การช่วยคลอดด้วยคีม (Forceps delivery)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การช่วยคลอดด้วยคีมคืออะไร?

การช่วยคลอดด้วยคีม(Forceops delivery หรือ Foreceps extraction)เป็นหัตถการทางสูติกรรมอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยคลอดทารกในกรณีทารกในครรภ์อยู่ในภาวะคับขันเพื่อต้องการให้เกิดการคลอดเร็วขึ้น หรือกรณีที่มารดาไม่มีแรงเบ่งคลอด โดยการใช้คีมซึ่งมี 2 ชิ้น คือชิ้นด้านซ้ายและชิ้นด้านขวา ประกบบริเวณศีรษะทารก แล้วแพทย์ออกแรงดึงเพื่อช่วยคลอด

หัตถการช่วยคลอดด้วยคีมมีใช้มานานในอดีต ปัจจุบันมีการทำหัตถการนี้น้อยลงมาก และเปลี่ยนไปเป็นการผ่าตัดคลอดมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาทางด้านการแพทย์ทางการผ่าตัดคลอดมากขึ้นจนภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากการผ่าตัดคลอดทั้งต่อมารดาและต่อทารกน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้คีมช่วยคลอดในบางสถานการณ์ที่แพทย์ต้องรีบช่วยเหลือทารกให้คลอดโดยด่วน ซึ่งการนำไปผ่าตัดคลอดอาจไม่ทันเวลา

คีมช่วยคลอดจะเป็นอุปกรณ์ทำจากโลหะ มีลักษณะคล้ายช้อน แยกเป็นคีมด้านซ้ายและคีมด้านขวา เมื่อจะใช้คีมช่วยคลอด แพทย์จะทำการใส่คีมเข้าไปในช่องคลอดไปวางข้างศีรษะทารกทีละข้าง เมื่อใส่คีม 2 ข้างเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะมีการตรวจสอบการวางคีมในลักษณะที่ถูกต้องเหมาะสม แล้วจึงทำการล็อคคีม จากนั้นจึงทำการดึง เพื่อช่วยคลอดต่อไป

สตรีตั้งครรภ์คนใดมีปัจจัยเสี่ยงต่อการช่วยคลอดด้วยคีม?

การช่วยคลอดด้วยคีม

สตรีตั้งครรภ์/มารดาที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการช่วยคลอดด้วยคีม ได้แก่

1. อายุมาก

2. ตัวเตี้ย

3. ครรภ์แรก

4. ไม่มีแรงเบ่งคลอด

5. มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องลดการเบ่งคลอดของมารดาเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับมารดา เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ

6. ทารกในครรภ์อยู่ผิดท่า เช่น ท่าตะแคง ท่านอนหงายหน้า เป็นต้น ทำให้การดำเนินการคลอดยาวนานกว่าปกติ จึงต้องมีการช่วยคลอด

7. ทารกท่าก้นเป็นส่วนนำ โดยจะใช้คีมช่วยคลอดศีรษะหลังจากคลอดลำตัวทารกออกมาแล้ว

แพทย์จะทำการช่วยคลอดด้วยคีมเมื่อไหร่ หรือมีข้อบ่งชี้อย่างไร?

ข้อบ่งชี้ของการช่วยคลอดด้วยคีม ได้แก่

ก. ข้อบ่งชี้ด้านมารดา ได้แก่

  • ระยะการคลอดยาวนานผิดปกติ มารดาไม่มีแรงเบ่งคลอด/เบ่งฯมากพอ หรืออ่อนเพลียมากเกินไป
  • มารดาที่มีความดันโลหิตสูง หากให้ออกแรงเบ่งฯมาก อาจเกิดภาวะเส้นเลือด/หลอดเลือดสมองแตก
  • มารดาเป็นโรคหัวใจ หากให้ออกแรงเบ่งฯมาก อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

ข. ข้อบ่งชี้ด้านทารกในครรภ์/ทารกฯ: ได้แก่

  • ทารกฯอยู่ในภาวะคับขัน เช่น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ แพทย์จึงต้องรีบช่วยเหลือให้คลอดโดยด่วน
  • ทารกฯอยู่ในท่านอนหงาย หรือนอนตะแคง ทำให้ระยะการรอคลอดเนิ่นนานมากเกินไป

มีข้อห้ามใช้การช่วยคลอดด้วยคีมหรือไม่?

ข้อห้ามการใช้คีมช่วยคลอด ได้แก่

1. ทารกฯมีอายุครรภ์น้อยๆ

2. ส่วนนำทารกฯยังไม่เข้าสู่อุ้งเชิงกราน

3. แพทย์ไม่รู้ท่าทารกฯที่แน่นอน

4. ทารกฯอยู่ในท่าหน้า

5. ทารกฯมีโรคเลือดชนิดที่ทำให้เกิดเลือดออกง่าย

มารดาที่ต้องช่วยคลอดด้วยคีมต้องเตรียมตัวอย่างไร?

สตรีตั้งครรภ์ไม่สามารถรับรู้ก่อนล่วงหน้าว่า จะคลอดปกติทางช่องคลอดไม่ได้ การพิจารณาช่วยคลอดด้วยการใช้คีมช่วยคลอด จึงขึ้นกับการตัดสินใจของแพทย์ผู้ทำคลอดเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับทารกฯ หรือกับมารดา ดังได้กล่าวในหัวข้อ “ข้อบ่งชี้การช่วยคลอดด้วยคีม”

แพทย์ช่วยคลอดด้วยคีมอย่างไร?

ปัจจุบันการช่วยคลอดด้วยคีมได้ลดลงไปมาก หากแพทย์คาดว่าจะมีการคลอดลำบาก มักจะเปลี่ยนไปเป็นการผ่าตัดคลอดแทน การใช้หัตถการช่วยคลอดทั้งการใช้คีม หรือการคลอดด้วยถ้วยดูดสุญญกาศ แพทย์ต้องประเมินก่อนแล้วว่าไม่มีภาวะผิดสัดส่วนระหว่างขนาดทารกฯกับขนาดอุ้งเชิงกรานของแม่ ทั้งนี้ คีมช่วยคลอดเป็นอุปกรณ์ทำจากโลหะ ลักษณะคล้ายช้อน 2 อันมาประกบกัน ดังนั้นคีมฯจะประกอบด้วยคีมด้านซ้ายและด้านขวา แยกใส่เข้าไปในช่องคลอด โดยวางไว้ข้างๆศีรษะทารกฯทีละข้าง เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสม ด้ามจับจะเข้ามาประกบกันพอดี แล้วแพทย์จึงเริ่มดึงด้ามคีมเพื่อช่วยคลอดทารกฯ

คีมช่วยคลอดมีหลายลักษณะ หลายรูปแบบ เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน คีมช่วยคลอดที่มีใช้กันในปัจจุบัน ได้แก่

1. Simpson Forceps: ใช้คีบศีรษะทารกในกรณีที่ทารกอยู่ในท่าศีรษะ เป็นคีมช่วยคลอดที่ใช้บ่อยที่สุด

2. Piper Forceps: ใช้คีบศีรษะทารกในกรณีที่ทารกอยู่ในท่าก้น โดยให้มีการคลอดลำตัวทารกฯออกมาแล้ว เหลือศีรษะที่ค้างในช่องคลอด แล้วจึงใช้คีมช่วยคลอดศีรษะ

3. Kielland Forceps: เป็นคีมที่ช่วยหมุนศีรษะทารกฯในกรณีที่ศีษะทารกฯอยู่ในแนวนอนตะแคง เพื่อหมุนศีรษะทารกฯให้มาอยู่ในแนวตรง แล้วจึงช่วยคลอดศีรษะออกมา

ข้อดีของการช่วยคลอดด้วยคีมมีอะไรบ้าง?

ข้อดีของการช่วยคลอดด้วยคีม ได้แก่

1. การช่วยคลอดด้วยคีม ไม่ต้องอาศัยแรงเบ่งของแม่เหมื่อนการคลอดด้วยการดูดสุญญากาศ

2. สามารถช่วยคลอดได้รวดเร็วหากทารกฯอยู่ในภาวะผิดปกติ เมื่อเทียบกับการใช้หัตถการช่วยคลอดแบบการดูดสุญญากาศ หรือการผ่าตัดคลอด

ภาวะแทรกซ้อนจากการช่วยคลอดด้วยคีมมีอะไรบ้าง?

การช่วยคลอดด้วยคีมอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดอันตรายต่อมารดาและต่อทารกฯน้อยมาก อย่างไรก็ตาม อาจพบภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการช่วยคลอดด้วยคีมเกิดขึ้นได้ ได้แก่

ก. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับมารดา: มีได้ดังนี้

1. มีการฉีกขาดของช่องทางคลอดมารดาเพิ่มมากขึ้น หรือการฉีกขาดของปากมดลูกมารดา หากวางคีมหรือประกอบคีมไม่เหมาะสม

2. มีโอกาสติดเชื้อที่แผลฝีเย็บมากขึ้น หากแผลมีขนาดใหญ่ เนื้อเยื่อฝีเย็บชอกช้ำมาก

3. เกิดตกเลือดหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการฉีกขาดช่องทางคลอด หรือจาก มดลูกหดรัดตัวไม่ดี

ข. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับทารกฯ: ได้แก่

1. อาจเกิดรอยแผลที่ ใบหน้า ศีรษะ ของทารกฯ ตามรอยกดของคีมช่วยคลอด

2. หนังศีรษะทารกฯถลอกหรือเกิดแผล หากมีการไถลเลื่อนหลุดของคีมช่วยคลอด

3. อาจมีเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะของทารก

ทารกที่เกิดจากการช่วยคลอดด้วยคีมจะมีปัญหาหรือไม่?

หากมีการประเมินขนาดทารกฯ ขนาดช่องเชิงกรานมารดาได้ถูกต้อง การเลือกใช้อุปกรณ์คีมได้เหมาะสม ส่วนมากไม่มีปัญหาในการช่วยคลอด ยกเว้นในกรณีที่ทารกตัวโต ทารกฯมีอาการชอกช้ำมาก อาจจากการดึงหลายครั้งเพื่อช่วยคลอด หรือการวางคีมที่ศีรษะทารกไม่เหมาะสม ทำให้คีมอาจกดอวัยวะต่างๆของทารกฯ ได้ จึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและ/หรือต่อทารกฯได้ตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ ”ภาวะแทรกซ้อนฯ”

ครรภ์ครั้งต่อไปต้องมีการช่วยคลอดด้วยคีมอีกหรือไม่?

ในครรภ์ครั้งต่อไป มารดาจะยังมีโอกาสต้องมีการช่วยคลอดด้วยคีม หากยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่(ปัจจัยเสี่ยงฯ ดังกล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”) อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดคลอดแทน หากประเมินว่า การคลอดด้วยคีมจะมีอันตรายมากกว่า

หลังคลอดด้วยการช่วยคลอดด้วยคีมนานเทาไหร่จึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้?

เหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป สตรีหลังมีการช่วยคลอดด้วยคีม ควรเว้นระยะการมีบุตร/การตั้งครรภ์ไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูบุตรคนแรกได้เต็มที่

ดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอดด้วยคีม?ควรมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่?

การดูแลตนเองของสตรีหลังมีการช่วยคลอดด้วยคีม จะเหมือนกับในสตรีหลังคลอดทั่วไป(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง “ระยะหลังคลอด”) ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • การรักษาความสะอาดของแผลต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น แผลที่ฝีเย็บ แผลผ่าตัดคลอด เป็นต้น
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • หากมีความชอกช้ำของแผลฝีเย็บมาก เสียเลือดมาก ทั้งระหว่างคลอด หรือตกเลือดหลังคลอด ต้องระวังการติดเชื้อแผลฝีเย็บ และควรรับประทานยาปฎิชีวนะตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ส่วนการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด ควรรอให้ แผลฝีเย็บหายสนิทก่อน รอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยทั่วไปสามารถมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ และหากต้องการคุมกำเนิด ควรต้องมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเรื่องการคุมกำเนิด ก่อนการมีเพศสัมพันธ์

หลังคลอดด้วยคีมเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

โดยทั่วไป แพทย์จะนัดตรวจหลังคลอดด้วยคีมประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่หากมีภาวะการติดเชื้อ เช่น จะมีอาการปวดแผลฝีเย็บมากผิดปกติ ตกขาวเป็นหนอง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีไข้ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด

สามารถป้องกันการคลอดด้วยคีมได้หรือไม่?

การป้องกันการช่วยคลอดด้วยคีม เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก เพราะการช่วยคลอดด้วยวิธีนี้ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆที่แพทย์จำเป็นต้องรีบช่วยคลอดทารกฯอย่างรวดเร็วเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตทารกฯในกรณีที่ระหว่างการฝากครรภ์ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้ การใช้คีมช่วยคลอดยังมีความจำเป็นสำหรับในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางมารดา(ดังกล่าวในหัวข้อ “ข้อบ่งชี้ฯ”)ที่จำเป็นในการใช้คีมช่วยคลอด

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Forceps_in_childbirth[2017,Sept9]
  2. https://www.uptodate.com/contents/operative-vaginal-delivery? [2017,Sept9]