กลุ่มอาการเรดแมน (Red Man Syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมื่อกล่าวถึงปฏิกิริยาที่เกิดจากยาต่างๆ(Adverse drug reaction) โดยทั่วไปเราจะนึกถึงปฏิกิริยาระหว่างยา และ การแพ้ยา แต่ยังมีปฏิกิริยาอีกประเภทหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ยาบางชนิดอย่างรวดเร็วเกินไป อย่าง “กลุ่มอาการเรดแมน (Red Man Syndrome ย่อว่า RMS, อีกชื่อคือ Red neck syndrome)” ที่มักพบเมื่อมีการให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะชนิด แวนโคมัยซิน (Vancomycin) ในอัตราที่เร็วเกินไป

กลุ่มอาการเรดแมน มีอาการแสดงคือ มีผื่นชนิดเป็นผื่นราบ(Maculopapular Rash)เกิดขึ้นบริเวณ หน้าอก คอ หลัง และแขน ผื่นชนิดนี้มี สีแดง ม่วง หรือสีน้ำตาล แบนราบหรืออาจมีการนูนเล็กน้อย มีอาการใจสั่น หายใจลำบาก ผู้ป่วยบางคนอาจมีความดันโลหิตต่ำร่วมด้วย ผื่นมักเกิดขึ้นหลังจากให้ยาแวนโคมัยชินไปแล้วประมาณ 10-30 นาทีแต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง “ด้วยเหตุที่กลุ่มอาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดผื่นแดง จึงเป็นที่มาของชื่อ กลุ่มอาการเรดแมน (Red Man) หรือ มนุษย์ตัวแดง” ทั้งนี้ กรณีเกิดจากยาแวนโคมัยซิน บางท่านเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า “ภาวะไวเกินจากยาแวนโคมัยชิน(Vancomycin hypersensitivity)”

อุบัติการณ์ของกลุ่มอาการเรดแมนมีความแปรผันมากตามรายงานการศึกษา ซึ่งพบในช่วงร้อยละ 5(5%) ถึง ร้อยละ 50(50%) ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาแวนโคมัยซิน นอกจากยาแวนโคมัยซินแล้ว ยังพบว่ายังมียาอีกบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการนี้ได้ เช่น ยาซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ยาแอมโฟเทอริซินบี (Amphotericin B) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และยาทีโคพลานิน (Teicoplanin)

กลุ่มอาการเรดแมนมีสาเหตุมาจากอะไร?

กลุ่มอาการเรดแมน

กลุ่มอาการเรดแมนมีสาเหตุมาจากการให้ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาแวนโคมัยซินและยาดังกล่าวใน”บทนำ”เข้าหลอดเลือดดำด้วยอัตราที่เร็วเกินไป ทำให้เกิดการแตกของสารที่เรียกว่าแกรนูล(Granule)ที่อยู่ในแมสต์เซลล์(Mast Cell, เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่พบในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) และในเบโซฟิล (Basophils,เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในเลือด) ซึ่งในแกรนูลจะมีสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบและสารฮีสทามีน(Histamine) ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อแมสต์เซลล์และ/หรือเบโซฟิลแตก จึงหลั่งสารฮีสทามีนเข้าสู่ร่างกายซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาคล้ายการอักเสบและปฏิกิริยาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ/ความดันโลหิตตก เป็นต้น ที่เป็นที่มาของ อาการต่างๆในกลุ่มอาการเรดแมน

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเรดแมน?

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการเรดแมนคือ การได้รับยาแวนโคมัยซินในอัตราที่เร็วเกินไป โดยทั่วไป แพทย์และพยาบาลจะหยดยาแวนโคมัยซินเข้าสู่หลอดเลือดดำช้าๆ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง (ผู้ป่วยที่ได้รับยาในขนาดยาที่สูงอาจใช้ระยะเวลาการบริหารยา/หยดยานานกว่านั้น) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเรดแมน

นอกจากนี้ มักพบกลุ่มอาการเรดแมนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเกิดกลุ่มอาการเรดแมน จะมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเรดแมนซ้ำอีกเมื่อได้รับยาแวนโคมัยซิน โดยความรุนแรงของกลุ่มอาการฯอาจไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่กลุ่มอาการเรดแมนอาจแย่ลงหากมีการใช้ยาแวนโคมัยซิน ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะชนิดอื่น เช่น ยาซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin), ยาแก้ปวด, หรือยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด, เนื่องจากยาเหล่านี้จะเสริมการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน(เช่น Mast cell) ได้

ผู้ป่วยกลุ่มอาการเรดแมนจะมีอาการอย่างไร?

อาการที่เห็นได้ชัดในผู้ป่วยกลุ่มอาการเรดแมนคือ เกิดผื่นแดงขึ้นตาม ใบหน้า ลำคอ และลำตัวช่วงบน แขน ผื่นนี้อาจมีสีแปรผันไปตามสีผิวของผู้ป่วย โดยส่วนมากมักเกิดภายหลังจากให้ยาที่อาจเป็นสาเหตุ เช่นยา แวนโคมัยซิน ไปแล้วประมาณ 10-30 นาที ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดปฏิกิริยา/กลุ่มอาการนี้หลังจากรับยาไปแล้วหลายวันแต่พบได้น้อย

ผื่นที่เกิดขึ้นโดยส่วนมากจะมีลักษณะแบนราบ และทำให้เกิดอาการคัน หรือมีอาการแสบร้อน ร้อนวูบวาบ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการเหล่านี้เพียงเล็กน้อยจบแทบไม่ได้สังเกต แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความรุนแรงได้ เช่น เกิดอาการบวมตามใบหน้า ความดันโลหิตต่ำ ใจสั่น หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ไม่สบายตัว สับสน มึนงง มีไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการปวดแปล๊บๆบริเวณรอบๆริมฝีปาก

อนึ่ง กรณีเกิดอาการผื่นแดงขึ้นในบริเวณร่างกายดังกล่าว แต่ไม่มีอาการอื่นใดๆร่วมด้วย อาจเป็นอาการจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ปฏิกิริยาจากยา/อาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น มีรายงานว่าเกิดจากผิวหนังแพ้สี/สารเคมี/โลหะต่างๆที่อยู่ที่เครื่องใช้/เสื้อผ้าที่สัมผัสผิวหนังผู้ป่วย ซึ่งอาการจากสาเหตุไม่ใช่จากยา เรียกว่า “ กลุ่มอาการเรดแมนเทียม(Pseudo red man syndrome)”

เมื่อใดควรเข้าพบแพทย์?

หากผู้ป่วยมีประวัติการใช้ยาที่อาจเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการเรดแมน เช่น ยาปฏิชีวนะต่างๆโดยเฉพาะ ยาแวนโคมัยชิน และเกิดผื่นหรืออาการอื่นใดดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อ”อาการฯ” ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการเรดแมนได้อย่างไร?

โดยทั่วไป ในผู้ป่วยที่ได้รับยาแวนโคมัยซินหรือยาอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการเรดแมน จะได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และพยาบาล แพทย์สามารถวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ได้จาก ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติการได้รับยาต่างๆซึ่งอาจเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการ หรือประวัติการเกิดกลุ่มอาการเรดแมนมาแล้วในอดีต ร่วมกับอาการแสดงเช่น ลักษณะและบริเวณที่เกิดผื่น ร่วมกับอาการแสดงอื่นๆ และร่วมกับการตรวจร่างกาย

รักษากลุ่มอาการเรดแมนได้อย่างไร?

โดยส่วนมาก อาการของกลุ่มอาการเรดแมนจะเกิดขึ้นภายหลังการบริหารยาที่เป็นสาเหตุไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งหากเกิดกลุ่มอาการเรดแมนขึ้น ควรหยุดให้ยานั้นโดยทันที

แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้แพ้ (Antihistamines) ร่วมกับยาเสตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อลดอาการแพ้ ในผู้ป่วยที่เกิดความดันโลหิตต่ำ แพทย์อาจได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย

ผู้ป่วยกลุ่มอาการเรดแมนที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยทั่วไปจะมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากหยุดการให้ยาที่เป็นสาเหตุ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับยาที่อาจเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการเรดแมนนั้น แพทย์จะพิจารณาให้ยานั้นๆในอัตราการหยดยาที่ช้ามากเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเรดแมน

การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการเรดแมนเป็นอย่างไร?

อุบัติการณ์การเกิดกลุ่มอาการเรดแมนมีความแปรผันสูง ตั้งแต่ร้อยละ 5(5%) ถึงร้อยละ 50(50%)ในผู้ป่วยที่ได้รับยาแวนโคมัยซิน โดยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังจากหยุดยาที่อาจเป็นสาเหตุ

มีผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการเรดแมนไหม?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงที่มีความรุนแรงจากกลุ่มอาการเรดแมนคือ การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ ส่วนอาการขึ้นผื่นโดยทั่วไป จะดีขึ้นหลังจากหยุดยาที่อาจเป็นสาเหตุ และจากการให้ยาแก้แพ้ (Antihistamines)

ดูแลตนเองและป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเรดแมนได้อย่างไร?

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กลุ่มอาการเรดแมน โดยส่วนมากเกิดขึ้นจากการบริหารยาแวนโคมัยซินหรือยาชนิดอื่นบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุ ด้วยอัตราที่รวดเร็วเกินไป แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดกลุ่มอาการเรดแมนได้ แม้ว่าจะมีการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำด้วยอัตราที่ช้าแล้วก็ตาม ดังนั้น นอกจากการปรับอัตราการหยดยาให้ช้าลงตามคำแนะนำการบริหารยาแล้ว แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ควรให้ความรู้ผู้ป่วยถึงความเสี่ยงและความรุนแรงของกลุ่มอาการเรดแมนก่อนการให้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจ และสามารถแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบหากพบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์จากยาใดๆเกิดขึ้นระหว่างหรือภายหลังจากการได้รับยาต่างๆ

บรรณานุกรม

  1. Soupramanien Sivagnanam and Dirk Deleu. Red Man Syndrome. Critical Care 2003, 7:119-120.
  2. Judith Marcin. What is Red Man Syndrome? https://www.healthline.com/health/red-man-syndrome [2018,April14]
  3. อุไรวรรณ ศิลปศุภกรวงศ์, ฐิติพล เยาวลักษณ์. หน่วยข้อมูลยาและพิษวิทยา ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช. http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/shtc/VANCOMYCIN.pdf [2018,April14]
  4. https://www.epainassist.com/articles/red-man-syndrome [2018,April14]
  5. http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJM199302253280818 [2018,April14]
  6. https://www.uptodate.com/contents/vancomycin-hypersensitivity [2018,April14]