คดในข้อ งอในกระดูก (ตอนที่ 3)

คดในข้องอในกระดูก-3

      

      จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 23 ของผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคดจะมีอาการปวดหลัง และร้อยละ 10 ของผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) ภาวะไขสันหลังเป็นโพรง (Syringomyelia) ไขสันหลังถูกดึงรั้ง (Tethered cord) กระดูกทับเส้น (Herniated disc) หรือ เนื้องอกไขสันหลัง (Spinal tumor)

      และเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างและขนาดของกระดูกสันหลังส่วนอก จึงอาจมีผลต่อการทำงานของหัวใจและปอด ทำให้หายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอกได้

      สำหรับเด็ก อาการกระดูกสันหลังคดโดยกำเนิด (Congenital Scoliosis) มักสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดปัญหากับอวัยวะส่วนอื่นด้วย โดยมีปัญหาที่ไขสันหลังร้อยละ 20 ที่ระบบสืบพันธุ์ (Genitourinary system) ร้อยละ 20-33 และที่หัวใจร้อยละ 10-15

      ส่วนผู้ใหญ่พบว่า โรคกระดูกสันหลังคดจากการเสื่อมตามอายุ (Degenerative scoliosis) มักพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปและส่วนใหญ่เกิดที่กระดูกสันหลังส่วนเอว โดยจะค่อยๆ เสื่อมลงตามอายุ ทำให้เกิดอาการปวดหลัง

      แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้จากการดูทางกายภาพ รวมถึงการดูความสูงและน้ำหนัก ดูความสมดุลของสะโพก ไหล่ การเคลื่อนไหว เป็นต้น เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผลการตรวจครั้งต่อๆ ไป เพื่อการดูพัฒนาการของโรค

      ซึ่งวิธีการตรวจมาตราฐานที่ใช้กับเด็กที่เรียกว่า The Adam's Forward Bend Test จะให้ผู้ป่วยยืนตรงเท้าชิด ก้มตัวไปด้านหน้าและมือพยายามแตะปลายเท้า 2 ข้างประมาณ 90 องศา ซึ่งสามารถทำให้เห็นถึงความแตกต่างของบริเวณหลังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถือเป็นวิธีการตรวจเบื้องต้น แต่ไม่สามารถบอกได้ถึงความรุนแรงหรือชนิดของความผิดปกติได้

      ดังนั้น ถ้าพบความผิดปกติอาจใช้การทดสอบโดยใช้รังสี (Radiographic Testing หรือ RT) เพิ่มเติม เพื่อดูให้ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น

  • การเอ็กซเรย์ – เพื่อดูโครงสร้างของกระดูกสันหลังและข้อต่อ เพื่อหาสาเหตุของความปวดที่อาจเป็นไปได้ เช่น การติดเชื้อ การแตกหัก หรือ การผิดรูปของกระดูก
  • ซีทีสแกน – เพื่อดูรูปร่างและขนาดด้านข้างของโพรงกระดูกสันหลัง (Spinal canal)
  • เอ็มอาร์ไอ – เป็นภาพ 3 มิติ เพื่อดูไขสันหลัง (Spinal cord) เส้นประสาทไขสันหลัง (Nerve roots) และบริเวณใกล้เคียงว่ามีการบวม เสื่อม หรือผิดรูปไปอย่างไร

      ส่วนการรักษาทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น

  • ภาวะเติบโตของกระดูกไขสันหลัง (Spinal maturity) – ว่ายังเจริญเติบโตและเปลี่ยนรูปร่างได้อีกหรือไม่
  • องศาของการคด – กระดูกคดมากหรือไม่และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันขนาดไหน
  • ตำแหน่งที่กระดูกคด – ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณกระดูกช่วงอกมากกว่าบริเวณอื่น
  • โอกาสที่โรคจะพัฒนาและเกิดการคดมากขึ้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Scoliosis. https://www.medicinenet.com/scoliosis/article.htm#what_are_risk_factors_for_scoliosis [2019, August 30].
  2. Scoliosis. https://www.aans.org/patients/neurosurgical-conditions-and-treatments/scoliosis [2019, August 30].