กัญชา (Cannabis)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 เมษายน 2564
- Tweet
- ความเป็นมาของกัญชา
- สารสำคัญทางเภสัชของกัญชา
- กัญชาทางการแพทย์ได้มาอย่างไร?
- ข้อบ่งชี้และโรคที่การแพทย์ไทยอนุญาตให้ใช้กัญชารักษาได้
- ห้ามใช้ในการรักษาโรคในผู้ป่วยกลุ่มใด?
- ประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชา
- โทษของกัญชา
- อาการข้างเคียงทั่วไปจากการใช้กัญชาทางการแพทย์
- ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจใช้กัญชาทางการแพทย์
- ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากัญชาร่วมกับยาอื่นๆ
- การดูแลตนเองเมื่อใช้กัญชารักษาโรค
- สรุป
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS: Multiple Sclerosis)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- ไฟโบรมัยอัลเจีย:กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia)
ความเป็นมาของกัญชา
กัญชาเป็นพืชล้มลุกอยู่ในวงศ์ Cannabaceae มีประวัติการใช้โดยมนุษย์มายาวนานก่อนคริสตศักราชถึง3,000ปี เดิมมนุษย์ใช้ ’ต้นกัญชา’ มาทำเส้นใยในการทอผ้า, บางส่วนใช้เป็นอาหาร, บางส่วนใช้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
รัฐบาลในหลายประเทศรวมประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ในอดีตตำรายาไทยใช้กัญชามานานกว่า 300 ปี กัญชาเป็นสมุนไพรประกอบการรักษาอาการเจ็บปวดต่างๆ, อาการคลื่นไส้อาเจียน, ลมชัก, เป็นต้น บางประเทศนำกัญชามารักษาโรคมะเร็งและโรคพาร์กินสัน
ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ของประเทศไทย ได้ปรับข้อกฎหมายให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกร บุคคลธรรมดา สามารถยื่น ใบอนุญาตขอปลูกกัญชาผ่านทางคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ โดยแสดงวัตถุประสงค์-เจตจำนงเพื่อประโยชน์ต่อ การเรียนการสอน ทางการแพทย์ ทางเภสัชกรรม เพื่อการวิจัย ส่งเสริมวิสาหกิจของชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร โดยหน่วยงาน เหล่านี้จะต้องแสดงรายละเอียดของสถานที่เพาะปลูก ปริมาณการปลูก มาตรการรักษาความปลอดภัย ประวัติการถูกดำเนินคดียาเสพติดของผู้รับอนุญาต เป็นต้น
ปัจจุบัน กัญชาได้ถูกนำมาใช้เพื่อเหตุผลทางการแพทย์มากกว่า 33 ประเทศ และมีแนวโน้มจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ บางประเทศได้อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายและสันทนาการด้วยเช่นกัน
ข้อมูลการวิจัยคุณประโยชน์ทางยาของกัญชาในปัจจุบัน อาจหาข้อสรุปที่กระจ่าง ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ได้ในระดับหนึ่ง เป็นไปได้ว่าหลักฐานทางการแพทย์ที่จะถูกหยิบยกนำมาแสดงให้นักวิชาการด้วยกันยอมรับว่าสารสำคัญในกัญชาสามารถ รักษา, บรรเทาอาการป่วยต่างๆ, ยังไม่สมบูรณ์แบบนัก การจะนำสารสกัดในกัญชา(Cannabinoids) มารักษาอาการโรคยังถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมายของทางราชการ ซึ่งผู้ทำวิจัยจะต้องทำเรื่องขออนุญาตประกอบกับระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆเหล่านี้ ส่งผลให้การใช้สารสกัดของกัญชามารักษาอาการโรค อาทิ
- คลื่นไส้อาเจียนในระหว่างที่ได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง
- ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารในกลุ่มผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- อาการปวดเรื้อรัง
- การปวดเกร็งของร่างกาย
ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย รวมถึงความปลอดภัยในการใช้กัญชากับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มก็ยังต้องเก็บสถิติ
นอกจากนั้น ภาพเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงของยาเสพติดมักจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสารเสพติดต่างๆนานา ซึ่งรวมกัญชาเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดๆรวมถึงเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพก็อาจสร้างผลข้างเคียงต่างๆตามมาได้ไม่มากก็น้อย อาทิ อาจทำให้มี อาการซึมเศร้า ตื่นตระหนก ความจำแย่ลง หรือการใช้กัญชาต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลเพิ่มความรุนแรงของโรคไวรัสตับอักเสบซี(Hepatitis C)ต่อตับได้เช่นเดียวกัน
สารสำคัญทางเภสัชของกัญชา
สารสำคัญในกัญชาเท่าที่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันคนพบและให้ความสนใจ มี 2 ตัว คือ
- THC (Tetrahydrocannabinol) และ
- CBD (Cannabidiol)
อนึ่ง: ในประเทศไทยเราอาจคุ้นเคยกับ ‘น้ำมันกัญชา’ แต่ในต่างประเทศมีการจัดจำหน่ายตัวยาที่เลียนแบบสารสำคัญของกัญชา โดยนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้สังเคราะห์ขึ้น (Synthetic cannabinoids) และเพื่อให้ง่ายกระชับต่อความเข้าใจอาจเปรียบเทียบข้อมูลของ THC และ CBD ดังนี้
THC (Tetrahydrocannabinol):
- โครงสร้างทางเคมี: C21H30O2
- การออกฤทธิ์ในสมอง: สารจับบริเวณตัวรับ CB1, CB2 (Cannabinoid receptors) โดยมีฤทธิ์กระตุ้นจำเพาะกับ CB1, แสดงฤทธิ์ต่อจิตประสาท
- คุณสมบัติ: ช่วยผ่อนคลาย รู้สึกสนุก ต้านการอาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ลดอาการปวด ต้านอักเสบ
- ผลข้างเคียง: หัวใจเต้นเร็ว เดินเซ ปากคอแห้ง ตาแดง ความจำเสื่อม วิตกกังวล
CBD (Cannabidiol):
- โครงสร้างทางเคมี: C21H30O2
- การออกฤทธิ์ในสมอง: จับบริเวณ CB1 และ CB2 receptors ได้น้อย และมีฤทธิ์เป็นตัวยับยั้ง CB1 และ CB2 สามารถช่วยลดอาการข้างเคียงของ THC
- คุณสมบัติ: ต้านการชัก ต้านการอาเจียน กระตุ้นอยากอาหาร แก้ปวด ทำให้นอนหลับ ต้านอักเสบ
- ผลข้างเคียง: อ่อนเพลีย กินอาหารได้มาก วิงเวียน ท้องเสีย
ผลิตภัณฑ์ของอนุพันธ์กัญชาในตลาดต่างประเทศ:
1. Nabilone: มีโครงสร้างคล้าย THC ช่วยลดอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด, มีชื่อการค้า Cesamet, เป็นแคปซูล มีจำหน่ายในอเมริกา ออสเตรเลีย เบลเยียม
2. Dranabinol: มีโครงสร้างคล้าย THC ชื่อการค้า Marinol, ในอเมริกาและแคนาดาใช้กับผู้ป่วยเอดส์ที่น้ำหนักตัวลด, เดนมาร์กใช้ในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(MS)
3. Nabimol: ประกอบด้วย THC 2.7 mg + CBD 2.5 mg/Puff ชื่อการค้าคือ Sativex, เป็นชนิดสเปรย์, เดนมาร์ก เยอรมัน และสาธารณเช็ก ใช้กับผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่ไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน, ส่วนแคนาดาใช้ลดอาการปวดจากมะเร็ง
หมายเหตุ: ยาทั้ง 3 ชนิด จัดเป็น *แคนนาบินอยด์สังเคราะห์
กัญชาทางการแพทย์ได้มาอย่างไร?
อดีต การใช้กัญชามีมายาวนานกว่า 4,000-5,000 ปี, ในทวีปยุโรป จีน อินเดีย ใช้กัญชาเพื่อ กล่อมประสาท สร้างความสุข ใช้รักษาโรคเกาต์ อาการบวม แผลติดเชื้อ หรือการปวดหัวอย่างรุนแรง ประเทศไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพบว่า ตำรับยาไทยใช้กัญชาในสรรพคุณเป็น ยาแก้ปวด ช่วยเจริญอาหาร ทำให้นอนหลับโดยมีสมุนไพรชนิดอื่นๆร่วมด้วย
ทางการแพทย์ได้ค้นพบหลักฐานว่า ศาสตร์การรักษาของแพทย์ชาวตะวันตกชื่อ William O’Shaughnessy นำกัญชามารักษา โรคปวดข้อ โรคลมชัก และมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอื่นสืบต่อมา ปีค.ศ.1890 ประเทศอังกฤษตีพิมพ์วารสารเผยแพร่สรรพคุณของกัญชาที่ถูกผลิตออกมาในรูปของทิงเจอร์ สามารถนำมาบำบัดอาการทางจิต การนอนไม่หลับ อาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุ อาการปวดเรื้อรัง การปวดไมเกรน ปวดข้อ ชาที่แขน-ขา โรคกล้ามเนื้อ อาการชักบางชนิด อาการกระตุก-เกร็ง หรือแม้แต่การหอบหืด
อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ 1940 อเมริกาได้ออกกฎหมายให้กัญชาเป็นยาเสพติด ทำให้กัญชาถูกถอดถอนจากเภสัชตำรับ เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจนถึงปัจจุบัน กัญชาได้ถูกนำกลับมาพิจารณาเป็นยาทางเลือก เพื่อการรักษาโรคที่ยาแผนปัจจุบันเริ่มใช้ไม่ได้ผล
การพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชามีทั้งรูปแบบ น้ำมันกัญชา สเปรย์กัญชา แคปซูล เป็นต้น กัญชายังถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง กลุ่มเกษตรกรด้านวิสาหกิจชุมชนก็ใช้ใบกัญชามาประกอบอาหาร
ด้วยเทคโนโลยีของแต่ละประเทศที่มีความก้าวหน้า ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสารออกฤทธิ์สำคัญของกัญชาคือ
- Delta-g-tetrahydrocanabinol (THC) มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท
- Cannabidiol (CBD) เป็นสารอีกตัวในกลุ่ม Cannabinoid ส่งผลต้านการอักเสบของร่างกาย และลดอาการคลื่นไส้
- สารกลุ่ม Flavonoids มีมากกว่า 20 ตัว ในกัญชาซึ่งคล้ายกับพืชชนิดอื่นๆ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงอาจช่วยป้องกันมะเร็งและโรคอื่นๆ
ข้อบ่งชี้และโรคที่การแพทย์ไทยอนุญาตให้ใช้กัญชารักษาได้
กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์มากกว่า 400 ชนิด ที่พบมากที่สุดเป็น กลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (THC) และ แคนนาบิไดอัล (CBD) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ระบบฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ข้อบ่งใช้ของกัญชาทางการแพทย์ที่มีข้อมูลทางวิชาการรับรองยืนยันประสิทธิผล อาทิ
1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด(Chemotherapy-induced nausea and vomiting)
2.โรคลมชักที่ไม่สามารถควบคุมอาการด้วยยาแผนปัจจุบัน ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป(Refractory epilepsy)
3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple sclerosis)
4.ภาวะปวดประสาทที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล (Intractable neuropathic pain)
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานทางวิชาการว่าการใช้กัญชา ‘อาจ’ จะมีประโยชน์ต่อ
- กลุ่มโรคทางประสาทวิทยา เช่น
- ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังจากภาวะแข็งเกร็งและไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด
- ผู้ป่วย กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome)
- ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- ผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder)
- ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)
- ผู้ป่วยมะเร็ง โดยใช้กัญชาในการบรรเทาอาการปวด
- กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง(Ulcerative Colitis), โรคโครห์น (Crohn's disease) ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี/HIV ที่มีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า10% โดยกัญชาช่วยเพิ่มความอยากอาหาร
บุคคลากรทางการแพทย์ที่ประสงค์จะจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ยังไม่ผ่านการรับรองทะเบียนตำรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อการรักษาโรคแก่ผู้ป่วยเฉพาะราย ต้องได้รับความยินยอมจาก’ผู้ป่วยและ/หรือผู้ดูแลผู้ป่วย’ ทั้งนี้ผู้ป่วยและ/หรือผู้ดูแลผู้ป่วยต้องสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระและแสดงความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และ
- การจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้แก่ผู้ป่วยในแต่ละครั้งต้องไม่เกินระยะเวลาที่ใช้ 30 วัน
- นอกจากนี้ต้องประเมินประสิทธิผล
- ความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาและบันทึกการประเมินทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษา
- หากพบว่าใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่มีประสิทธิผล ไม่มีประโยชน์ตามที่คาดหวังภายใน 4-12 สัปดาห์ ให้หยุดการรักษาด้วยกัญชา โดยค่อยๆลดขนาดของกัญชาลง
- กรณีเกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้ป่วยแลทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ให้หยุดใช้กัญชาทันที และ
- แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทราบภายใน 30 วัน
- และผู้ป่วย/ครอบคัว/ญาติต้องส่งผลิตภัณฑ์กัญชาที่เหลือคืนสถานพยาบาลที่ให้การรักษา เพื่อพิจารณาดำเนินการทำลายหรือใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยรายอื่นต่อไป
- กรณีพบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเสพติดและ/หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ให้ส่งต่อผู้ป่วยไปยังจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกันต่อไป
สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ.2564 ทางองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับภาควิสาหกิจชุมชนในการสกัดสารสำคัญในกัญชาโดยความต้องการทางยามี 2 แบบคือ
1. ยาที่มีแต่สารสกัด CBD เพื่อนำไปรักษาโรคลมชักในเด็ก ข้อดีคือCBDไม่มีฤทธิ์ เสพติดเหมือน THC
2. ยาที่มีสารสกัด THC : CBD เป็น 1:1 เพื่อนำไปลดอาการเจ็บปวดหรือใช้ดูแล ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย การมี CBD เป็นองค์ประกอบจะช่วยลดผลข้างเคียงของ THC
อนึ่ง: ปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) ปัญหาที่พบคือ สายพันธุ์กัญชาไทยมักจะมี THC โดดเด่น มีสาร CBD น้อย จึงทำให้การสกัดสารสำคัญของกัญชาไม่ง่ายและเป็นอุปสรรคพอสมควร องค์การเภสัชกรรมได้กระจายผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทั้ง THC เด่น , CBD เด่น, และTHCและCBD แบบ 1 : 1 ให้กับสถานพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนไปแล้วมากกว่า 100 แห่ง พบว่าการใช้สารสกัดกัญชามีประสิทธิผลดี และทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ CBD เด่น เราจะยังไม่พบผลิตภัณฑ์ของกัญชาที่ทำจำหน่ายให้สถานพยาบาลต่างๆในตอนนี้ แต่จะเป็นผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมที่นำส่งไปให้สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น
ห้ามใช้ในการรักษาโรคในผู้ป่วยกลุ่มใด?
จากประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชาที่มีการตีพิมพ์ในรูปเอกสารเชิงวิชาการหรือ การสัมภาษณ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาจกล่าวได้ว่า สารสำคัญอย่าง THC และ CBD ที่มีฤทธิ์ต่อตัวรับ Cannabinoid receptor ในสมอง ส่งผลให้มนุษย์มีอาการ เคลิ้ม ผ่อนคลาย รู้สึกเป็นสุข วิตกกังวล กระวนกระวาย เห็นภาพหลอน หรือความจำแย่ลง
* ดังนั้นข้อห้ามใช้กัญชาที่ปัจจุบันทางแพทย์สภาลงความเห็นว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ไม่เหมาะต่อการใช้สารสกัดจากกัญชาจึงมีข้อสรุปดังนี้
1. ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวล (Anxiety disorders) จากสถิติเมื่อให้การรักษาด้วยสารสกัดกัญชากับผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มต้องใช้สารสกัดกัญชา มากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกลัวสังคม
2.ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Depressive disorders) ด้วยเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น นอกจากนี้จะพบความถี่ต่อการเกิดความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น
3.ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorders) ด้วยสารในกัญชา ทำให้อาการของผู้ป่วยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
4.ห้ามใช้กับ’ผู้ที่แพ้’สารสกัดของกัญชา
5.หลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดกัญชากับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
6.ทางการแพทย์ของไทยยังไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดจากกัญชามาเป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ แต่อาจพิจารณาใช้สารสกัดของกัญชาที่มีฤทธิ์บรรเทาความเจ็บปวด ลดการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด การจะใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยมะเร็งหรือไม่นั้นควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
7.ห้ามใช้กับเด็กหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา ด้วยสารสกัดจากกัญชาสามารถผ่านรกและน้ำนม ส่งผลต่อทารก ในครรภ์และก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาการของระบบประสาทได้
ประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชา
จากข้อมูลในวารสารทางการแพทย์เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ พ.ศ.2562 พบว่าประโยชน์ในการรักษาโรคของสารสกัดจากกัญชาเท่าที่มีข้อมูลมาแล้วคือ
- การเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ใหญ่
- ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- โรคลมชักที่รักษายากในเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อยา
- ภาวะปวดปลายประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล
มีอีกหลายโรคที่ยังต้องการข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติมทั้งในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล เพื่อสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ โดยเฉพาะกับโรคต่างๆ อาทิ ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia), โรคพาร์กินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรควิตกกังวลทั่วไป, ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง(การรักษาตามอาการ), มะเร็งระยะสุดท้าย, เพื่อเพิ่มการอยากอาหารและลดการสูญเสียน้ำหนักในผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์, ลดอาการตื่นเต้น, เป็นต้น การนำกัญชามาใช้รักษาโรค/อาการต่างๆข้างต้นจึงต้องรอการศึกษาวิจัยตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ก่อนที่จะนำมาใช้ในมนุษย์
โทษของกัญชา
จากการศึกษาต่างๆอาจสรุปโทษของกัญชาได้ดังนี้
1. ทำลายสมรรถภาพทางกาย: ผู้เสพกัญชาในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมจนไม่สามารถประกอบกิจการงานใดๆได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงาน ความคิดและการตัดสินใจ รวมทั้งจะมีลักษณะ Amotivation Syndrome คือ การหมดแรงจูงใจของชีวิต อยากอยู่เฉยๆซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก
2. ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย: การเสพติดกัญชาอาจมีผลร้ายคล้ายกับการติดเชื้อเอดส์กล่าวคือ กัญชาจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมหรือบกพร่อง ร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย
3. ทำลายสมอง: การเสพกัญชาแม้เพียงในระยะสั้น ทำให้ผู้เสพบางรายสูญเสียความทรงจำ เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้มีอาการของโรคจิตเภท หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป
4. อาจทำให้เกิดมะเร็งปอด: เนื่องจากผู้เสพจะสูดควันกัญชาเข้าไปในปอดนาน หลายวินาที การสูบบุหรี่ไส้กัญชาจึงสามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
5. ทำร้ายทารกในครรภ์: กัญชาจะทำลายโครโมโซม ฉะนั้นหญิงที่เสพกัญชาใน ขณะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาอาจจะพิการ มีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง, ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ, และพันธุกรรม
6. ทำลายความรู้สึกทางเพศ: กัญชาจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนในเพศชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ทั้งยังพบว่า ผู้เสพติดกัญชามักลายเป็นคนขาดสมรรถภาพทางเพศ
7. ทำลายสุขภาพจิต ฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้ผู้เสพมีอาการเลื่อนลอย ฝันเฟื่อง ความคิดสับสน และมีอาการประสาทหลอน จนควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งถ้าเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีอาการจิตเสื่อม
อาการข้างเคียงทั่วไปจากการใช้กัญชาทางการแพทย์
จากรายงานศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ม.มหิดล ได้รวบรวมข้อมูล ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง ในช่วง มกราคม พ.ศ.2561 – พฤษภาคม พ.ศ.2562 พบว่า ในกลุ่มผู้ที่ใช้กัญชาสามารถก่อให้เกิดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หลายอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ความดันโลหิตสูง มึนศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้ กระวนกระวาย เซื่องซึม ชัก
ในต่างประเทศผลิตภัณฑ์สารสกัดของกัญชาที่มีชื่อว่า Sativex ถูกผลิตขึ้นเพื่อนำมารักษาอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อหรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งนั้น มีข้อระบุในเอกสารกำกับ ตัวผลิตภัณฑ์ถึงผลข้างเคียงต่างๆ อาทิ หมดแรง อ่อนเพลีย ความจำแย่ลง ขาดสมาธิ มึนงง ง่วงนอน ตาพร่า ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย สูญเสียสมดุลการทรงตัวของร่างกาย ปากคอแห้ง การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป เกิดแผลในปาก เป็นต้น
ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจใช้กัญชาทางการแพทย์
ข้อมูลการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย มีช่วงระยะเวลาในการพัฒนาองค์ความรู้ของการนำกัญชามาใช้ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย การตัดสินใจว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อรักษาโรคเมื่อใดนั้น ควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ หรือจะกล่าวอย่างง่ายๆว่า ถ้าอาการป่วยของโรคที่เป็นอยู่มีตำรับยาแผนปัจจุบันที่สามารถใช้รักษาได้ดีอยู่แล้วก็ใช้ยาเหล่านั้นเป็นทางเลือกแรก แต่หากพบอาการโรคที่ ยาแผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้และมีหลักฐานทางการแพทย์ว่าโรคดังกล่าวไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่แต่ตอบสนองกับผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทางการแพทย์จึงจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา เช่น
- อาการคลื่นไส้จากยาเคมีบำบัดและผู้ป่วยไม่ตอบสนองกับยาแก้อาเจียนแผนปัจจุบัน
- โรคลมชักที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาแผนปัจจุบันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป
ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากัญชาร่วมกับยาอื่นๆ
กัญชาที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและต่อระบบอื่นๆของร่างกายได้อย่างมากมายเราอาจแบ่งข้อควรระวังการใช้กัญชาร่วมกับยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณได้ดังนี้
กัญชากับยาแผนปัจจุบัน:
- การใช้กัญชาร่วมกับยาลดความดัน อย่างเช่นยา Acebutolol, Amiloride, Amlodipine, Atenolol, Benazepril, Captopril, Carvedilol, อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดหัว วิงเวียน เป็นลม ชีพจรเต้นผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาร่วมกับยาลดความดันดังกล่าว
- การใช้กัญชาร่วมกับยากล่อม/กดประสาท อย่างเช่นยา Alprazolam, Amitriptyline, Amobarbital, Butalbital, Clonazepam, สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างตามมา อาทิ วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ลำบาก
- กรณีผู้สูงอายุการใช้กัญชาร่วมกับยาดังกล่าวจะทำให้การทรงตัวทำได้ลำบากมากขึ้น ความคิดอ่านผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาร่วมกับยากล่อม/กดประสาทดังกล่าว
- การสูบกัญชาในขณะที่ร่างกายได้รับยา Theophylline จะทำให้ระดับยา Theophylline ในกระแสเลือดลดต่ำลงและทำให้การรักษาของยา Theophylline ด้อยประสิทธิภาพจึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยาร่วมกัน
อนึ่ง:*ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาร่วมกับการดื่มสุรา ด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบประสาทของร่างกาย อาทิ วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสติและสมาธิ สูญเสียระบบความนึกคิดของร่างกาย
กัญชากับยาแผนโบราณ:
หากจะสืบค้นการใช้กัญชาที่เข้าตำรายาแผนโบราณนั้น ในอดีตของประเทศไทยมีการใช้ส่วนต่างๆของกัญชาเป็นองค์ประกอบของยาแผนโบราณหลายตำรับ และตำรายาเหล่านั้นก็เคยถูกประกาศให้เป็นตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท5เช่นกัน อาจยกตำรับยาแผนไทย 16 ตำรับที่มีการเข้ากัญชาดังนี้
ตัวอย่าง 16 ตำรับยาไทย ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม:
1. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ: บรรเทาอาการปวดท้องแข็ง กินอาหารไม่ได้
2. ยาอัคคินีวคณะ: แก้คลื่นเหียนอาเจียน ช่วยเจริญอาหาร บำรุงกำลัง
3. ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง: บรรเทาอาการปวดหัว ตาแดง หูตาฝ้าฟาง อ่อนเพลีย
4. ยาศุขไสยาศน์: ช่วยให้นอนหลับและเจริญอาหาร
5. ยาไฟอาวุธ: แก้จุกเสียด ปวดมวนท้อง
6. ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย: แก้อาการตึงปลายมือปลายเท้า หันหรือเอี้ยวคอไม่ได้
7. ยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง: บรรเทาอาการท้องผูก ปวดเมื่อยร่างกาย ขับลม
8. ยาแก้นอนไม่หลับ / ยาแก้ไข้ผอมเหลือง: ช่วยให้นอนหลับ แก้ไข้ผอมเหลือง
9. ยาแก้โรคจิต: ลดความกังวล ความเครียด ช่วยให้นอนหลับ
10. ยาอัมฤตโอสถ: บรรเทาอาการตึงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น มือ-เท้าชา
11. ยาไพสาลี: บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับลม ช่วยให้หลับสบาย
12. ยาอไภยสาลี: ช่วยขับลม บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ
13. ยาทำลายพระสุเมรุ: บรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อน แรง และอาการชาในผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต
14. ยาแก้ลมแก้เส้น: บรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ลดอาการมือเท้าชา
15. ยาทัพยาธิคุณ: แก้จุกเสียดท้อง อาการอัมพฤกษ์ เสียงแหบแห้ง ปวดเมื่อยร่างกาย นอนไม่หลับ
16. ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง: ทารักษาริดสีดวงทวารหนัก และทารักษาโรคผิวหนัง
*ทั้งนี้ การผสมกัญชาในตำรับยาโบราณที่มีสมุนไพรหลายชนิดหรือตำรายาที่บอกเล่าต่อๆกันมายังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าการใช้กัญชากับสูตรยาแผนโบราณดังกล่าวมีภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)หรือเกิดผลข้างเคียงมากน้อยเพียงใด
การดูแลตนเองเมื่อใช้กัญชารักษาโรค
การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อต้องได้รับยาที่เป็นผลผลิตมาจากกัญชา จะอยู่ในกรอบการเฝ้าระวังคล้ายๆกับการใช้ ยาแผนปัจจุบัน, ยาอันตราย, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท, ซึ่งสามารถลำดับการเฝ้าระวังผู้ป่วยขณะใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาเป็นข้อๆ ดังนี้
- แพทย์มักจะสั่งการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชากับผู้ป่วยเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อการบำบัดโรค ผู้ป่วยควรใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ปรับขนาดการใช้กัญชาเองโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษา
- กรณีเกิดอาการพิษจากผลิตภัณฑ์กัญชา ซึ่งมีทั้ง
- พิษในระดับต่ำถึงปานกลาง เช่น ง่วงนอน เวียนศีรษะ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ กล้ามเนื้อกระตุก เดินเซ
- หรือกรณีเกิดพิษรุนแรง เช่น เกิดอาการซึม รูม่านตาขยาย หมดสติ การทำงานของหัวใจผิดปกติ
*พิษเหล่านี้ต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยด่วนเพื่อแพทย์ปรับรูปแบบการรักษาให้เหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วย
- ปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษจากกัญชาโดยตรง ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากกัญชาจึงต้องรักษาตามอาการ
- หากใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาไปสักระยะแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง ควรหยุดใช้และกลับมาขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อปรับแนวทางการรักษากันใหม่
- การใช้ยาใดๆร่วมกับผลิตภัณฑ์กัญชาควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน
- ให้ข้อมูลเรื่องผลการรักษาอย่างตรงไปตรงมากับแพทย์ เพื่อใช้เป็นสถิติและคุณประโยชน์ต่อความรู้ของกัญชาในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน
- ไม่เสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ในการรักษาตนเองโดยไม่มีการตรวจวินิจฉัยอาการป่วยจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันอาการพิษหรือผลข้างเคียงของกัญชา
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่หมดอายุ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเปลี่ยนไป หรือเกิดการตกตะกอน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้งเพื่อตรวจสอบอาการป่วยและความก้าวหน้าจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นยารักษา
สรุป
ผลิตภัณฑ์จากกัญชาเท่าที่มีการใช้รักษาโรคทั้งในต่างประเทศและเริ่มนำมาใช้ในประเทศเพื่อวัตถุประสงค์
- บำบัดภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- บำบัดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- โรคลมชักกลุ่มดื้อยาแผนปัจจุบันตัวอื่นๆ
- อาการปวดปลายประสาทที่ใช้ยาตัวอื่นแล้วไม่ได้ผล
อนึ่ง: บางโรคก็ยังต้องรอการวิจัยและข้อมูลเชิงวิชาการมาสนับสนุนอย่างเพียงพอเสียก่อน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษาว่าดีต่อผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด กระแสกัญชาเริ่มมาแรงตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2563 มีการปลดล็อกให้ใช้ใบ ราก กิ่ง ในการบริโภค ยกเว้นดอกด้วยมีสาร THC ที่สามารถทำให้เสพติดได้ การเข้าถึงกัญชาในแง่ของผู้ประกอบการสถานพยาบาล โรงงานผลิต วิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ยังต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของรัฐ ต้องมีการแจ้งความจำนงและขออนุญาตเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้อย่างจริงจัง ประชาชนทั่วไปไม่ควรตื่นข่าวของกัญชาที่มีมาตามสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆแต่ต้องรับข้อมูลแท้จริงจากภาครัฐและสถานพยาบาลเท่านั้น
บรรณานุกรม
- https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2 [2021,April10]
- https://www.xn--12carlo5dc9cwbh2moabc0urg.com/2019/05/basic-of-cannabis-medical-use.html# [2021,April10]
- https://www.police9.go.th/attachments/article/844/18%20%E0%B8%81.%E0%B8%9E.62%20%E0%B8%9E.%E0%B8%A3.%E0%B8%9A.%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%20%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%207%20%20%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2.pdf [2021,April10]
- https://www.xn--12carlo5dc9cwbh2moabc0urg.com/2019/05/how-to-seed-marijuana-in-thailand.html [2021,April10]
- https://www.xn--12carlo5dc9cwbh2moabc0urg.com/2019/04/legality-of-cannabis-for-medical-and-recreational.html [2021,April10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Medical_cannabis [2021,April10]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5312634/ [2021,April10]
- https://www.xn--12carlo5dc9cwbh2moabc0urg.com/2019/05/marijuana-cannabis-drugs-medical-use-history.html [2021,April10]
- https://drive.google.com/drive/folders/1sKLx0AS8J8jZ3zhfW8NSgSL8-PwGXHIe [2021,April10]
- https://www.ilovegrowingmarijuana.com/chemical-composition-of-marijuana/ [2021,April10]
- https://www.ilovegrowingmarijuana.com/growers-dictionary/cbd/ [2021,April10]
- https://www.ilovegrowingmarijuana.com/chemical-composition-of-marijuana/#flavonoids [2021,April10]
- https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2 [2021,April10]
- https://drive.google.com/drive/folders/1sKLx0AS8J8jZ3zhfW8NSgSL8-PwGXHIe [2021,April10]
- แนวทางการจำหน่าย-ยส5-กรณีแพทย์แผนปัจจุบัน_010862 pdf [2021,April10]
- https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf [2021,April10]
- http://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/PDF/manual/August_2019/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%A2%E0%B8%AA5-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99_010862.pdf [2021,April10]
- https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29544 [2021,April10]
- https://www.medsafe.govt.nz/Consumers/cmi/s/sativex.pdf [2021,April10]
- https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/sites/default/files/public/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%20edit.pdf [2021,April10]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/cannabis-index.html [2021,April10]
- https://doh.dc.gov/sites/default/files/dc/sites/doh/publication/attachments/Medical%20Cannabis%20Adverse%20Effects%20and%20Drug%20Interactions_0.pdf [2021,April10]
- https://www.kanpho.go.th/new/downloads/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.pdf [2021,April10]
- https://www.hfocus.org/sites/default/files/files_upload/aenwthaangkaaraihkhmuulkhlinikkaychaathaangkaaraephthyaephnaithyaelakaaraephthyphuuenbaanaithy_6_m.kh_.63.pdf [2021,April10]
- https://www.bbc.com/thai/thailand-48268060 [2021,April10]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/D2S1_Supaporn1.pdf [2021,April10]
- https://www.xn--12carlo5dc9cwbh2moabc0urg.com/2019/04/synthetic-cannabinoids-drug.html [2021,April10]
- https://www.healthline.com/health/cbd-vs-thc#psychoactive-components [2021,April10]
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923438 [2021,April10]