กิลแลง-บาร์เร กับ โควิด-19 (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 23 กรกฎาคม 2563
- Tweet
มีรายงานผลทางการแพทย์ของทีมแพทย์ที่รักษาโรคระบาดโควิด-19 ที่เมือง Pavia ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี ซึ่งเผยแพร่ลงในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ว่า ในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 21 มีนาคม 2563 ได้มีโรงพยาบาล 3 แห่งที่ทำการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนประมาณ 1,200 ราย และพบว่ามีผู้ป่วย 5 ราย ที่แสดงอาการเหมือนกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 ของการเกิดอาการโรคโควิด-19 โดยมีลักษณะอาการขาอ่อนแรง เสียวซ่าและอ่อนแรงที่ใบหน้า และอีก 2 วันต่อมา อาการทางระบบประสาทจะแย่ลงจนแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้ง 5 ราย ได้รับการบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immune globulin therapy) เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโคโรนา โดยมี 1 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมา (Antibody-rich blood plasma) ของผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19
Dr. Anthony Geraci แพทย์เฉพาะทางด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Neuromuscular medicine) ที่ Northwell Health in Great Neck, N.Y. อธิบายว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เป็นอาการที่รู้จักกันดีว่าเป็นปฏิกิริยาหนึ่งของระบบภูมิต้านทานของร่างกายที่มีผลต่อระบบประสาทนอกส่วนกลาง (Peripheral nerves)
Dr. Anthony Geraci กล่าวต่อว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการอ่อนแรง ปฎิกิริยาตอบสนองหายไป (Areflexia) เสียวแปล๊บ (Paresthesia) และบางกรณีจะมีอาการใบหน้าอ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ (Ataxia)
นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยใหม่ที่พบว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร สามารถถูกกระตุ้นให้เกิดได้จากการที่ผู้ป่วยต้องต่อสู้กับเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus) เชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus = CMV) และเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ที่เกิดจากยุง
Dr. Anthony Geraci เน้นย้ำว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เป็นสิ่งที่พบได้ยาก ซึ่งจากการศึกษานี้พบเพียง 5 ราย จากจำนวน 1,200 ราย ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกเพื่อยืนยันถึงผลการศึกษานี้
กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-barre syndrome) เป็นความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานของร่างกายที่มีผลต่อระบบประสาท เป็นโรคที่พบได้ยาก
เรายังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร อย่างแน่ชัด มีความเชื่อว่ากลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่ความผิดปกติมักเกิดหลังการติดเชื้อที่ระบบการหายใจหรือทางเดินอาหารเป็นสัปดาห์ มีส่วนน้อยที่เกิดหลังการผ่าตัดหรือการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ดีในปัจจุบันพบว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรมักเกิดหลังการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus)
แหล่งข้อมูล:
- Some COVID-19 patients stricken by Guillain-Barre syndrome. https://medicalxpress.com/news/2020-04-covid-patients-stricken-guillain-barre-syndrome.html [2020, Jul 22].
- Guillain-Barre syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/guillain-barre-syndrome/symptoms-causes/syc-20362793 [2020, Jul 22].