การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 13 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ควรดูแลตนเองอย่างไรในช่วงตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรในช่วงรักษาโรคมะเร็ง?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้ว?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือแพร่กระจาย?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- อาหารป้องกันมะเร็ง (Nutrition for cancer prevention)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
บทนำ
โรคมะเร็ง (Cancer หรือ Malignant tumor) เป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นการสามารถดูแลตนเองได้ จึงเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับตัวผู้ป่วยเอง กับครอบครัว และกับสังคม ช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง มีกำลังใจ เพราะสามารถลดการพึ่งพาบุคคลอื่นถึงแม้จะเป็นคนในครอบครัวของผู้ป่วยเองก็ตาม ดังนั้นจึงสามารถลดปัญหาในการดำเนินชีวิต ในครอบครัว ในการทำงาน รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากอีกปัจจัยหนึ่งสำหรับสังคมปัจจุบัน
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อน ขอเพียงให้มีความเข้าใจ ตั้งใจ และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของผู้ป่วย เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนสามารถทำได้ โดยการได้รับคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาลผู้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งความเข้าใจ การสนับสนุน และการช่วย เหลืออย่างเหมาะสมจากครอบครัว
การดูแลตนเอง ควรเริ่มเรียนรู้ และปฏิบัติตั้งแต่สงสัยว่าตนเป็นโรคมะเร็ง ต่อ เนื่องไปจนถึง ช่วงขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษา และการดูแลตนเองภาย หลังครบการรักษาแล้วตลอดชีวิต
การดูแลตนเองที่สำคัญ และเป็นพื้นฐานในโรคมะเร็งทุกชนิดในช่วงเวลาต่างๆดังกล่าว คือ การดูแลตนเอง ในเรื่องทั่วไป (เช่น การงาน การพักผ่อน โรคประ จำตัว) ในด้านอาหาร และในด้านการออกกำลังกาย
ในบทความนี้ จะกล่าวถึงการดูแลตนเองในภาพรวมซึ่งจะเหมือนๆกันในโรค มะเร็งทุกชนิด ในหัวข้อพื้นฐานสำคัญดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดปลีกย่อยเฉพาะของแต่ละโรค ต่อยอดจากภาพรวมนี้ ซึ่งแพทย์ และพยาบาลผู้ดูแล จะเป็นผู้แนะนำสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมซึ่งแตกต่างกันเฉพาะในแต่ละโรค เช่น วิธีการทำกายภาพฟื้นฟูของแต่ละอวัยวะที่เป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น
อนึ่ง การดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งโดย ครอบครัวมีหลักการเช่นเดียวกัน ปรับใช้กันได้ ให้เหมาะสม ดังนั้นบทความนี้ จึงกล่าวถึงทั้งสองกรณีไปพร้อมๆกัน โดยขอใช้คำว่า “การดูแลตนเอง” เพื่อไม่ให้ประโยคยาวเกินควร
ควรดูแลตนเองอย่างไรในช่วงตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง?
เมื่อสงสัยเป็นโรคมะเร็ง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่องโรคมะเร็ง) ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 2 สัปดาห์หลังเริ่มมีอาการ เพื่อการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้นก่อนที่โรคมะเร็งจะลุกลามแพร่กระจายกลายเป็นโรคในระยะที่รุนแรงขึ้น
การดูแลตนเองในช่วงตรวจวินิจฉัยโรค: คือ การเตรียมสุขภาพกาย สุขภาพจิต เพื่อรองรับขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัยโรค รวมทั้งถ้าเกิดเป็นโรคมะเร็งจริง ร่างกายและจิตใจจะได้พร้อมในการรักษาด้วย
ก. การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป:
คือ มีสติ ไม่วิตกกังวลจนเกินเหตุ, จดข้อมูลต่างๆที่ต้องการสอบถามแพทย์ก่อนพบแพทย์, รวมทั้งรายการยาต่างๆที่ใช้เป็นประจำ หรือเพิ่งหยุดยาไปภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบถึงสิ่งที่เราต้องการทราบ, ซึ่งการพบแพทย์ครั้งแรกควรมีครอบครัวที่บรรลุนิติภาวะ และไว้ใจได้ไปด้วย เพื่อช่วยจดข้อมูล และจดจำข้อมูลต่างๆที่ได้พูดคุย สอบถาม หรือนัดหมายกับแพทย์
- ควรอ่านรายละเอียดในวิธีการตรวจต่างๆซึ่งนัดตรวจ (ถ้ามี) ให้เข้าใจ ก่อนออกจากโรงพยาบาล เมื่อไม่เข้าใจต้องสอบถามจากเจ้าหน้าที่ผู้นัดหมายให้เข้าใจเสมอ เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการเตรียมตัวรับการตรวจอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนวันตรวจออกไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการงด อาหาร เครื่องดื่ม และน้ำดื่ม
- พูดคุย ปรึกษา กับคนในครอบครัว ถึงความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็ง เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจตั้งแต่ต้น ควรนอนให้หลับสนิท และพักผ่อนให้เพียงพอ อาจต้องแจ้งหัวหน้างานในเรื่องของการงาน ลดความเครียดของตนเอง เพราะการตรวจบาง อย่างอาจจำเป็นต้องหยุดงาน แจ้งแพทย์ที่ดูแลในเรื่องโรคประจำตัวอื่นๆให้ทราบเรื่องขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง เพื่อการประสานงาน การดูแลผู้ป่วยร่วมกันของแพทย์ การปรับยา หรือ งดยาบางชนิด โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ เพราะอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น ภาวะเลือดออกง่ายจากการใช้ยาแอสไพริน เป็นต้น
- ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และการคุมกำเนิด เพราะการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งมักจำเป็นต้องมีการตรวจด้วยรังสี (เอกซเรย์) ซึ่งรังสีฯอาจก่อความพิการต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นการตั้งครรภ์จึงเป็นอุปสรรคสำคัญทั้งในช่วงตรวจวินิจฉัยและในช่วงการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งการผ่าตัด การใช้ยาสลบ รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด และยาฮอร์โมน เพราะล้วนมีผล กระทบต่อสุขภาพ และชีวิตของทารกในครรภ์
- ถ้าสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด ยาสมุนไพร ยากลางบ้านต่างๆ ควรหยุดใช้ และต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการแปลผลการตรวจได้ถูกต้อง ป้องกันผลข้างเคียงจากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน และเพื่อการดูแลสุขภาพของตัวผู้ป่วยเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายและสุขภาพจิตแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ ซึ่งการติดเชื้อเป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง เพราะจะส่งผลให้การตรวจผิดพลาดและมีผลข้างเคียงจากการตรวจสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการตรวจต่างๆออกไปจนกว่ารักษา การติดเชื้อให้หายแล้วอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
ข. การดูแลตนเองในเรื่องอาหาร:
- ควรกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้ออาหาร เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ แต่ยังคงจำกัดอาหารคาร์โบไฮเดรต (แป้ง น้ำ ตาล) และไขมัน และจำกัดปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดมีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อให้ร่างกายสดชื่น ลดโอกาสท้องผูก เพื่อสุขภาพกาย สุข ภาพจิตที่ดี
- งด หรือจำกัดการดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า ยาชูกำลัง เพราะอาจส่งผลให้นอนไม่หลับ
- ไม่ใช้สมุนไพร การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์สนับสนุนโดยไม่ปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อน
ค. การดูแลตนเองในเรื่องการออกกำลังกาย:
การออกกำลังกายในช่วงตรวจวินิจฉัยโรค ไม่ควรหักโหม แต่ควรกระทำเสมอทุกวัน เพราะจะช่วยให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี นอนหลับสนิท กระตุ้นการอยากอาหาร และลดโอกาสท้องผูก
ง. โรคมะเร็งติดต่อได้ไหม?:
โรคมะเร็งเป็นโรคไม่ติดต่อ ไม่ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง และไม่แพร่กระจายสู่คนอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะไม่ ได้มีการติดเชื้อโรค ดังนั้นอยู่ร่วมกับทุกคน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็กอ่อนได้ กินข้าวร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน สัมผัสใกล้ชิดกันได้ แต่โรคมะเร็งบางชนิด (น้อยมาก) เป็นโรคถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมของครอบครัว อาจจากพันธุกรรมทางพ่อ หรือจากทางแม่ หรือจากทั้งสองท่าน (ซึ่งการถ่ายทอดลักษณะนี้ ป้องกันไม่ได้)
ควรดูแลตนเองอย่างไรในช่วงรักษาโรคมะเร็ง?
ในช่วงรักษาโรคมะเร็ง ควรดูแลตนเอง ดังนี้คือ
ก. การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป: ที่สำคัญที่สุด คือ การปฏิบัติตามแพทย์ และพยาบาลผู้ให้การดูแลรักษาแนะนำให้ถูกต้องเคร่งครัด เมื่อไม่เข้าใจ สงสัย หรือกังวล ควรสอบถามแพทย์ พยาบาลผู้ให้การรักษาดูแล และเมื่อมีปัญหาในการรักษา รวมทั้งปัญหาในครอบครัวและการงาน ควรต้องปรึกษาแพทย์ พยาบาลด้วย เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบถึงการรักษา การดูแลอื่นๆ นอกจากนั้นได้แก่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน อย่างเคร่งครัด เพราะเป็นช่วงติดเชื้อได้ง่าย
- ไม่กินยาสมุนไพร หรือยาต่างๆ รวมทั้งใช้การแพทย์สนับสนุน และการ แพทย์ทางเลือก โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน
- พักผ่อนให้เต็มที่ ถ้าอ่อนเพลีย ควรลาหยุดงาน แต่ถ้าไม่อ่อนเพลีย ก็สามารถทำงานได้ แต่ควรเป็นงานเบาๆ ไม่ใช้แรงงาน และสมองมาก และสามารถพักในช่วงกลางวันได้ ควรปรึกษาหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานเพื่อการปรับตัว
- ทำงานบ้านได้ตามกำลัง
- งด/เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- จำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีนดังได้กล่าวแล้ว
- มีเพศสัมพันธ์ได้ตามกำลัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนในเรื่องนี้ทั้งผู้ป่วยหญิง ผู้ป่วยชาย และคู่สมรส คู่นอน โดยเฉพาะวิธีคุมกำเนิดในผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย
- รู้จักดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
- ยังคงต้อง ดูแล รักษา ควบคุมโรคร่วมอื่นๆอย่างต่อเนื่องร่วมไปด้วยเสมอกับการรักษาโรคมะเร็ง
- รักษาสุขภาพจิต:
- ให้กำลังใจตนเอง และคนรอบข้าง
- มองโลกในด้านบวกเสมอ
- พยายามไม่ให้บ้านมีลักษณะเป็นโรงพยาบาล
- ระลึกไว้เสมอว่า ความสุขของเรา คือความสุขของครอบครัว และความทุกข์ของเราก็คือความทุกข์ของครอบครัว
- รู้จักขอบคุณทุกคนที่ดูแลเรา ไม่คิดว่าเขาดูแลเราเพราะเป็นหน้าที่ หรือดูแลเราน้อยไป เพราะโดยทั่วไปในสังคมปัจจุบัน เมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง ครอบครัวมักมีความทุกข์ และมีปัญหาเท่าๆกับผู้ป่วย หรือมีมากกว่า
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง หรือ
- เกิดความผิดปกติผิดไปจากเดิม หรือ
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้-อาเจียนทุกครั้งที่กินอาหาร เบื่ออาหารมาก ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง
- เมื่อกังวลในอาการ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
- มีไข้สูง
- ท้องเสีย โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับมีไข้
- คลื่นไส้-อาเจียนมาก หรือจนกิน ดื่ม ไม่ได้ หรือได้น้อย
- ไอมากจนส่งผลกระทบต่อการนอน
- หายใจเหนื่อย หอบ
- มีเลือดกำเดา
- อาเจียนเป็นเลือด หรือไอเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ
- ท่อ หรือสายต่างๆที่มีอยู่หลุด เช่น ท่อให้อาหาร หรือท่อหายใจ
- ปวดศีรษะรุนแรง/ ปวดศีรษะร้ายแรง
- ชัก
- แขน ขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้
- อุจจาระ ปัสสาวะไม่ออก
- ไม่มีปัสสาวะภายใน 6 ชั่วโมง
- สับสน
- ซึม และ
- โคม่า
ข.การดูแลตนเองในเรื่องอาหาร:
- ช่วงของการรักษา อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ปลา ตับ) เพราะในการรักษาโรคมะเร็ง ความแข็งแรงของไขกระดูก (เม็ดเลือดต่างๆ) เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวช่วยให้ร่างกายตอบสนองที่ดีต่อ รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด รวมทั้งช่วยลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อในขณะกำลังรักษาโรคมะเร็งมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง
- เมื่อกินอาหารได้น้อย:
- ให้พยายามกินในจำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น กินครั้งน้อยๆแต่บ่อยๆ กินอาหารทุกชนิดที่กินได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องโรคไขมันในเลือดสูง แต่ยังต้องจำกัดอาหารหวาน และอาหารเค็ม เพราะมีผลต่อน้ำตาลในเลือด และการทำงานของไต
- ให้กำลังใจตนเอง เข้าใจว่า อาหารเป็นตัวยาสำคัญยิ่งตัวยาหนึ่ง ของการรักษาโรคมะเร็ง ลองปรับเปลี่ยน ประเภทอาหารให้กินได้ง่ายขึ้น เช่น อาหารอ่อน อาหารเหลว (ประเภทอาหารทางการแพทย์) แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด หรือผัด หรือมีกลิ่นรุนแรง เพราะมักกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้-อาเจียน
- ปรับเปลี่ยนที่กินอาหารในบ้าน ไม่กินแต่ในห้อง อาจนั่งกินที่ระเบียง ให้มีบรรยากาศที่ดี ปลอดกลิ่น อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดพอควร มองเห็นต้นไม้ ดอกไม้ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ดี
- เตรียมอาหารครั้งละน้อยๆ (อย่าให้กินเหลือ) เพราะจะได้เกิดกำลังใจว่ากินหมดทุกมื้อ ถ้วย ชาม แก้วน้ำ ปรับให้ดูสะอาด สวยงาม จะรู้สึกอยากอาหารเพิ่ม ขึ้น บางท่านแนะนำไม่ให้ใช้ภาชนะสังกะสี หรือโลหะ เพราะจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ แนะนำให้ใช้เป็นกระเบื้อง หรือ เซรามิค ซึ่งอาจลองทำตามดู เพราะไม่เสียหายอะไร
- ควรแจ้งแพทย์ พยาบาลเมื่อกินไม่ได้ หรือกินได้น้อย และควรยอมรับ เมื่อแพทย์แนะนำการให้อาหารทางสายให้อาหาร อาจผ่านทางจมูก หรือทางช่องท้อง เพราะเป็นการให้เพียงชั่วคราว ในช่วงที่มีปัญหาจากการกินทางปาก เพื่อให้ร่างกายได้อาหารอย่างพอเพียง เพื่อให้การรักษาดำเนินไปได้ตามแผนการรักษา เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ง. การออกกำลังกาย: ช่วงการรักษา
- ยังควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเท่าที่พอทำได้ อย่าหักโหม ค่อยๆออกกำลังกาย (แล้วสังเกตอาการ อย่าออกกำลังกายจนเหนื่อย) จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น อยากอาหาร มีการขับถ่ายที่ดี มีการไหลเวียนโลหิต(เลือด)ที่ดี ช่วยกระตุ้นการอยาก และการย่อยอาหาร
- ถ้าสุขภาพไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย เพียงพยายามเคลื่อนไหวร่าง กายเสมอ อย่านั่งๆนอนๆ ถ้ายังพอลุกไหว จะช่วยให้สภาพร่างกาย และจิตใจดีขึ้น
ควรดูแลตนเองอย่างไรภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้ว?
การดูแลตนเองภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้วจนตลอดชีวิต โดยทั่ว ไป คือ
ก. การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป:
- ภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้ว ในช่วงระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ ยังถือว่าอยู่ในระยะพักฟื้น ควรค่อยๆปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งในกิจวัตรประจำวัน การทำงาน การออกแรงทั้งหลาย รวมทั้งการออกกำลังกาย ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ โดยเฉพาะการทำกายภาพฟื้นฟูเนื้อ เยื่อ/อวัยวะต่างๆที่ แพทย์ พยาบาลแนะนำ และควรกลับไปทำงานตามปกติ เมื่อพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน อย่างเคร่งครัดตลอดชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยโรค มะเร็งจะติดเชื้อได้ง่ายและมักรุนแรง จากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป
- ดูแล รักษาโรคร่วมต่างๆ เพื่อควบคุมโรคให้ได้ เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคร่วมเหล่านี้จะมีผลต่อสุขภาพโดยรวม และเป็นปัจจัยให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาวจากการรักษาสูงขึ้น
- ผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรยังต้องคุมกำเนิดอยู่ เพราะทารกที่เกิดช่วง 6 เดือนหลังครบการรักษา อาจมีความผิดปกติในการเจริญเติบโตได้ จากสุขภาพมารดาที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ในเรื่อง วิธี และการคุมกำเนิด และการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งเสมอ เพราะอาจมีความสัมพันธ์กับการลุกลามหรือการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งได้
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ และ
- รีบมาก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม โดยเฉพาะการคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ และ/หรือมีแผลเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือ
- มีเลือดออกจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ หรือ
- เมื่อมีความกังวลในอาการ
ข. การดูแลตนเองในเรื่องอาหาร:
- ยังควรค่อยๆปรับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน
- อาหารควรต้องเป็นอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ตลอดชีวิต เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ และที่ยังต้องจำกัดตลอดชีวิต คือ อาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล อาหารเค็ม (ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่มีเกลือแร่โซเดียม/Sodium ในเลือดต่ำ และแพทย์แนะนำให้กินเค็มเพิ่ม ขึ้น)
- ทั้งนี้ปริมาณอาหารต้องไม่ทำให้มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน
- การกินอาหารเสริม วิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร หรือประเภทอาหาร เครื่องดื่มต่างๆทางการแพทย์สนับสนุนและทางการแพทย์ทางเลือก เช่น อาหารมังสวิรัติ อาหารแมคโครไบโอติค (Macrobiotics) และสมุนไพร ควรต้องปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อนเสมอ
- ควรเลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต เพราะมีสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งจากการศึกษาต่างๆสนับสนุนว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ และ/หรือของการเกิดโรคมะเร็งชนิดใหม่ (ชนิดที่สอง) ได้ และควรจำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวแล้ว
ค. การดูแลตนเองในการออกกำลังกาย:
ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดชีวิต ค่อยๆปรับจนเข้าภาวะปกติ โดยควรออกกำลังกายให้เหมาะสมตามสุขภาพของตนเอง และเลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับโรค เช่น เลือกการว่ายน้ำเมื่อมีโรคของข้อต่างๆ เป็นต้น และพยายามเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตทั่วร่างกาย
ง. มีลูกได้ไหม?:
การมีลูกของผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังการรักษาโรคมะเร็งครบแล้วขึ้นกับ สุขภาพของคู่สมรส สุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง ชนิดและระยะโรคมะเร็ง และยาโรคมะเร็งที่ต้องกินต่อเนื่อง ดังนั้น
- ผู้ป่วยหญิงโรคมะเร็งวัยเจริญพันธุ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนการตั้งครรภ์เสมอ ทั้งนี้เพราะการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้โรคมะเร็งลุกลาม หรือย้อนกลับเป็นซ้ำ รวมทั้งทารกในครรภ์อาจพิการ หรือเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเพิ่มโอกาสการแท้ง และการคลอดก่อนกำหนด
- แต่ผู้ป่วยชาย ไม่มีปัญหาในการมีบุตร เพราะไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ยกเว้นผลข้างเคียงจากการรักษาส่งผลให้มีบุตรยากหรือเป็นหมัน จากปริมาณเชื้ออสุจิที่ลดลง
จ. รักษาโรคอื่นๆได้อย่างไร?:
เมื่อเป็นโรคมะเร็ง มักเป็นโรคอื่นๆร่วมด้วยเสมอเช่นเดียวกับคนทั่วไป ทั้งโรคเรื้อรังตามวัย เช่น โรคเบาหวาน และโรคเฉียบพลันต่างๆ เช่น การอักเสบติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งการดูแลรักษา (รวมถึงการผ่าตัด) เช่น เดียวกับในผู้ป่วยทั่วไป แต่ควรต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบว่า เป็นโรคมะเร็ง เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งมักมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการรักษาสูงขึ้น จากมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
ฉ. ทำศัลยกรรมตกแต่งได้หรือไม่?:
เมื่อสุขภาพสมบูรณ์กลับมาปกติแล้ว ถ้าต้องการทำศัลยกรรมตกแต่งกับอวัยวะที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง สามารถทำได้ แต่ถ้าต้องการทำศัลยกรรมตกแต่งในอวัยวะที่เคยเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะเคยได้รับรังสีรักษามาแล้ว ควรปรึกษาแพทย์โรคมะเร็ง และแจ้งให้ศัลยแพทย์ตกแต่งทราบประวัติการฉายรังสีรักษามาก่อน และควรระลึกเสมอว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนมีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะมักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ การทำศัลยกรรมตกแต่งจึงอาจเกิดผลข้างเคียงจากการติดเชื้อได้สูงขึ้น
ช. ทำฟันได้หรือไม่?:
ผู้ป่วยโรคมะเร็งเฉพาะผู้ที่เคยฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปาก ซึ่งมักเกิดจากโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในส่วนศีรษะและลำคอ เช่น โรค มะเร็งช่องปาก และโรคมะเร็งกล่องเสียงบางระยะเท่านั้น ที่มีข้อควรระวังในการถอนฟัน และการทำรากฟันเทียม เพราะอาจเกิดภาวะแผลถอนฟันไม่ติดเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดการอักเสบของช่องปากและของกระดูกกรามเรื้อรังได้ แต่การรักษาด้านทันตกรรมอื่นๆสามารถทำได้ แต่ควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบเสมอถึงประวัติการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปาก
ควรดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือแพร่ กระจาย?
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลุกลาม แพร่กระจาย หรือย้อนกลับเป็นซ้ำ เช่นเดียวกับใน ‘การดูแลตนเองภายหลังครบการรักษา’ แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสโรคมะเร็งลุกลาม แพร่กระจาย และย้อนกลับเป็นซ้ำ ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ชนิดของโรคมะเร็ง (โรคมะเร็งแต่ละชนิดมีธรรมชาติของโรครุนแรงต่างกัน เช่น โรคมะเร็งปอด จะมีความรุนแรงโรคสูงมาก ในขณะที่โรคมะเร็งอัณฑะ จะมีความรุนแรงโรคต่ำ), ระยะของโรค, การดื้อของเซลล์มะเร็งต่อรังสีรักษาและต่อยาเคมีบำบัด, เป็นต้น
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Klastersky, J. et al. (1995). Handbook of supportive care in cancer. New York. Marcel dekker, Inc.
- Kushi, L. et al. (2006). American Cancer Society Guidelines on nutrition and physical activity for cancer prevention: reducing the risk of cancer withy food choices and physical activity. CA Cancer J Clin. 56, 254-281.
- Thomas, R., and Davies, N. (2007). Lifestyle during and after cancer treatment. Clinical Oncology. 19, 616-627.
- https://www.cancercenter.com/community/for-caregivers/tips-caring-for-a-loved-one-with-cancer [2020,Feb8]