การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเคมีบำบัด หรือ ยาสารเคมี หรือ ยาเคมี หรือ ยาคีโม (Chemotherapy) เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่สำคัญวิธีการหนึ่ง โดยยาที่ใช้มีได้ทั้งยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (เป็นการรักษาส่วนใหญ่) ยาฉีดเข้าหลอดเลือดแดง ยากิน ยาทา และยาฉีดเข้าตามโพรงต่างๆของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ช่องทางเดินของน้ำไขสันหลัง เป็นต้น

ยาเคมีรักษาโรคมะเร็งได้โดยตัวยามีคุณสมบัติก่อให้เซลล์มะเร็งเกิดการบาดเจ็บและตายในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ยาเคมีบำบัดสามารถก่อการบาดเจ็บต่อเซลล์ปกติได้ด้วย แต่จะก่อการบาดเจ็บต่อเซลล์มะเร็งมากมายกว่าต่อเซลล์ปกติ นอกจากนั้น เซลล์ปกติยังมีคุณสมบัติในการซ่อมแซมและฟื้นตัวได้ดีกว่าเซลล์มะเร็งอย่ามากมายเช่นกัน ซึ่งคุณสมบัติของเซลล์ปกติเหล่านี้ต่อยาเคมีบำบัด เราจึงสามารถนำยาเคมีบำบัดมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้

ทั้งนี้การให้ยาเคมีบำบัด มักให้เป็นหลายคอร์ส (Course) เพื่อให้เกิดปริมาณสะสมของยาเคมีบำบัดในปริมาณที่มากพอต่อการทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ลดโอกาสเกิดอันตรายต่อเซลล์ปกติ เช่น ให้ 4, 6 หรือมากกว่า เป็นต้น ทั้งนี้การจะให้ยากี่คอร์ส ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง เป็นมะเร็งของอวัยวะใด ระยะโรคมะเร็ง ความแข็งแรงของไขกระดูก อายุ โรคร่วม และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

ส่วนระยะห่างระหว่างแต่ละคอร์สของยา จะประมาณ 2- 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับคุณสมบัติของยาเคมีบำบัดแต่ละชนิด และความแข็งแรงของไขกระดูก

จากการที่ยาเคมีบำบัดส่งผลให้เซลล์ปกติบาดเจ็บได้ ถึงแม้ในที่สุดเซลล์ปกติจะซ่อมแซมตัวเองได้ แต่ในช่วงของการรักษา ยาเคมีบำบัดก็จะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงได้ ซึ่งผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยควรมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม อันจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วนตรงตามตารางที่แพทย์กำหนด ซึ่งจะส่งผลให้ควบคุมรักษาโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด ที่สำคัญคือ การดูแลในด้านทั่วไป และการดูแลผลข้างเคียงที่เกิดจากยาเคมีบำบัด

การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยในด้านทั่วไปเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด

การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดในด้านทั่วไปที่สำคัญ คือ

  • การดูแลด้านสุขภาพทั่วไป และโรคประจำตัวอื่นๆ
  • การดูแลด้านอาหารและน้ำดื่ม
  • การดูแลด้านการพักผ่อน การออกกำลังกาย
  • การดูแลด้านการงาน และการเรียน และ
  • การมีบุตร

การดูแลด้านสุขภาพทั่วไป และโรคประจำตัวอื่นๆ

การดูแลด้านสุขภาพทั่วไป และโรคประจำตัวอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น

การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ทั้งนี้เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้แข็งแรง เพราะการรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตามต้องการทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดี ลดโอกาสติดเชื้อ และเมื่อติดเชื้อก็จะลดความรุนแรงของโรคลง จึงส่งผลให้การรักษาควบคุมโรคได้ผลดี นอกจากนั้นสุขภาพจิที่ดีของผู้ป่วยยังส่งผลถึงความสุขและความอบอุ่นใจของครอบครัว ซึ่งความรู้สึกนี้จะสะท้อนกลับมาทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงรวมทั้งเกิดกำลังใจในการรักษาโรค

ในการควบคุมโรคร่วมต่างๆ (ถ้ามี) เช่น โรคเบาหวาน จะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดีเช่นกัน และยังช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาลงได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้การดูแล คือ

  • การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • การกินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • การพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ และ
  • การรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆเลวลง มีความผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

การดูแลด้านอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องดื่ม

การดูแลด้านอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องดื่ม ที่สำคัญ เช่น

ก.การดูแลด้านอาหาร: ควรบริโภคแต่อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน เน้นอาหารบำรุงไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อสำคัญต่อการให้ยาเคมีบำบัด รวมทั้งเป็นเนื้อเยื่อสร้างเม็ดเลือดขาวที่ช่วยลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งได้แก่ อาหารโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ ปลา นม นมถั่วเหลือง ตับ ไข่) ผักและผลไม้ ซึ่งทั้งผักและผลไม้จะช่วยป้องกันอาการท้องผูกซึ่งเป็นอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงอาการหนึ่งจากยาเคมีบำบัด

ในช่วงเบื่ออาหาร ควรกินอาหารครั้งละน้อยๆเท่าที่กินได้ เลือกอาหารที่อยากกิน แต่กินให้บ่อยขึ้นวันละหลายๆมื้อ เช่น ทุก 2-3 ชั่วโมง ซึ่งอาจ มีอาหารเสริมร่วมด้วย

ช่วงที่เจ็บปาก คอ ควรปรับอาหารเป็นอาหารอ่อน อาหารเหลว หรืออาหารน้ำ และรสจืด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) เพื่อลดการระคายเคือง ช่องปาก และลำคอ

ข. การดูแลด้านน้ำดื่ม: ควรจิบน้ำบ่อยๆให้ช่องปาก คอชุ่มชื้นเสมอ รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากกว่าปกติ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพราะน้ำจะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ขับยาเคมีบำบัดส่วนเกินออกนอกร่างกายทางปัสสาวะ ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และลดอาการท้องผูก จึงช่วยลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดได้อย่างดี

ค. การดูแลด้านเครื่องดื่ม: ควรต้องงด/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะเพิ่มโอกาสเกิดการระคายเคืองต่อช่องปาก และลำคอ อาจเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร มีผลต่อการทำงานของตับ และมักเป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร

จำกัดการดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีนทั้งหลาย เช่น ชา กาแฟ โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำจากการขับน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับจากมีสารกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท

การดูแลด้านการพักผ่อนและการออกกำลังกาย

การดูแลด้านการพักผ่อนและการออกกำลังกาย ที่สำคัญ เช่น

ก.การพักผ่อน: ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-7 ชั่วโมง ควรนอนพักกลางวันเมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรง หรือเมื่อแพทย์อนุญาต สามารถเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางใกล้ๆได้ รวมทั้งการขึ้นเครื่องบิน แต่การเดินทางไม่ควรรีบร้อน พักไปเรื่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และควรใช้หน้ากากอนามัยเสมอ

ข.การออกกำลังกาย: ผู้ป่วยควรเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ เช่น ช่วยงานบ้านเบาๆเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพิ่มความอยากอาหาร ลดอาการท้องผูก ช่วยให้จิตใจแจ่มใส

นอกจากนั้น ควรออกกำลังกายทุกๆวันตามควรกับสุขภาพก็จะได้ผลเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุด คือ การเดินอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที เดินช้าๆ หรือเดินเร็วขึ้นกับสุขภาพ

การดูแลด้านการงาน หรือการเรียน

การดูแลด้านการงาน หรือการเรียน ที่สำคัญ เช่น

ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่วงให้การรักษาซึ่งรวมทั้งการได้รับยาเคมีบำบัด ควรพักผ่อนร่างกายให้เต็มที่ เนื่องจากร่างกายจะอ่อนเพลีย และมีโอกาสติดเชื้อได้สูงขึ้น ดังนั้นจึงควรผ่อนภาระด้านการงาน หรือด้านการเรียน

ก.เมื่อทำงาน: ควรพูดคุยปรึกษาเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน เพื่อให้การทำงานดำเนินไปได้อย่างดี ไม่ก่อความเครียดให้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจยังสามารถทำงานบางอย่างได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเครียดกับผู้ป่วย เช่น ทำงานเฉพาะงานสำคัญเพียงครึ่งวัน เป็นต้น แต่ถ้าอ่อนเพลียมาก ผู้ป่วยควรต้องหยุดพักงาน

ข.เมื่อเป็นนักเรียน นักศึกษา: วิธีที่ดีที่สุด คือ พักการเรียนในปีนั้นไปเลย โดยปรึกษากับคุณครู หรืออาจารย์ แต่ถ้าผู้ป่วยรู้สึกแข็งแรงดี อาจกลับเข้า โรงเรียนเป็นครั้งคราว แต่เป็นไปเพื่อความผ่อนคลายความเครียด ความกังวลของผู้ป่วย มากกว่าการกลับไปเรียนอย่างจริงจัง ทั้งนี้จนกว่าการรักษาจะครบถ้วนแล้ว

การดูแลด้านการมีบุตร

เมื่อผู้ป่วยยังอยู่ในวัยเจริญพันธ์ ทั้งผู้ป่วยหญิงและผู้ป่วยชาย เมื่อยังไม่มีบุตร หรือยังต้องการมีบุตรอีก การรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา อาจเพิ่มโอกาสมีบุตรยาก และบางครั้งอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเป็นหมันได้ ผู้ป่วยจึงควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้ให้การรักษา ถึงวิธีการที่จะเก็บไข่ หรือตัวอสุจิไว้ (Fertility preservation) ซึ่งจะมีวิธีการที่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูง และบางครั้ง เมื่อติดด้วยเงื่อนไขของเวลาที่จะต้องเริ่มการรักษาโรคมะเร็ง และอายุของผู้ป่วย การเก็บไข่และอสุจิอาจเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ในบ้านเราเทคนิคในการเก็บไข่ หรืออสุจิพอทำได้ในบางโรงพยาบาล

การดูแลผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด

เพื่อให้ได้รายละเอียดในการดูแลผู้ป่วย โดยไม่ทำให้บทความนี้ยาวเกินไป การดูแลผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด จึงแยกเขียนเป็นแต่ละบทความในเว็บ “หาหมอ,www.haamor.com ” ของเรา ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดได้ตามความต้องการ ซึ่งได้แก่

  • ผลข้างเคียงต่อช่องปากและช่องคอ (การดูแลช่องปากเมื่อได้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษา)
  • การติดเชื้อ (การป้องกันภาวะติดเชื้อในคนไข้เคมีบำบัดและรังสีรักษา)
  • การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (การดูแลด้านระบบทางเดินปัสสาวะเมื่อได้เคมีบำบัด)
  • ภาวะซีด
  • ผมร่วง (ผมร่วงจากยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา)
  • ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและเล็บ (การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังและเล็บจากยาเคมีบำบัด)
  • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการท้องผูก
  • อาการท้องเสีย
  • ภาวะน้ำหนักเพิ่ม (น้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัด)
  • ผลข้างเคียงต่อระบบประสาท (การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทจากยาเคมีบำบัด)
  • ผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ (เพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยมะเร็ง)
  • อาการเหนื่อยล้า อ่อนล้า (เหนื่อยล้า อ่อนล้า อ่อนเพลีย)

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. http://www.breastcancer.org/treatment/chemotherapy/side_effects [2017.March4]
  3. https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects.html [2017.March4]
  4. http://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/side-effects [2017.March4]
Updated 2017,March4