การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การตรวจอีเอ็มจี (Electromyography: EMG)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การตรวจวินิจฉัยโรคทางระบบประสาท แพทย์ต้องใช้ข้อมูลจากประวัติการเจ็บป่วย อาการ ผู้ป่วย ผลการตรวจร่างกาย และบางกรณีต้องตรวจเพิ่มเติม/การสืบค้นทางห้องปฏิบัติการ (การตรวจทางห้องปฏิบัติการ) และการตรวจเพิ่มเติมที่เราคุ้นเคยอีกอย่าง คือ การตรวจรอยโรคด้วย เอกซเรย์ธรรมดา เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ ของ สมอง กระดูกสันหลัง และ/หรือไขสันหลัง แต่ก็ยังมีบางกรณีที่แพทย์ต้องส่งตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ หรือ อี เอ็ม จี (EMG) ซึ่งคืออะไร แล้วมีประโยชน์อย่างไร ทำไมต้องส่งตรวจ เจ็บหรือไม่ อ่านข้อมูลได้จากบทความนี้ครับ

การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อหรืออีเอ็มจีคืออะไร?

การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ

การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อหรืออีเอ็มจี ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องคือ การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เพื่อการวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทและทางกล้ามเนื้อ เพราะประ กอบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เรียกย่อว่า อีเอ็มจี (Electromyography :EMG) และการตรวจความเร็วการนำสัญญาณประสาทหรือเอ็นซีจี (Nerve conduction velocity :NCV) แต่แพทย์ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้คำว่า EMG และเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าประกอบด้วยการตรวจ 2 ชนิดดังกล่าว ทั้งนี้ โดยทั่วไป มักตรวจทั้ง 2 อย่างควบคู่ร่วมไปด้วยกันเสมอ

ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการเขียนบทความ บทความนี้ขอเรียกการตรวจทั้ง 2 การตรวจรวมกันว่า “การตรวจอีเอ็มจี”

ทำไมถึงตรวจสัญญาณไฟฟ้าอีเอ็มจีได้?

เนื่องจาก สมอง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ เป็นเนื้อเยื่อที่ไวต่อสิ่งเร้า, สามารถสร้างสัญญาณไฟฟ้าและส่งผ่านสัญญาณ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าดังกล่าวไปตามเส้นใยประสาทและกล้ามเนื้อได้ ดังนั้นการตรวจ อีเอ็มจี จึงเป็นการตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากเส้นประ สาทและกล้ามเนื้อโดยตรง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและพยากรณ์โรคที่เกิดในเส้นประสาทหรือในกล้ามเนื้อ ซึ่งวิธีตรวจจะคล้ายกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG/อีอีจี)

แพทย์จะส่งตรวจอีเอ็มจีกรณีใดบ้าง?

การส่งตรวจอีเอ็มจีหรือข้อบ่งชี้การตรวจอีเอ็มจี คือ แพทย์จะพิจารณาตรวจเมื่อวินิจฉัย โรคเบื้องต้นว่า น่าจะมีความผิดปกติของเส้นประสาท รากประสาท กล้ามเนื้อ และ/หรือ โรคบริ เวณรอยต่อของเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction :NMJ) รวมทั้งบริเวณเซลล์ส่วนหน้าของไขสันหลัง กรณีสงสัย โรคเอ แอล เอส (ALS) แต่ถ้าสงสัยโรคในสมอง ก็จะไม่ส่งตรวจอีเอ็มจี

ดังนั้น ข้อบ่งชี้การตรวจ คือ เพื่อสนับสนุน ยืนยันการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นของแพทย์

อนึ่ง การตรวจวินิจฉัยโรคว่า ต้องตรวจสืบค้นเพิ่มเติมอะไรบ้างนั้น ขึ้นกับความผิดปกติของโรคนั้นๆ ถ้าเป็นโรคของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท การตรวจ อีเอ็มจี ก็เพียงพอ แต่ถ้าสง สัยโรคลมชัก หรือทางจิตเวช ก็จำเป็นต้องตรวจ คลื่นไฟฟ้าสมอง/อีอีจี ร่วมด้วย

โรคอะไรบ้างที่พบบ่อยและแพทย์จะส่งตรวจอีเอ็มจี?

โรคที่พบบ่อยและแพทย์จะส่งตรวจอีเอ็มจี เพื่อสนับสนุน ยืนยันการวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์ คือ

1. โรคของไขสันหลังส่วนที่เรียกว่า Anterior horn cell เช่น โรคเอ แอล เอส

2. โรคของรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี

3. โรคของรากประสาท เช่น รากประสาทถูกกดทับ (Nerve root compression) เช่น จากหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับ (ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง)

4. โรคของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น โรคเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเรื้อรังหรือฉับ พลัน โรคเส้นประสาทพิการแต่กำเนิด

5. โรคของกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้อฝ่อ เป็นต้น

6. โรคเส้นประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ (โรคอัมพาตเบลล์)

มีข้อห้ามในการตรวจอีเอ็มจีอย่างไร?

โดยทั่วไปการตรวจอีเอ็มจี เป็นการตรวจที่ไม่มีข้อห้าม ไม่มีอันตราย มีผลข้างเคียงจากการตรวจน้อยมาก (เฉพาะผู้ป่วยบางกรณีเท่านั้น เช่น บวมตรงขาข้างที่จะตรวจ) ตรวจได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่มีข้อจำกัด คือ

  • ผู้ป่วยที่ แขน ขาบวม เพราะมักเป็นตำแหน่งที่มีการตรวจและต้องมีการสอดเข็มเล็กๆเข้าไปให้ถึงชั้นกล้ามเนื้อมัดที่ต้องการตรวจ การบวมจึงส่งผลให้เกิดการผิดพลาด จากเข็มอาจไม่ได้อยู่ในกล้ามเนื้อ แต่จะไปอยู่ในเนื้อเยื่อที่บวมแทน
  • ผู้ป่วยมีปัญหาเลือดออกง่าย เพราะอาจมีเลือดออกมากจากรอยที่สอดใส่เข็มตรวจ
  • มีการติดเชื้อบริเวณตรวจ เพราะการสอดใส่เข็มตรวจ อาจช่วยแพร่กระจายเชื้อโรคได้
  • มีแผล หรือ ก้อนเนื้อบริเวณตรวจ เพราะจะทำให้การแปลผลตรวจผิดพลาดได้
  • ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ จึงตรวจไม่ได้ และ/หรือ แปลผลตรวจได้ผิดพลาดสูง

อนึ่ง การตรวจอีเอ็มจีในเด็ก ต้องเป็นเด็กที่ให้ความร่วมมือในการตรวจได้ เนื่องจาก การตรวจแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะพัก (นอนนิ่งๆ)
  • ระยะออกแรงเล็กน้อยให้กล้ามเนื้อมัดที่จะตรวจมีการหดตัว
  • และระยะออกแรงกล้ามเนื้อเต็มที่

ซึ่งถ้าผู้ป่วยสามารถทำตามที่แพทย์บอกได้ทุกระยะ ก็สามารถตรวจอีเอ็มจีได้

การตรวจอีเอ็มจีมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

การตรวจอีเอ็มจี เป็นการตรวจที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงจากการตรวจน้อยมาก ที่อาจพบได้ คือ เจ็บเล็กน้อยในขณะสอดเข็มตรวจเข้าไปที่กล้ามเนื้อ และมีเลือดออกบ้าง กรณีมีปัญหาเลือดออกง่าย หรือทานยาละลายลิ่มเลือด และไม่ได้หยุดยาก่อนตรวจ หรือหยุดยาได้นานไม่พอ

เครื่องตรวจอีเอ็มจีมีลักษณะเป็นอย่างไร?

เครื่องตรวจอีเอ็มจีประกอบด้วย อุปกรณ์ประมวลผล และจอภาพคอมพิวเตอร์ ร่วมกับเข็มเล่มเล็กมากๆคล้ายการฝังเข็ม สายไฟฟ้า และตัวแปะที่ใช้แปะบนร่างกายช่วงการตรวจ เพื่อรับกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น

การตรวจอีเอ็มจีมีการเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างไร?

โดยทั้วไป การตรวจอีเอ็มจี ไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้อง งดน้ำ งดอาหาร หรือหยุดยาที่ทาน ยกเว้นกรณีทานยาละลายลิ่มเลือด และ/หรือ มีภาวะเลือดหยุดยาก และ/หรือ ทานยา Mestinon รักษาโรคอ่อนแรงเอ็มจี เพราะฤทธิ์ยาเหล่านั้นทำให้ตรวจไม่ได้ และเลือดออกง่าย (แพทย์จะให้คำแนะนำในเรื่องเหล่านี้ก่อนการตรวจ)

การตรวจอีเอ็มจี ไม่จำเป็นต้องมีญาติมาด้วย ถ้าผู้ป่วยสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยคนเดียว แต่ถ้ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ก็อาจต้องมีญาติมาด้วย เพื่อความสะดวกในการเดินทาง

อนึ่ง เช่นเดียวกับการตรวจเฉพาะโรคในทุกๆโรค คือ ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล ถึง โรคประจำตัว และยาต่างๆที่ใช้อยู่ ทั้งนี้ โลหะต่างๆทั้งที่เป็นเครื่องประดับ หรือ เป็นเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในตัว เช่น เหล็กดามกระดูก ไม่เป็นปัญหาในการตรวจอีเอ็มจี แต่ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล ให้ทราบเพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และผู้ป่วยควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ถอด ใส่ได้ง่าย รวมทั้งรองเท้าด้วย และไม่ควรใส่เครื่องประดับต่างๆมาในวันตรวจ เพราะอาจกีดขวางการตรวจได้

มีขั้นตอนและวิธีตรวจอีเอ็มจีอย่างไร?

การตรวจอีเอ็มจี เป็นการตรวจในห้องตรวจเฉพาะโดยแพทย์ด้านประสาทวิทยา แต่เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล เมื่อตรวจเสร็จ ก็กลับบ้านได้เลย หรือแพทย์อาจให้นอนพักประมาณ 10 นาที เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความกังวล

การตรวจเริ่มด้วย ผู้ป่วยจะนอนตรวจบนเตียง โดยเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่โรงพยาบาลจัดให้ เพื่อให้ง่ายในการตรวจ ไม่มีการใช้ยาใดๆ หรือไม่ต้องฉีดยา ทายาก่อนการตรวจ แต่จะมีแผ่นแปะตามแขน ขา บ้าง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวรับกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้การตรวจจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง (บางครั้งอาจถึง 2 ชั่ว โมง) ขึ้นกับความร่วมมือของผู้ป่วย และรายละเอียดต่างๆที่แพทย์ต้องการตรวจ

ระหว่างตรวจต้องทำอย่างไร? รู้สึกอย่างไร?

ระหว่างตรวจ ต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเครียด ทำตามที่แพทย์บอก เช่น ออกแรงกล้ามเนื้อเบา ออกแรงเต็มที่ ทั้งนี้ จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยในช่วงมีการแทงเข็มเข้าไปในกล้ามเนื้อ (ไม่เจ็บจนต้องใช้ยาทา ยากิน หรือฉีดยา) และในช่วงที่มีกระแสไฟฟ้าเกิด ขึ้น

รายงานผลตรวจรูปแบบใด?

ผลการตรวจอีเอ็มจี จะออกมาในรูปของกระดาษที่สรุปผลออกมาเป็นตารางและภาพ โดยแพทย์ผู้ตรวจจะรายงานผลการตรวจว่าพบอะไรบ้าง และแปลผลว่าน่าจะมีความผิดปกติของเส้นประสาท และ/หรือกล้ามเนื้อส่วนใด

เมื่อไหร่ทราบผลตรวจ?

การตรวจอีเอ็มจี จะทราบผลหลังจากแพทย์ผู้ให้การตรวจได้วิเคราะห์ผลแล้ว ดังนั้น หลังตรวจ แพทย์ที่ให้การตรวจ จะแนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ผู้ส่งตรวจอีเอ็มจี/แพทย์ผู้ รักษาโรคของผู้ป่วยตามที่แพทย์ผู้รักษาโรคนัด เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาโรคได้ประเมินผลอีเอ็มจีร่วมกับอาการผู้ป่วย, ผลที่ได้จากการตรวจร่างกาย, และผลจากการตรวจสืบค้นอื่นๆ และเป็นผู้แจ้งผลตรวจอีเอ็มจีและการแปลผลกับผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับทราบข้อมูล/ผลตรวจที่ถูก ต้อง

หลังตรวจต้องดูแลตนเองอย่างไร?

หลังการตรวจอีเอ็มจีเสร็จ ไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีผลข้างเคียง กลับบ้านได้เลย ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และกลับมาพบแพทย์ผู้รักษาตามนัด

แต่ถ้ากังวลใจ หรือมีอาการผิดปกติ (พบได้น้อยมากๆๆๆ) เช่น บริเวณที่ตรวจ บวม แดง หรือเลือดออกไม่หยุด ก็ควรต้องมาโรงพยาบาล/พบแพทย์ก่อนนัดเสมอ