การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา

สารบัญ

ทำไมต้องดูแลผิวหนังเมื่อฉายรังสีรักษา ผิวหนังส่วนไหนที่จะเกิดผลข้างเคียงจากรังสี?

เมื่อจะทำการฉายรังสี/ฉายแสง (รังสีรักษา) นั้น จะมีการกำหนดบริเวณที่ฉายรังสีให้ชัดเจน จึงอาจมีการเขียน (ขีดเส้น) ลงในบริเวณผิวหนังเหนืออวัยวะที่จะรักษา หรืออาจจะขีดเส้นบนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น หน้ากาก โดยแพทย์รังสีรักษาจะเลือกให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางของรังสีเข้าสู่อวัยวะที่จะรักษา ซึ่งในทุกราย ในทุกโรคมะเร็ง รังสีจะต้องผ่านผิวหนังในส่วนที่แพทย์กำหนดเป็นทางเข้าออกของรังสีเสมอ

ผิวหนังเฉพาะบริเวณที่ทำการฉายรังสีผ่านเท่านั้นที่จะเกิดผลข้างเคียง ( ผลแทรกซ้อน) ดังนั้นผิวหนังเฉพาะส่วนนั้นจึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (ผิวหนังส่วนอื่นที่ไม่ใช่ทางเข้าออกของรังสี ดูแลตามปกติที่เคย) เพราะจะได้รับการบาดเจ็บและอักเสบจากโดนรังสีไปด้วย ซึ่งผิวหนังในบริเวณนี้ อาจปกติ (เมื่อได้ปริมาณรังสีปริมาณน้อย) คล้ำ ดำ แห้ง ตกสะเก็ด (เมื่อได้ปริมาณรังสีระดับปานกลาง) และอาจเป็นแผลแตกเหมือนน้ำร้อนลวก (เมื่อได้ปริมาณรังสีสูง ร่วมกับเป็นผิวหนังส่วนในร่มผ้า หรือรอยย่น เช่น ซอกคอ หลังใบหู ใต้ราวนม รักแร้ และรอบๆทวารหนัก)

เมื่อผิวหนังในบริเวณฉายรังสี เกิดเป็นแผลถลอก เป็นแผลเปียกคล้ายแผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลมีขนาดใหญ่ และ/หรือ ติดเชื้อ แพทย์รังสีรักษาอาจต้องทำการพักการฉายรังสี เพื่อรักษาแผลดังกล่าวจนกระทั่งแผลหาย จึงค่อยให้ทำการฉายรังสีรักษาต่อไป

ควรดูแลผิวหนังระหว่างฉายรังสีรักษาอย่างไร?

การดูแลผิวหนังในส่วนที่รังสีผ่าน หรือ บริเวณฉายรังสี คือ ไม่อาบน้ำฟอกสบู่และขัดถูในบริเวณนั้นๆ ยกเว้นแพทย์รังสีรักษาอนุญาต ไม่ควรใช้น้ำยาโกนหนวด โลชั่น หรือครีมบำรุงผิว น้ำยาระงับกลิ่น น้ำหอม แป้ง และถ้าฉายรังสีในบริเวณใบหน้าก็ไม่ควรแต่งหน้า เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าวแล้ว ที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหนังบริเวณนั้นๆ

หากผู้ป่วยไม่ได้ฉายรังสีบริเวณศีรษะ สามารถสระผม หรือย้อมผมได้ แต่ถ้าฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ อาจต้องให้ญาติ หรือร้านทำผมช่วยสระผมให้เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่ฉายรังสีถูก/เปียกน้ำ

แต่ถ้าหากบริเวณต่างๆที่ฉายรังสีอยู่นั้นโดนน้ำไม่ว่า จากเหงื่อ หรือสาเหตุใดก็ตาม ควรใช้ผ้านุ่มๆสะอาด ซับในบริเวณที่เปียกให้แห้ง โดยหลีกเลี่ยงการขัดถู

ส่วนผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน อวัยวะเพศ หรือทวารหนักนั้น สามารถทำความสะอาดหลังการขับถ่ายเสร็จแล้วได้ตามปกติ แต่ถ้าผิวหนังเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง หรือ เป็นแผลแล้วอาจต้องใช้สำลีชุบน้ำเพื่อชำระล้างทำความสะอาดแทนการใช้น้ำราดล้าง เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวแย่ลงมากขึ้น

หากเส้นที่ขีดไว้เพื่อกำหนดขอบเขตในการฉายรังสีรักษาลบเลือน หรือหายไปหมด ผู้ป่วยไม่ควรเติมเส้นเอง เพราะอาจผิดพลาด และคลาดเคลื่อนได้ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องฉายรังสี หรือพยาบาล เพื่อจะได้แจ้งให้แพทย์รังสีรักษาทราบ และดำเนินการขีดเส้นใหม่ให้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการฉายรังสีรักษาในแต่ละวัน

หากเกิดแผลแตก หรือ แผลเปียกในบริเวณผิวหนังที่ฉายรังสี ผู้ป่วยต้องรีบแจ้งพยาบาล หรือ เจ้าหน้าที่ห้องฉาย เพื่อพบแพทย์รังสีก่อนวันตรวจ เพื่อให้การดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ป้องกันแผลลุกลาม

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่อผิวหนัง จะพบได้สูงขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) เช่น โรคพุ่มพวง เป็นต้น โรคเบาหวาน หรือ ในผู้ป่วยสูงอายุ (อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป) เพราะผิวหนังมีการสมานแผลได้ยากขึ้น

นอกจากนั้นการใส่เสื้อผ้า ผู้ป่วยควรเลือกเสื้อผ้าที่อ่อนนุ่ม ไม่รัดแน่นจนเกินไปเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังในบริเวณที่ฉายรังสีอยู่ เช่น ผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อที่มีปกเสื้อ ผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณเต้านมควรงดใส่เสื้อยกทรง เพื่อลดการเสียดสีของผิวกับเสื้อ

ควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ง่ายเพื่อความสะดวกในการถอดใส่ในการรับการฉายรังสีในแต่ละวันอีกด้วย

ควรต้องรักษาความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงเครื่องนอนต่างๆให้สะอาดอยู่เสมอ

การโกนหนวด หรือขนในบริเวณที่ทำการรักษาอยู่นั้น ก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย

ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเผลอไปเกา หรือแกะแผลในบริเวณที่ฉายรังสีอยู่ เพราะจะเกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งแผลที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ฉายรังสี และเกิดขึ้นในขณะที่ฉายรังสีอยู่นั้น จะรักษาให้หายได้ยากกว่าแผลปกติทั่วๆไป โดยอาจต้องใช้เวลารักษานานเป็นเดือน

หลังครบรังสีรักษาแล้วดูแลผิวหนังอย่างไร?

เมื่อฉายรังสีครบไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ ยังต้องดูแลผิวหนังในส่วนที่ได้รับรังสีเช่นเดียวกับในช่วงฉายรังสี

หากผิวหนังที่เป็นแผลหรือลอกเป็นขุยนั้นดีขึ้นจนเป็นปกติแล้ว หรือแล้วแต่ที่แพทย์รังสีรักษาจะแนะนำ ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำฟอกสบู่ได้เหมือนปกติ

แต่ให้หลีกเลี่ยงการขัดถูในบริเวณดังกล่าวแม้ว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสีคล้ำ หรือ มีรอยเส้นที่ขีดไว้ก็ตาม หลังจากนั้นให้ใช้ผ้านุ่มๆสะอาดซับให้แห้ง แล้วจึงใช้ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว หรือน้ำมันมะกอกนวดในบริเวณที่ฉายรังสี เพื่อให้ผิวหนังที่คล้ำนั้นมีสีจางลงจนอาจคืนมาเป็นปกติ

การบำรุงผิวดังกล่าว ยังช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังแห้งและแข็งจากเกิดพังผืดในผิวหนังบริเวณที่เคยฉายรังสีไปแล้ว เพราะหากผิวหนังมีอาการแห้ง และเกิดพังผืดแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ผิวบริเวณนั้น เกิดการรัดตัวจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดได้

ผู้ป่วยควรดูแลรักษาความสะอาดของผิวหนังในบริเวณที่เคยฉายรังสีไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผล รอยขีดข่วน หรือผื่นคัน เพราะจะทำให้ติดเชื้อและมีการอักเสบได้ง่าย

ในผู้ป่วยบางราย ผิวหนังที่เคยเป็นแผลอยู่นั้นอาจรักษาได้ยากจนทำให้เป็นแผลเรื้อรัง ผู้ป่วยและญาติก็ควรทำการดูแลแผลเหมือนระหว่างที่ทำการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาให้หายดีก่อน จากนั้นจึงค่อยอาบน้ำและดูแลผิวหนังตามรังสีรักษาแพทย์ และพยาบาลแนะนำ

นอกจากนั้นในผู้ป่วยบางราย ผิวหนังที่เคยมีแผลเปียกมาก่อนในระหว่างการฉายรังสีนั้นอาจเกิดการด่างขาวได้ ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ แต่มีผลต่อความสวยงาม และภาวะด่างขาวที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถรักษาหายได้ ไม่เหมือนโรคด่างขาวชนิดอื่นๆ

เมื่อไรต้องรีบพบรังสีรักษาแพทย์ก่อนนัด?

หากผิวหนังในบริเวณที่เคยฉายรังสีรักษาไปแล้วมีอาการอักเสบ คือ บวม แดงร้อน มีตุ่มน้ำ มีแผล และ/หรือ ผื่นคัน และ/หรือ เป็นแผลแตก แผลเปียก (ซึ่งบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย มีได้ทั้ง ไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ ) ขึ้นมาอีกหลังจากที่เป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยควรรีบพบรังสีรักษาแพทย์ก่อนนัดเสมอ เพื่อรับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ และเพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่า ไม่ได้เกิดจากมะเร็งลุกลามมาผิวหนัง