การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparotomy hysterectomy)

สารบัญ

การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องคืออะไร?

สำหรับคุณผู้หญิงแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสวยงามเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดใช่มั้ยคะ ดังนั้นเมื่อแพทย์บอกกับคุณว่า คุณจำเป็นต้องผ่าตัดเอามดลูกออก/การตัดมดลูก สิ่งหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความกังวลใจกับผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดคือ รอยแผลที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัด ในปัจจุบัน เราอาจจะเคยได้ยินว่า แพทย์สามารถผ่าตัดเอามดลูกออกได้ โดยมีเพียงแผลเล็กๆที่หน้าท้อง สิ่งนี้ก็คือการผ่าตัดเอามดลูกออกผ่านกล้อง (Laparotomy hysterectomy)

การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องนี้ แพทย์จะทำการเปิดแผลที่หน้าท้องขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ประมาณ 3-4 แผล แล้วใส่เครื่องมือผ่านแผลดังกล่าวเข้าไปในช่องท้อง เพื่อทำการผ่าตัดเอามด ลูกออก ดังนั้นภายหลังการผ่าตัด จึงมีแผลเพียงเล็กๆปรากฏที่หน้าท้อง ซึ่งวิธีการผ่าตัดดังที่ได้กล่าวมานี้ จะช่วยทำให้คุณผู้หญิงที่จะต้องถูกผ่าตัดคลายความกังวลใจในเรื่องของรอยแผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดลงได้

ข้อดีของการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องมีอะไรบ้าง?

นอกจากการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องจะมีแผลผ่าตัดที่เล็กกว่าการผ่าตัดมดลูก/การตัดมดลูกโดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องนั้นยังสามารถที่จะเห็นอวัยวะต่างๆภายในอุ้งเชิงกรานได้อย่างชัดเจนกว่า และมีการสูญเสียเลือดขณะผ่าตัดน้อยกว่า นอกจากนี้อาการปวดแผลผ่าตัดและการติดเชื้อหลังผ่าตัดก็เกิดขึ้นน้อยกว่า ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลและระยะ เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดก็สั้นกว่า

ข้อเสียของการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องมีอะไรบ้าง?

ข้อเสียของการผ่าตัดมดลูก/การตัดมดลูกผ่านกล้องนั้น พบได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดโดยทั่ว ไป แต่โดยทั่วไปพบได้น้อยกว่าการผ่าตัดมดลูกโดยการผ่าตัดเปิดแผลทางหน้าท้องดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ข้อเสียที่สำคัญของการผ่าตัดวิธีนี้ น่าจะเป็นในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและต้องอาศัยแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ใครควรเลือกการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง?

ในปัจจุบัน การผ่าตัดมดลูก/การตัดมดลูกผ่านกล้องนั้น สามารถที่จะทำเพื่อรักษาโรคต่างๆได้แทบที่จะเทียบเท่ากับการผ่าตัดมดลูกโดยการผ่าตัดเปิดแผลทางหน้าท้องเลยทีเดียว ข้อบ่งชี้ในการทำ ได้แก่ เนื้องอกมดลูก การหย่อนของอวัยวะต่างๆภายในอุ้งเชิงกราน เลือดออกผิดปกติจากมดลูก และสามารถรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชได้ในบางราย

ใครไม่ควรผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง?

ผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้ อาจไม่เหมาะสมนักที่จะทำการผ่าตัดมดลูก/การตัดมลดลูกผ่านกล้อง ได้ แก่ ผู้ที่มีผังพืดมากในอุ้งเชิงกราน เนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่มาก ผู้ที่เคยผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง หรือการผ่าตัดอื่นๆทางหน้าท้องหลายครั้ง อย่างไรก็ดี ความเหมาะสมยังขึ้นอยู่กับประสบ การณ์ของแพทย์ที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาด้วย

เตรียมตัวอย่างไรก่อนผ่าตัด?

เมื่อคุณตกลงใจว่าจะเข้ารับการตัดมดลูกผ่านกล้อง แพทย์จะทำการสอบถามประวัติทางการ แพทย์ต่างๆ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด นอก จากนั้นคือการถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) ที่ปอด และอาจทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อประเมินภาวะสุขภาพพื้นฐานของผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด

นอกจากนี้แพทย์จะทำการเตรียมเลือดสำรองไว้สำหรับการผ่าตัด เผื่อไว้ในกรณีที่มีเลือด ออกมากขณะผ่าตัดและจำเป็นต้องให้เลือด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณมีสุขภาพที่แข็งแรงดี คุณสามารถบริจาคเลือดของตนเอง เพื่อสำรองไว้ใช้สำหรับตัวคุณเองขณะผ่าตัดได้

ก่อนผ่าตัดหนึ่งคืน หรือหลังเที่ยงคืนก่อนที่จะทำการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น คุณจำเป็นต้องงดรับ ประทานอาหารทุกชนิด รวมทั้งงดดื่มน้ำก่อนทำการผ่าตัด ระยะเวลาของการงดน้ำและอาหารนี้ ควรนานอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนทำการผ่าตัด นอกจากนี้ คุณอาจจะได้รับการสวนอุจจาระก่อนการผ่าตัด การทำความสะอาดและการโกนขนที่บริเวณอวัยวะเพศ และหน้าท้องที่จะทำการผ่าตัดอีกด้วย

เกิดอะไรขึ้นขณะผ่าตัด?

ในห้องผ่าตัด ภายหลังที่คุณได้รับยาสลบ แพทย์จะทำการลงแผลผ่าตัดเล็กๆและใส่เครื่อง มือเพื่อใส่ลมเข้าไปขยายช่องท้อง เพื่อทำให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้สะดวกยิ่งขึ้น หลังจากนั้นแพทย์จะทำการขยายและลงแผลผ่าตัดเพิ่มเติม เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือเข้าไปในช่องท้องเพื่อทำการผ่าตัด หลังจากที่ทำการผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะทำการเย็บแผลและปิดแผลผ่าตัด ระ ยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 ชั่วโมง การเย็บแผลส่วนใหญ่ แพทย์มักจะใช้ไหมละลาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำการตัดไหมแต่อย่างใด

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่พบมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่พบอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากยาสลบที่ใช้ และจากการผ่าตัด

  • ในส่วนของยาสลบ วิสัญญีแพทย์ส่วนใหญ่มักจะอธิบายหรือชี้แจงให้คุณทราบก่อนที่จะให้ยาสลบแก่คุณ เช่น โอกาสเกิดการสำลักเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าปอด เป็นต้น
  • ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดนั้น โดยทั่วไปพบได้น้อยมาก ภาวะแทรก ซ้อนดังกล่าว ได้แก่ การที่มีเลือดออกมาก อันตรายที่อาจจะเกิดกับกระเพาะปัสสาวะ หรือท่อไต หรือลำไส้ การติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งในบางครั้ง การลงแผลผ่าตัดที่ใหญ่ขึ้นอาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำ เพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆดังที่ได้กล่าวมา ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่พบได้น้อยมากในบ้านเราคือ หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน เป็นต้น

ภายหลังผ่าตัด คุณผู้หญิงบางท่านอาจจะรู้สึกว่า มีเสียงดังกร๊อบแกร๊บที่ใต้ผิวหนัง สิ่งนี้เกิดจากการที่ลมซึ่งแพทย์ใส่เข้าไปในช่องท้องเล็ดลอดแทรกซึมไปในชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งสิ่งนี้เป็นภาวะ แทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่พบได้ แต่มักจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ และมักจะหายไปได้เอง

เกิดอะไรขึ้นภายหลังการผ่าตัด?

ทันทีที่คุณฟื้นตัวจากยาสลบ แพทย์จะทำการสังเกตุอาการของคุณในห้องพักฟื้นเป็นระยะ เวลา 1-2 ชั่วโมง คุณจะมีสายสวนปัสสาวะ และสายน้ำเกลือ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์มักจะใส่ไว้นานประมาณ ½-1 วันจึงจะเอาออก

นอกจากนี้ คุณอาจจะมีผ้าที่ใส่ไว้ซับและหยุดเลือดภายในช่องคลอดและอาจจะพบว่า มีเลือดออกจากช่องคลอดได้บ้าง โดยทั่วไปแพทย์มักจะใส่ผ้าดังกล่าวไว้นานประมาณ ½-1 วันจึงจะเอาออก

อาการที่พบได้ภายหลังการผ่าตัดคือ อาการปวดแผล ซึ่งคุณสามารถที่จะขอให้แพทย์ฉีดยาระงับอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้บางรายอาจจะมีอาการปวดหรือรู้สึกไม่สุขสบายที่ไหล่ สิ่งนี้เกิดจากการที่มีลมเหลือค้างในช่องท้องดันกระบังลม อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าว ส่วนใหญ่มัก จะหายไปอย่างรวดเร็วภายในสองสามวัน หรืออาจนานเป็นสัปดาห์ในบางราย หากรู้สึกปวดมาก อาจจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดช่วย

นอกจากนี้อาจพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดได้บ้าง แต่จะลดลงและสีเลือดจางลงเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะอนุญาตให้คุณสามารถรับประทานอาหารได้ ภายหลังจากที่แพทย์มั่นใจว่าสภาวะร่างกายของคุณภายหลังการผ่าตัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยทั่วไปมักจะไม่เกินหนึ่งวัน โดยเริ่มจากการอนุญาตให้เริ่มจิบน้ำก่อน แล้วต่อด้วยอาหารเหลว อาหารอ่อนและอาหารปกติในมื้อถัดๆไป ตามลำดับ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักจะอนุญาตให้คุณกลับบ้านได้ ภายหลังการผ่าตัดภาย ใน 1-2 วัน และคุณอาจได้รับยาแก้ปวด และธาตุเหล็กกลับไปรับประทานที่บ้าน

ภายหลังการผ่าตัดจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี?

ภายหลังการผ่าตัด คุณอาจจะรู้สึกเหนื่อยและไม่มีแรงอยู่ประมาณ 2-3 วันหรือบางรายอาจถึงหนึ่งสัปดาห์ สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติที่พบได้ การลุกขึ้นจากเตียงและพยายามเคลื่อนไหวร่างกายตั้ง แต่วันแรกหลังผ่าตัด จะทำให้คุณฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดได้เร็วยิ่งขึ้น และช่วยลดภาวะแทรก ซ้อนต่างๆได้อีกด้วย โดยทั่วไป การหยุดพักงานหลังผ่าตัดอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องนี้ มีจุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นการผ่าตัดที่จะช่วยให้คุณสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดมดลูกตามปกติทั่วไป

ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด โดยทั่วไป แพทย์มักปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ซึ่งคุณสามารถที่จะอาบน้ำได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าแผลจะเปียกน้ำ หากพลาสเตอร์ที่ปิดแผลเป็นแบบไม่กันน้ำ ควรระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ จนกว่าจะครบวันที่แพทย์นัดไปตรวจแผล แพทย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ไหมเย็บแผลที่ละลายได้เอง ดังนั้นในกรณีนี้ จึงไม่ต้องตัดไหม แต่ถ้าหากแพทย์ใช้ไหมไม่ละลายก็มีความจำเป็นต้องตัดไหม โดยทั่วไปคือประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด

อาการปวดแผล อาจพบได้ในช่วงสัปดาห์แรกของผ่าตัด และการรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ อาการปวดแผลมักจะดีขึ้นเรื่อย ๆเมื่อระยะเวลาผ่านไป

หากอาการปวดแผลเป็นมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่มีการแช่ตัวในอ่างอาบ จนกว่าเลือดหรือน้ำที่ไหลออกจากช่องคลอดหยุดไหลแล้ว

  • ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10-14 วันหลังผ่าตัด
  • ในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ จะสามารถกระทำได้ภายหลังการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์
  • ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายอย่างหนักประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด

โดยทั่วไป อาจเริ่มการทำงานต่างๆ หรือการออกกำลังกายแต่เพียงเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์แรกๆ และเพิ่มการทำงานหรือการออกกำลังกายตามที่สภาพร่างกายอำนวยเมื่อเวลาผ่านไป

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัดที่ต้องปรึกษาแพทย์มีอะไรบ้าง?

เมื่อกลับบ้านแล้ว หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือ รีบกลับไปโรงพยาบาล ได้แก่

  • มีเลือดออกจากช่องคลอดมากขึ้นเรื่อยๆ
  • เลือดที่ออกเคยหยุด แล้วกลับมามีเลือดออกใหม่อีกครั้ง
  • มีเลือด หรือมีน้ำไหลออกจากช่องคลอดไม่หยุดนานกว่าสองสัปดาห์
  • เลือดหรือน้ำที่ไหลออกจากช่องคลอด มีกลิ่นเหม็น หรือคล้ายหนอง
  • มีอาการปวดท้องมากขึ้น มีไข้ ปัสสาวะแสบขัด และ/หรือ ปัสสาวะไม่ออก

บรรณานุกรม

  1. Reich, H, DeCaprio, J, McGlynn, F. Laparoscopic hysterectomy. J GynecolSurg 1989; 5:213.
  2. AAGL Advancing Minimally Invasive Gynecology Worldwide. AAGL position statement: route of hysterectomy to treat benign uterine disease. J Minim Invasive Gynecol 2011; 18:1.
  3. ACOG Committee Opinion No. 444: choosing the route of hysterectomy for benign disease. ObstetGynecol 2009; 114:1156.
  4. Garry, R, Reich, H. Basic techniques for advanced laparoscopic surgery. In: Laparoscopic Hysterectomy, Garry, R, Reich, H (Eds), Blackwell Scientific, Oxford 1992. p. 46.
  5. Johns, DA. Laparoscopic Assisted Vaginal Hysterectomy. In: Endoscopic Surgery for Gynaecologists, 2nd Ed, Sutton, CJG, Diamond, MP (Eds), W.B. Saunders. London 1998 p. 300.
  6. Sutton, CJG. A practical approach to surgical laparoscopy. In: Endoscopic Surgery for Gynaecologists, 2nd ed, Sutton, CJG, Diamond, MP (Eds), W.B. Saunders, London 1998. p. 41.
  7. Shen CC, Wu MP, Kung FT, et al. Major complications associated with laparoscopic-assisted vaginal hysterectomy: ten-year experience. J Am AssocGynecolLaparosc 2003; 10:147.
  8. Johnson N, Barlow D, Lethaby A, et al. Surgical approach to hysterectomy for benign gynaecological disease. Cochrane Database Syst Rev 2006;CD003677.
  9. McPherson K, Metcalfe MA, Herbert A, et al. Severe complications of hysterectomy: the VALUE study. BJOG 2004; 111:688.