ข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ข้อสันหลังอักเสบยึดติด(Ankylosing spondylitis ย่อว่า AS และชื่ออื่นคือ Bechterew disease หรือ Marie Strumpell disease) คือ โรคอักเสบเรื้อรังชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อของกระดูกสันหลังทุกข้อกระดูก ที่อาการโรคจะค่อยๆเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไม่รู้ตัว มีอาการที่ละเล็กละน้อย เป็นๆหายๆ ซึ่งถ้าไม่สนใจสังเกตให้ดี จะไม่พบว่าเป็นอาการที่ผิดปกติ แต่อาการผิดปกตินี้จะค่อยๆรุนแรงขึ้นและเกิดต่อเนื่องอย่างน้อยตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เช่น อาการที่กระดูกสันหลังเคลื่อนที่ไม่ได้/ยึดติด/หลังแข็ง/เอี้ยวตัวไม่ได้ ที่รวมกับการปวดหลัง โดยอาการมักเกิดหลังตื่นนอน และมีอาการอยู่นานประมาณ 30 นาที ซึ่งเมื่อมีการเคลื่อนไหว อาการนี้ก็จะดีขึ้นจนเป็นปกติ

โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด พบได้ประมาณ 0.1-1%ของประชากรทั่วโลก พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 3 เท่า และมักพบ ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยต้นๆของวัยผู้ใหญ่คือประมาณ 40-45 ปี โดยประมาณ 90%จะพบโรคนี้ในช่วงอายุ 15-40 ปี

ข้อสันหลังอักเสบยึดติดมีสาเหตุจากอะไร?

ข้อสันหลังอักเสบยึดติด

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด แพทย์ยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่อกระดูกสัน คือ น่าจัดเป็นโรคในกลุ่ม โรคออโตอิมมูน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดข้อสันหลังอักเสบยึดติด?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด ได้แก่

  • ผู้ที่มีสารพันธุกรรมจีน/ยีน(Gene)ที่เรียกว่า HLA-B27(Human leukocyte antigen-B27) ซึ่งเป็นจีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของอวัยวะต่างๆหลายอวัยวะ เช่น กระดูก ตา ระบบทางเดินอาหาร และพบว่า กรณีผู้มีจีนตัวนี้ และมีญาติสายตรง(พ่อ แม่ พี่ น้อง พ่อแม่เดียวกัน)มีจีนตัวนี้อยู่ด้วย มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ประมาณ 15-20% แต่ถ้าถ้ามีจีนตัวนี้โดยญาติสายตรงไม่มีจีนตัวนี้ จะเป็นโรคนี้ได้ประมาณ1-2%
  • มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้
  • อายุ: วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยตอนต้นประมาณ 40-45 ปี มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าวัยอื่น
  • เพศ: ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า
  • เชื้อชาติ: พบโรคนี้ในคนผิวขาว และคนพื้นเมืองในอเมริกา(Native Americans) สูงกว่าคนเอเซีย และคนผิวดำ

ข้อสันหลังอักเสบยึดติดมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด ได้แก่

  • ปวดหลังช่วงล่างร่วมกับหลังยึดติดของกระดูกสันหลังส่วนนี้ โดยมีอาการต่อเนื่องนานตั้งแต่ 3เดือนขึ้นไป ทั้งนี้อาการนี้จะดีขึ้นด้วยการออกกำลังกาย แต่อาการจะคงที่หรือเลวลงเมื่อไม่มีการออกกกำลังกาย
  • หลังยึดติด/หลังแข็ง ไม่สามารถเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง/ส่วนของหลังได้ทั้งเคลื่อนมาทาง ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง
  • ช่องอกตีบแคบ เมื่อเปรียบเทียบกับคนในวัยเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้เหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป

นอกจากนั้น ยังอาจพบมี อาการอักเสบ ปวด การยึดติดของข้อต่างๆได้ทุกข้อนอกเหนือจากข้อกระดูกสันหลัง ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อระหว่างกระดูกสะโพกกับกระดูกกระเบนเหน็บ(Sacroiliac joint), การอักเสบของเอ็นตำแหน่งต่างๆที่ยึดติดกับกล้ามเนื้อและที่ยึดติดกับกระดูกที่เรียกว่า Enthesis ซึ่งการอักเสบของตำแหน่งนี้เรียกว่า “Enthesitis”, การอักเสบที่กระดูกอ่อนของซี่โครง, และการอักเสบที่ข้อสะโพกและข้อไหล่, ข้อส่วนที่พบมีการอักเสบได้น้อย คือ ข้อกระดูกมือ กระดูกเท้า ที่พบได้ประมาณ 20%ของผู้ป่วย

อนึ่ง นอกจาก การอักเสบจะเกิดขึ้นกับ กระดูก กระดูกอ่อน ข้อกระดูก และตำแหน่งยึดเกาะของเอ็นกับกระดูกแล้ว ในผู้ป่วยบางราย อาจมีการอักเสบของผนังชั้นกลางของลูกตาที่เรียกว่า ยูเวีย(Uvea) ซึ่งการอักเสบนี้เรียกว่า Uveitis และ/หรือ ร่วมกับมี โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง และ/หรือ โรคโครห์น(Crohn’s disease) อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องการอักเสบของอวัยวะเหล่านี้ ได้ในเว็บ haamor.com

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยข้อสันหลังอักเสบยึดติดได้อย่างไร?

โรคข้ออักเสบยึดติดที่เกิดในระยะแรกๆของโรค จะเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมากเพราะจะไม่มีความผิดปกติของ การตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือด ทั้ง การตรวจสารภูมิต้านทาน หรือ สารภูมิคุ้มกัน และเอกซเรย์ของกระดูกสันหลังก็จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้นในระยะแรกของโรค แพทย์จะวินิจฉัยโรคข้ออักเสบยึดติดได้จาก อาการของผู้ป่วยที่เกิดจากกระดูกอักเสบเป็นหลัก ดังได้กล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” และถ้ามีอาการทางตา คือ Uveitis และ/หรือ มีลำไส้อักเสบเรื้อรัง(โรคไอบีดี)ร่วมด้วย ก็จะยิ่งช่วยการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้แม่นยำขึ้น โดยเฉพาะผลการตรวจเลือดพบว่าผู้ป่วยมี จีน/ยีน ชนิด HLA-B27

นอกจากนั้น กรณีที่เป็นโรคนี้มานานแล้ว จนมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติของกระดูกสันหลัง การวินิจฉัยโรคนี้จะง่ายขึ้น จากการตรวจภาพเอกซเรย์ของกระดูกสันหลัง ที่จะพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉพาะโรคนี้ คือ ข้อกระดูกสันหลังโดยเฉพาะกระดูกสันหลังเอวช่วงล่าง และข้อระหว่างกระดูกสะโพกกับกระดูกกระเบนเหน็บ กล่าวคือ จะพบภาวะกระดูกงอกที่เชื่อมติดข้อต่างๆดังกล่าว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ โดยจะทำให้กระดูกสันหลังมีลักษณะคล้ายปล้องไม้ไผ่ที่ทางแพทย์เรียกว่า “Bamboo spine”

รักษาข้อสันหลังอักเสบยึดติดอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคข้อสันหลังยึดติด ได้แก่

ก. การออกกำลังกาย และการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด

ข. การใช้ยาแก้อักเสบ ในกลุ่ม NSAID เช่นยา Naproxen, Indomethacin

ค. การใช้ยาในกลุ่ม ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์(DMARD) เช่นยา Etanercept , Golimumab, Infliximab

ง. การทำผ่าตัดข้อกระดูกต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้น้อยมาก เฉพาะในผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาทุกประเภท

ข้อสันหลังอักเสบยึดติดมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากข้อสันหลังอักเสบยึดติดที่พบได้บ่อย คือ ภาวะกระดูกสันหลังหักโดยเฉพาะกระดูกสันหลังคอ ที่อาจรุนแรงจนกระดูกที่หักไปกดทับไขสันหลังจนเกิดเป็นอัมพาตได้ และผลข้างเคียงที่พบได้บ้างประปราย เช่น

  • โรคหัวใจ จากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆของหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดอักเสบ
  • โรคปอด จากเนื้อเยื่อปอดเกิดอักเสบและกลายเป็นพังผืด
  • กระดูกสันหลังที่งอก อาจไปกดเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของทวารหนัก กระเพาะปัสสาวะ และขา ที่เรียกว่า กลุ่มอาการ Cauda equina syndrome ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะ กลันปัสสาวะ และ/หรือ กลั้นอุจจาระ ไม่อยู่ ร่วมกับมี ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างอ่อนแรง
  • โรคกระดูกพรุน

ข้อสันหลังอักเสบยึดติดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ข้อสันหลังอักเสบยึดติดมีการพยากรณ์โรค โดยเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ที่มีการดำเนินโรคแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายอาการน้อย บางรายอาการมาก โดยแพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ผู้ป่วยรายใดจะมีอาการน้อยหรือมีอาการมาก ซึ่งโรคนี้มักเป็นโรคที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จนสามารถก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

อย่างไรก็ตาม การได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และการพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามแพทย์นัด รวมถึงการปฏิบัติตนและการใช้ยาต่างๆตามแพทย์สั่งอย่างถูกต้อง จะช่วยควบคุมรักษาอาการของผู้ป่วยไม่ให้รุนแรง

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
  • การเข้าใจ และยอมรับธรรมชาติของโรคนี้ เพื่อช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี
  • ออกกำลังกาย และทำกายภาพฟื้นฟู ตามแพทย พยาบาล และนักกายภาพบำบัด สอนสม่ำเสมอ อย่าท้อแท้
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ยาหยุดยาเอง
  • พบแพทย/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดหลังมากขึ้น มีอาการของหลังยึดติด/หลังเคลื่อนไหวได้น้อย มากขึ้น
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ชานิ้วเท้า ขา ข้างใดข้างหนึ่ง มากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีขาด้านเดียวหรือทั้ง2ด้านอ่อนแรง หรือ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่นตามเนื้อตัว
  • กังวลในอาการ

ป้องกันข้อสันหลังอักเสบยึดติดย่างไร?

เนื่องจากโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้ แต่เมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้ออาการฯ และหัวข้อการวินิจฉัยโรคฯ การรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แต่แรก ที่จะช่วยให้การรักษาควบคุมโรคได้รับผลดีกว่าการรับการรักษาเมื่อโรคเป็นมากแล้ว

บรรณานุกรม

  1. Kataria,RK., Brent,LH. Am Fam Physician. 2004;69:2853-2860
  2. Schachna, L. Rheumatology. 2013;42: 780-784
  3. Sieper,J. et al. Ann Rheuma Dis. 2002;61(suppliii):iii8-iii18
  4. http://emedicine.medscape.com/article/332945-overview#showall[2017,May6]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Ankylosing_spondylitis[2017,May6]