การเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับเด็กในภาวะภัยพิบัติ (Children in disaster) - Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • ผลกระทบของภาวะฉุกเฉินและความขัดแย้งที่ได้รับ
  • ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
  • ผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก
    • โรค PTSD
    • ความพิการ
    • ความแตกต่างทางเพศ
  • ผลการศึกษา
  • การสนับสนุน
  • การศึกษาในพื้นที่ที่มีเหตุฉุกเฉินและความขัดแย้ง
  • ความเป็นมา
  • สิทธิในการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • การศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และผู้พลัดถิ่น
  • การตอบสนองทางการศึกษาต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการศึกษา
  • การศึกษาเสมือนการเยียวยาจิตใจ
  • การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์
  • สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในโรงเรียน
  • ครูที่ได้รับการฝึกอบรม

เกริ่นนำ               

               ความขัดแย้งและภาวะฉุกเฉินทั่วโลกก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ (Health) ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของเด็ก ความขัดแย้งและภาวะฉุกเฉินมีหลายประเภท เช่น ความรุนแรง ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ สงคราม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เด็กประมาณ 13 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากความขัดแย้งและความรุนแรงทั่วโลก เมื่อความขัดแย้งรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ชีวิตของเด็กๆ จะมีแต่ความวุ่นวาย และครอบครัวก็ไม่สามารถให้การดูแลที่ดีพอ สำหรับการพัฒนาด้านสุขภาพของเด็ก ผลกระทบนี้ส่งผลต่อ ความผิดปรกติจากความเครียดหลังภัยพิบัติ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)  ในเด็กที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานานในอัตราสูง

ผลกระทบของภาวะฉุกเฉิน (Emergency) และความขัดแย้ง (Conflict) ที่ได้รับ

 กล่าวโดยสรุป ภาวะฉุกเฉินและความขัดแย้งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก (Children's development) ดังต่อไปนี้

  • ด้านร่างกาย (Physical): อาการของโรคที่เป็นอยู่กำเริบ ปวดศีรษะ มีความเหนื่อยล้า อาการทางร่างกายที่ไม่สามารถอธิบายได้
  • ด้านความคิดหรือสติปัญญา (Cognitive): ไม่มีสมาธิ หมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ฝันซ้ำๆ (Recuring dream) หรือฝันร้าย (Nightmares) ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ไม่สามารถจัดการกับเหตุการณ์นั้นได้
  • ด้านอารมณ์ (Emotional): มีภาวะซึมเศร้า หงุดหงิด โกรธ ไม่พอใจ สิ้นหวัง ไร้ความหวัง รู้สึกผิด หวาดกลัว มีปัญหาสุขภาพ วิตกกังวล
  • ด้านสังคม (Social): มีความขัดแย้งกับครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้น มีปัญหาการนอนหลับ ร้องไห้ มีความอยากอาหารที่เปลี่ยนไปจากเดิม เก็บตัว/แยกตัวออกจากสังคม พูดซ้ำๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ปฏิเสธที่จะไปโรงเรียน เล่นแบบเดิมซ้ำๆ

ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

               การวิจัยแสดงให้เห็นว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางพันธุกรรม (Genetic make-up) ของเด็กที่กำลังพัฒนาได้ กล่าวคือ การมีความเครียดเป็นเวลานาน สารพิษจากสิ่งแวดล้อม (Environmental toxins) หรือการขาดสารอาหารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของยีนในทารกในครรภ์ (Fetus) หรือเด็กเล็ก และอาจมีอิทธิพลต่อพัฒนาการชั่วคราวหรือถาวรของเด็กๆ ก็ได้ นอกจากนี้ความรุนแรงและภาวะซึมเศร้าของแม่อาจทำให้พัฒนาการและสุขภาพจิตของเด็กแย่ลง เมื่อการบาดเจ็บเกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤตของพัฒนาการของทารกในครรภ์หรือเด็กเล็ก ผลกระทบต่อเซลล์ที่จำเพาะเจาะจงของอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ หรือไต อาจส่งผลให้การเจริญด้อยกว่าวัย ซึ่งมีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตไปจนตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น การศึกษาในอิรัก พบอัตราของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Heart defects at birth) ในเมืองฟัลลูจาห์ (Fallujah) มากกว่าที่พบในยุโรป 13 เท่า และพบความพิการแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทมากกว่าในยุโรป 33 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนการเกิดที่เท่ากัน ความเครียดเป็นเวลานานในระหว่างตั้งครรภ์หรือในวัยเด็กอาจเป็นพิษอย่างยิ่ง และหากไม่มีความสัมพันธ์เชิงป้องกัน ก็อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมด้านการพัฒนาเซลล์สมองอย่างถาวร มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าสารพิษและความเครียดจากแม่ข้ามรก (Placenta) ไปยังสายสะดือ (Umbilical cord) ส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด (Premature) และมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย ในทำนองเดียวกัน บาดแผลทางใจจากความขัดแย้งอาจส่งผลกระทบต่อสตรีมีครรภ์และสุขภาพทางอารมณ์ของลูกในภายหลังได้ นอกจากนี้ ทารกที่แม่มีความเครียดและความวิตกกังวลอย่างรุนแรงยิ่งเพิ่มเสี่ยงที่จะเกิดมามีขนาดเล็กหรือคลอดก่อนกำหนด

ผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

          โรค PTSD

การศึกษาผลกระทบของเหตุฉุกเฉินและความขัดแย้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต (Physical and mental health) ของเด็กระหว่างแรกเกิดถึง 8 ขวบ แสดงให้เห็นว่าในกรณีที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อัตราของโรค PTSD จะเกิดขึ้นในทุกที่ตั้งแต่ 3% ถึง 87% ของเด็กที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม อัตราของโรค PTSD สำหรับเด็กที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งเรื้อรังอยู่ระหว่าง 15% ถึง 50% ในประเทศต่อไปนี้ - อิหร่าน อิรัก อิสราเอล  คูเวต เลบานอน ปาเลสไตน์ รวันดา (Rwanda) แอฟริกาใต้ และซูดาน

          ความพิการ (Disabilities)

               เด็กพิการได้รับผลกระทบจากเหตุฉุกเฉิน และหลายคนต้องพิการระหว่างเกิดภัยพิบัติ เด็กพิการอาจต้องทนทุกข์ทรมานจากการสูญเสียอุปกรณ์ช่วยเหลือ สูญเสียการเข้าถึงยาหรือการฟื้นฟู และในบางกรณีอาจสูญเสียผู้ดูแล นอกจากนี้ เด็กพิการยังมีแนวโน้มที่จะถูกทารุณกรรมและใช้ความรุนแรงมากขึ้น งานวิจัยของยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่าความรุนแรงต่อเด็กพิการเกิดขึ้นในอัตราที่มากกว่าเด็กปกติอย่างน้อย 1.7 เท่า เด็กพิการซึ่งอาศัยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งจะมีความเสี่ยงมากขึ้นและปัญหาทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ก็จะสูงขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาสุขภาพทางอารมณ์และสุขภาพจิตในระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากขาดการเคลื่อนไหว ขาดการรักษา ขาดยา หรืออดอยาก คณะกรรมการระหว่างหน่วยงาน (Inter-Agency Standing Committee: IASC) ตระหนักดีว่าเด็กที่มีความพิการอยู่แล้วมีความเสี่ยงที่จะถูกข่มเหงรังแก เลือกปฏิบัติ ดูถูกเหยียดหยาม และมีความอดอยาก (Destitution) เด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว การมองเห็น และการได้ยิน หรือความบกพร่องทางสติปัญญาจะมีความเปราะบางเป็นพิเศษ หากเหตุฉุกเฉินนำไปสู่การย้ายโรงเรียนและการเรียนรู้กิจวัตรประจำวันใหม่ๆ ในช่วงภาวะฉุกเฉิน ระยะทางไปโรงเรียนที่ไม่ปลอดภัย การขาดแคลนอาคารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ และครูที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำ จะยิ่งเป็นปัญหาสำหรับเด็กพิการในแง่ของการเข้าเรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กช่วงกลางวันและการศึกษาปฐมวัย (Early education)

          ความแตกต่างทางเพศ

               บางงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าในสถานการณ์ตึงเครียดเด็กผู้หญิงมีความทุกข์มากกว่าเด็กผู้ชาย และถือว่ามีความเสี่ยงต่อสถานการณ์สงครามและความหวาดกลัวสูงกว่า งานวิจัยอื่นๆ พบว่าเด็กผู้หญิงมีความวิตกกังวล เป็นโรคซึมเศร้า และโรค PTSD มากกว่า ในขณะที่เด็กผู้ชายแสดงออกทางพฤติกรรมหลังภัยพิบัติมากกว่า อย่างไรก็ตาม เด็กผู้หญิงก่อนวัยเรียนที่ต้องเผชิญเหตุแผ่นดินไหวในเมือง สุลตานดากี  (Sultandagi) ประเทศตุรกี แสดงออกทางพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากกว่าเด็กผู้ชายในกลุ่มการศึกษาเดียวกัน นอกจากนี้ นักวิจัยกลุ่มหนึ่งแย้งว่าเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง อาจเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual abuse) และการแสวงหาผลประโยชน์ นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง รายงานว่าเด็กผู้ชายชาวปาเลสไตน์มีปัญหาทางจิตมากกว่าเด็กผู้หญิง เมื่อเผชิญกับความขัดแย้งเรื้อรัง ส่วนการศึกษาอื่นพบว่า เด็กผู้ชายชาวปาเลสไตน์มีความไวต่อผลกระทบของความรุนแรงในช่วงปฐมวัยในขณะที่เกิดกับเด็กผู้หญิงในช่วงวัยรุ่นมากกว่า โดยทั่วไปแล้ว ดูเหมือนว่าเด็กผู้ชายจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้านสังคม และรุนแรงมากกว่า ในขณะที่เด็กผู้หญิงอาจมีความทุกข์มากกว่า แต่จะแสดงอารมณ์ออกทางคำพูดมากกว่า

ผลการศึกษา

               ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทั้งหมด เด็กวัยประถมศึกษาจำนวน 21.5 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาเด็กที่ไม่ได้เรียนเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี ค.ศ. 2000 เป็น 35% ในปี ค.ศ. 2014 และในแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตกเพิ่มขึ้นจาก 63% เป็น 91%

               การศึกษาเชิงคุณภาพช่วยลดผลกระทบทางจิตสังคมจากความขัดแย้งและภัยพิบัติ ที่ให้ความรู้สึกถึงภาวะปกติ ความมั่นคง โครงสร้าง และความหวังสำหรับอนาคต อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฉุกเฉินและความขัดแย้งมักจะบ่อนทำลายคุณภาพของบริการด้านการศึกษา ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ ทรัพยากร และบุคลากร ที่ทำให้เด็กเล็กไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ในความขัดแย้งส่วนใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษามักเป็นเป้าหมายหลัก กล่าวคือโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียน มักจะถูกทำลายหรือปิดเนื่องจากสภาพที่เป็นอันตราย ทำให้เด็กเล็กไม่มีโอกาสเรียนรู้และเข้าสังคมในสถานที่ที่ปลอดภัย

               เด็กเล็กที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีโอกาสน้อยที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และมีแนวโน้มที่จะต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน การสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศที่ยากจนซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งอยู่ที่ 65% ส่วนในประเทศยากจนอื่นๆ อยู่ที่ 86% ตามรายงานของโปรแกรม UNICEF MICS (Multiple Indicator Cluster Surveys) ปี ค.ศ. 2000 ข้อมูลจากอิรักยืนยันว่า ไม่มีหลักสูตรการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยของการศึกษาในระบบ โดยมีเด็กอายุระหว่าง 36 ถึง 59 เดือนเพียง 3.7% เท่านั้นที่ได้เข้าเรียนในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล อัตราการลงทะเบียนในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่ต่ำ ยิ่งลดโอกาสที่เด็กจะหาพื้นที่ปลอดภัยที่นำพวกเขาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และปลดปล่อยคลายความเครียดและความตึงเครียดอันเนื่องมาจากเหตุฉุกเฉิน ในประเทศที่มีเหตุฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยพบอาการต่างๆ มากมายที่อาจเป็นโรคที่เกิดร่วมกับบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder: ADHD) ผลการเรียนไม่ดี ปัญหาพฤติกรรม การกลั่นแกล้ง (Bullying) และการล่วงละเมิด โรคดื้อต่อต้าน (Oppositional defiant disorder) พฤติกรรมเกเรรุนแรง โรคกลัว และ ความสัมพันธ์เชิงลบ

การศึกษาโดยใช้ข้อมูล Young Lives ในเอธิโอเปีย (Ethiopia) พบว่าเด็กเล็กที่แม่เสียชีวิตมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนน้อยกว่า 20% มีโอกาสเขียนหนังสือได้น้อยกว่า 21% และมีโอกาสอ่านหนังสือได้น้อยลง 27% โดย นักวิจัยพบว่าเด็กชาวบอสเนีย (Bosnian) ที่มีอายุ 5 ถึง 6 ขวบที่บอบช้ำจากสงคราม มีความสามารถทางปัญญาในระดับต่ำ ส่วนเด็กชาวปาเลสไตน์ก่อนวัยเรียนและในวัยเรียนที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียอย่างรุนแรง การได้รับบาดเจ็บ และการทำลายบ้านเรือน มีความสามารถทางสติปัญญาในการเอาใจใส่และสมาธิลดลง นอกจากนี้ยังพบว่า การบาดเจ็บรุนแรงมีความเกี่ยวข้องกับความสนใจและกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาที่จำกัด เนื่องจากสุขภาพกายและสุขภาพจิตเชื่อมโยงกับการพัฒนาทางภาษา (Language) และการรับรู้ จึงสรุปได้ว่าความขัดแย้งที่รุนแรงส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านเหล่านี้

การสนับสนุน

               หลักสูตรการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัย (Early childhood care and education: ECCE) เป็นสาขาที่มีหลายภาคส่วนช่วยตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของเด็กแบบองค์รวม ในระหว่างเหตุฉุกเฉิน บริการด้านการสนับสนุนของ ECCE อาจช่วยในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การฝากครรภ์ (Prenatal care) การฉีดวัคซีน (Immunization) โภชนาการ การศึกษา การสนับสนุนด้านจิตสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน นอกจากนี้บริการประสานงานด้านสุขภาพและโภชนาการ สุขาภิบาลและสุขอนามัยเรื่องน้ำ (Water sanitation and hygiene) การศึกษาปฐมวัย สุขภาพจิต และการป้องกันถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินและความขัดแย้ง

               หลักสูตรและกลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาในระบบหรือนอกระบบ (Formal or non-formal education) ล้วนมีส่วนสนับสนุนด้านสวัสดิภาพและการฟื้นฟูเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าโครงการพื้นที่สำหรับเด็ก เพลิน-รู้-เรียน-เล่น (Child Friendly Spaces: CFS) มีคุณค่าในการสร้างความรู้สึกเป็นปกติและมอบทักษะในการรับมือและความสามารถในการปรับตัวให้กับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุฉุกเฉิน ในโครงการพื้นที่สำหรับเด็ก เพลิน-รู้-เรียน-เล่น จะช่วยให้เด็กๆ สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและความสามารถ เช่น การแบ่งปันและความร่วมมือผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ และยังมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมของพวกเขา และสร้างทักษะชีวิต เช่น การอ่านออก-เขียนได้ (Literacy) และการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และจัดเตรียมวิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนชุมชนตามความต้องการของเด็กๆ ในแง่ของการเสริมสร้างระบบการปกป้องคุ้มครองเด็ก (Child protection) ในชุมชน ทางมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน (Christian Children's Fund: CCF) ได้จัดตั้งศูนย์สำหรับเด็กเล็กพลัดถิ่นภายในประเทศ 3 แห่งในค่าย Unyama (ประเทศยูกันดา) โดยจัดสถานที่ปลอดภัยและมอบหมายให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ดูแลเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 6 ขวบ War Child (องค์กรเด็กสงคราม) ได้ก่อตั้ง 'พื้นที่ปลอดภัย' ขึ้น 6 แห่งในโรงเรียนทางตอนเหนือของเลบานอนสำหรับเด็กพลัดถิ่นในซีเรีย โดยที่ปรึกษาได้ใช้ศิลปะและดนตรีบำบัด (Art and music therapy) เพื่อช่วยให้เด็กเล็กแสดงอารมณ์ของตนในทางที่ดี

               การศึกษาหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ที่เข้าร่วมโปรแกรมการศึกษาที่มีคุณภาพในโรงเรียนจะมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่ดีกว่า มีความกลัวน้อยลง และรับรู้ถึงความเสี่ยงตามความเป็นจริงมากกว่าเพื่อนๆ ในบริบทดังกล่าว โปรแกรมการบำบัดทางจิตสังคมสำหรับเด็กเล็กและครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญ ในการนี้การบำบัดต่างๆ เช่น การเล่าเรื่อง (Storytelling) การร้องเพลง กระโดดเชือก (Jumping rope) กิจกรรมบทบาทสมมุติ กีฬาประเภททีม และการฝึกเขียนและวาดภาพช่วยลดความเครียดทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรุนแรงในเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตก) ให้กับเด็กที่มีอายุ 8 ขวบ ถึง 18 ปี การศึกษาในเอริเทรีย (Eritrea ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออก) และเซียร์ราลีโอน แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการบำบัดทางจิตสังคมช่วยสร้างความผาสุกทางจิตสังคมให้แก่เด็ก ในอัฟกานิสถาน เด็กเล็กและวัยรุ่นรู้สึกถึงความมั่นคงและปลอดภัยหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ (เช่น ศิลปะ การเล่าเรื่อง กีฬา) ซึ่งจัดขึ้นในสถานที่ปลอดภัยภายในชุมชนของตน

การศึกษาในพื้นที่ที่มีเหตุฉุกเฉินและความขัดแย้ง

การศึกษาในพื้นที่ที่มีเหตุฉุกเฉินและความขัดแย้งเป็นกระบวนการสอนและส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ (Education for children, youth, and adults) ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ สถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ ความขัดแย้ง โรคระบาด (Pandemics) และภัยธรรมชาติ (Natural hazards) ระบบการศึกษาที่เข้มแข็งช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนจากการถูกโจมตี การละเมิด และการแสวงประโยชน์ พร้อมสนับสนุนการสร้างสันติภาพ และมอบความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจแก่เด็ก ในช่วงวิกฤตการณ์ การศึกษาช่วยสร้างความสามารถในการพาตัวเองกลับสู่สภาวะเดิมด้วยความคิดที่ยืดหยุ่นและมีความเหนียวแน่นทางสังคม (Social cohesion) ในชุมชนต่างๆ และเป็นพื้นฐานของการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน

ความเป็นมา

               สถานการณ์ฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา หมายถึง ทุกสถานการณ์ที่ภัยพิบัติจากฝีมือมนุษย์หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทำลายสภาพปกติในการดำรงชีวิต การดูแลเอาใจใส่ และสถานศึกษาของเด็กภายในระยะเวลาอันสั้นไม่ว่าจะเป็นการหยุดชะงัก การขัดขวางความก้าวหน้า หรือการตระหนักถึงสิทธิในการศึกษา (Right to education) ล่าช้า สถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธทั้งสถานการณ์ระหว่างประเทศ (การยึดครองทางทหาร) และสถานการณ์ที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ (สถานการณ์หลังความขัดแย้ง โรคระบาด และภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกประเภท)

สิทธิในการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน

               การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน (Human right) ที่ทุกคนมีสิทธิได้รับ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐต่างๆ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรับประกันและปกป้องสิทธิในการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อยู่ชายขอบ (Marginalized vulnerable groups) เช่น ผู้พิการ อันเนื่องมาจากการสูญเสียอำนาจและภาวะไร้กฎหมาย การทำลายโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเปลี่ยนเส้นทางของทรัพยากร  สถานการณ์ฉุกเฉินทำให้สิทธิในการศึกษาน้อยลง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่กฎหมายระหว่างประเทศ (International law) และประชาคมระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินให้น้อยที่สุด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human rights law) จะนำมาใช้กับทุกบริบท ผู้คนต้องไม่สูญเสียสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากความขัดแย้ง ความอดอยาก (Famine) หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ สิทธิในการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถลิดรอนได้ ซึ่งหมายความว่ารัฐจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างเหมาะสมในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

               การบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International human rights law) กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International humanitarian law) กฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ (International criminal law) นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้ 'กฎหมายอย่างอ่อน (soft law)' เช่น ปฏิญญาโรงเรียนปลอดภัย (Safe Schools Declaration, 2015) ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ความสามารถในการรับประกันสิทธิในการศึกษาของรัฐอาจมีปัญหา และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศจากผู้มีบทบาทอื่นๆ (เช่นสหประชาชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน รัฐอื่นๆ ฯลฯ)

ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน  มักจะไม่มองว่าการศึกษาเป็นการช่วยชีวิตในทันที แต่ก็ไม่ควรมองข้ามคุณค่าของการศึกษาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และเน้นว่าผู้ปกครอง (Parents) และผู้เรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคง ความปลอดภัยทางอารมณ์และร่างกาย และความต่อเนื่อง ในระยะกลาง การศึกษาสามารถช่วยให้ทหารเด็ก (Child soldiers) ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally displaced persons) ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย (Refugees) และทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ และในระยะยาว การศึกษาอาจมีบทบาทในการป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินได้

การศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และผู้พลัดถิ่น

               ตามสิทธิในการศึกษาควรจัดการศึกษาในแบบเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงแหล่งกำเนิด สัญชาติ (Nationality) หรือสถานะทางกฎหมาย (Legal status) ของผู้เรียน แม้ว่าสถานะทางกฎหมายและการย้ายถิ่นฐานไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเหตุต้องห้ามในการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายแห่ง (UN Human Rights treaty bodies) เช่น คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights: CESCR) และคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child)  ยืนยันว่า สิทธิภายใต้สิทธิในการศึกษามีผลบังคับใช้กับทุกคน รวมถึงผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองของประเทศ เช่น ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย (Asylum-seekers) บุคคลไร้สัญชาติ (Stateless persons) แรงงานข้ามชาติ และเหยื่อของการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ รวมถึงในสถานการณ์ที่เดินทางกลับหรือถูกเนรเทศไปยังประเทศต้นทาง โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย และเอกสารประกอบ

การตอบสนองทางการศึกษาต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

               ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว (Earthquakes) หรือไต้ฝุ่น (Typhoons) ทำให้ระบบการศึกษามีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน และการพลัดถิ่นท่ามกลางภัยคุกคามอื่นๆ การวางแผนการศึกษาที่คำนึงถึงความเสี่ยงดังกล่าวสามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ ในปี ค.ศ. 2017 สำนักงานยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติและพันธมิตรระดับโลกเพื่อลดความเสี่ยงและการฟื้นฟูจากภัยพิบัติในภาคการศึกษาได้เปิดตัวกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยในโรงเรียนแบบประสมซึ่งประกอบด้วยเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเรียนรู้ปลอดภัย การจัดการภัยพิบัติในโรงเรียน และการลดความเสี่ยงและการศึกษาด้านความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญปัญหา

               ในบังคลาเทศ ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการศึกษาระดับประถมศึกษาครั้งที่ 3 มุ่งเน้นไปที่สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ประเทศต้องเผชิญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามคำแนะนำจากการประชุม กลุ่มที่ปรึกษาท้องถิ่นเพื่อการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินจากภัยพิบัติประจำปี ค.ศ. 2011 เพื่อพัฒนา "กรอบแนวทางในการบูรณาการการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการศึกษาสถานการณ์ฉุกเฉินที่สอดคล้องกับการวางแผนและการดำเนินการตามภาคส่วน"

               ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific island nations) หลายแห่ง ตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นสาเหตุของความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นและกระทบต่อแผนโครงสร้างการศึกษา ในปี ค.ศ. 2011 หมู่เกาะโซโลมอน ได้ออกแถลงการณ์นโยบายและแนวปฏิบัติสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนยังคงเข้าถึงสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนทุกแห่งจะกำหนดพื้นที่การเรียนรู้และการสอนชั่วคราวได้อย่างเหมาะสม โดยเสนอว่าเพื่อคงไว้ซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพ ควรฝึกอบรมด้านจิตสังคมให้กับครูทุกคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภายใน 2 เดือนหลังเกิดภัยพิบัติ และควรแนะนำกิจกรรมทางจิตสังคมในพื้นที่การเรียนรู้ชั่วคราวและโรงเรียนทั้งหมดภายใน 6 สัปดาห์ กรอบยุทธศาสตร์การศึกษา ค.ศ. 2016-2030 เสนอแนะว่า ควรเพิ่ม "ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ความเหนียวแน่นทางสังคม) และการบริหารความเสี่ยงด้านการคุ้มครองทางสังคมไว้ในหลักสูตร (Curriculum) เพื่อส่งเสริมการปรับตัว ความยั่งยืน (Sustainability) การยืดหยุ่น และการไม่แบ่งแยก/ความเท่าเทียมกัน"

ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการศึกษา

               ณ วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2021 เด็กและเยาวชนมากกว่า 960 ล้านคนไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน เนื่องจากการสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศเป็นการชั่วคราวหรือไม่มีกำหนดตามคำสั่งของรัฐบาลเพื่อชะลอการแพร่กระจายของโควิด-19 การปิดโรงเรียนทั่วประเทศใน 105 ประเทศ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนที่จะเข้าเรียนชั้นอนุบาล (Pre-primary) ถึงมัธยมปลาย (Upper-secondary) ยิ่งกว่านั้นการปิดโรงเรียนท้องถิ่นเพื่อป้องกันหรือควบคุมโรคโควิด-19 ใน 15 ประเทศก็ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนและเยาวชนอีก 640 ล้านคน

               แม้จะเป็นการปิดโรงเรียนชั่วคราว แต่ก็ก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูง การหยุดชะงักที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วทั้งชุมชน (Communities) และส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าต่อเด็กด้อยโอกาสและครอบครัวของพวกเขา เช่น

  • การเรียนรู้หยุดชะงัก: การเรียนการสอนในโรงเรียนให้การเรียนรู้ที่จำเป็น และเมื่อโรงเรียนปิด เด็กและเยาวชนจะขาดโอกาสในการเติบโตและการพัฒนา ข้อเสียคือเกิดความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้เรียนด้อยโอกาส ที่มักจะมีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าภายในโรงเรียน
  • โภชนาการ: เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องพึ่งพาอาหารที่ถูกหลักโภชนาการฟรี หรืออาหารราคาถูกที่โรงเรียนจัดให้ เมื่อโรงเรียนปิด โภชนาการอาหารก็ลดลง
  • ผู้ปกครองไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาทางไกลและการเรียนที่บ้าน: เมื่อโรงเรียนปิดก็ต้องขอให้ผู้ปกครองสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่บ้านและอาจประสบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่มีการศึกษาและทรัพยากรจำกัด
  • การเข้าถึงประตู (Portal) การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่เท่าเทียมกัน: การขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ดีเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักเรียนที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาส
  • ช่องว่างในการดูแลเด็ก: เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น พ่อแม่ที่ทำงานมักจะปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังเมื่อโรงเรียนปิด และอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง รวมถึงอิทธิพลจากแรงกดดันของเพื่อนและการใช้สารเสพติดที่เพิ่มขึ้น
  • ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง: เมื่อโรงเรียนปิด พ่อแม่ที่ทำงานมีแนวโน้มที่จะต้องขาดงานเพื่อดูแลลูกๆ ทำให้เกิดการสูญเสียค่าจ้างในหลายกรณี และส่งผลเสียต่อผลิตภาพ (Productivity) การทำงาน
  • ความตึงเครียดโดยไม่ได้ตั้งใจต่อระบบดูแลสุขภาพ: ผู้หญิงมักเป็นผู้ดูแลปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากภาระหน้าที่ในการดูแลลูกๆ อันเป็นผลมาจากการปิดโรงเรียน ซึ่งหมายความว่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จำนวนมากไม่ได้อยู่ในสถานพยาบาลทั้งๆ ที่ระบบต้องการพวกเขาในช่วงวิกฤตด้านดูแลสุขภาพ
  • แรงกดดันต่อโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นและระบบโรงเรียนที่ยังเปิดอยู่: การปิดโรงเรียนในท้องถิ่นสร้างภาระให้กับโรงเรียน เนื่องจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่อาจจะเปลี่ยนให้เด็กๆ ไปเรียนในโรงเรียนที่เปิดทำการ
  • อัตราการออกกลางคันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น: การทำให้เด็กและเยาวชนกลับมาและอยู่ในโรงเรียน เมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้งหลังจากปิด ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการปิดที่ยืดเยื้อ

เพื่อตอบสนองต่อการปิดโรงเรียนอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ยูเนสโก (UNESCO) แนะนำให้ใช้โปรแกรมการศึกษาทางไกล (Distance learning) รวมถึงแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มการศึกษาแบบเปิด (Open educational applications and platforms) ที่โรงเรียนและครูสามารถใช้เพื่อเข้าถึงผู้เรียนจากระยะไกล และเพื่อไม่ให้การศึกษาหยุดชะงัก

การศึกษาเสมือนการเยียวยาจิตใจ

               เหตุการณ์สะเทือนใจ (Traumatic) มีผลต่อร่างกาย อารมณ์ และการรับรู้ในระยะยาวซึ่งอาจส่งผลเสียร้ายแรงในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการพัฒนาสมอง (Brain development) ระดับความเครียดจะไปขัดขวางโครงสร้างและการพัฒนาสมองและระบบทางชีววิทยาอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ พฤติกรรม และสุขภาพกายและสุขภาพจิตตลอดชีวิต

การศึกษาสามารถกระตุ้นความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจ หล่อเลี้ยงการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ของผู้เรียน และทำให้เด็กๆ และชุมชนมีความหวังในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างชุมชนขึ้นใหม่โดยการรักษาบาดแผลทางใจบางส่วนและส่งเสริมให้เกิดความเหนียวแน่นทางสังคม การปรองดอง และการสร้างสันติภาพ (Peace-building) ในระยะยาว นอกจากนี้โรงเรียนสามารถช่วยเด็กที่อพยพและลี้ภัยในการจัดการกับบาดแผลทางใจ ผ่านการสนับสนุนทางจิตสังคมที่บูรณาการร่วมกับการแทรกแซง (Intervention) การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ การสร้างความมั่นใจในตนเอง การสร้างทักษะในการปรับตัวและควบคุมอารมณ์ และสอนให้เด็กๆ สร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานความไว้วางใจกับผู้อื่น

การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์

               โปรแกรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ช่วยจัดการกับบาดแผลทางใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการปรับปรุงด้านพฤติกรรมเด็กและเยาวชนและผลการเรียน ลักษณะทางสังคม อารมณ์ และการรับรู้ของการพัฒนามนุษย์จะเชื่อมโยงกันในสมองและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ดังนั้นโปรแกรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์จึงใช้รูปแบบการเรียนรู้เชิงรุก เช่น การเรียนรู้ผ่านการทำผลงาน การแสดงบทบาทสมมุติ และการสนทนากลุ่ม

สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในโรงเรียน

               สถานการศึกษาอาจเป็นกุญแจสำคัญในการบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบของบาดแผลทางใจ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในโรงเรียนไม่เพียงแต่ช่วยให้นักเรียนสามารถรับมือกับบาดแผลทางใจเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนการเรียนรู้อีกด้วย

               บาดแผลทางใจจากความรุนแรงในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นผลมาจากความขัดแย้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ส่งผลกระทบเชิงลบไม่เพียงแต่ในแง่ของการสมัครเข้าเรียน คุณภาพ และความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพจิตของนักเรียนด้วย การแทรกแซงทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในโรงเรียน ควรมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน และเพื่อปกป้องโรงเรียนและเส้นทางไปโรงเรียนทั้งจากภัยคุกคามภายนอก (เช่น การโจมตีหรือผลกระทบจากพิบัติทางธรรมชาติ) และภัยคุกคามภายในเช่น ความรุนแรงในโรงเรียน (School-based violence) หรือการกลั่นแกล้ง (Bullying)

ครูที่ได้รับการฝึกอบรม

               ครูที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องเผชิญกับบาดแผลทางใจมากกว่า ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ความกดดันทางอารมณ์ในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีบาดแผลทางใจและกับบุคคลที่มีบาดแผลทางใจ ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของครู ซึ่งไม่เพียงแต่นำไปสู่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและอาชีพเท่านั้น แต่ยังจำกัดประสิทธิผล (Effectiveness) ในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่มีบาดแผลทางใจอีกด้วย การฝึกอบรมทางวิชาชีพช่วยให้ครูสามารถรับรู้และบรรเทาผลกระทบจากความเครียดจากการตอบสนองต่อบาดแผลทางจิตใจของผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

               ครูสามารถเป็นแบบอย่างที่สำคัญสำหรับนักเรียนที่ย้ายถิ่นและลี้ภัย ที่อาจไม่คุ้นเคยกับผู้ใหญ่ในประเทศเจ้าบ้านศักยภาพในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้เรียนในบริบทของบาดแผลทางใจจะดีขึ้น เนื่องจากการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้ สามารถถ่วงดุลผลกระทบของความเครียดที่ยืดเยื้อได้ โดยเฉพาะเด็กที่อพยพและลี้ภัยโดยลำพังหรือผู้ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ปกครอง

อ่านตรวจทานโดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Children_in_emergencies_and_conflicts [2024, January 16] โดย พชรมน ไกรรณภูมิ