กิลแลง-บาร์เร กับ โควิด-19 (ตอนที่ 3)

กิลแลง-บาร์เรกับโควิด-19-3

      

กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรสามารถเกิดได้ในทุกวัย แต่ความเสี่ยงในการเกิดจะมากขึ้นตามอายุ และมักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรอาจถูกกระตุ้นได้ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

  • เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มักพบในสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก เป็นชนิดที่พบมากที่สุด
  • เชื้อไวรัสไข้หวัด (Influenza virus)
  • เชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus = CMV)
  • เชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus)
  • เชื้อไวรัสซิกา (Zika virus)
  • เชื้อไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis A, B, C และ E)
  • เชื้อเฮชไอวี (HIV) ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์
  • เชื้อมัยโคพลาสมา (Mycoplasma pneumonia)
  • การผ่าตัด (Surgery)
  • การได้รับบาดเจ็บ (Trauma)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's lymphoma)
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนที่ป้องกันโรคในเด็ก (แต่พบได้น้อยมาก)

เนื่องจากกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรมีผลต่อระบบประสาท และระบบประสาทมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการทำงานของร่างกาย ดังนั้นผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจมีอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยร้อยละ 22 ของผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในสัปดาห์แรกของการเข้ารับการรักษา
  • ชาหรือเจ็บแปลบ
  • มีปัญหาโรคหัวใจและความดันโลหิตผิดปกติ
  • ปวดเส้นประสาท โดยเกิดขึ้นร้อยละ 33 ของผู้ป่วย
  • มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย เพราะลำไส้และกระเพาะปัสสาวะทำหงานแย่ลง
  • หลอดเลือดอุดตัน (Blood clots)
  • เป็นแผลกดทับ (Pressure sores) เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
  • กลับมาเป็นซ้ำอีก (Relapse) โดยเกิดขึ้นร้อยละ 2-5 ของผู้ป่วย

สำหรับการวินิจฉัยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรในระยะแรกทำได้ยาก เนื่องจากมีอาการคล้ายระบบประสาทผิดปกติซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แพทย์มักเริ่มด้วยการซักประวัติสุขภาพและตรวจร่างกาย และอาจให้ทำ

  • การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography)
  • การตรวจการชักนำประสาทรับความรู้สึก (Nerve conduction studies)

แหล่งข้อมูล:

  1. Guillain-Barre syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/guillain-barre-syndrome/symptoms-causes/syc-20362793 [2020, Jul 24].
  2. Guillain-Barré syndrome. https://www.nhs.uk/conditions/guillain-barre-syndrome/[2020, Jul 24].
  3. What Is Guillain-Barre Syndrome? https://www.webmd.com/brain/what-is-guillain-barre#1 [2020, Jul 24].