฑ์ เช่น ครีมทาผิว ยาสีฟัน น้ำยากำจัดกลิ่นตัว และผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ ทางการแพทย์ได้นำคลอเฮกซิดีนมาผสมเป็นสารยับยั้งเชื้อ หรือสารกันบูดในยาหยอดตา ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในน้ำ ยาล้างแผล และใช้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากสำหรับคลินิกทันตกรรม

คลอร์เฮกซิดีน ออกฤทธิ์ได้ดีกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ ทั้งชนิดที่ชอบและ ไม่ชอบออกซิเจน (Aerobic and Anaerobic bacterias) ตลอดไปจนกระทั่งยีสต์ (Yeast: เชื้อราประเภทหนึ่ง)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้คลอร์เฮกซิดีนเป็นเคมีภัณฑ์ที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานในแต่ละประเทศ ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุคลอร์เฮกซิดีนในบัญชียาหลักแห่งชาติแผนปัจจุบัน ตามรายการดังต่อไปนี้

1. คลอร์เฮกซิดีนกลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate)

ขนาดความเข้มข้น 2% สำหรับรักษารากฟัน

2. คลอร์เฮกซิดีนกลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate)

ขนาดความเข้มข้น 0.1% - 0.2% (น้ำหนัก/ปริมาตร) ในรูปแบบน้ำยาบ้วนปากสำหรับคลินิกทันตกรรมและใช้รักษาแผลในปาก

3. คลอร์เฮกซิดีนกลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate)

ขนาดความเข้มข้น 2% และ 4% โดยผสมร่วมกับแอลกอฮอล์ 70% และขนาดความแรง 5%

อนึ่ง จากผลิตภัณฑ์คลอร์เฮกซิดีนดังกล่าวข้างต้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภาย นอกร่างกาย มักพบเห็นการใช้สอยในสถานพยาบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ หากมีความจำเป็นต้องใช้คลอร์เฮกซิดีน เช่น น้ำยาบ้วนปาก หรือใช้ฆ่าเชื้อก่อนและหลังผ่าตัด ควรต้องอยู่ในดุลยพินิจ ของแพทย์เป็นผู้กำหนด

คลอร์เฮกซิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คลอร์เฮกซิดีน

คลอร์เฮกซิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • สำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในช่องปากของคลินิกทันตกรรม
  • สำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง
  • ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในบริเวณบาดแผล

    คลอร์เฮกซิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

    คลอร์เฮกซิดีนมีกลไกการอกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโต และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อทั้งแบคทีเรียและเชื้อรา ออกฤทธิ์ได้กับเชื้อโรคหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของตัวผลิต ภัณฑ์คลอร์เฮกซิดีน โดยกลไกของคลอร์เฮกซิดีนจะไปทำให้ผนังเซลล์ของเชื้อโรคเหล่านั้นแตกออกและทำให้เชื้อโรคตายลง

    คลอร์เฮกซิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

    คลอร์เฮกซิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

    1. รูปแบบน้ำยาบ้วนปาก ขนาดความเข้มข้น 0.12%

    2. รูปแบบสบู่เหลวฆ่าเชื้อโรค ขนาดความเข้มข้น 4%

    3. รูปแบบสารละลายเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขนาดความเข้มข้น 5%

    4. รูปแบบสบู่เหลวทำความสะอาดผิวหนัง โดยมีส่วนประกอบ Chlorhexidine 1.5% และ Cetrimide 15%

    5. รูปแบบสารละลายใช้ฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง โดยมีส่วนผสม Chlorhexidine 2% และ Isopropyl alcohol 70%

    6. รูปแบบสารละลายความเข้มข้น 4% ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่มือของบุค คลากรทางการแพทย์ก่อนและหลังผ่าตัด

    7. รูปแบบยาครีมทาฆ่าเชื้อโรค ขนาดความแรง 1%

    8. รูปแบบยาครีมที่ใช้เป็นชุดปฐมพยาบาล โดยมีส่วนประกอบ Chlorhexidine 0.5% และ Dexpanthenol 5%

    9.รูปแบบเจลหล่อลื่นผสมยาชาสำหรับการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การสอดท่อ สวนเข้าในท่อปัสสาวะของผู้ป่วย โดยมีส่วนผสม Lidocaine 2% และ Chlorhexidine 0.05%

    10.รูปแบบผ้าทำแผล มีส่วนผสมของคลอเฮกซิดีน 0.5%

    คลอร์เฮกซิดีนมีวิธีการใช้อย่างไร?

    คลอร์เฮกซิดีนมีวิธีการใช้ เช่น

    ก. น้ำยาบ้วนปาก: เช่น อมบ้วนปากครั้งละ 15 ซีซี หลังอาหารเช้า - เย็น ควรอมและกลั้ว ในปากเป็นเวลา 30 วินาทีจึงบ้วนทิ้ง ไม่ต้องบ้วนตามด้วยน้ำเปล่า ยกเว้นแพทย์/ทันตแพทย์จะแนะนำ

    ข. สำหรับถูมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค: มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคลอร์เฮกซิดีนผสมร่วมกับแอลกอฮอล์ มีวิธีใช้ เช่น

    • บรรจุผลิตภัณฑ์ในภาชนะ เช่น ขวดปั๊ม และติดตั้งในที่ที่มีอากาศระบายได้ดี
    • ล้างมือทำความสะอาดเบื้องต้น เช็ด/ซับด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง หรือทิ้งให้แห้งเอง แล้วจึง
    • ถูทำความสะอาดมือด้วยน้ำยานี้ โดยลูบไล้ให้ทั่วฝ่ามือ ซอกนิ้ว และซอกเล็บ และทิ้งไว้ 15 วินาทีโดยประมาณ ไม่ต้องใช้ผ้าเช็ดหรือล้างน้ำออก ปล่อยให้แห้งเอง

    ค. สำหรับฟอกมือก่อนและหลังผ่าตัด: เช่น มักเป็นสารละลายชนิด 4% ใช้ฟอกมือแทนสบู่ก่อนทำการผ่าตัด

    อนึ่ง:

    • การใช้คลอร์เฮกซิดีน ยังมีรูปแบบการใช้งานได้อีกหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดความเข้มข้น ดังนั้น ก่อนการใช้งาน ควรต้องอ่านรายละเอียดวิธีการใช้ตามเอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภัณฑ์ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

    *****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

    เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

    เมื่อมีการสั่งยาคลอร์เฮกซิดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

    • ประวัติแพ้ยาหรือสารเคมี เช่น คลอเฮกซิดีน หรือไม่

    คลอร์เฮกซิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

    คลอร์เฮกซิดีนมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง / อาการข้างเคียง) เช่น

    • สามารถทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัส มีอาการระคายเคือง ลอก
    • สำหรับน้ำยาบ้วนปาก อาจพบว่า ฟันมีสีคล้ำขึ้น ลิ้นมีสีซีด เป็นต้น

    มีข้อควรระวังการใช้คลอร์เฮกซิดีนอย่างไร?

    มีข้อควรระวังการใช้คลอร์เฮกซิดีน เช่น

    • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
    • ห้ามใช้คลอร์เฮกซิดีนล้างฆ่าเชื้อในหูชั้นกลาง รวมถึงอวัยวะต่างๆที่มีความเปราะบางและไวต่อคลอร์เฮกซิดีน เช่น ลูกตา
    • ระวังมิให้คลอร์เฮกซิดีนเข้าตา
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

    ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมคลอร์เฮกซิดีน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

    คลอร์เฮกซิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

    ยังไม่พบว่าคลอร์เฮกซิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่น

    ควรเก็บรักษาคลอร์เฮกซิดีนอย่างไร

    ควรเก็บรักษายาคลอร์เฮกซิดีน เช่น

    • เก็บยาที่อุณหภูมิ15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
    • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
    • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

    คลอเฮกซิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

    ยาคลอร์เฮกซิดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

    ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
    Bacard Antiseptic Cleanser (แบคการ์ด แอนตี้เซฟติก คลีนเซอร์) Chew Brothers
    Bactigras (แบคทิกราส) Smith & Nephew
    Bactricide (แบคทริไซด์) Bayer HealthCare Consumer Care
    Bepanthen First Aid (เบแพนเทน เฟิร์ส เอด) T. Man Pharma
    B-Mouthwash (บี-เมาท์วอช) Medicpharma
    C-20 (ซี-20) Osoth Interlab
    Cathejell With Lidocaine (คาเธเจล วิท ลิโดเคน) Montavit
    Chlorhex (คลอเฮก) Milano
    Chlorhex Polipharm (คลอเฮก โพลิฟาร์ม) Polipharm
    Chlorhexidine Mybacin (คลอเฮกซิดีน มายบาซิน) Greater Pharma
    Chlorsep (คลอเซพ) Atlantic Lab
    Clocimide Concentrate (คลอซิมายด์ คอนเซ็นเทรท) P P Lab
    Dekka (เด็คคา) Pond’s Chemical
    Dekkalon (เด็คคาลอน) Sinopharm
    Hexene Skin Cleanser (เฮกซีน สกิน คลีนเซอร์) Osoth Interlab
    Hexide (เฮกไซด์) Milano
    Hexidine (เฮกซิดีน) BJ Benjaosoth
    Hydrex (ไฮเดร็กซ์) Ecolab
    Inhibac Hospital Conc (อินฮิแบค ฮอสพิทอล คอน) Pharmaland
    Killa (คิลลา) T. Man Pharma
    Obitane (โอบิเทน) Pharmasol
    OR Scrub/Solution Sinopharm (โออาร์ สครับ/โซลูชั่น ซิโนฟาร์ม) Sinopharm
    Septol-C (เซพทอล-ซี) BJ Benjaosoth
    Septrex (เซพเทร็ก) Burapha

    บรรณานุกรม

    1. http://en.wikipedia.org/wiki/Chlorhexidine [2020,March14]
    2. https://www.mims.com/USA/drug/info/Chlorhexidine%20Gluconate/Chlorhexidine%20Gluconate%20Rinse?type=full[2020,March14]
    3. http://www.chlorhexidinefacts.com/mechanism-of-action.html [2020,March14]
    4. http://www.medicinenet.com/chlorhexidine-topicalmucous_membrane/article.htm [2020,March14]
    5. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/chlorhexidine-topical-application-route/proper-use/drg-20070874 [2020,March14]