การพบแพทย์:วิธีเตรียมตัว (How to prepare for a doctor visit)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 7 กันยายน 2556
- Tweet
- บทนำ
- การเตรียมตัวพบแพทย์คืออะไร?
- ควรเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
- การเตรียมตัวเพื่อการสืบค้นต้องทำอย่างไร?
- การเตรียมตนเองคืออะไร?
- การเตรียมข้อมูลด้านยาคืออะไร?
- การเตรียมการเดินทางและที่พักมีความสำคัญอย่างไร?
- เตรียมค่าใช้จ่ายอย่างไร?
- ควรนำญาติมาด้วยไหม?
- ระหว่างรอวันพบแพทย์ควรทำอย่างไร?
- เมื่อพบแพทย์แล้วก่อนออกจากห้องแพทย์ควรทำอย่างไร?
- ก่อนออกจากเคาเตอร์พยาบาลควรทำอย่างไร?
- หลังได้ยาแล้วควรทำอย่างไร?
- ก่อนกลับบ้านควรทำอย่างไร?
- วันนัดฟังผลตรวจควรเตรียมตัวอย่างไร?
- วันนัดตรวจติดตามผลการรักษาควรเตรียมตัวอย่างไร?
- กรณีต้องการเลื่อนนัดควรทำอย่างไร?
- กรณีขอพบแพทย์ก่อนนัดควรทำอย่างไร?
- กรณีได้พบแพทย์แล้วเมื่อกลับบ้าน กลับมีอาการควรทำอย่างไร?
- กรณีพบแพทย์เร่งด่วนหรือฉุกเฉินควรทำอย่างไร?
- สรุป
บทนำ
“การพบแพทย์หรือการไปโรงพยาบาล” เมื่อมีอาการเจ็บป่วยนั้น เป็นเรื่องที่มีความจำ เป็นอย่างยิ่ง การพบแพทย์แต่ละครั้งนั้น ผู้ป่วยและญาติต้องเสียเวลาในการรอคอยจนกว่าจะถึงเวลานัด เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็ต้องรอคอยพบแพทย์ และรอการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมต่างๆอีก ซึ่งถ้าขาดการเตรียมตัวที่ดีก็อาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ เช่น ไม่ได้รับการตรวจตามที่นัดไว้ หรือได้พบแพทย์แต่ไม่สามารถให้การรักษาได้ดี เพราะขาดข้อมูลที่แพทย์ต้องการ
จากประสบการณ์ที่ผมได้มีโอกาสดูแลรักษาผู้ป่วยมามากกว่า 20 ปี พบปัญหาต่างๆมาก มาย ซึ่งเกิดจากการเตรียมตัวที่ไม่พร้อม โดยอาจจากความเข้าใจไม่ตรงกัน หรือความไม่เข้าใจของผู้ป่วยและญาติ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพบแพทย์นั้น มีความพร้อมมากที่สุดที่จะช่วยในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคให้ถูกต้องมากที่สุด
การเตรียมตัวพบแพทย์คืออะไร?
การทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะพบแพทย์หรือท่องเที่ยว ก็ต้องมีการเตรียมตัว การเตรียมตัวในการพบแพทย์นั้น คือ การเตรียมความพร้อมในทุกด้านก่อนพบแพทย์ซึ่งที่ได้แก่
- การเตรียมเอกสาร เช่น ใบนัด ประวัติเก่า ใบส่งตัว เอกสารสิทธิ์ทางการรักษา เช่น สิทธิประกันสังคม บัตรทอง ประกันชีวิต หรือ ข้าราชการ
- การเตรียมการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ
- การเตรียมตนเอง เช่น การจดบันทึกประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ในอดีต ข้อสงสัย สิ่งที่อยากทราบ และเตรียมใจที่จะรับทราบผลการวินิจฉัยของแพทย์
- การเตรียมข้อมูลด้านยา เช่น ยาที่กำลังทานอยู่ ที่เคยทานในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา การแพ้ยา
- การเตรียมการเดินทางและที่พัก
- ค่าใช้จ่าย
ควรเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
การเตรียมเอกสาร อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะท่านอาจไม่ได้รับการตรวจเลย ถ้าขาดเอกสารสำคัญ หรืออาจนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องชำระเงิน เพราะขาดเอกสารเรื่องสิทธิ์การรักษา เอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อม ได้แก่
- ใบนัด มีความสำคัญเพราะจะเป็นการระบุวันที่ตรวจ เวลานัดหมาย แพทย์ผู้ให้การรัก ษา ห้องตรวจ ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยลืมนำบัตรนัดมาในวันตรวจ อาจเกิดปัญหาหรือขาดความสะดวกได้
- ประวัติเก่า กรณีผู้ป่วยมีประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่นๆมาก่อนที่จะมาพบแพทย์ครั้งนี้ ผู้ป่วยต้องเตรียมเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับประวัติการรักษา รวมทั้งผลตรวจเพิ่มเติม เช่น ผลตรวจเลือด ฟิล์ม/ซีดีเอกซเรย์ จดหมายสรุปประวัติการรักษา
ปัญหาที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยกังวลใจว่า แพทย์จะต่อว่าที่ไปรักษาที่อื่นๆมาก่อน จึงไม่นำข้อมูลมา และอีกกรณีหนึ่ง คือ ต้องการตรวจใหม่เพื่อดูว่าผลการตรวจจะเหมือนกับก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลทุกอย่างที่เคยมีมาก่อนนั้น จะช่วยทำให้แพทย์สามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล และให้การวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย
- เอกสารส่งตัว หมายถึง ข้อมูลทางการรักษาก่อนหน้านี้ที่แพทย์ที่ได้เคยรักษาผู้ป่วยได้สรุป ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นอาจครอบคลุมถึงสิทธิ์การรักษาด้วย ถ้าท่านไม่ได้นำมานั้น อาจส่งผลให้ท่านต้องเสียค่าใช้จ่าย หรืออาจเกิดความไม่สะดวกในด้านสิทธิ์การรักษา เพราะบาง ครั้งอาจไม่สามารถตรวจสอบสิทธิ์การรักษาผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตได้
การเตรียมตัวเพื่อการสืบค้นเพิ่มต้องทำอย่างไร?
การเตรียมตรวจสืบค้นเพิ่มเติม มีหลายชนิด เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอมอาร์ไอ เอกซเรย์ทั่วไป เอกซเรย์สวนแป้ง เอกซเรย์กลืนแป้ง การทำอัลตราซาวด์ การตัดชื้นเนื้อ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจภาพรังสีเต้านม และอื่นๆ ดังนั้นการเตรียมตัวที่สำคัญ คือ
- ต้องทราบว่า การตรวจสืบค้นนั้นคืออะไร เพราะบางครั้งเอกสารที่ระบุไว้นั้นอาจไม่ตรงกับสิ่งที่แพทย์ต้องการ หรือบอกกับผู้ป่วยว่าต้องการอะไร ดังนั้นต้องตรวจสอบเอกสารแนะนำการตรวจสืบค้น ก่อนออกจากแผนกที่นัดหมายการตรวจเสมอ
- ต้องเตรียมใจให้พร้อมว่า เราจะต้องถูกตรวจอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบเมื่อได้รับการนัดตรวจ
- การอดอาหาร-น้ำดื่ม (ซึ่งต้องถามแพทย์ถึงการต้องงดกินยาด้วยหรือเปล่า) เพื่อเตรียมตรวจในหลายกรณี เช่น การตรวจเลือดดู ระดับน้ำตาล ไขมัน หรือ การเอกซเรย์กลืนแป้ง หรือการส่องกล้องทางเดินอาหาร ดังนั้น ต้องอ่านเอกสารการเตรียมตรวจให้เข้าใจว่า ต้องอดอาหาร-น้ำ ยา หรือไม่ และนานเท่าไหร่
- ชนิดของอาหารที่ทานก่อนการตรวจ เช่น การตรวจสวนลำไส้ การส่องกล้องลำไส้ ต้องทานอาหารอ่อนๆก่อนการตรวจอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อลดกากอาหารก่อนการตรวจ เพื่อเป็นการเตรียมลำไส้ให้พร้อมในการตรวจ
- การเตรียมความพร้อมในบางกรณี เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองต้องสระผมให้สะ อาดก่อนตรวจ ห้ามใส่น้ำมันหรือเจลใส่ผม หรือ การตรวจภาพรังสีเต้านมที่ห้ามทาแป้งหรือทาสารระงับเหงื่อ/กลิ่นที่รักแร้ ทั้งนี้เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ อาจส่งผลให้การตรวจผิดพลาดได้
- ไม่ควรนำของมีค่าหรือเครื่องประดับมาในวันตรวจ เพราะจะต้องถอดออกทั้งหมด จึงไม่สะดวกในการถอดออกและเก็บไว้ อาจเกิดการสูญหายได้
*****ข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติม:
เมื่อท่านได้รับเอกสารเตรียมการตรวจ ท่านต้องศึกษารายละเอียดของการเตรียมตัวสำหรับการตรวจแต่ละอย่างที่ได้นัดไว้อย่างดี ถ้าไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยควรสอบถามให้ละเอียดกับเจ้าหน้าที่ที่ให้การนัดหมายก่อนออกจากแผนกนั้นๆ
การเตรียมตนเองคืออะไร?
การเตรียมตนเอง คือ การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเตรียมข้อมูลอาการเจ็บป่วยของตนเอง เช่น มีอาการผิดปกติคืออะไร เป็นมานานเท่าไหร่ ทานยาอะไรอยู่ ทานยาอะไรมาก่อน เคยแพ้ยาหรือไม่ รวมทั้งข้อสงสัยต่างๆที่จะถามแพทย์ (จดบัน ทึกให้เรียบร้อย เพื่อนำมาแจ้ง แพทย์ พูดคุย ปรึกษาแพทย์ ให้ได้ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว) เพราะบางครั้งเมื่อมาพบแพทย์จะลืมถาม หรือรีบจนลืม แม้กระทั้งการเตรียมใจให้พร้อม บาง ครั้งตื่นเต้นมาก นอนไม่หลับ ทำให้ความดันโลหิตสูง อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยเพิ่มเติมได้อีก
การเตรียมข้อมูลด้านยาคืออะไร?
การเตรียมข้อมูลด้านยา คือ ประวัติการใช้ยาในอดีต เช่น การแพ้ยา หรือ ใช้ยาชนิดใดมา แล้วในการรักษา แต่ไม่ได้ผล รวมทั้งการรักษาในปัจจุบันนี้ใช้ยาชนิดใดบ้าง ให้นำซองยาพร้อมเม็ดยามาด้วย เพราะบางครั้งผู้ป่วยนำเฉพาะเม็ดยามานั้น แพทย์หรือเภสัชกรอาจไม่สามารถระ บุได้ว่าเป็นยาชนิดใด
การเตรียมการเดินทางและที่พักมีความสำคัญอย่างไร?
การมาพบแพทย์ ต้องมาโรงพยาบาลก่อนเวลาพอสมควร เพราะต้องเผื่อเวลารถติด หาที่จอดรถ หรือการเดินทางรถโดยสารสาธารณะอาจเสียเวลาบ้าง นอกจากนั้น ยังต้องเผื่อเวลาสำหรับขั้นตอนตรวจสอบเอกสารต่างๆที่เคาเตอร์พยาบาลก่อนพบแพทย์
กรณีตรวจช่วงบ่าย อาจต้องเตรียมที่พักค้างคืน เพราะบางครั้งไม่สามารถเดินทางกลับได้ทันที ในบางกรณีการตรวจนั้นอาจไม่สามารถเดินทางกลับได้ด้วยตนเอง เช่น ภายหลังการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง หรือการตรวจตาด้วยการหยอดยาขยายม่านตา อาจไม่สามารถเดินทางโดยการขับรถกลับเองได้ เป็นต้น
เตรียมค่าใช้จ่ายอย่างไร?
ปัจจุบันการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ และไปตามระบบขั้นตอนที่ถูกต้องพร้อมเอกสารครบถ้วน จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษา ยกเว้นมีการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นอกเหนือสิทธิที่กำหนด ดังนั้นจึงควรต้องประเมินค่าใช้จ่ายล่วงหน้า และเตรียมแหล่งที่จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษา
ควรนำญาติมาด้วยไหม?
การมาพบแพทย์แต่ละครั้งนั้น อาจต้องมีญาติมาด้วย ดังกรณีต่อไปนี้
- ผู้ป่วยไม่สามารถเล่าอาการเองได้
- ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
- ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจสืบค้น และมีการให้ยาที่ทำให้หลับหรือง่วง เช่น การตรวจตาที่ต้องมีการหยอดตาเพื่อขยายรูม่านตา การตัดชิ้นเนื้อหรือมีอาการเจ็บ/ปวดจนส่งผลให้ไม่สา มารถทำกิจกรรมหรือเดินทางได้สะดวก
- ผู้ป่วยไม่มั่นใจในการรับฟังข้อมูล ผลการตรวจ ผลการรักษา หรือแผนการรักษา หรือ ไม่สามารถตัดสินใจในแผนการรักษาได้ ต้องให้ญาติร่วมตัดสินใจ
- การรักษาโรคที่ซับซ้อน รุนแรง เช่น โรคมะเร็ง การผ่าตัด ภาวะฉุกเฉินต่างๆ เพราะแพทย์ต้องใช้ข้อมูล และความร่วมมือจากญาติในการตรวจรักษา ซึ่งควรเป็นญาติที่บรรลุนิติภา วะแล้ว และถ้าเป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ สามี ภรรยา บุตร ธิดา) ได้ก็ยิ่งดี เพื่อการเซ็นต์อนุญาต-ตัดสินใจในการตรวจรักษา
- แพทย์ต้องการพบญาติเพื่ออธิบายเกี่ยวกับโรค แผนการรักษา ผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการรักษา
- ญาติต้องการทราบข้อมูลโดยตรงจากแพทย์ และ/หรือกรณีผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง
ระหว่างรอพบแพทย์ควรทำอย่างไร?
การรอพบแพทย์มีความหมายได้ 2 กรณี คือ ช่วงรอวันนัดพบแพทย์ และการรอเรียกตรวจหน้าห้องตรวจ
- ช่วงรอวันนัดพบแพทย์ ควรปฏิบัติดังนี้
- รักษาตนเองให้มีสุขภาพกาย-สุขภาพจิตแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการรัก ษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ถ้าเคยพบแพทย์แล้ว ก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่แพทย์แนะนำ ทานยาให้สม่ำ เสมอ
- รีบมาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่ออาการเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
- ส่วนวันที่มาพบแพทย์ระหว่างรอพบแพทย์ที่หน้าห้องตรวจ ควรต้อง
- ทราบขั้นตอนการรับบริการทั้งหมด เช่น ยื่นบัตรนัด ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต วัดปรอท จับชีพจร รอการเรียกชื่อเพื่อเข้าพบแพทย์ หรือบางห้องตรวจ เช่น แผนกตาต้องมีการตรวจสายตาก่อน ควรศึกษาให้ละเอียด ถ้าไม่มั่นใจให้สอบถามเจ้าหน้าที่/พยาบาลที่เคาเตอร์หน้าห้องตรวจ
- ไม่ควรเครียด ควรผ่อนคลาย และเตรียมทบทวนคำถาม หรืออาการผิดปกติต่างๆที่ต้องการถามแพทย์ ในบางโรงพยาบาลก็จะมีกิจกรรมให้ความรู้ การออกกำลังกาย และวิธีผ่อนคลายไม่ให้เครียด
- ถ้ามีการนัดหมายเป็นเวลาที่เฉพาะ ก็ไม่ต้องไปนั่งรอนานก็ได้ ควรหากิจกรรมทำ พอใกล้เวลาจึงไปที่ห้องตรวจ สิ่งที่พบเป็นปัญหาบ่อยที่สุด คือ ไม่ทราบว่านัดช่วง เวลาเช้าหรือบ่าย จึงทำให้ต้องเสียเวลาไปรอแต่เช้า ดังนั้นควรอ่านใบนัดหมายให้ชัดเจน ถ้าไม่มีการระบุเวลาให้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนก่อนตั้งแต่วันที่ได้ รับการนัดหมาย
เมื่อพบแพทย์แล้วก่อนออกจากห้องแพทย์ควรทำอย่างไร?
ก่อนออกจากห้องแพทย์ ควรมั่นใจว่าได้ทำความเข้าใจกับทุกคำแนะนำของแพทย์ ได้สอบถามข้อข้องใจต่างๆเกี่ยวกับอาการผิดปกติ หรือปัญหาการใช้ยา การปฏิบัติตัว การดูแลตน เองเบื้องต้น รวมทั้งอาหารที่ควรทานและไม่ควรทาน การออกกำลังกายที่เหมาะสม และอื่นๆที่ต้องการทราบ
ก่อนออกจากเคาเตอร์พยาบาลควรทำอย่างไร?
เช่นเดียวกันที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ก่อนออกจากห้องแพทย์ การติดต่อกับพยาบาลหลังออกจากห้องตรวจ ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำถึงลำดับขั้นการบริการลำดับต่อไป เช่น การรับยา การตรวจสืบค้นเพิ่มเติม การตรวจที่ห้องตรวจอื่นๆ ในกรณีผู้ป่วยต้องรับการปรึกษาแพทย์ท่านอื่น และการนัดหมายครั้งถัดไป
หลังได้ยาแล้วควรทำอย่างไร?
หลังได้รับยาจากเภสัชกร (ห้องยา) แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตรวจสอบชื่อ นามสกุลว่าถูกต้องหรือไม่ จำนวนและชนิดยาว่าถูกต้องหรือไม่ เพียงพอตามจำนวนวันที่นัดหมายครั้งต่อ ไปหรือไม่ เข้าใจวิธีทานยาหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจให้สอบถามเภสัชกรให้ละเอียดจนกระจ่าง
ก่อนกลับบ้านควรทำอย่างไร?
ก่อนกลับบ้าน มี 2 กรณี คือ เมื่อเป็นผู้ป่วยนอก และเมื่อเป็นผู้ป่วยใน
- กรณีเป็นผู้ป่วยนอก ที่ได้รับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก เมื่อได้รับการตรวจเสร็จเรียบร้อย ควรตรวจสอบ บัตรต่างๆ (เช่น บัตรโรงพยาบาล บัตรนัด) ยา เอกสารต่างๆ (เช่น ใบส่งตัว ฟิล์ม/ซีดีเอกซเรย์ ใบอ่านผล เป็นต้น) ให้ครบถ้วนเรียบร้อย
- กรณีเป็นผู้ป่วยใน การเข้านอนโรงพยาบาลถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต ดังนั้นต้องมีคำถามต่างๆมากมายว่า หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วจะต้องทำอย่างไร สิ่งสำคัญที่ต้องทำ/ต้องสอบถาม คือ
- การนัดหมายครั้งถัดไป
- วิธีดูแลตนเองที่บ้าน รวมถึงการทำงาน เพศสัมพันธ์
- วิธีการทานยา
- การทำแผล การดูแลแผล การตัดไหม ถ้ามีแผล
- อาหารที่ควรทานและไม่ควรทาน
- การออกกำลังกาย
- ข้อห้ามต่างๆ
- การติดต่อสอบถามข้อสงสัย ถ้ามีจะติดต่อใคร อย่างไร
- เมื่อไรต้องมาโรงพยาบาลก่อนนัด หรือฉุกเฉิน
วันนัดฟังผลตรวจควรเตรียมตัวอย่างไร?
การเตรียมตัวในการฟังผลตรวจนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะอาจหมายถึงเราจะได้รับ ทราบข่าวดีว่า ผลตรวจปกติ ไม่มีโรคใดๆ หรือผลการตรวจบอกว่าเป็นโรคร้ายแรง หรือโรคที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ดังนั้นเราต้องดูให้ดีว่าแพทย์นัดวันไหน เตรียมใจ เพื่อยอมรับว่าเราเจ็บป่วยด้วยปัญหาอะไร บางกรณีญาติอาจไม่ประสงค์ให้ผู้ป่วยทราบ เช่น โรคร้ายแรง ดังนั้นญาติอาจต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ล่วงหน้าก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้าพบแพทย์
วันนัดตรวจติดตามผลการรักษาควรเตรียมตัวอย่างไร?
การติดตามผลการรักษาในโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เราต้องเตรียมจดข้อสงสัยต่างๆที่ต้องการถาม ทั้งรายละเอียดของโรคและการรักษา การปฏิบัติตัว รวม ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อไว้ถามแพทย์ได้อย่างครบถ้วนและรวดเร็ว
วันก่อนที่จะมาพบแพทย์ตามนัดนั้น ควรพักผ่อนให้พอ เพราะเช้าวันนั้นอาจต้องตื่นแต่เช้ากว่าปกติ ถ้าเราพักผ่อนไม่พอ ก็อาจทำให้ไม่สบายได้ บางครั้งต้องเจาะตรวจเลือด ซึ่งต้องมีการเตรียมตัว เช่น อดอาหาร-น้ำดื่ม-ยา ดังนั้นต้องทราบว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ปัญหาที่พบบ่อย คือ การอดอาหารก่อนตรวจเลือด ก็ทำให้ไม่ได้ทานยา ซึ่งเป็นการทำให้เกิดปัญหาตามมาหลังจากไม่ได้ทานยา เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง น้ำตาลขึ้นสูง หรือบางครั้งรอคิวนาน อดอา หารนานจนเป็นลม ดังนั้นการอดอาหารนั้นสามารถทานยาด้วยน้ำเปล่า (ปริมาณน้อยที่สุด) ได้ ยกเว้นแพทย์ห้ามกินยาก่อนเจาะเลือด และเมื่อเจาะเลือดเสร็จแล้ว ก็สามารถทานอาหารได้เลยระหว่างรอพบแพทย์
กรณีต้องการเลื่อนนัดควรทำอย่างไร?
กรณีมีเหตุทำให้ไม่สามารถมาตรวจได้ตามนัด ก็สามารถมาตรวจทั้งก่อนหรือหลังนัดเดิมได้ โดยการโทรศัพท์ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการส่วนที่นัดหมายการตรวจ ส่วนใหญ่ในเอกสารนัดนั้นจะมีหมายเลขโทรศัพท์ให้สามารถติดต่อได้ แจ้งให้ผู้ป่วยทราบอยู่แล้ว
กรณีขอพบแพทย์ก่อนนัดควรทำอย่างไร?
การขอพบแพทย์ก่อนนัด โดยส่วนใหญ่ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เราโทรศัพท์ขอเลื่อนนัดกับเจ้าหน้าที่ห้องตรวจ เพื่อให้มีการเตรียมประวัติและข้อมูลต่างๆให้พร้อมในการพบแพทย์ แต่ถ้าไม่สามารถโทรศัพท์ประสานงานได้ ก็มาตรวจในวันทำการที่แพทย์ออกตรวจประจำ เช่น ทุกวันจันทร์บ่าย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นภาวะเร่งด่วน ก็สามารถมารับการตรวจที่แผนกฉุกเฉินได้เลย โดยไม่ต้องรอวันที่แพทย์ออกตรวจ เพราะเป็นภาวะเร่งด่วน หรือ ฉุกเฉิน ทั้งนี้เป็นระเบียบปฏิบัติของโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลหรือกลัว
กรณีได้พบแพทย์แล้วเมื่อกลับบ้าน กลับมีอาการควรทำอย่างไร?
กรณีได้พบแพทย์แล้ว (กลับจากโรงพยาบาล) เมื่อกลับบ้าน กลับมีอาการผิดปกติ หรือเป็นมากขึ้น ควรรีบประสานงานมาที่เจ้าหน้าที่ห้องตรวจหรือที่แผนกฉุกเฉิน หรือมาที่แผนกฉุก เฉินได้เลยในกรณีเร่งด่วน ทั้งนี้ขึ้นกับความเร่งด่วนของปัญหา แต่ถ้ามีปัญหาเพียงเล็กน้อยก็บัน ทึกข้อสงสัยไว้ เพื่อสอบถามแพทย์ในการพบแพทย์ครั้งต่อไป
กรณีพบแพทย์เร่งด่วนหรือฉุกเฉินควรทำอย่างไร?
ถ้าพอมีความรู้ทางแพทย์ ก็ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นระหว่างเดินทางมาโรงพยาบาล แต่ถ้าไม่มีความรู้ ไม่ควรให้การรักษาเอง ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งให้รถโรง พยาบาลมารับ ควรเตรียมประวัติการรักษาที่มีอยู่ บัตรโรงพยาบาล ยาที่ทาน ที่สำคัญคือผู้ดูแล หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่รู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด
*****อนึ่ง โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
สรุป
การเตรียมตัวให้พร้อมจะทำให้การพบแพทย์หรือการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งนั้นสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การตรวจรักษาเป็นไปด้วยดี ดังนั้น ท่านลองทบทวนดูว่าพร้อมหรือยังในการพบแพทย์แต่ละครั้ง