กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค (Paraneoplastic syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 เมษายน 2562
- Tweet
- กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคคืออะไร?พบในมะเร็งชนิดไหน?
- กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคอย่างไร?
- รักษากลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- สัญลักษณ์โรคมะเร็ง (Symbol of cancer)
- มะเร็งปอด (Lung cancer)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคคืออะไร? พบในมะเร็งชนิดไหน?
กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค(Paraneoplastic syndrome) คือ กลุ่มอาการผิดปกติในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ผอมลง ซึ่งอาการต่างๆดังกล่าวไม่ทราบสาเหตุเกิด (เช่นจาก การติดเชื้อ หรือการลดน้ำหนัก) โดยอาการเหล่านี้เกิดได้จากการที่เซลล์มะเร็ง สร้างสารเคมีต่างๆที่กระทบต่อการทำงานปกติของร่างกาย เช่น ฮอร์โมน ไซโตไคน์ เอนไซม์ และ/หรือจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็ง แต่ภูมิคุ้มกันฯเหล่านี้กลับส่งผลกระทบเองต่อเซลล์ปกติของร่างกายจนเกิดเป็นภูมิต้านตนเอง
กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ประมาณ 2-20%ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด พบทั่วโลก ทุกเพศ และทุกวัย และพบได้ในมะเร็งได้ทุกชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ
- มะเร็งปอด
ส่วนมะเร็งชนิดอื่นที่พบได้บ่อยรองๆลงมา ได้แก่
- มะเร็งไต
- มะเร็งตับ
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งตับอ่อน
- มะเร็งกระเพาะอาหาร
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งสมอง
กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคมีอาการอย่างไร?
อาการของกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค อาจเกิดนำมาก่อนตรวจพบว่าเป็นมะเร็งหลายเดือน หรือมีอาการพร้อมๆกับที่ตรวจพบมะเร็ง โดยมีหลากหลายกลุ่มอาการ ได้แก่
ก. กลุ่มอาการทั่วไป: เช่น มีไข้มักเป็นไข้ต่ำๆ แต่บางรายมีไข้สูงได้ เบื่ออาหาร ผอมลง/น้ำหนักตัวลดโดยหาสาเหตุไม่ได้ โดยลดมากกว่า 5-10%ของน้ำหนักตัวเดิมภายใน6เดือน และมักเกิดร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาลีบลงด้วย อ่อนเพลีย เหงื่อออกกลางคืน
ข.กลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร: เซลล์ลำไส้อักเสบอาจจากสารที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น หรือจากภูมิต้านตนเองต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้ดูดซึมอาหารได้น้อยลง
ค.กลุ่มอาการทางไต: เช่น ไตอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะมาก ที่เกิดจากการมีภูมิต้านทานผิดปกติต่อเซลล์ไต
ง. กลุ่มอาการทางระบบประสาท: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจจนถึงเป็นอัมพาตจาก สมองอักเสบ หรือไขสันหลังอักเสบ จากภูมิต้านตนเอง
จ. กลุ่มอาการจากมีฮอร์โมนบางชนิดสูง/อาการทางระบบต่อมไร้ท่อ เช่น มีแคลเซียมในเลือดสูง กลุ่มอาการคุชชิง น้ำตาลในเลือดต่ำ ปัสสาวะมาก เอสแอลอี
ฉ.กลุ่มอาการทางผิวหนัง เช่น สีผิวหนังคล้ำดำ มีผื่นผิดปกติ
ช.กลุ่มอาการทางระบบโรคเลือด เช่น ซีด จากเม็ดเลือดแดงต่ำ หรือ ซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก หรือ มีเม็ดเลือดแดงสูงจนอุดตันหลอดเลือด เกล็ดเลือดสูง หรือ เกล็ดเลือดต่ำ ภาวะดีไอซี
ซ.กลุ่มอาการทางกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากภูมิต้านตนเอง เยื่อหุ้มกระดูกเจริญผิดปกติ(Hypertrophic osteoarthropathy) ปวดตามข้อทุกๆข้อเรื้อรัง
อนึ่ง อาการต่างๆเหล่านี้ จะดีขึ้น ถ้ารักษาควบคุมมะเร็งได้
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการผู้ป่วย ร่วมกับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือดซีบีซี
- การตรวจเลือดดูระดับสารเคมี/Electrolyteในเลือด โดยเฉพาะ แคลเซียม โซเดียม และโพแทสเซียม
- อาจมีการตรวจสืบค้นต่างๆเพิ่มเติม ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์ภาพอวัยวะที่มีอาการ เป็นต้น
รักษากลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคอย่างไร?
วิธีรักษากลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค คือ
- การรักษาควบคุมโรคมะเร็งที่เป็นการรักษาหลักและสำคัญที่สุด ได้แก่ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาเจริญอาหาร ยาแก้ท้องเสีย การให้เลือดกรณีซีดมาก การให้เกล็ดเลือดกรณีเกล็ดเลือดต่ำมาก การให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่นยา Epoetin alfa กรณีซีดเรื้อรัง การให้สารน้ำร่วมกับยากลุ่มสเตียรอยด์และ/หรือยาลดระดับแคลเซียมในเลือดกรณีมีแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการในกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- รักษามะเร็งตามคำแนะนำของแพทย์
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกมาก
- กังวลในอาการ
ป้องกันกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติคอย่างไร?
กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากโรคมะเร็ง ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกัน
บรรณานุกรม
- https://emedicine.medscape.com/article/280744-overview#showall [2019,March30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Paraneoplastic_syndrome [2019,March30]