ภาวะขาดแลกเทส (Lactase deficiency) หรือ ภาวะไม่ย่อยแลกโทส(Lactose intolerance)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- แลคโทส และแลกเทส คืออะไร?
- ภาวะขาดน้ำย่อยนม สาเหตุจากอะไร?มีกี่ชนิด?
- ภาวะขาดน้ำย่อยนมมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดน้ำย่อยนมมี อย่างไร?
- รักษาภาวะขาดน้ำย่อยนมอย่างไร?
- ภาวะขาดน้ำย่อยนมก่อผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?
- ภาวะขาดน้ำย่อยนมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันภาวะขาดน้ำย่อยนมได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน (Diarrhea)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- แพ้นมวัว (Cow milk allergy)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) และโรคภูมิแพ้ (Allergy)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
ภาวะขาดแลกเทส หรือ ภาวะขาดน้ำย่อยนม (Lactase deficiency) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดจากลำไส้เล็กไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลกโทสที่เป็นส่วนประกอบหลักในนมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดที่รวมถึงนมแม่ได้ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องเสียเมื่อบริโภคนมหรืออาหาร-เครื่องดื่มผลิตภัณฑ์จากนมทั้งนี้รวมถึงอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในลำไส้ อาการเหล่านี้จึงเป็นที่มาของอีกชื่อที่คนทั่วไปนิยมเรียกโรค/ภาวะผิดปกตินี้ คือ “ กินนมแล้วท้องเสีย”
ภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม หรือ กินนมแล้วท้องเสีย เป็นภาวะพบบ่อยทั่วโลก มีรายงานพบได้ประมาณ 65-75%ของประชากรทั่วโลกทั้งนี้ขึ้นกับเชื้อชาติ โดยจะพบน้อยในคนเชื้อชาติยุโรป(มีรายงานพบ5%-17%) พบสูงมากในคน เอเชีย อเมริกาใต้ และอัฟริกัน มีรายงานในคนเชื้อชาติกลุ่มเหล่านี้พบได้สูงถึง 75%-90% พบทุกอายุ ทั่วไปมักพบในผู้ใหญ่และจะยิ่งพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ พบน้อยในเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก)วัยไม่เกิน 2 ปี(บางการศึกษารายงาน ถึง 3 ปี)
*อนึ่ง:
- อีกชื่อของภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม(Lactase deficiency) คือ ภาวะไม่ย่อยแลคโทส/ภาวะไม่ย่อยนม(Lactose intoleranc)
- ภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย เป็นคนละโรคกับโรคแพ้นมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะพบบ่อยที่สุดคือ ‘แพ้นมวัว (Cow milk allergy)’ แต่อาจแพ้นมสัตว์ชนิดอื่นได้ซึ่งรวมถึงแพ้นมแม่ซึ่งจะเกิดจาก ’ร่างกายแพ้โปรตีนในนมวัว’ โดยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเห็นโปรตีนในนมวัวเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจึงสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี/Antibody)ขึ้นมาต่อต้านจึงส่งผลให้เกิดเป็นปฏิกิริยาภูมแพ้หรือปฏิกิริยาการอักเสบเช่นเดียวกับในโรคภูมิแพ้ต่างๆ เช่น แพ้อาหาร การแพ้ยา แพ้เกสรดอกไม้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว คัน บวมเนื้อตัว ท้องเสีย, และถ้าแพ้รุนแรง อาจส่งผลให้หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย และอาจถึงตายได้จากเกิดปฏิกิริยา แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) (แนะนำอ่านรายละเอียด’โรคแพ้นมวัว’เพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com)
- ‘นม’ ในที่นี้ คือ นมทุกชนิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสียพบเกิดบ่อยที่สุดกับนมวัว พบน้อยจากนมแม่ และหมายรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากนม เช่น โยเกิร์ต เนย ไอศกรีม ช็อกโกแลต ซึ่งอาการท้องเสียอาจมากหรือน้อยหรือไม่มีอาการขึ้นกับปริมาณนมที่บริโภค, ความเข็มข้นของนม, และวิธีแปรรูปของนมสดที่ใช้ในการประกอบอาหารและผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เช่น บางคนกินนมแล้วท้องเสีย แต่กินโยเกิร์ตได้เป็นปกติ
แลคโทส และแลกเทส คืออะไร?
‘แลกโทส (Lactose)’: คือ น้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตที่เป็นส่วนสำคัญหลักในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่ประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลกาแลกโทส จัดเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของทารก ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงเป็นสารช่วยการเจริญเติบโตของแบคทีเรียประจำถิ่นชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย/ต่อทารกจึงส่งผลลดปริมาณแบคทีเรียที่ก่อโทษในลำไส้ส่งผลช่วยลดโรคติดเชื้อทางเดินอาหารที่เกิดจากแบคทีเรีย
‘แลกเทส หรือ น้ำย่อยนม (Lactase)’: คือ น้ำย่อยหรือเอนไซม์ของลำไส้เล็กในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลกโทสให้เป็นกลูโคสและกาแลกโทสที่เป็นน้ำตาลซึ่งลำไส้เล็กสามารถดูดซึมและร่างกายนำไปใช้ได้
ทั้งนี้ลำไส้เล็กของทารกจะสร้างเอนไซม์แลกเทสในปริมาณมากเพื่อให้เพียงพอต่อการย่อยน้ำตาลแลกโทสในนมที่เป็นอาหารหลักของทารก แต่ปริมาณการสร้างเอนไซม์แลกเทสจะค่อยๆลดลงตามการใช้งานคือตามการลดลงของการบริโภคน้ำตาลแลกโทส, หรือตามพันธุกรรมที่จะส่งผลลดการสร้างเอนไซม์แลกเทสเมื่ออายุมากขึ้น, และรวมถึงการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ที่สร้างเอนไซม์แลกเทสเมื่อเรามีอายุมากขึ้นเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย
ภาวะขาดน้ำย่อยนม สาเหตุจากอะไร?มีกี่ชนิด?
ภาวะขาดเอนไซม์แลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม หรือ ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย แบ่งเป็นชนิดย่อยๆตามสาเหตุดังนี้
ก. ภาวะไม่ย่อยน้ำตาลแลกโทสปฐมภูมิ (Primary lactose intolerance): เป็นชนิดพบบ่อยที่สุด พบเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่วัยเด็กที่อายุมากกว่า1-2ปี(แพทย์บางท่านให้ถึง3ปี) และจะพบสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุอยู่ในวัยที่ลดการพึ่งพานมแม่(พึ่งพาน้ำตาลแลกโตส) ทั้งนี้เพราะจากมีพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้ที่ทำให้ลำไส้เล็กลดการสร้างน้ำย่อย/ เอนไซม์ แลกเตสที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลกโตส โดยปริมาณเอนไซม์แลกเตสจะลดลงเรื่อยๆสวนทางกับวัยที่มากขึ้น ทั้งนี้ในระยะแรกเด็กอาจยังไม่แสดงอาการเพราะเอนไซม์แลกเทสยังลดลงไม่มาก ซึ่งทั่วไปมักแสดงอาการเมื่อถึง วัยเตาะแตะ เด็กโต วัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ
นอกจากนั้น ภาวะนี้ยังพบสูงขึ้นในผู้สูงอายุ เนื่องจากเซลล์ทุกชนิดในร่างกายเสื่อมลงตามธรรมชาติที่รวมถึงเซลล์ลำไส้เล็ก จึงส่งผลให้การสร้างน้ำย่อย/เอนไซม์แลกเทสลดน้อยลงไปด้วย
ข. ภาวะไม่ย่อยแลกโทสทุติยภูมิ (Secondary lactose intolerance): ภาวะนี้เกิดจากตัวโรคของลำไส้เล็กเองที่ส่งผลให้เซลล์ลำไส้เล็ก อักเสบ บาดเจ็บ เสียหาย จนไม่สามารถสร้างเอนไซม์แลกเทสได้ในปริมาณปกติ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร, โรคลำไส้เล็กอักเสบ, โรคโครห์น, โรคซีลิแอก, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง, ภาวะลำไส้เล็กอักเสบจากยาเคมีบำบัดและ/หรือการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง, หรือ จากการได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่องในระยะเวลานานๆ
โรคในกลุ่มนี้พบได้เรื่อยๆแต่ไม่มีการศึกษาสถิติเกิดที่แน่นอนเพราะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ พบได้ทุกอายุ และอาจเกิดขึ้นชั่วคราวกล่าวคือเมื่อรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุได้ ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสียก็จะหายไปด้วย
ค. ภาวะไม่ย่อยแลกโทสที่เกิดจากการเจริญเติบโต(Developmental lactose intolerance):ภาวะนี้พบในเด็กคลอดก่อนกำหนดที่ลำไส้เล็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จึงส่งผลให้ลำไส้เล็กสร้างน้ำย่อย/เอนไซม์แลกเทสได้น้อย แต่เมื่อทารกโตขึ้นจนลำไส้เล็กเจริญแข็งแรงเป็นปกติ อาการจากสาเหตุนี้ก็จะดีขึ้นจนเป็นไปตามธรรมชาติของเด็กปกติ
ง. ภาวะไม่ย่อยแลกโทสแต่กำเนิด(Congenital lactose intolerance):เป็นภาวะพบน้อยมากมีรายงานพบทั่วโลกไม่ถึง100 ราย เกิดจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้เฉพาะครอบครัวนั้นๆที่ส่งให้ผู้ป่วยตั้งแต่แรกเกิดไม่สามารถสร้างเอนไซม์ แลกเทสได้หรือสร้างได้น้อยมากๆจนไม่พอใช้งาน
ภาวะขาดน้ำย่อยนมมีอาการอย่างไร?
อาการของภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย ได้แก่
ก. อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบทุกราย: ได้แก่
- ท้องเสีย ที่มักเกิดหลังบริโภคน้ำตาลแลกโทส/นมประมาณ 30 นาทีถึง2ชั่วโมง โดยมีลักษณะท้องเสียเป็นน้ำ ปริมาณมาก อุจจาระอาจเป็นฟอง อาจปวดอุจจาระทันทีแบบต้องรีบเข้าห้องน้ำเพราะเหมือนจะกลั้นอุจจาระไม่อยู่
- แน่นท้อง ท้องอืด มีแก๊สมากในท้อง
- ปวดท้อง มักปวดท้องช่วงท้องตอนล่าง ลักษณะเป็นปวดบีบ บางครั้งปวดมาก
ข. อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบในบางคน: ได้แก่
- คลื่นไส้ อาจมีอาเจียน
ค. อาการของโรคที่เป็นสาเหตุกรณีเป็นภาวะขาดเอนไซม์แลกเทสชนิด ทุติยภูมิ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียด โรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงอาการได้จากเว็บ haamor.com เช่น โรคโครห์น, โรคลำไส้เล็กอักเสบ)
อนึ่ง: ความรุนแรงของภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย จะต่างกันในแต่ละผู้ป่วย ขึ้นกับ
- ปริมาณน้ำตาลแลกโทสที่บริโภคในแต่ละครั้ง
- ความบ่อยของการบริโภคน้ำตาลแลกโทส
- น้ำตาลแลกโทสเป็นชนิดแปรรูปหรือเป็นนมสด
- ชนิดของภาวะขาดแลกเทส
- ความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงการรักษาควบคุมโรคนั้นๆได้ดีหรือไม่
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยอาการหลักคือ ท้องเสียเรื้อรังหลังบริโภคนม (ไม่ต้องรอมีครบทุกอาการ)ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดน้ำย่อยนมมี อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสียได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ ความสัมพันธ์ของอาการกับการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม, อาหาร/เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ, และยาชนิดต่างๆ, ระยะเวลาที่ท้องเสียหลังบริโภคนม, อายุผู้ป่วยที่เกิดอาการ, เชื้อชาติ
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ
- การตรวจอุจจาระ อาจร่วมกับการตรวจเชื้อ และการตรวจย้อมเชื้อ
- การตรวจด้วยเทคนิคเฉพาะตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อหาปริมาณน้ำตาล แลกโทสในร่างกายหลังดื่มนม เช่น
- การตรวจ Hydrogen breath test วัดระดับก๊าซไฮโดรเจน(Hydrogen, ก๊าซซึ่งเป็นส่วนประกอบในโมเลกุลของน้ำตาลแลกโทส)จากลมหายใจออกที่จะต่ำกว่าปกติ
- การตรวจ Lactose intolerance test: ตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลแลกโทสหลังดื่มนมซึ่งจะ ต่ำกว่าปกติ
- ทดลองให้ผู้ป่วยบริโภคอาหารที่ปราศจากน้ำตาลแลกโทส แล้วดูว่าจะท้องเสียหรือไม่(Trial lactose-free diet)
- ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากลำไส้เล็กเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
- Stool acidity test: วิธีนี้ใช้ตรวจในเด็กอ่อนและเด็กเล็กที่การตรวจวิธีอื่นๆทำได้ยาก แพทย์จะตรวจค่าความเป็นกรดด่าง(pH)ของอุจจาระ ซึ่งอุจจาระเด็กโรคนี้จะมีความเป็นกรดสูงจากสารที่ได้จากน้ำตาลแลกโทส เช่น กรดแลกติค(Lactic acid), กรดไขมัน
รักษาภาวะขาดน้ำย่อยนมอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย ได้แก่
- เลิก/ไม่บริโภคอาหาร-เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม อย่างไรก็ตามหลายคนยังสามารถบริโภคอาหาร-เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมได้บ้างในปริมาณน้อยโดยต้องสังเกตและปรับตัวว่าปริมาณนมขนาดเท่าไรที่จะไม่ทำให้เกิดท้องเสีย รวมถึงผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ใช้นมสดเพียงเล็กน้อย เช่น ขนมเค้ก ไอศกรีมบางยี่ห้อ หรือบางรูปแบบ หรือนมประเภทแปรรูป เช่น โยเกิร์ต หลายคนก็สามารถบริโภคได้โดยไม่เกิดท้องเสีย ดังนั้นผู้ป่วยต้องสังเกตและปรับตนเอง
- เสริมอาหารด้วยเอนไซม์แลกเทส(Lactase supplements)ตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรซื้อบริโภคเอง
- ให้วิตามิน แร่ธาตุ/เกลือแร่ เสริมอาหาร โดยเฉพาะ แคลเซียม เพราะแหล่งอาหารหลักของแคลเซียมคือนม เพราะแคลเซียมมีน้อยมากในอาหารประเภทอื่นๆ
ภาวะขาดน้ำย่อยนมก่อผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?
ผลข้างเคียงจากภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย ถ้าเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื้อรังโดยไม่รักษา จะส่งผลให้เกิดภาวะขาดอาหาร/ ทุพโภชนาจากอาการท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งถ้าได้รับการรักษาโดยจำกัดการบริโภคนม อาจเกิดภาวะขาดแร่ธาตุสำคัญในนม คือ แคลเซียม (ภาวะขาดแคลเซียม)เพราะแคลเซียมมีน้อยมากในอาหารประเภทอื่นๆ ซึ่งส่งผลถึงความแข็งแรงของกระดูก ดังนั้นแพทย์จึงมักให้แคลเซียมเป็นอาหารเสริมกับผู้ป่วยโรคนี้
ภาวะขาดน้ำย่อยนมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย ทั่วไปเป็นโรคที่รักษาควบคุมได้ ถึงแม้จะไม่หายขาด แต่ไม่ทำให้ถึงตาย ดังนั้นเมื่อมีอาการท้องเสียเรื้อรังควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยใกล้เคียงปกติ
ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- รู้จักส่วนประกอบของอาหาร เครื่องดื่ม ก่อนการบริโภคเสมอว่ามีส่วนประกอบของน้ำตาลแลกโทส/นมหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการบริโภค
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการท้องเสียไม่ดีขึ้น หรือกลับแย่ลง
- มีอาการอื่นร่วมด้วยที่เป็นอาการใหม่ เช่น อุจจาระเป็นเลือด หรือมีมูกเลือด หรือมีกลิ่นเหม็นเน่า/เหม็นคาวจัด
- กังวลในอาการ
ป้องกันภาวะขาดน้ำย่อยนมได้อย่างไร?
การป้องกันภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนม/ภาวะไม่ย่อยแลกโทส/กินนมแล้วท้องเสีย คือ
- ไม่กินนม/อาหารที่มีน้ำตาลแลคโทส
- สังเกตตนเองในการบริโภคว่าสามารถทนอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนมได้ในระดับใด และปรับตัวตามนั้น
ส่วนในกรณีไม่ทราบว่ามีภาวะขาดแลกเทส/ขาดน้ำย่อยนมหรือเปล่า ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อจะได้รับการรักษาและดูแลตนเองได้เหมาะสมเมื่อมีอาการท้องเสียเรื้อรังโดยเฉพาะหลังบริโภคนมและ/หรือผลิตภัณฑ์จากนม