การโด๊ปเลือด (Blood doping)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- การโด๊ปเลือดมีวิธีการอย่างไร?
- จะตรวจสอบการโด๊ปเลือดได้อย่างไร?
- ความเสี่ยงของการโด๊ปเลือดมีอะไรบ้าง?
- ประโยชน์การโด๊ปเลือดคืออะไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like Syndrome)
- Erythropoietin
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol)
- โพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ
การโด๊ปเลือด(Blood doping) เป็นการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกาย วิธีการนี้เคยนำมาใช้เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตัวนักกีฬา เพราะเม็ดเลือดแดงจะช่วยนำออกซิเจนจากปอดไปยังกล้ามเนื้อของร่างกายได้สูงขึ้น ทำให้การออกกำลังของตัวนักกีฬามีพลังและความแข็งแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การโด๊ปเลือด ที่ใช้ในวงการกีฬา จัดเป็นข้อห้ามและได้รับการต่อต้านจากองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency) หรือเรียกย่อๆว่า “วาด้า (WADA)” และไม่ได้รับการอนุมัติให้นำมาใช้กับนักกีฬาทุกประเภทที่ลงแข่งขัน
การโด๊ปเลือดมีวิธีการอย่างไร?
การโด๊ปเลือดมีวิธีการต่างๆดังต่อไปนี้
1. ใช้วิธีการถ่ายเลือด (Blood transfusions) ปกติการบริจาคโลหิตและนำมาเก็บไว้ในคลังเลือดเพื่อสำรองใช้ในยามขาดแคลน เป็นวิธีการที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ร่างกายสูญเสียเลือดอมาก หรือใช้บำบัดอาการผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง หรือภาวะไตวาย แต่การโด๊ปเลือดที่แอบนำมาใช้ในนักกีฬาเป็นการถ่ายเลือดเข้าสู่ร่างกายของนักกีฬาก่อนลงสนามแข่ง การโด๊ปเลือดในลักษณะนี้ยังทำได้อีก 2 แบบ คือ ถ่ายเลือดของนักกีฬาเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยนำกลับเข้าร่างกายเมื่อใกล้เวลาแข็งขันซึ่งเป็นการใช้เลือดตนเองมาเป็นสารโด๊ป(Autologous transtusion) หรือไม่ก็ใช้เลือดของผู้อื่นที่มีกรุ๊ปเลือด/หมู่เลือดตรงกันถ่ายให้ตัวนักกีฬา(Homologous transtusion)
2. กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงโดยใช้ยาอีริโธรพอยอีติน(Erythropoietin) แบบสังเคราะห์ ยาอีริโธรพอยอีติน เป็นไกลโคโปรตีน(Glycoprotein)ประเภทฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาจากไตเมื่อร่างกายมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ทั่วไป ยาอีริโธรพอยอีตินที่เป็นเภสัชภัณฑ์ใช้ฉีดให้ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง หรือผู้ป่วยที่มีสภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่สภาพของไต ไม่สามารถสังเคราะห์สารอีริโธรพอยอีตินขึ้นมาใช้ได้อีกต่อไป การใช้ยาอีริโธรพอยอีติน มาฉีดกระตุ้นในตัวนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติอยู่แล้วนับว่าผิดต่อวัตถุประสงค์ทางคลินิก ด้วยอาจได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมาจากยานี้ เช่น เกิดอาการแพ้ต่อตัวยาอีริโธรพอยอีตินที่ฉีดเข้าไป หรือทำให้เกิดความดันโลหิตสูงหรือมีอาการ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ตามมา
3. กระตุ้นการทำงานของอีริโธรพอยอีตินโดยใช้เวชภัณฑ์หรือยาประเภท HIF stabilizer (Hypoxia-inducible factor stabilizer) HIF เป็นสารโปรตีนประเภทหนึ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นได้เอง ในทางยามีการใช้ HIF มาบำบัดอาการโลหิตจางของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ร่างกายมีสารอีริโธรพอยอีตินต่ำอยู่แล้ว แต่การนำมาใช้เป็นสารโด๊ปเลือดในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงปกติอย่างนักกีฬา ถือว่าเป็นการใช้สารกระตุ้นผิดต่อจรรยาบรรณ
4. กระตุ้นการป้อนออกซิเจนเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย เช่น เซลล์กล้ามเนื้อ โดยใช้สารประกอบที่เรียกว่า Myo-inositol trispyrophosphate (หรือย่อว่า ITPP: เป็นการ นำน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่มีชื่อว่า Myo-inositol มาเติมสารหมู่ฟอสเฟต) ITPP จะมีกลไกทำหน้าที่กระตุ้นให้ฮีโมโกลบิน(Hemoglobin)ในเม็ดเลือดปลดปล่อยออกซิเจนเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายได้เพิ่มขึ้น ในการแข่งขันกีฬาระดับชาติเคยตรวจพบ ITPP จากน้ำปัสสาวะของนักกีฬาบางคนซึ่งผิดต่อวัตถุประสงค์การใช้ ITPP
ทั่วไป ทางคลินิก จะนำ ITPP มาบำบัดภาวะร่างกายที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ เช่นผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดเท่านั้น ปัจจุบัน ITPP กำลังได้รับการพัฒนาเพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ และความจำเสื่อมอีกด้วย
5. ใช้สารทดแทนเลือด (Blood substitutes):
5.1 มีการใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมระดับโมเลกุลสกัดฮีโมโกลบินจากเลือดมนุษย์หรือเลือดสัตว์ อาจกล่าวได้ว่าฮีโมโกลบินที่สกัดได้เป็นเคมีภัณฑ์ประเภทหนึ่ง เมื่อร่างกายได้รับเข้าไป จะทำให้มีปริมาณฮีโมโกลบินที่ช่วยขนถ่ายออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เพิ่มมากขึ้น ข้อดีของเคมีภัณฑ์ชนิดนี้ คือ ไม่มีเม็ดเลือดจากเลือดที่ใช้สกัดฮีโมโกลบินปะปนมาด้วย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการเข้ากันไม่ได้ของหมู่เลือด นักวิชาการเรียกฮีโมโกลบินสกัดดังกล่าวว่า Hemoglobin-based oxygen carriers หรือย่อว่า HBOCs
อย่างไรก็ตามมีข้อพิสูจน์ยืนยันว่า การใช้ HBOCs กับมนุษย์จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต(ตาย) จากมีภาวะหัวใจวายตามมาได้มาก ทำให้อเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปไม่ยอมรับการใช้ HBOCs และประกาศห้ามใช้กับมนุษย์
5.2 ใช้สารประกอบที่เรียกว่า Perfluorocarbons หรือย่อว่า PFCs มาพัฒนาเป็นยาประเภทอิมัลชั่น(Emulsion, ยาที่ประกอบด้วยตัวยาอย่างน้อย2ชนิดที่เข้ากันไม่ได้ อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor. Com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) PFCs มีคุณสมบัติรวมตัวกับออกซิเจนได้ดีมาก สามารถนำพาออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงบริเวณเนื้อเยื่อที่เม็ดเลือดเข้าไปไม่ถึงได้
อย่างไรก็ตาม การใช้สารทดแทนเลือดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพื่อบำบัดอาการของผู้ป่วยที่ไม่สามารถหาเลือดสำรองมาให้ผู้ป่วยได้ในขณะนั้น นอกจากนี้ยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการถ่ายเลือดของผู้อื่นเข้าสู่ร่างกายตน
6. การใช้โคบอลท์ คลอไรด์(Cobalt chloride)ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญใน Cobalamin ย่อว่า Cbl หรือ Vitamin B12 ร่างกายจะใช้ Cobalamin ในกระบวนการผลิตเม็ดเลือดแดง จึงเป็นเหตุผลให้ ทางการแพทย์ได้ใช้โคบอลท์ คลอไรด์ มาบำบัดรักษาผู้ป่วยโลหิตจาง
จะตรวจสอบการโด๊ปเลือดได้อย่างไร?
มีวิธีตรวจสอบการใช้สารโด๊ปเลือดแบบต่างๆ ดังนี้ เช่น
- ตรวจเลือดของผู้ที่ถูกสงสัยว่าใช้สารโด๊ปเลือดเพื่อดูว่ามีเลือดของผู้อื่นปะปน อยู่ในเลือดของผู้ต้องสงสัยหรือไม่ หรือกรณีใช้เลือดตนเองเป็นสารโด๊ป ทางการแพทย์ก็สามารถตรวจได้เช่นกัน โดยใช้การวัดความแตกต่างของระดับคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (Carboxyhemoglobin ย่อว่า COHb หรือ HbCO, สารที่เป็นส่วนประกอบในเม็ดเลือดแดง)ในกระแสเลือดที่เรียกการตรวจนี้ว่า COHb test ที่จะพบระดับ COHbสูงเกินค่าปกติกรณีได้รับการโด๊ปเลือดด้วยการให้เลือด
- ตรวจระดับ HBOCs เปรียบเทียบกับระดับฮีโมโกลบินปกติ กรณีที่พบความ แตกต่างเกิดขึ้น/สูงกว่าค่าปกติ นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่ามีการโด๊ปเลือดด้วย HBOCs เข้าแล้ว
- ตรวจหาสารอีริโธรพอยอีตินสังเคราะห์ในเลือดและในปัสสาวะ ซึ่งจะสูงแตกต่างจาก สารอีริโธรพอยอีตินที่ร่างกายปลดปล่อยออกมาจากไต
ความเสี่ยงของการโด๊ปเลือดมีอะไรบ้าง?
ความเสี่ยงของการโด๊ปเลือดมีดังนี้ เช่น
- การโด๊ปเลือดโดยการถ่ายเลือดเข้าสู่ร่างกายซึ่งทำให้ร่างกายมีระดับของ เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นก็จริงอยู่ แต่จะเสี่ยงต่อภาวะทำให้เลือดข้นขึ้นจนมีการจับตัว เป็นก้อนลิ่มเลือดได้มากขึ้น และยังส่งผลให้หัวใจทำงานหนักเกิดปกติมาก จนเกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจขาดเลือด หรือมีอาการตับวายตามมา
- การโด๊ปเลือดโดยการถ่ายเลือดยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ในกระแสะเลือด เช่น ติดเชื้อเอชไอวี(HIV) ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบ ซี ตลอดจนอาจทำให้ผู้ที่รับเลือดเกิดอาการแพ้ โดยแสดงออกด้วยอาการ มีไข้หรือเกิดผื่นคันตามร่างกาย
- การโด๊ปเลือดด้วยยาอิริโธรพอยอีติน เสี่ยงต่อการเกิดการมีระดับโปแตสเซียม ในเลือดสูง ตามมาด้วยความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจตรวจพบกลุ่ม อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย
ประโยชน์การโด๊ปเลือดคืออะไร?
ในอดีตการถ่ายเลือดให้กับนักบินรบ(Figther pilots) เพื่อป้องกันร่างกายขาดออกซิเจนขณะบินไต่ระดับสูงจากพื้นดิน แต่ในปัจจุบันการโด๊ปเลือดต้องใช้เพื่อประโยชน์หรือบำบัดอาการของผู้ป่วยตามหลักการแพทย์เท่านั้น การนำมาใช้โด๊ปเลือดในบุคคลที่มีร่างกายปกติจะมีความเสี่ยงและเกิดผลเสียต่อร่างกายได้มากมาย
บรรณานุกรม
- https://wiki.kidzsearch.com/wiki/Blood_doping[2018,June 23]
- https://www.webmd.com/fitness-exercise/blood-doping#1 [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/World_Anti-Doping_Agency [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Blood_doping [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hypoxia-inducible_factors#Repair_or_regeneration [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Myo-inositol_trispyrophosphate [2018,June 23]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/3777615 [2018,June 23]
- https://www.webmd.com/fitness-exercise/blood-doping#2 [2018,June 23]