แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ โรคฝีมะม่วงเทียม (Granuloma inguinale)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 29 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
สารบัญ
- แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบคืออะไร?
- แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบอย่างไร?
- แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบติดต่อได้อย่างไร?
- แพทย์รักษาโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนจากแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีอะไรบ้าง?
- แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)์
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบคืออะไร?
โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ (Granuloma inguinale) หรือคนทั่วไปเรียกโรคฝีมะ ม่วงเทียม (Pseudo bubo) คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษใช้กันอีกหลายชื่อ ได้แก่ Granuloma genitoinguinale, Granuloma inguinale tropicum, Granulo ma venereum, Granuloma venereum genitoinguinale, และ Donovanosis
โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Klebsiella granulomatis (ก่อนหน้านี้เรียกว่า Calymmatobacterium granulomatis) ซึ่งทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณขาหนีบ โรคนี้พบได้น้อยในประเทศไทย จะพบมากแถวในประเทศแอฟริกา และพบเกิดในผู้ชายได้บ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า
โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีอาการอย่างไร?
การติดเชื้อ Klebsiella granulomatis มีระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอน อาจเป็นไม่กี่วันจนนานเป็นปีก็มีที่นับจากวันสัมผ้สโรค แต่โดยทั่วไปจะอยู่ประมาณ 10 - 40 วัน เชื้อนี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ติดเชื้อนั้นแบ่งตัวเจริญมากกว่าปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนนูนๆขึ้นมา และต่อมาจะปริแตกกลายเป็นแผลเรื้อรังซึ่งแผลมักจะลามออกไปเรื่อยๆ
บริเวณส่วนใหญ่ที่พบแผลคือ ผิวหนังบริเวณขาหนีบ (อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้) และแผลที่อวัยวะเพศที่เกิดได้ทั้งในผู้ชายและในผู้หญิง โรคนี้มักไม่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งจะต่างจากโรคฝีมะม่วง (Lymphogranulama venereum) ที่จะเกิดการติดเชื้อที่ต่อมน้ำ เหลืองที่ขาหนีบเป็นส่วนใหญ่และทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต
แผลที่เกิดจากโรคนี้ ช่วงแรกมักไม่เจ็บ จึงอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส แต่หากมีการติดเชื้อซ้ำที่แผลจากแบคทีเรียตามผิวหนัง จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย
ใครมีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบคือ
1. ผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศหรือขาหนีบแล้วมีเพศสัมพันธ์ หรือผู้ที่สัมผัสแผลผู้ที่เป็นโรคนี้ที่รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบทั่วไป เพศสัมพันธ์ทางปาก และ/หรือทางทวารหนัก
2. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่น ผู้ติดเชื้อ HIV, ผู้ ป่วยเบาหวาน, ผู้กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆ (เช่น ในผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน)
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อเกิดแผลที่ขาหนีบและ/หรือที่อวัยวะเพศควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่แนะ นำให้หาซื้อยารับประทานเอง เพราะแผลเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะทำให้รักษาควบคุมโรคได้ผลดีกว่า
อนึ่ง แผลที่เกิดจากการติดเชื้อทั่วไปในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ แผลควรจะหายภายใน 7 - 10 วัน แต่หากแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะเรื้อรังนานกว่านี้ หรือมีการลุกลามใหญ่ขึ้น หรือในคนมีภูมิคุ้มกันต้านโรคผิดปกติ หรือเป็นแผลที่อวัยวะเพศและ/หรือที่ขาหนีบที่เกิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ ไม่ต้องรอจนถึง 7 - 10 วัน
แพทย์วินิจฉัยโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบได้จาก
ก. ประวัติทางการแพทย์: มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน หรือสัมผัสแผลของคนที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ หรือมีก้อนบริเวณขาหนีบ โดยมักจะมีประวัติมีแผลหรือก้อนมานานเป็นเรื้อรังรักษาไม่หายขาด
ข. ตรวจร่างกาย: ลักษณะที่ตรวจพบในผู้ที่เป็นโรคนี้มีได้หลายลักษณะที่พบบ่อยได้ แก่
1. เป็นตุ่มนูน/ก้อนตรงบริเวณที่ติดเชื้อเช่น ขาหนีบหรืออวัยวะเพศ โดยลักษณะเริ่มแรกของการติดเชื้อ ก้อนจะมีลักษณะนิ่มๆ บางครั้งมีหนองได้ หากเป็นที่ขาหนีบจะทำให้เกิดก้อนนูน (แต่ไม่ใช่ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบบวมโต) ที่ทำให้มีลักษณะคล้ายโรคฝีมะม่วง (Lymphogranloma venereum) จึงมีการเรียกโรคกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบนี้ว่า “ ฝีมะ ม่วงเทียม (Pseudo bubo)”
2. เป็นแผลเรื้อรังบนก้อนนูนซึ่งเป็นลักษณะที่ตรวจพบบ่อยที่สุด พบได้ที่ขาหนีบและ/หรืออวัยวะเพศ แผลมักจะไม่เจ็บ แผลมักขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ทำให้เกิดเป็นหนอง มีอาการเจ็บปวดได้
3. เป็นรอยแผลเป็น/พังผืดดึงรั้งร่วมกับมีการบวมของอวัยวะใกล้เคียง อาจมีการบวมบริเวณ อวัยวะเพศ ขาหนีบ ขา จึงคล้ายโรคเท้าช้างได้
4. เป็นก้อนเนื้อคล้ายหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ แต่ลักษณะนี้พบได้น้อย
5. นอกจากนี้ หากแผล/สารคัดหลั่งจากแผลมีการสัมผัสกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนอื่นๆของร่าง กายโดยเฉพาะที่เป็นแผล สามารถทำให้เกิดแผลโรคนี้ที่ตำแหน่งนั้นๆที่สัมผัสโรคได้ เช่น ที่ริมฝีปาก ผนังหน้าท้อง แขน ขา
6. เคยมีรายงานว่า โรคนี้สามารถกระจายไปตามกระแสเลือดได้ จึงอาจทำให้พบเชื้อนี้ที่ ตับ ไต กระดูก ได้
ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ได้แก่
1. การป้ายเนื้อเยื่อบริเวณก้นแผลเพื่อตรวจเชื้อนี้โดยการย้อมสีที่เรียกว่า Giemsa ซึ่งเมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตัวเชื้อจะมีการติดสีชัดเจนบริเวณขั้ว 2 ข้างของเชื้อ ทำให้ดูคล้ายเป็นเข็มกลัด (Safety pin)
2. การตัดชิ้นเนื้อที่แผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบติดต่อได้อย่างไร?
โรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง จึงติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยการสัมผัสกับผู้ที่มีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ โดยเฉพาะหากผู้ที่ไปสัมผัสแผลนั้นๆมีแผลที่ตนเองอยู่ด้วย จะทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น
ส่วนการไปสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ผู้ป่วยมีโอกาสติดน้อย หากตัวผู้สัมผัสไม่มีแผลเปิด
แพทย์รักษาโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบอย่างไร?
แพทย์รักษาโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ โดยให้รับประทานยาปฏิชีวะนะ โดยต้องให้ยาเป็นระยะเวลานาน 3 - 12 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและความรุนแรงของอาการ และต้องให้ยาต่อจนกว่าแผลจะดีขึ้นและยุบหายไป
ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ เช่น Bactrim, Doxycycline, Ciprofloxacin, Azithromycin ซึ่งการจะเลือกใช้ยาตัวใดจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ โดยดูจากความรุนแรงของแผล การตอบสนองของแผลต่อยาที่ใช้ และประวัติการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นมาก่อนหรือไม่
อนึ่ง:
- เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอน ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยภายใน 60 วัน(บางตำราให้ถึง 80 วัน) ก่อนผู้ที่เป็นโรคจะแสดงอาการ ควรตามตัวมารับการรักษาด้วย
- โรคนี้สามารถติดต่อจากสัมผัสแผลของผู้ติดโรคได้ แม้จะไม่มีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้สัมผัสแผลโรคนี้จึงควรต้องได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนจากแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ เช่น
1. เกิดพังผืดหรือแผลเป็นบริเวณแผลที่ไปรัดหรือกดท่อน้ำเหลือง ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการบวมเฉพาะที่ได้เช่น บวมบริเวณอวัยวะเพศ บวมที่ขาหนีบ และที่ขา
2. มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำบริเวณแผล ทำให้เกิดความเจ็บปวด แผลมีกลิ่นเหม็น
3. แผลมีโอกาสกลายเป็นแผลมะเร็งได้ แต่เนื่องจากโรคนี้พบได้น้อย จึงไม่สามารถรายงานเป็นร้อยละของการเกิดมะเร็งได้
แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบคือ หากเริ่มมีอาการไม่มาก แผลไม่ใหญ่ ไม่เกิดก้อนนูนมาก ได้รับการรักษาค่อนข้างเร็ว การรักษาก็ให้ผลดี/การพยากรณ์โรคดี แผลหรือก้อนจะหายภายใน 1 - 2 สัปดาห์และไม่เกิดแผลเป็น
แต่หากเป็นแผลเรื้อรังมานาน มีก้อนเนื้อนูนมากแล้ว การพยากรณ์โรคจะไม่ค่อยดี โดยโรคนี้เวลาหายจะเกิดเป็นแผลเป็น ดึงรั้งผิวหนังทำให้เกิดอาการเจ็บตึง และบวมที่อวัยวะเพศ ขาหนีบ ขา เหมือนโรคเท้าช้างได้
อนึ่ง โรคนี้สามารถมีการติดเชื้อซ้ำได้อีก ถ้าได้รับการติดเชื้อใหม่จากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนั้น ถ้าได้ยาปฏิชีวนะไม่เพียงพอ แผลจะหายชั่วคราวและย้อนกลับเป็นซ้ำได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบหลังจากพบแพทย์แล้วคือ
- ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าไม่พบมีแผลแล้ว และการมีเพศสัมพันธ์ต่อไปหลังไม่มีแผลแล้วต้องใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้ง
- ตรวจเลือด หาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆที่อาจจะพบร่วมด้วยเช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ บี นอกจากนี้ควรตรวจหาภาวะเบาหวานด้วยเพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้
- สวมเสื้อผ้าที่หลวมสบายเพื่อไม่ให้ไปกดทับ/เสียดสีแผล
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดการติดเชื้อซ้ำซ้อนด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ทำแผลทุกวันตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ซึ่งโดยทั่วไปมักทำแผลวันละ 2 ครั้งเช้า เย็น การทำแผลโดยเช็ดแผลด้วยสำลีสะอาดที่ชุบน้ำเกลือล้างแผล (Normal saline) เพื่อเช็ดสารคัดหลั่งที่ปกคลุมแผลออก ลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ ส่วนจะปิดแผลหรือไม่ขึ้น กับขนาดของแผลและการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรสอบถามจากแพทย์พยาบาลที่รักษา ดูแล
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม
- แผลขยายใหญ่ขึ้น สารคัดหลั่งกลิ่นเหม็นมากขึ้น หรือมีเลือดออกจากแผลมาก
- ปวดแผลมาก แผลบวมแดง และ/หรือ มีไข้
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบได้อย่างไร?
ป้องกันโรคแผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบได้โดย
1. สวมถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์
2. งดมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศและขาหนีบ
3. ไม่สัมผัสแผลหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้มีแผลต่างๆที่รวมถึง แผลที่อวัยวะเพศและ/หรือขาหนีบ
4. รักษาสุขภาพร่างกายด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ไม่สำส่อนทางเพศ
5. ไม่ดื่มสุราเพราะจะทำให้ขาดสติ เกิดการสำส่อนทางเพศได้ง่าย
บรรณานุกรม
1. http://emedicine.medscape.com/article/1052617-overview#showall[2020,Feb29]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Granuloma_inguinale[2020,Feb29]