กลูโคซามีน (Glucosamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- กลูโคซามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- กลูโคซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กลูโคซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กลูโคซามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กลูโคซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กลูโคซามีนอย่างไร?
- กลูโคซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากลูโคซามีนอย่างไร?
- กลูโคซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
บทนำ
สาร/ยากลูโคซามีน(Glucosamine หรือ Glucosamine sulfate หรือ Glucosamine sulphate) เป็นสารชีวโมเลกุลมีโครงสร้างของน้ำตาลและหมู่ของกรดอะมิโนมาประกอบกัน(Amino sugar) ต่างประเทศจะมีการจำหน่ายกลูโคซามีนในรูปแบบของอาหารเสริม แต่ในประเทศไทยจะพบเห็นในลักษณะเป็นยาที่ใช้บำรุงไขข้อกระดูก โดยกลูโคซามีนจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเบาะรองรับการเสียดสีของกระดูกระหว่างข้อต่อต่างๆ ทางคลินิกได้นำกลูโคซามีนมาเป็นยารักษาโรคข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม(Osteoarthritis) โดยเฉพาะ ข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อกระดูกสันหลัง ปัจจุบันยังมีงานวิจัยโดยนำกลูโคซามีนมารักษาโรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis) และพบว่ายานี้อาจช่วยลดอาการปวดข้อของโรคข้อรูมาตอยด์ได้ก็จริง แต่ไม่สามารถบำบัดอาการอักเสบหรือภาวะข้อที่มีอาการบวมหรือข้อที่มีอาการปวดมากๆลงได้
ยากลูโคซามีนมักถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้ออักเสบที่ไม่สามารถใช้ยาแก้ปวดกลุ่มNSAIDsที่อาจจากด้วยผลข้างเคียงของยาหรือโรคประจำตัวบางอย่างของผู้ป่วย จึงทำให้ยากลูโคซามีนเป็นทางเลือกที่ดูจะปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยมากกว่า
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยากลูโคซามีนที่มีใช้ในประเทศไทย จะเป็นยาชนิดรับประทาน ในแบบยาผงที่ต้องละลายน้ำก่อนรับประทาน และยาแคปซูล อย่างไรก็ตามมีคำเตือนทางคลินิกที่ให้ระวังการใช้ยากลูโคซามีนกับผู้ป่วยบางกลุ่ม อาทิ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีประวัติอาการแพ้อาหารประเภทสัตว์ที่มีเปลือกและกระดอง อย่าง กุ้ง ปู ตลอดจนกระทั่งผู้ที่กำลังใช้ยาป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทั้งนี้เพราะยากลูโคซามีนอาจกระตุ้นให้อาการโรคดังกล่าวมีความรุนแรงขึ้น
ยากลูโคซามีนสามารถผ่านเข้าน้ำนมมารดาและถูกส่งผ่านไปถึงทารกที่ดื่มนมมารดาได้ จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยากลูโคซามีนกับสตรีในช่วงให้นมบุตร รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์
นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไม่ควรมองข้ามเรื่องการใช้ยากลูโคซามีน เช่น
- ไม่ใช้กับผู้แพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากลูโคซามีนที่ ต่างชื่อการค้า หรือ ต่างในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ เช่น ใช้ยาทั้งแบบแคปซูลและแบบผงละลายน้ำปะปนกัน เพราะโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับปริมาณยาเกินขนาดจะมีสูงมาก จนทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรงตามมา เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ เป็นต้น
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด ให้สูงขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความประสงค์จะใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ ควรต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์เท่านั้น ห้ามไปหาซื้อยากลูโคซามีนไม่ว่าจะเป็นแบบอาหารเสริม หรือแบบยามารับประทานเอง
- กรณีต้องเข้ารับการผ่าตัด ต้องแจ้งให้ศัลยแพทย์ทราบด้วยว่าตนเองมีตัวยา กลูโคซามีนรับประทานอยู่ก่อน เพราะยากลูโคซามีนมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดในร่างกาย และอาจเป็นเหตุให้เลือดออกง่ายในระหว่างการผ่าตัด
- ถึงแม้ในอเมริกาจัดให้กลูโคซามีนเป็นอาหารเสริม การซื้อผลิตภัณฑ์กลูโคซามีนจากต่างประเทศและนำมาฝากให้กับญาติหรือคนรู้จักในประเทศโดยไม่ผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์เสียก่อน ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกลูโคซามีนดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภคเอง
- การใช้ยาประเภทกลูโคซามีน อาจต้องใช้เวลารับประทานยาต่อเนื่องประมาณ 6-8 สัปดาห์จึงจะเห็นประสิทธิผลการรักษาอย่างชัดเจน หลังจากนั้นให้หยุดใช้ยานี้ ซึ่งผู้ป่วยหลายรายสามารถหยุดการใช้ได้เป็นแรมเดือน เมื่อมีอาการทางข้อกระดูกกลับมาใหม่ ก็ต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับยากลูโคซามีนกลับมารับประทานใหม่ตามคำสั่งแพทย์
การใช้ยากลูโคซามีนอาจจะไม่สัมฤทธิ์ผลกับผู้ป่วยทุกรายไป กรณีที่ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ แล้วอาการปวดข้อไม่ดีขึ้นเลย ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อแพทย์ค้นหาสาเหตุและปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสม
กฎหมายของไทย จัดให้ยากลูโคซามีนเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาชนิดนี้ได้จากแพทย์ผู้ที่ให้การตรวจรักษาหรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
กลูโคซามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยากลูโคซามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดอาการโรคข้อเสื่อม(Osteoarthritis) อย่างเช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อสันหลัง/ข้อกระดูกสันหลัง
กลูโคซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลูโคซามีน จะถูกใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อให้ร่างกายสังเคราะห์และเปลี่ยนไปเป็นสารประกอบที่มีชื่อว่า Glycosaminoglycan ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างกระดูกอ่อน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับยากลูโคซามีนสามารถสร้างกระดูกอ่อนขึ้นมาทดแทนกระดูกอ่อนที่มีสภาพชำรุดเสียหาย เมื่อสภาพกระดูกอ่อนกลับมาดีเหมือนเดิม มันจะทำหน้าที่คล้ายกับเบาะเพื่อรองรับและป้องกันมิให้กระดูกตรงข้อต่อต่างๆที่มีลักษณะแข็งเกิดการเสียดสีกัน ส่งผลให้ลดภาวะสึกกร่อนของกระดูกและก่อให้เกิดที่มาของสรรพคุณ
กลูโคซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลูโคซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาผงชนิดละลายน้ำรับประทาน ที่มีตัวยา Glucosamine sulfate 1,500 มิลลิกรัม/ซอง
- แคปซูลชนิดรับประทาน ที่มีตัวยา Glucosamine sulfate 250 และ500 มิลลิกรัม/แคปซูล
กลูโคซามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากลูโคซามีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 1.5 กรัม ครั้งเดียวต่อวัน หรือจะแบ่งรับประทานก็ได้ ควรรับประทานยาก่อนอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในคนวัยนี้ การใช้ยานี้ในคนวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- กรณียาชนิดซอง ละลายยา 1 ซองต่อน้ำ 1 แก้ว แล้วรับประทานวันละ1 ครั้ง
- กรณียาแคปซูล ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น
- อาจต้องรับประทานยาเป็นเวลาอย่างต่ำ 6–8 สัปดาห์ อาการปวดข้อจึงจะค่อยๆทุเลาขึ้น
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากลูโคซามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลูโคซามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากลูโคซามีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
กลูโคซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลูโคซามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ : เช่น อาจทำให้อาการ หอบหืด กำเริบ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นแพ้แสงแดดง่าย เล็บแข็งขึ้น
*อนึ่ง กรณีที่ได้รับยากลูโคซามีนเกินขนาด จะพบอาการ ปวดศีรษะ วิงเวียน ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน กรณีนี้แพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามอาการ/การรักษาประคับประคองตามอาการ
มีข้อควรระวังการใช้กลูโคซามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลูโคซามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในช่วงให้นมบุตร
- การรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยากลูโคซามีน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจดูการทำงานของกระดูกตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลูโคซามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
กลูโคซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากลูโคซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากลูโคซามีนร่วมกับยา Anisindione, Dicumarol, Warfarin, ด้วยจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษากลูโคซามีนอย่างไร?
ควรเก็บยากลูโคซามีนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
กลูโคซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลูโคซามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Arthro-S (อาร์โทร-เอส) | Pharmahof |
Athril (เอทริล) | T. O. Chemicals |
Bio-Glucosamine (ไบโอ- กลูโคซามีน) | Pharma Nord SEA |
Biotril-s (ไบโอทริล-เอส) | Biopharm |
Blackmores Glucosamine (แบล็คมอร์ กลูโคซามีน) | Blackmores |
Cosam (โคแซม) | British Dispensary Health Care |
Coxium (โคเซียม) | Millimed |
Cuine (คูอีน) | China Chem & Pharma |
Flexsa (เฟล็กซา) | Mega Lifesciences |
Gaxium (แก็กเซียม) | Millimed |
Glucosa (กลูโคซา) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Glucosamine GPO (กลูโคซามีน จีพีโอ) | GPO |
Glucotril (กลูโคทริล) | MacroPhar |
Glusafex (กลูซาเฟ็กซ์) | NuPharma & HealthCare |
Glutril (กลูทริล) | Community Pharm PCL |
Kosamine (โคซามีน) | Siam Bheasach |
Osamine (โอซามีน) | Unison |
Vistra Glucosamine (วิสตรา กลูโคซามีน) | Pronova Laboratories |
อนึ่ง ชื่ออื่นๆของยากลูโคซามีน เช่น 2-Amino-2-Deoxy-Glucose, Amino Monosaccharide, Chitosamine, D-Glucosamine, D-Glucosamine Sulfate, D-Glucosamine Sulphate, G6S, Glucosamine, Glucosamine Potassium Sulfate, Glucosamine Sulfate 2KCl, Glucosamine Sulfate-Potassium Chloride, Glucosamine Sulphate KCl, Glucosamine-6-Phosphate, GS, Mono-Sulfated Saccharide, Saccharide Mono-Sulfaté, Saccharide Sulfaté, Sulfate de Glucosamine, Sulfate de Glucosamine 2KCl, SG, Sulfated Monosaccharide, Sulfated Saccharide, Sulfato de Glucosamina
บรรณานุกรม
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-glucosamine/art-20362874[2017,Dec16]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-glucosamine/art-20362874?pg=2[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/breastfeeding/glucosamine.html[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/mtm/glucosamine.html[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/glucosamine.html[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/sfx/glucosamine-side-effects.html[2017,Dec16]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01296[2017,Dec16]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/glucosamine/?type=brief&mtype=generic[2017,Dec16]
- https://medlineplus.gov/druginfo/natural/807.html[2017,Dec16]