การบาดเจ็บวิพแลช การบาดเจ็บกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และ/หรือข้อต่อบริเวณคอ (Whiplash injury)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 21 ธันวาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- การบาดเจ็บวิพแลชคืออะไร?
- การบาดเจ็บวิพแลชเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บวิพแลช?
- การบาดเจ็บวิพแลชมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยการบาดเจ็บวิพแลชได้อย่างไร?
- รักษาการบาดเจ็บวิพแลชอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บวิพแลชมีอะไรบ้าง?
- การบาดเจ็บวิพแลชมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ป้องกันการบาดเจ็บวิพแลชอย่างไร?
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง (Back pain: Spinal disc herniation)
- อ่อนแรง อาการอ่อนแรง (Motor Weakness)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
- ประคบร้อน (Warm compression) ประคบเย็น (Cold compression)
บทนำ
หลายคนคงเคยประสบอุบัติเหตุขณะนั่งรถยนต์ เช่น ถูกรถคันหลังชนท้ายรถเรา หลัง จากนั้นเราก็รู้สึกปวดบริเวณต้นคอ อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร รักษาอย่างไร
อาการดังกล่าวเรียกว่า “การบาดเจ็บวิพแลช หรือ อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ เส้นประสาทและ/หรือข้อต่อบริเวณคอ หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบริเวณคอ (Whiplash injury)” เป็นการบาดเจ็บที่ชื่อแปลกมาก ลองติดตามบทความนี้ครับ แล้วท่านจะทราบว่า อาการนี้คืออะไร
อนึ่ง บทความนี้ ขอใช้คำเรียกการบาดเจ็บลักษณะนี้ว่า “การบาดเจ็บวิพแลช”
การบาดเจ็บวิพแลชคืออะไร?
วิพแลช (Whiplash) เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาพูด หมายถึงการบาดเจ็บที่เกิดจากการเคลื่อนที่ ที่ผิดปกติ/การบิด/การสะบัด อย่างแรง และรวดเร็วทันทีของคอ มักเกิดจากอุบัติ เหตุรถยนต์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของ กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และ/หรือข้อต่อบริเวณคอ ทันที
การบาดเจ็บวิพแลชนี้ พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่พบได้มากกว่าในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ โดยพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า เข้าใจว่า เป็นเพราะความแข็งแรงของกล้าม เนื้อคอของผู้ชายแข็งแรงกว่าของผู้หญิง โอกาสเกิดการบาดเจ็บจึงพบได้น้อยกว่า
การบาดเจ็บวิพแลชเกิดขึ้นได้อย่างไร?
กลไกการเกิดการบาดเจ็บวิพแลช เนื่องมาจาก เมื่อมีการกระแทกที่ตัวเราหรือที่ตัวรถ ทำให้คอและศีรษะมีการสะบัด เคลื่อนไปด้านหลัง และสะบัดกลับมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วทันที คล้ายกับการสะบัดแส้ จึงมีชื่อ Whiplash injury (Whiplash แปลว่า แส้) ที่ส่งผลให้ กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ไขสันหลัง ข้อต่อ/กระดูกสันหลัง (กระดูกสันหลังคอ) เส้นเอ็นต่างๆในบริเวณคอ ได้รับการกระทบกระเทือนทันที ซึ่งก่อให้เนื้อเยื่อต่างๆเหล่านั้นเกิดอาการบาดเจ็บ ที่ก่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้น ที่รวมเรียกว่า Whiplash หรือ Whiplash injury
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บวิพแลช?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บวิพแลช ได้แก่
- ถูกรถชนท้าย เช่น ขณะจอดรถติดไฟแดง
- เล่นกีฬาที่มีการปะทะ เช่น ชกมวย รักบี้ ฟุตบอล
- หยุดรถกะทันหัน
- เล่นเครื่องเล่นผาดโผน เช่น รถไฟเหาะ โรลเลอร์ คอสเตอร์ รถบั๊ม
อนึ่ง ส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดว่า ต้องมีอุบัติเหตุที่รุนแรงเท่านั้น หรือต้องขับรถด้วยความเร็วจึงจะเกิดปัญหา จริงๆแล้วความเร็วไม่สูงหรืออุบัติเหตุไม่รุนแรง ก็เกิดการบาดเจ็บวิพแลชได้
การบาดเจ็บวิพแลชมีอาการอย่างไร?
อาการผิดปกติที่พบบ่อยๆจากการบาดเจ็บวิพแลช คือ
- ปวดศีรษะที่มักปวดข้างเดียว เจ็บ /ปวดกล้ามเนื้อคอ แขน ไหล่ โดยเฉพาะขณะเคลื่อนไหว
- เวียนศีรษะ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน
- บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับ
- ความคิดและความจำ
- หูอื้อ
- หงุดหงิด
- อยู่ไม่สุขสบาย
- ชาและเจ็บเหมือนโดนหนามแทงที่แขน หน้า และหัวไหล่
- เจ็บกราม
- ปวดหลัง
- เจ็บสะโพก
- และการมองเห็นแย่ลง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
กรณีมีอาการ ปวดคอ ปวดศีรษะรุนแรง หรืออาการอื่นๆ (ดังกล่าวในหัวข้อ อาการ) ไม่ดีขึ้น ถึงแม้จะให้การดูเบื้องต้น เช่น การประคบ การนวด การทานยาแก้ปวดเบื้องต้น แล้วก็ตาม ก็ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยการบาดเจ็บวิพแลชได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยการบาดเจ็บวิพแลชได้โดย
- พิจารณาข้อมูลจากประวัติอุบัติเหตุ อาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจตำแหน่งที่เกิดอาการ
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท เพื่อหาความผิดปกติของระบบประสาท เช่น อาการอ่อนแรง ชา หรือกล้ามเนื้อลีบ
- การตรวจหาสาเหตุอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุที่ให้อาการคล้ายกัน เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
- อาจส่งตรวจภาพกระดูกสันหลังคอด้วย เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ ขึ้นกับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น มีอาการแขนอ่อนแรงชัดเจน หรืออาการปวดตามแนวของรากประสาท หรือของเส้นประสาท ซึ่งบ่งบอกว่า น่าจะมีการกดทับของเส้นประสาทหรือของรากประสาทระดับคอ ก็จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ ของกระดูกสันหลังและประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังระดับคอ เป็นต้น
รักษาการบาดเจ็บวิพแลชอย่างไร?
แนวทางการรักษาการบาดเจ็บวิพแลช ได้แก่
ก. กรณีแพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติอื่นๆ เช่น ไม่มีการกดของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือการกดของกระดูกต้นคอ ต่อประสาทไขสันหลัง การรักษาประกอบด้วย
- การทานยาแก้ปวด
- การฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปวด
- การนวดไม่รุนแรงบริเวณคอที่ปวด
- การรักษาอาการปวดด้วยการกระตุ้นไฟฟ้า หรือด้วยคลื่นความร้อน (การทำกายภาพบำบัด)
- และ/หรือ การฝังเข็ม
ข. กรณีพบมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การกดของหมอนรองกระดูก ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุนั้นๆ เช่น การรักษาภาวะการกดของหมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่แล้ว การบาดเจ็บวิพแลช ไม่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ยกเว้นผู้ป่วยที่เกิดปัญหาหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับรากประสาทหรือกดทับประสาทไขสันหลัง จึงจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด
ทั้งนี้ การรักษากินเวลานานหรือไม่ ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ถ้าอาการหายดีภายใน 2-3 เดือนแรกก็ไม่จำเป็นต้องรักษาระยะยาว แต่ถ้ามีปัญหาอาการเรื้อรัง การรักษาก็ต้องใช้เวลานาน โดยการทำกายภาพบำบัดเป็นหลัก และทานยาแก้ปวดเป็นระยะๆ ตามอาการปวดที่เกิดขึ้น ร่วม กับยาต้านเศร้า
ภาวะแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บวิพแลชมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยจากการบาดเจ็บวิพแลช คือ
- อาการปวดคอเรื้อรังอาจร่วมกับความรู้สึกผิดปกติบริเวณดังกล่าว (เช่น แขนชา และ/หรือ อ่อนแรง)
- บางคนก็มีอาการหงุดหงิด หรือภาวะซึมเศร้าตามมาได้
การบาดเจ็บวิพแลชมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของการบาดเจ็บวิพแลช ขึ้นกับความรุนแรงของอาการตั้งแต่แรกเกิดการบาดเจ็บ และประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกมาก่อน เช่น อาการปวดหลัง
โดยทั่วไป
- ประมาณ 60% ของผู้ป่วยจะหายได้เป็นปกติในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน
- ประมาณ 2% อาการไม่ดีขึ้น
- ที่เหลืออาการดีขึ้น แต่ไม่กลับเป็นปกติ หรืออาจเป็นๆหายๆ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองในเบื้องต้นหลังจากเกิดการบาดเจ็บวิพแลช เช่น
- การประคบเย็น การนวด (ไม่ควรนวดอย่างแรง) บริเวณคอ
- การใส่ปลอกคอเพื่อให้คอได้พักในตำแหน่งที่เหมาะสม และมีการเคลื่อนไหวที่พอเหมาะของคอ โดยป้องกันการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว (เช่น ไม่หันคออย่างรวดเร็ว ไม่หันจนคอบิด ไม่สะบัดคอไปมา)
- อาจทานยาพาราเซตามอลแก้ปวดเป็นครั้งคราว
- และให้สังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติอะไรบ้าง ซึ่งถ้าพบว่ามีอาการมาก และ/หรือมีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขน ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตั้งแต่แรกมีอาการ
- ทั้งนี้ หลังดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการต่างๆเลวลง และ/หรือ มีอาการแขนชา และ/หรืออ่อนแรงตามมา ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- ส่วนการดูแลตนเอง ภายหลังพบแพทย์แล้ว คือ การปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ในกรณีได้พบแพทย์แล้ว ผู้ป่วยควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการที่เป็นอยู่นั้นมีอาการรุนแรงมากขึ้น
- หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท (เช่น แขนชา แขนอ่อนแรง) เพิ่มขึ้น
- หรือมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม
- หรือมีอาการแพ้ยาที่ใช้รักษา เช่น ผิวหนังขึ้นผื่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องมาก และ/หรืออุจจาระเป็นสีดำลักษณะคล้ายยางมะตอย (ผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด ที่ทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร)
ป้องกันการบาดเจ็บวิพแลชอย่างไร?
การป้องกันการบาดเจ็บวิพแลช คือ
- การหลีกเลี่ยงการประทะต่างๆ รวมถึงในการเล่นกีฬา และอุบัติเหตุต่างๆ
- การขับรถต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
- ถ้าจอดรถหลังรถคันอื่นตอนติดไฟจราจร ควรจอดห่างจากรถคันหน้าพอสมควร
- และสังเกตการจราจรข้างหลังด้วยการมองกระจกหลังว่า จะมีรถมาจอดใกล้กับรถเรามากๆ หรือจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
- การนั่งขับรถควรนั่งท่าให้ถูกต้อง ห่างจากพวงมาลัยรถและคันเร่ง เบรกที่เหมาะสม ให้พนักรองคอหรือหมอนรองศีรษะอยู่ในตำแหน่งสูง และชิดศีรษะพอดี ไม่ควรห่างและต่ำเกินไป
- รวมทั้งการคาดเข็มขัดนิรภัยก็ไม่ควรคาดต่ำเกินไป