ออกกำลังสมอง การฝึกสมอง (Neurobic exercise)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 19 เมษายน 2556
- Tweet
การออกกำลังสมอง หรือ การฝึกสมอง (Neurobic exercise) เป็นการฝึกที่ช่วยให้สมองมีประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นปกติ ช่วยป้องกัน ชะลอ และฟื้นฟูโรคต่างๆของสมองได้ เช่น โรคสมองฝ่อ โรคสมองเสื่อม โรคเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด เป็นต้น
การออกกำลังสมอง สามารถเพิ่มจำนวนแขนง/เส้นใยของเซลล์ประสาท (Axon,มีหน้า ที่ในการลำเลียงข้อมูลสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท) ได้ตลอดชีวิต สามารถเพิ่มความเชื่อมโยงของเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองมีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การฝึก การใช้สมองตลอดเวลา ไม่ทำอะไรซ้ำซาก ก็จะกระตุ้นให้สมองมีการแตกแขนงเส้นใยประสาท (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท) ให้แตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น สมองเราก็จะดีขึ้น
การออกกำลังสมอง หรือ Neurobic (เรียกเลียนแบบการออกกำลังกายด้วยวิธี Aerobics ) คือ การฝึกทักษะสมอง นำแนวคิดการออกกำลังกายแบบแอโรบิกส์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยการขยับกล้ามเนื้อหลายๆส่วนมาประยุกต์ กลายเป็นวิธีบริหารสมองที่ใช้ประสาทสัมผัสไปกระตุ้นกล้ามเนื้อสมองหลายๆส่วน ให้ขยับและตื่นตัว ส่งผลให้เซลล์ประสาทแตกกิ่งก้านสาขา มีการเชื่อมโยงสื่อสารกันมากขึ้น เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ส่งผลให้เซลล์สมองแข็งแรงขึ้น
การออกกำลังสมอง เกิดจากการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่
- การได้ยิน
- มองเห็น
- ได้กลิ่น
- ลิ้มรส
- และสัมผัสอารมณ์
ให้มีการเชื่อมโยงกัน เมื่อฝึกสมองบ่อยๆ จะมีการหลั่งสาร ชื่อ นิวโรโทรฟิน (Neurotrophin, สารโปรตีนชนิดหนึ่ง) หรืออาหารสมองทำให้เซลล์สมอง มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น จึงแข็งแรงมากขึ้น
การออกกำลังสมอง ประกอบด้วย
- เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันเสมอ เพราะการทำแบบเดิมโดยไม่คิดนั้น สมองจะไม่ถูกกระตุ้น เช่น เปลี่ยนลำดับกิจกรรมการใช้ชีวิต ตัวอย่าง เคยทานอาหารเช้าหลังอาบน้ำ ก็เปลี่ยน เป็นทานอาหารเช้าก่อนอาบน้ำ ดูทีวีรายการใหม่ ใช้มือซ้ายทำงานแทนมือขวา
- ใช้ประสาทสัมผัสมากขึ้น ได้แก่ การคลำสัมผัสของแทนการมองหา พูดร่วมกับการแสดงท่าทาง การเล่นเกมฝึกสมอง เช่น ไพ่ หมากรุก เกมความจำต่างๆ ฝึกคิดเลข จำสิ่งของ บอกชื่อสัตว์ให้เร็วและมากที่สุดในเวลาที่จำกัด
- หาประสบการณ์ใหม่ๆเสมอ เช่น ฝึกทำกิจกรรมใหม่ๆ เดินทางไปเที่ยว การสังคม พบ ปะเพื่อนฝูง เป็นต้น