การตัดมดลูก (Hysterectomy) - Update

สารบัญ

  • การตัดมดลูกคืออะไร?
  • การใช้ในทางการแพทย์
  • ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจพบได้
  • การฟื้นตัว
  • ปัญหาอื่นที่อาจพบได้
  • ทางเลือกในการรักษา
  • รูปแบบของการตัดมดลูก
  • เทคนิคการผ่าตัด
  • อุบัติการณ์ในอดีต 

การตัดมดลูกคืออะไร?

การตัดมดลูก คือ การผ่าตัดเพื่อนำมดลูก (Uterus) และคอมดลูก (Cervix) ออกจากร่างกายของผู้รับการรักษา Supracervical Hysterectomy หมายถึงการตัดมดลูกที่เอาเฉพาะตัวมดลูกออกโดยที่ยังคงคอมดลูกไว้ การผ่าตัดนี้ในบางครั้งอาจจะกระทำร่วมกับการตัดรังไข่ (Oophorectomy) และโครงสร้างรอบ ๆ ออกด้วย กระบวนการผ่าตัดทั้งหมดจะดำเนินการโดยนรีแพทย์ (Gynecologist)

ผลของการตัดมดลูกจะทำให้ผู้รับการรักษาไม่สามารถมีบุตรได้ (เช่นเดียวกับการตัดรังไข่ [Ovary] และ/หรือท่อนำไข่ [Fallopian tube] ออกทั้งสองข้าง) รวมถึงอาจมีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดในระยะยาว ดังนั้นการผ่าตัดนี้จะเป็นทางเลือกที่ถูกแนะนำเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาหรือไม่ตอบสนองจากการรักษาด้วยวิธีอื่น

ในสหรัฐอเมริกา สตรีหลังผ่าคลอดนั้นได้รับการรักษาทางนรีเวชด้วยวิธีการตัดมดลูกสูงที่สุดเป็นอับดับสอง รองจากการผ่าท้องคลอด (Cesarean section) โดยกว่า 68% ได้รับการผ่าตัดมดลูกเพื่อรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis), เลือดออกผิดปกติ (Irregular bleeding), เนื้องอกในมดลูก (Uterine fibroid) และอื่น ๆ

สำหรับในทางการแพทย์ การรักษาด้วยวิธีตัดมดลูกสำหรับผู้ป่วยซึ่งมีข้อบ่งชี้จากโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง (Non-malignant) นั้น ในปัจจุบันอาจจะถูกแทนที่ด้วยทางเลือกการรักษาที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

การใช้ในทางการแพทย์

การผ่าตัดมดลูกเป็นการรักษาที่มีทั้งประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัด เฉกเช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ นอกจากนี้การผ่าตัดมดลูก โดยเฉพาะในรายที่มีการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดฮอร์โมน อันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของผู้รับการรักษา ดังนั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว การรักษาโดยวิธีนี้มักจะได้รับการแนะนำเป็นทางเลือกในการรักษาก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น หรือกรณีที่โรคนั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ยา เป็นต้น ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมดลูกมีดังนี้

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือโรคมีความรุนแรงมาก: การเจริญเติบโตของเยื่อบุมดลูกภายนอกโพรงมดลูก ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดท้อง เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์และมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดได้
  • ภาวะอะดีโนไมซิส (Adenomyosis): เป็นรูปแบบหนึ่งของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยเยื่อบุมดลูกนั้นจะขยายตัวผ่านผนังมดลูก ออกสู่ภายนอกโพรงมดลูก ทำให้ผนังมดลูกหนา ก่อให้เกิดอาการปวด โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือนที่มากกว่าปกติและ/หรือมีเลือดออกมากผิดปกติจากช่องคลอด
  • ประจำเดือนมามาก (Heavy menstrual bleeding) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา: อาการของประจำเดือนมามากในแต่ละวัน และยาวนานกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะซีด ส่งผลรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • เนื้องอกในมดลูกที่มีอาการซึ่งรบกวนต่อคุณภาพชีวิต: เป็นการเติบโตของเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงภายในมดลูก ซึ่งอาจพบได้ในลักษณะก้อนเดียวหรือหลายก้อน อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและมีเลือดออกผิดปกติ ในบางครั้งเนื้องอกมดลูกจะกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ เป็นต้น ทำให้เกิดอาการปัสสาวะที่บ่อยขึ้น หรืออาจจะปัสสาวะไม่ออก บางรายอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือถ่ายอุจจาระลำบาก
  • ภาวะมดลูกหย่อน (Uterine prolapse): เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง ทำให้มดลูกหย่อนและเลื่อนต่ำลงสู่ช่องคลอด ส่งผลให้รู้สึกปวดหน่วงท้องน้อยและช่องคลอด อาจจะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือท้องผูกร่วมด้วยในบางราย
  • การป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก: ในผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้วและมียีนส์ที่ผิดปกติต่อไปนี้ ได้แก่ EPCAM, MLH1, MSH2, MSH6, PMS2 and
  • โรคมะเร็งทางนรีเวช (Gynecologic cancer): เพื่อการรักษาระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก ปากมดลูกและมดลูก ในกรณีของการป้องกันหรือรักษามะเร็งรังไข่นั้น การตัดรังไข่คือการผ่าตัดที่จำเป็น  การกำหนดขอบเขตในการตัดมดลูกจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งขึ้นกับโรคและความรุนแรงของโรคที่เป็น
  • การผ่าตัดปรับเพศสภาพจากหญิงเป็นชาย: สำหรับผู้มีความต้องการแปลงเพศสภาพ เพื่อป้องกันปัญหาทางนรีเวชที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • ความบกพร่องทางพัฒนาการขั้นรุนแรง (Severe developmental disabilities): การรักษาด้วยการตัดมดลูกในกรณีนี้เป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันมากที่สุด โดยในสหรัฐฯ ศาลของรัฐหนึ่งได้ตัดสินว่าการทำหมันเนื่องจากความบกพร่องทางพัฒนาการถือเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั่วไปของผู้ป่วย
  • อาการหลังคลอด (Postpartum): เพื่อรักษาอาการร้ายแรงหลังคลอด เช่น รกเกาะต่ำ (Placenta praevia) รกทะลุผ่านชั้นมดลูก (Placenta percreta) หรือเป็นทางเลือกสุดท้ายเพื่อรักษาการตกเลือดในระยะหลังคลอด (postpartum haemorrhage)

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจพบได้

อัตราการเสียชีวิตในระยะแรกหลังผ่าตัด มีต่ำมาก ในปี ค.ศ.1995 มีการรายงานถึงอัตราการเสียชีวิตภายใน 40 วันหลังการผ่าตัดมดลูกที่ 0.38 รายต่อ 1000 รายในผู้ป่วยที่ตัดมดลูกเพื่อรักษามะเร็ง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่ ขนาดและตำแหน่งการเกิดเนื้องอก อาการผิดปกติของเส้นเลือดในอุ้งเชิงกราน และผู้ที่มีเลือดออกมากผิดปกติทางช่องคลอด

มีรายงานถึงอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นหลายเท่าเมื่อทำการผ่าตัดในผู้ป่วยทางสูติกรรมที่มีภาวะตกเลือด มะเร็ง หรือมีอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดอื่น ๆ

ส่วนอัตราการเสียชีวิตหลังการผ่าตัดในระยะยาวนั้น เกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าในสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปีมีอัตราการเสียชีวิตในระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สันนิษฐานว่ามีสาเหตุจากความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกิดจากการตัดมดลูกและรังไข่ออกเพื่อป้องกันโรค โดยความผิดปกตินี้ไม่จำกัดเฉพาะในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนเท่านั้น แม้แต่ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วก็ยังพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากผลกระทบระยะยาวหลังการผ่าตัดเพิ่มขึ้นหากมีการตัดรังไข่ร่วมด้วย

            ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบว่า ประมาณ 35% ของสตรีที่ได้รับการตัดมดลูก อาจจะได้รับการผ่าตัดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันภายใน 2 ปี ผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดที่อาจพบได้ คือ อันตรายที่เกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะ โดยพบได้  0.2 รายต่อ 1,000 รายที่ได้รับการตัดมดลูกผ่านช่องคลอด และ 1.3 รายต่อ 1,000 รายที่ได้รับการตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้อง ส่วนที่มักจะเกิดการบาดเจ็บคือบริเวณท่อไตส่วนปลายใกล้กับเอ็นที่ยึดระหว่างรังไข่กับช่องท้อง และตำแหน่งของท่อไตที่ลอดผ่านใต้ต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกซึ่งการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากการห้ามเลือดขณะผ่าตัด

การฟื้นตัว

ภายหลังการผ่าตัด กรณีที่ได้รับการตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องผู้รับการรักษาจะต้องได้รับการพักฟื้นในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 3-5 วัน และกรณีได้รับการตัดมดลูกด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องในช่องคลอดต้องพักฟื้นประมาณ 1-2 วัน (หรือมากกว่า) ซึ่งหลังได้รับการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้งดเว้นการสอดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคลอด อันรวมถึงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดและการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์

  • ผลข้างเคียงของการตัดรังไข่

การผ่าตัดมดลูกโดยยังที่คงรังไข่ไว้ในผู้ที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธ์ ผู้รับการรักษาอาจจะมีโอกาสที่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (Menopause) เร็วขึ้นกว่าอายุเฉลี่ยที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนของประชากรทั่วไปโดยเฉลี่ย 3.7 ปี อันเป็นเหตุมาจากการผ่าตัดมดลูกอาจทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปยังรังไข่ลดลงได้ถึง 50%  การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในกรณีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีข้อบ่งชี้ในการใช้หรือไม่เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนโดยทั่วไป

ทั้งนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งอาจจะพบซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ที่ไม่ร้ายแรงหลังการผ่าตัดมดลูกออกได้บ้าง ซึ่งในบางราย ซีสต์ที่เกิดขึ้นนี้อาจหายไปได้เอง

  • ผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเพศและอาการปวดท้องน้อย (Pelvic pain)

ในการตัดมดลูกด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ผู้รับการรักษาส่วนใหญ่รายงานว่ามีชีวิตทางเพศและอาการปวดท้องน้อยที่ดีขึ้น มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่พบผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม

สำหรับการตัดมดลูกเพื่อรักษามะเร็ง มักจะพบผลกระทบที่รุนแรงกว่าภายหลังการรักษา และในสตรีบางส่วนที่รับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง  ยังคงพบอาการปวดภายหลังการรักษา และมีการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์  (Dyspareunia) ร่วมด้วยได้

  • ผลข้างเคียงของการเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร (Premature menopause)

ในกรณีที่ผู้รับการรักษาได้รับการตัดรังไข่ออก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหลอดเลือดและกระดูก ภาวะนี้มักเรียกกันว่า "วัยหมดประจำเดือนจากการผ่าตัด" ทำให้ร่างกายเกิดอาการของวัยหมดประจำเดือนขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลันได้ เนื่องจากการสูญเสียหรือการลดระดับของฮอร์โมนอย่างกะทันหัน อาการของวัยหมดประจำเดือนต่าง ๆที่พบได้ เช่น รู้สึกร้อนวูบวาบ เป็นต้น  ในผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนตามธรรมชาติร่ซึ่งร่างกายจะค่อย ๆ ลดระดับฮอร์โมนลงตลอดระยะเวลาหลายปีโดยที่รังไข่สามารถผลิตฮอร์โมนได้แม้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมักจะไม่รุนแรงและไม่ฉับพลัน

ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอาจจะสูงขึ้นเมื่อทำการผ่าตัดรังไข่ออกด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยจะยังคงรังไข่ไว้ก็ยังอาจพบความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง

การศึกษาอื่น ๆ ยังพบความสัมพันธ์ของการตัดมดลูกกับการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis, ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง) และความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ทั้งนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการทำงานของรังไข่ ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง และนำไปสู่การสูญเสียมวลกระดูกตามมา

ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกพร้อมกับการรังไข่ทั้งสองข้าง นอกจากจะกระทบต่อระดับเอสโตรเจนที่ลดลงแล้ว ยังกระทบต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่ลดลงอีกด้วยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ตัดรังไข่ โดยระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ลดลงในผู้หญิงนี้ อาจส่งผลกระทบกับความต้องการทางเพศที่อาจจะลดลงได้  ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนที่เหมาะสมจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

การศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่าการตัดรังไข่ออกก่อนอายุ 45 ปี อาจจะมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตจากภาวะสมองและภาวะสุขภาพจิตที่ผิดปกติเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจากต่างประเทศที่อาจจะมีบริบท สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ตลอดจนวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนไทย

  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และอุ้งเชิงกรานหย่อน (Urinary incontinence and vaginal prolapse)

การศึกษาในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออก พบว่าภายหลังการตัดมดลูก 10-20 ปี อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และอุ้งเชิงกรานหย่อน และอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าที่จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในภายหลัง ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยพิเศษด้านใด หรือเทคนิคผ่าตัดมีผลทำให้เกิดปัญหานี้หรือไม่

ในด้านความเสี่ยงของอุ้งเชิงกรานหย่อน (Vaginal prolapse) พบว่ามักขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนบุตรที่คลอดโดยธรรมชาติ ความยากในการคลอดบุตร ประเภทของการคลอด และระยะเวลาของการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน  ความเสี่ยงของอุ้งเชิงกรานหย่อน โดยรวมอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าหลังการผ่าตัดมดลูก

  • การเกิดพังผืดและภาวะลำไส้อุดตัน (Adhesion formation and bowel obstruction)

การก่อตัวของพังผืดหลังการผ่าตัดเป็นความเสี่ยงที่พบได้โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดมดลูก เนื่องจากลักษณะของการผ่าตัดและการวางตัวของมดลูกตามแรงโน้มถ่วงภายในอุ้งเชิงกราน สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดลำไส้อุดตันได้เช่นกัน

มีการรายงานว่า ในการผ่าตัดออกทั้งมดลูกและคอมดลูกผ่านทางหน้าท้องโดยไม่ใช้การส่องกล้องร่วมด้วย พบอัตราการอุดตันของลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น 15.6% โดยประมาณ เมื่อเทียบกับ 0.0% ในการผ่าตัดมดลูกด้วยการส่องกล้อง

  • การเกิดแผลติดเชื้อ (Wound infection)

การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 3% ของการผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนั้นจะเพิ่มขึ้นจากโรคอ้วน เบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ การสูบบุหรี่ อาการเลือดคั่งที่บาดแผล การติดเชื้อที่มีอยู่แล้ว เช่น Chorioamnionitis และโรคเกี่ยวกับกระดูกเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease) โดยรูปแบบการติดเชื้ออาจทำให้เกิดเป็นฝีที่มีหนอง หรือเกิดเป็นการอักเสบที่เนื้อเยื่อ ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบจะทำให้ผู้ป่วยเกิดผื่นแดงที่ผิวหนังโดยรอบ สามารถรักษาได้เบื้องต้นโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลืออย่างน้อยสองครั้งต่อวัน และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาด

ปัญหาอื่นที่อาจพบได้

ข้อมูลการวิจัยพบว่า การตัดมดลูกอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งไตชนิด Renal Cell Carcinoma (RCC) โดยมีความความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก และข้อมูลได้มาจากงานวิจัยชนิดเฝ้าสังเกตุ ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวจึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน

การผ่าตัดเอามดลูกออกโดยไม่ได้ตัดรังไข่ อาจทำให้เกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ในบางกรณีซึ่งพบได้ยากมาก ทั้งนี้อธิบายจากการที่ผู้รับการรักษาได้เกิดการปฏิสนธิที่ตรวจไม่พบและยังไม่ฝังตัวในมดลูกก่อนการผ่าตัด ส่วนการพบลำไส้เล็กหลุดมายังช่องคลอดเมื่อมีเพศสัมพันธ์นั้น ก็พบได้น้อยมากเช่นกัน

ทางเลือกในการรักษา

แพทย์จะประเมินวิธีการรักษาตัดมดลูกโดยวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย เช่น

  • ภาวะเลือดออกมากผิดปกติจากมดลูก (Heavy bleeding)

ห่วงอนามัยชนิดหลั่งฮอร์โมน Levonorgestrel เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมอาการเลือดออกผิดปกติของมดลูก (Dysfunctional uterine bleeding: DUB) หรือภาวะมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ (Menorrhagia) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนการผ่าตัด

ภาวะมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติสามารถรักษาได้ด้วยการทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) หลังการรักษาผู้ป่วยอาจมีเลือดออกน้อยลงได้มากสุดถึง 90% แต่วิธีนี้จะไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่มีเยื่อบุมดลูกหนามากหรือเนื้องอกในมดลูก

  • เนื้องอกในมดลูก

ห่วงอนามัยชนิดหลั่งสาร levonorgestrel  เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมอาการเลือดออกผิดปกติของมดลูกดังที่กล่าวไปข้างต้น ผลข้างเคียงโดยทั่วไปของการใส่ห่วงอนามัยจะอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก เนื่องจากฮอร์ดมน levonorgestrel (ฮอร์โมนโปรเจสติน [Progestin] รูปแบบหนึ่ง) ถูกปล่อยออกมาในระดับความเข้มข้นต่ำอย่างคงที่ ขณะนี้มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าห่วงอนามัยชนิด Levonorgestrel ช่วยบรรเทาอาการในสตรีที่เป็นเนื้องอกได้

เนื้องอกในมดลูกอาจถูกผ่าตัดออก และมดลูกถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ด้วยขั้นตอนที่เรียกว่า "การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกมดลูกออก (Myomectomy)" การผ่าตัดนี้อาจทำได้ผ่านแผลเปิด ส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง หรือผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก (การส่องกล้องโพรงมดลูก) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน ตำแหน่งของเนื้องอก และปัจจัยจำเพาะของผู้ที่รับการรักษา

Uterine artery embolization (UAE) เป็นขั้นตอนการรักษาเนื้องอกในมดลูกที่มีผลกระทบต่อส่วนอื่นน้อยที่สุด ภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยแพทย์จะทำการสวนสายเข้าไปในเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบและสวนต่อไปจนถึงหลอดเลือดแดงมดลูก โดยอาศัยการมองเห็นจากภาพรังสีขณะทำการสวน จากนั้นจะทำการฉีดไมโครสเฟียร์หรือพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl alcohol: PVA) เข้าไปอุดหลอดเลือดเพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือดในบริเวณนั้น ด้วยวิธีนี้จะส่งผลโดยตรงต่อในการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก และภาวะเลือดออกมากผิดปกติจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

การวิจัย Cochrane ในปี ค.ศ.2014 ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของวิธีการตัดมดลูกกับและวิธี UAE พบผลลัพธ์ว่าวิธี UAE จะมีการพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังการรักษาที่สั้นกว่าและสามารถกลับมาทำกิจกรรมประจำวันตามปกติได้เร็วกว่า แต่พบภาวะแทรกซ้อนเล็กน้อยหลังผ่าตัดเพิ่มขึ้นมากกว่า นอกจากนี้อาจจะต้องมารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคใหม่อีกครั้งในอนาคต

เนื้องอกในมดลูกยังสามารถถูกกำจัดออกได้ด้วยขั้นตอนแบบไม่รุกรานที่เรียกว่า Magnetic Resonance guided Focused Ultrasound (MRgFUS) เช่นกัน เป็นวิธีที่ใหม่ และยังไม่เป็นที่นิยมนักในปัจจุบัน

  • ภาวะมดลูกหย่อน

ภาวะมดลูกหย่อนอาจทำการรักษาด้วยวิธีอื่นโดยไม่ต้องตัดมดลูกออก เช่น "การออกกำลังกายแบบ Kegel" การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงในช่องคลอด การแก้ไขอาการท้องผูก การควบคุมน้ำหนัก และเลี่ยงการยกของหนัก

รูปแบบของการตัดมดลูก

การตัดมดลูก ในความหมายตรงตัวนั้นหมายถึงการผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อวัยวะที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ  เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ และคอมดลูก อาจจะได้รับการตัดออกไปในการผ่าตัดเช่นกันภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

  • Radical hysterectomy คือการตัดมดลูก คอมดลูก เนื้อเยื่อข้าง ๆ มดลูก และช่องคลอดส่วนบนหนึ่งส่วนสามถึงหนึ่งส่วนสองของความยาว หากผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ของโรคมะเร็ง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง และรังไข่ ร่วมด้วยเช่นกัน
  • Total hysterectomy คือการผ่าตัดมดลูกและคอมดลูกออกทั้งหมด
  • Subtotal hysterectomy คือผ่าตัดมดลูกออก โดยเหลือส่วนของคอมดลูกไว้เช่นเดิม

วิธีการตัดมดลูกที่เอาเฉพาะตัวมดลูกออกโดยคงคอมดลูกไว้ (Supracervical hysterectomy) ได้รับการเสนอขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาในกิจกรรมทางเพศที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่าการตัดคอมดลูกออกอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทและลักษณะทางกายวิภาคที่มากเกินไป ซึ่งนำไปสู่ช่องคลอดสั้นลง เกิดการหย่อนยานของอวัยวะภายในช่องคลอด และอาจเกิดเป็นแผลในช่องคลอดร่วมด้วย ข้อดีทางทฤษฎีเหล่านี้ไม่ได้รับการยืนยันในทางปฏิบัติ แต่ยังพบข้อดีอื่น ๆ ที่มากกว่าการผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด ข้อเสียเปรียบหลักคือความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกที่ยังสามารถเกิดขึ้นได้ และผู้รับการรักษาอาจมีเลือดออกตามรอบเดือนต่อไป (แม้ว่าจะน้อยกว่าก่อนการผ่าตัดอย่างมากก็ตาม)

มีการศึกษาแบบสุ่มในระยะสั้นแสดงให้เห็นว่าการผ่าตัดมดลูกที่จะมีการเก็บรักษาหรือนำคอมดลูกออกไม่ส่งผลต่ออัตราการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ในการผ่าตัดมดลูกโดยเหลือส่วนของคอมดลูกไว้ไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้นในการรักษาวิธีนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ดังนั้นการผ่าตัดนี้ อาจไม่เหมาะสมกับสตรีส่วนใหญ่ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก

เทคนิคการผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออกสามารถทำได้หลายวิธี วิธีที่เก่าแก่ที่สุดคือการทำผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) ซึ่งริเริ่มโดยนายแพทย์ Konrad Langenbeck พลเอกแพทย์ทหารแห่งกองทัพ Hannovarian อย่างไรก็ตาม ได้มีบันทึกถึงการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดเพื่อแก้ไขภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนตั้งแต่ 50 ปีก่อนคริสตกาล

การผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy) ครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ทำโดยศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน Ephraim McDowell เขาดำเนินการผ่าตัดนี้ในปี ค.ศ.1809 ให้กับสตรีที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ห้าที่มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในรังไข่ โดยกระบวนการทั้งหมดถูกดำเนินการบนโต๊ะในครัวของเธอ

การแพทย์ในแผนปัจจุบัน ได้มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างมาก และมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดโดยใช้กล้องช่วย (laparoscopic-assisted vaginal hysterectomy หรือ LAVH) อันนำไปสู่การตัดมดลูกโดยใช้การส่องกล้องผ่าตัดทั้งหมด (Total laparoscopic hysterectomy หรือ TLH)

  • การตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้อง

การผ่าตัดแบบเปิด จะกระทำโดยการเปิดแผลที่ผิวหนังตามแนวขวาง (Pfannenstiel) ผ่านผนังหน้าท้องเหนือกระดูกหัวหน่าวใกล้กับแนวเส้นขนหัวเหน่าด้านบนของกระดูกเชิงกราน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับแผลจากการผ่าตัดคลอด เทคนิคนี้ทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงโครงสร้างภายในระบบสืบพันธุ์ได้มากที่สุด และโดยปกติใช้วิธีนี้ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัดหลายอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ออก ระยะเวลาพักฟื้นที่บ้านของการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้องโดยประมาณคือ 4-6 สัปดาห์

ในอดีต ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้คือการเกิดแผลติดเชื้อ แต่ในการแพทย์แผนปัจจุบันปัญหานี้ได้รับการแก้ไขและการติดเชื้อก็ไม่ใช่ข้อที่ต้องกังวลมากอีกต่อไป การตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดที่ซับซ้อน ภายหลังได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดเป็นรูปแบบเปิดแผลผ่านช่องคลอดร่วมกับการส่องกล้อง ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

  • การตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด

การตัดมดลูกผ่านช่องคลอดจะดำเนินกระบวนการผ่าตัดทั้งหมดผ่านทางช่องคลอดเพียงทางเดียว ซึ่งวิธีนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องเป็นอย่างมาก รวมถึงผู้รับการรักษาใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อยกว่าเช่นกัน การผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้อง นิยมในสตรีที่ต้องรับการตัดมดลูกหลังการผ่าคลอด การผ่าตัดเนื่องจากโรคมะเร็ง หรือมีการคาดว่าอาจเสี่ยงเกิดต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนถ้าผ่าตัดทางช่องคลอด และในการผ่าตัดที่จำเป็นต้องมีการผ่าเพื่อสำรวจช่องท้อง (Surgical exploration)

  • การตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดร่วมกับการส่องกล้อง (Laparoscopic-assisted vaginal hysterectomy: LAVH)

หลังการพัฒนาขึ้นของการส่องกล้องผ่าตัดในช่วงปี ค.ศ.1970-1980 เทคนิคการตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดร่วมกับการส่องกล้องจึงได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากในสูตินรีแพทย์ เนื่องจากเปิดแผลขนาดเล็กกว่าและใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดน้อยกว่า แต่อาจเพิ่มความซับซ้อนในการผ่าตัดขึ้นเล็กน้อย เทคนิค LAVH จะเริ่มต้นด้วยการส่องกล้องผ่าตัด และใช้กล้องนี้ช่วยในขั้นตอนการตัดมดลูกผ่านออกทางช่องคลอด โดยจะเป็นการตัดมดลูกที่รวมถึงคอมดลูกออกด้วย แต่อาจรวมหรือไม่รวมถึงการตัดรังไข่ก็ได้ ก่อนจะเย็บแผลเพื่อปิดมดลูกส่วนบนที่ถูกตัดออกไป

  • การตัดมดลูกโดยเอาตัวมดลูกออก แต่คงเหลือคอมดลูกไว้ โดยใช้การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic-assisted supracervical hysterectomy: LASH)

การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดเอาเฉพาะตัวมดลูกออกโดยคงเหลือคอมดลูกไว้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นในภายหลัง โดยใช้เครื่อง morcellator ปั่นมดลูกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้สามารถนำชิ้นเนื้อของมดลูกที่ถูกปั่นออกทางรูแผลที่สอดกล้องผ่าตัดทางหน้าท้องได้

  • การตัดมดลูกโดยใช้การส่องกล้องผ่าตัดทั้งหมด (Total laparoscopic hysterectomy: TLH)

เทคนิคการตัดมดลูกโดยใช้การส่องกล้องผ่าตัดทั้งหมดได้ถูกพัฒนาขึ้นในต้นปี ค.ศ.1990 โดยนายแพทย์ Prabhat K. Ahluwalia ใน Upstate New York เทคนิคนี้จะใช้การสอดกล้องผ่าตัดเข้าไปผ่านทางหน้าท้อง และทำการผ่าตัดเอามดลูกออกจากเนื้อเยื่อและหลอดเลือดที่ยึดมดลูกไว้กับอุ้งเชิงกราน จากนั้นจะลำเลียงชิ้นส่วนของมดลูกที่ถูกตัดออกผ่านรูแผลบริเวณหน้าท้องที่ใช้ในการใส่กล้องช่วยผ่าตัด

  • เทคนิคอื่น ๆ

การผ่าตัดเอาตัวมดลูกออก โดยเหลือคอมดลูกไว้ โดยใช้การส่องกล้อง (Supracervical [subtotal] laparoscopic hysterectomy: LSH) คือการตัดมดลูกที่มีวิธีใกล้เคียงกับการตัดมดลูกโดยใช้การส่องกล้องผ่าตัดทั้งหมด แต่จะตัดออกเฉพาะตัวมดลูกเท่านั้น

การส่องกล้องผ่าตัดแบบ 2 พอร์ต (Dual-port laparoscopy) คือการผ่าตัดส่องกล้องผ่านการเปิดแผลตรงกลางขนาด 5 มม. จำนวน 2 แผล โดยชิ้นส่วนของมดลูกจะถูกแยกลำเลียงออกทางพอร์ตทั้งสองทางช่องคลอด

การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic hysterectomy) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องอีกรูปแบบหนึ่งโดยใช้เครื่องมือพิเศษควบคุมการผ่าตัดจากระยะไกล ช่วยให้ศัลยแพทย์ควบคุมได้ละเอียดยิ่งขึ้น รวมถึงขยายการมองเห็นแบบสามมิติ

  • การเปรียบเทียบแต่ละเทคนิค

ลักษณะของผู้ป่วย เช่น เหตุผลที่ต้องทำการตัดมดลูก ขนาดของมดลูก ความรุนแรงของภาวะมดลูกหย่อน การมีโรคที่เป็นในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงของมดลูก ประวัติการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน โรคอ้วน ประวัติการตั้งครรภ์ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือความจำเป็นในการตัดรังไข่จะถูกนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการรักษาด้วยวิธีตัดมดลูก

การตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด ถือเป็นวิธีที่แนะนำมากกว่าวิธีอื่นในกลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดมีผลการผ่าตัดที่ดีกว่าวิธี LAVH (การตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดร่วมกับการส่องกล้อง) เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่น้อยกว่าทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วกว่า รวมถึงผลกระทบต่อกิจกรรมทางเพศที่น้อยกว่า และค่ารักษาที่ถูกกว่าเช่นกัน

การผ่าตัดส่องกล้องเหมาะสำหรับกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดผ่านช่องคลอดได้ แต่มีข้อเสียในการต้องใช้เวลาผ่าตัดที่นานกว่ามาก

ในปี ค.ศ.2004 มีการศึกษาหนึ่งในสหราชอาณาจักรได้ทำการเปรียบเทียบเทคนิคระหว่างการผ่าตัดทางหน้าท้องและการผ่าตัดส่องกล้อง พบว่าการผ่าตัดส่องกล้องนั้นจะใช้เวลาในการผ่าตัดที่นานกว่า รวมถึงมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สูงขึ้น แต่การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วกว่ามาก ในอีกการศึกษาหนึ่งในปี ค.ศ.2014 ได้พบว่าการผ่าตัดส่องกล้องเป็น "ทางเลือกที่ปลอดภัยกรณีต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง" ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่ต้องรับการผ่าตัดมดลูกออก

สำหรับเทคนิคการผ่าตัดทางหน้าท้องมักใช้ในกรณีที่การผ่าตัดมีความซับซ้อน หรือเมื่อคาดว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากเมื่อเทียบอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเวลาที่ต้องใช้ในการผ่าตัดกับเทคนิคอื่น ๆ แล้ว วิธีนี้จะให้ผลได้ดีที่สุด แต่ก็ต้องแลกด้วยการใช้เวลาพักฟื้นที่นานกว่ามากเช่นกัน

การตัดมดลูกด้วยการเปิดหน้าท้อง พบว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดพังผืดยึดเกาะที่ลำไส้สูงกว่าวิธีอื่น ๆ

เวลาที่ใช้ในการผ่าตัดมดลูกออกด้วยวิธีต่าง ๆ ผ่านการทดลอง Eval รายงานได้ดังนี้:

  • ผ่าตัดผ่านหน้าท้อง ใช้เวลาเฉลี่ย 55.2 นาที อยู่ในช่วง 19-155 นาที
  • ผ่าตัดผ่านช่องคลอด ใช้เวลาเฉลี่ย 46.6 นาที อยู่ในช่วง 14-168 นาที
  • ผ่าตัดส่องกล้อง (ทุกประเภท) ใช้เวลาเฉลี่ย 82.5 นาที อยู่ในช่วง 10-325 นาที (รวมข้อมูลจากกลุ่มทดลองทั้งสองกลุ่ม)

การย่อยชิ้นเนื้อ (Morcellation) เป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในการผ่าตัดส่องกล้อง และบางครั้งได้ถูกใช้ในการผ่าตัดผ่านช่องคลอดเช่นกัน แต่ปัจจุบันพบว่าการย่อยชิ้นเนื้อมีความเกี่ยวข้องต่อความเสี่ยงในกระจายของเนื้องอกทั้งชนิดที่ไม่ร้ายแรงหรือร้ายแรง ทำให้ในเดือนเมษายน ค.ศ.2014 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food And Drug Administration: FDA) ได้ออกบันทึกเพื่อเตือนบุคลากรทางการแพทย์ถึงความเสี่ยงของการใช้งานเครื่องมือย่อยชิ้นเนื้อ

ปัจจุบันหลายประเทศได้เริ่มนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ในการผ่าตัดมดลูก ซึ่งยังต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเปรียบเทียบผลดี-ผลเสีย เมื่อเทียบกับเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแบบปกติ

ข้อมูลจาก Cochrane review ในปี ค.ศ.2014 ได้พบว่าการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอาจมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ใกล้เคียงกับการผ่าตัดส่องกล้องแบบปกติ รวมถึงยังได้พบหลักฐานว่า ถึงแม้การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะใช้เวลาผ่าตัดที่นานกว่า แต่หลังผ่าตัดผู้รับการรักษาจะใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังขาดการศึกษาเพื่อยืนยันผลว่าการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้นจะได้ผลที่ดีกว่าวิธีอื่นในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งหรือไม่

ก่อนหน้านี้ได้มีรายงานถึงผลที่ดีกว่าเล็กน้อยของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แต่ยังไม่เป็นที่ยืนยันอย่างชัดเจน มีเพียงผลยืนยันถึงระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด และต้นทุนการรักษาที่ดีกว่าในทางสถิติเท่านั้น ทั้งนี้จึงเกิดความกังวลต่อคำโฆษณาทางการตลาดที่อาจเกินจริงซึ่งอาจจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง

อุบัติการณ์ในอดีต

  • แคนาดา

ในแคนาดา มีประวัติผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกระหว่างปี ค.ศ.2008-2009 จำนวนเกือบ 47,000 ราย คิดเป็น 338 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งลดลงจากปี 1997 ที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 484 รายต่อประชากร 100,000 คน เหตุผลที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดมดลูกนั้นแตกต่างกันออกไปตามลักษณะการอยู่อาศัย โดยพบว่า ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองส่วนใหญ่ได้รับการตัดมดลูกเนื่องจากเนื้องอกในมดลูก และผู้ป่วยที่อาศัยในเขตนอกเมืองได้รับการตัดมดลูกเนื่องจากอาการประจำเดือนผิดปกติเป็นส่วนใหญ่

  • สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐฯ การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดที่ถูกดำเนินการสูงสุดเป็นอันดับสองในผู้ป่วยเพศหญิง รองมาจากการผ่าคลอด ในช่วงปี ค.ศ.1980-1990 สถิตินี้ก่อให้เกิดข้อตระหนักในกลุ่มสิทธิผู้บริโภคบางกลุ่มและก่อให้เกิดข้อสงสัยในวงการแพทย์ จึงเกิดการก่อตั้งมูลนิธิ Hysterectomy Educational Resources And Services (HERS) โดย Nora W. Coffey ขึ้นในปี ค.ศ.1982 เพื่อเป็นที่ปรึกษาและให้ข้อมูลถึงทางเลือกในการรักษา

อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลสถิติแห่งชาติ (National Center for Health Statistics) ของสหรัฐฯ พบว่า การผ่าตัดมดลูกทั้งหมด 617,000 รายในปี ค.ศ.2004 นั้น กว่า 73% เป็นการตัดมดลูกที่นำรังไข่ออกด้วย ในปัจจุบันคาดว่าสตรีกว่า 22 ล้านคนทั่วประเทศได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ โดยเกือบ 68% ได้รับการรักษาสำหรับภาวะที่ไม่ร้ายแรง เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะเลือดออกผิดปกติ และเนื้องอกในมดลูก

ด้วยอัตราการตัดมดลูกที่พุ่งสูงขึ้นในโลกยุคอุตสาหกรรมได้นำไปสู่การโต้เถียงว่าการผ่าตัดมดลูกส่วนใหญ่ทำด้วยเหตุผลที่สมควรหรือไม่

ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าจำนวนการผ่าตัดมดลูกลดลงในทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010-2013 มีอัตราการผ่าตัดมดลูกน้อยลง 12% และพบว่าการผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้องเพิ่มสูงขึ้น 17%

  • สหราชอาณาจักร

ในสหราชอาณาจักร มีอัตราส่วนที่สตรีอายุน้อยกว่า 60 ปีจะได้รับการตัดมดลูกคิดเป็น 1 ใน 5 คน โดย 20% ของการตัดมดลูกจะมีการผ่าตัดเอารังไข่ออกด้วย

  • เยอรมนี

ในเยอรมนี การผ่าตัดมดลูกมีอัตราคงที่มานานหลายปี โดยในปี ค.ศ.2006 มีการตัดมดลูกเกิดขึ้นจำนวน 149,456 ราย ซึ่งจากจำนวนนั้น การผ่าตัดจำนวน 126,743 ราย (84.8%) สำเร็จผลลุล่วงแก่ผู้รับการรักษาด้วยดีโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน การรักษานี้คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 50% ที่เกิดขึ้นในสตรีช่วงอายุ 40-49 ปี และประมาณ 20% ของการผ่าตัดเป็นสตรีช่วงอายุ 50-59 ปี

ในปี ค.ศ.2007 จำนวนการผ่าตัดมดลูกลดลงเหลือ 138,164 ราย และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคนิคการผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องได้รับความนิยมมากขึ้น

ในเดนมาร์ก จำนวนการผ่าตัดมดลูกในช่วง ค.ศ.1980-1990 ได้ลดลงไป 38% ในปี 1988 มีอัตราส่วนการผ่าตัดดังกล่าวคิดเป็น 173 รายต่อสตรี 100,000 คน และในปี 1998 จำนวนนี้ลดลงมาเหลือ 107 ราย

สัดส่วนของการผ่าตัดเอาเฉพาะตัวมดลูกออก เหลือส่วนของคอมดลูกไว้ได้เพิ่มขึ้นจาก 7.5 % เป็น 41% คิดเป็นผู้ป่วยหญิงจำนวน 67,096 รายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว

อ่านตรวจทานโดย รศ. พญ. วรลักษณ์ สมบูรณ์พร

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Vasectomy [2024, March 17] โดย ธนิษฐา คมสัน