การนับคาร์บ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตอน 2 วิธีนับคาร์โบไฮเดรต
- โดย กาญจนา ฉิมเรือง
- 16 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
อาหารคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วนหรือเรียกย่อ ๆว่า 1 คาร์บ มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตโดยเฉลี่ย 15-18 กรัม ( ปริมาณนี้ไม่ใช่น้ำหนักอาหาร) โดยอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมี 5 ประเภท ดังแสดงในอาหาร
ธัญพืช ข้าว/แป้ง/เส้นต่าง ๆ/ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ | 15 กรัม |
ผักที่มีแป้งมาก ผักใบ/ดอก (3ส่วน) | 15 กรัม |
ผลไม้ | 15 กรัม |
นมและผลิตภัณฑ์จากนม | 15 กรัม |
ขนมหวานต่างๆ | 15 กรัม |
การนับคาร์โบไฮเดรต หรือ “การนับคาร์บ” เป็นเทคนิคการวางแผนมื้ออาหารของผู้เป็นเบาหวานเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวานทราบปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่สามารถรับประทานได้ในแต่ละมื้อโดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ ในอาหารแต่ละชนิดมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่แตกต่างกัน จึงมีวิธีการนับคาร์โบไฮเดรตดังนี้
1. วางแผนมื้ออาหาร ทั้งมื้อหลักและมื้อว่างตามความเหมาะสมและความต้องการของร่างกายโดยจะต้องทราบปริมาณอาหารขออาหารที่ควรรับประทานในแต่ละมื้อ ถ้าผู้เป็นเบาหวานไม่ทราบปริมาณของตัวเองให้ขอคำแนะนำจากนักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการหรือแพทย์ผู้รักษา
2. เรียนรู้ชนิดและปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารแต่ละชนิด โดยคนส่วนใหญ่มักจะทราบว่าอาหารกลุ่มข้าวแป้ง เช่น ข้าวสวย ข้าวต้ม ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เส้นหมี่ และข้าวโพด เป็นต้น เป็นกลุ่มอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต แต่ไม่ทราบว่าอาหารชนิดอื่น ๆ เช่น ผลไม้ นม ขนมหวาน อาหารกลุ่มแป้ง เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็เป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเช่นกัน เมื่อรับประทานเข้าสู่งร่างกายจึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้วิธีการอ่านฉลากโภชนาการโดยละเอียด การเข้าใจคำศัพท์อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต รวมถึงหาความรู้จากหนังสือที่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารด้วยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
3. ฝึกการชั่งตวงอาหาร เพื่อให้การนับคาร์โบไฮเดรตมีความถูกต้องและแม่นยำ ผู้เป็นเบาหวานควรมีการฝึกชั่งตวงหรือกะปริมาณอาหารที่ตนเองรับประทาน โดยใช้อุปกรณ์ เช่น ทัพพี ช้อนกินข้าว หรือถ้วยตวง ในการชั่งตวง ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากข้าวแป้ง เป็นต้น ในระยะแรกควรฝึกให้เกิดความชำนาญหรือเกิดประสบการณ์จนสามารถจำปริมาณที่ถูกต้อง
บุคคลที่ควรนับคาร์โบไฮเดรต
การนับคาร์โบไฮเดรตสามารถใช้ได้กับผู้ที่เป็นเบาหวานทุกคน ไม่เพียงแต่ผู้เป็นเบาหวานที่ฉีดอินซูลินเท่านั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ผู้ต้องการลดน้ำหนัก หรือผู้ดูแลสุขภาพที่ต้องการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็สามารถใช้วิธีการนับคาร์บได้ ดังนี้
- ผู้เป็นเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลิน เช่น ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 บางราย ที่ต้องใช้อินซูลินสำหรับมื้ออาหาร ควรทราบปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่จะรับประทานในแต่ละมื้อและในแต่ละวัน
- ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่ต้องฉีดอินซูลิน เพื่อให้ทราบปริมาณคาร์บที่ตนเองต้องรับประทานในแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำหนักให้คงที่ไม่ทำให้อ้วนหรือผอมเกินไป
- ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน การกำจัดปริมาณคาร์บและเลือกคาร์โบไฮเดรตที่ดีคือคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยและมีใยอาหารสูงในอาหารแต่ละมื้อจะช่วยทำให้น้ำหนักลดลงได้
- ผู้ที่ดูแลสุขภาพที่ต้องรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องอาหารสุขภาพ การรับประทานอาหารให้ได้พลังงานรวมที่เพียงพอ และเหมาสมกับกิจกรรมในแต่ละวันสามารถรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ลดโรคเบาหวานได้
อ้างอิง:
- ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. การนับคาร์โบไฮเดรตเพื่อควบคุมเบาหวาน. กรุงเทพฯ:โนโว นอร์ดิสค์ ฟามา; 2559.
- ศัลยา คงสมบูรณ์เวช, สิริมนต์ ริ้วตระกูล. การนับคาร์โบไฮเดรตเพื่อควบคุมเบาหวาน. (เอกสารสำหรับแจกผู้เป็นเบาหวาน ปี 2558)
- สำนักโภชนาการ. อาหารบำบัดเบาหวานกับจานสุขภาพ. [แผ่นพับ]. กรุงเทพฯ: กลุ่มงานโภชนาการประยุกติ์ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย; 2558.
- สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. รู้จักคาร์บ รู้จักนับ ปรับสมดุล ควบคุมเบาหวาน. กรุงเทพฯ: สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย; 2560.