คนแคระ (ตอนที่ 2)

คนแคระ-2

      

ทั้งนี้ ในงานประชุมครั้งนี้มีการกล่าวถึง Young Child Formula (YCF) ซึ่งเป็นอาหารสูตรสำหรับเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ว่า มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมภาวะสมดุลโภชนาการในวัยเด็กเล็ก เนื่องจากมีการเติมสารอาหารจำเป็นในกลุ่มวิตามิน แร่ธาตุซึ่งเป็นสารอาหารกลุ่มรอง (Micronutrient) เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินดี เป็นต้น โดยมีการกำหนดปริมาณการเติมสารอาหารแต่ละชนิดได้ตามที่ WHO/FAO แนะนำ

อย่างไรก็ดี การให้ลูกกินนมมากกว่าอาหารมื้อหลักไม่ใช่พฤติกรรมการกินที่ดีนัก จึงให้ถือเป็นอาหารทางเลือกเท่านั้นแต่สิ่งสำคัญคือ ให้คุณแม่ยึดหลักสมดุลการจัดอาหารตามวัยครบคุณค่า 5 หมู่ที่หลากหลายและให้ลูกกินนมร่วมด้วยทุกวัน

ภาวะแคระแกร็นในเด็ก (Stunting) เป็นทุพโภชนาการต่อเนื่องระหว่างช่วงสำคัญของชีวิตเด็กหรือ 59 เดือนแรก องค์การยูนิเซฟได้ระบุว่า ในอินเดีย มีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบประมาณร้อยละ 38 หรือประมาณ 46.8 ล้านคน (นับเป็น 1 ใน 3 ของเด็กแคระแกร็นทั่วโลก) ที่มีภาวะแคระแกร็น ซึ่งเกิดจากการการทุพโภชนาการที่ต่อเนื่อง

ภาวะแคระแกร็นจะมีส่วนสัมพันธ์กับพัฒนาการของสมองและความสามารถในการเรียนรู้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เรื้อรังในอนาคต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ โรคอ้วน

ในเดือนเมษายน 2562 องค์การสหประชาชาติได้รายงานว่า มีเด็ก 149 ล้านคนที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยร้อยละ 22 ของเด็กเหล่านี้มีปัญหาเรื่องภาวะแคระแกร็น ซึ่งพบเด็กส่วนใหญ่ที่เอเชียและมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในแอฟริกา และยังมีการพบว่าภาวะแคระแกร็นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กถึงร้อยละ 14

ภาวะแคระแกร็นเริ่มตั้งแต่สาววัยรุ่นมีภาวะทุพโภชนาการและโลหิตจางก่อนการตั้งครรภ์ และแย่มากขึ้นเมื่อเด็กที่เกิดมาได้รับอาหาร น้ำ และมีสภาพสุขอนามัยที่ไม่ดี

ภาวะแคระแกร็นสามารถเห็นได้จาก

  • มีรูปร่างแคระ ขาและแขนผิดส่วนเมื่อเทียบกับลำตัว
  • กรณีที่มีฮอร์โมน Thyroxine ที่ต่ำ อาจไม่มีแรง ท้องผูก ผิวแห้ง ผมแห้ง ขี้หนาว
  • กรณีที่มีโกรทฮอร์โมน (Growth hormone = GH) ต่ำ สามารถมีผลกระทบต่อใบหน้าทำให้ดูเด็กผิดปกติ
  • หากการโตช้าเกิดจากโรคในกระเพาะ อาจพบเลือดในอุจจาระ มีอาการท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ หรืออาเจียน

สำหรับสาเหตุของภาวะแคระแกร็นส่วนใหญ่เกิดจาก

  • พันธุกรรม - พ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวมีภาวะตัวเตี้ย (Short stature)
  • พัฒนาการของกระดูกโตช้ากว่าปกติ ทำให้มีความสูงน้อยกว่าเพื่อนในช่วงวัยรุ่น แต่อาจสูงทันเพื่อนตอนโตเป็นผู้ใหญ่
  • โกรทฮอร์โมนบกพร่อง (Growth hormone deficiency)
  • มีภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ทำให้ขาดฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต
  • กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome = TS) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบในเพศหญิง เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม X โดยผู้ป่วยภาวะนี้จะมีโครโมโซม X เพียงตัวเดียว ทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะเฉพาะ คือ มีรูปร่างเตี้ย คอมีพังผืด และปลายแขนกางออก ทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีรังไข่ที่ไม่เจริญ ไม่มีประจำเดือน และอาจเกิดภาวะมีบุตรยาก
  • การคลอดก่อนกำหนด (ก่อน 37 สัปดาห์)

แหล่งข้อมูล:

  1. แนะการแก้ไขภาวะแคระแกร็นในเด็ก. https://www.thaihealth.or.th/Content/50596-แนะการแก้ไขภาวะแคระแกร็นในเด็ก.html [2020, February 19].
  2. Stunting. http://unicef.in/whatwedo/10/stunting [2020, February 19].
  3. Understanding Delayed Growth and How It’s Treated. https://www.healthline.com/health/delayed-growth-symptom [2020, February 19].
  4. THE IMPACT OF STUNTING. https://www.powerofnutrition.org/the-impact-of-stunting/ [2020, February 19].
  5. Risk Factors for Stunted Growth. https://www.news-medical.net/health/Risk-Factors-for-Stunted-Growth.aspx [2020, February 19].