กลุ่มอาการกดรัดหลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณทางออกทรวงอก กลุ่มอาการทีโอเอส (TOS หรือ Thoracic Outlet Syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการปวดไหล่ ชา หรือ อ่อนแรง/กล้ามเนื้อไม่มีแรง ของแขนและมือ เป็นอาการที่พบบ่อย ก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ป่วยว่า จะเป็นอัมพาตหรือไม่

ซึ่งสาเหตุของอาการปวดไหล่ที่อาจร่วมกับอาการดังกล่าว ที่พบบ่อย เช่น ข้อไหล่ติด (Shoulder stiffness), กระดูกต้นคอเสื่อม (Cervical spondylosis), กล้ามเนื้อหดเกร็ง (Myofascial pain syndrome)

ในส่วนสาเหตุที่พบได้ ไม่บ่อยของอาการดังกล่าว แต่มีอันตราย ถ้าการรักษาล่าช้า ได้ แก่ ‘กลุ่มอาการกดรัดหลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณทางออกช่องอก (Thoracic outlet syndrome หรือ ย่อว่า TOS)’

ซึ่งต่อไปในบทความนี้ ขอเรียกย่อว่า “โรคทีโอเอส (TOS) หรือ กลุ่มอาการ ทีโอเอส” ลองติดตามดูครับว่า กลุ่มอาการนี้คืออะไร? รักษาอย่างไร? และจะเป็นอัมพาตหรือไม่?

ทางออกทรวงอก (Thoracic outlet) อยู่ตรงไหน? เป็นที่อยู่ของอวัยวะอะไรบ้าง?

กลุ่มอาการทีโอเอส

ทางออกทรวงอก (Thoracic outlet) คือ ช่อง หรือ โพรงที่มีขอบเขตตั้งแต่แอ่งบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า (Supraclavicular fossa) ถึงรักแร้ และรวมถึงกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 ด้วย โดยจะเป็นส่วนยอดของทรวงอก มีทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านซ้าย และด้านขวา ซึ่งช่องนี้เป็นที่อยู่ของข่ายประสาท (Nerve plexus, เครือข่ายเส้นประสาทที่ทำงานประสานกัน) ส่วนล่างของแขน (Lower brachial plexus) เส้นประสาท หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดง

กลุ่มอาการทีโอเอสคืออะไร?

กลุ่มอาการทีโอเอส คือ ภาวะที่มีการ กด รัด เส้นประสาท หลอดเลือดแดง และ/หรือ หลอดเลือดดำ บริเวณทางออกทรวงอก จึงส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ บทนำ

ผู้ป่วยกลุ่มอาการทีโอเอสมีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ผู้ป่วยกลุ่มอาการทีโอเอสนั้นจะมีอาการได้ 3 รูปแบบ เนื่องจากอวัยวะที่ถูกกด รัดนั้นมี 3 อวัยวะ แต่ละอวัยวะที่ถูกกดรัดนั้นก็มีอาการที่แตกต่างกัน ได้แก่

1. อาการผิดปกติจากหลอดเลือดแดงถูก กด รัด คือ มือ แขนซีด เย็น เขียวคล้ำ ถ้าการกด รัด รุนแรง คือ เกิดอาการขาดเลือดมาเลี้ยงที่ มือ และแขน ผู้ป่วยจะปวดอย่างรุนแรง และ มีมือ ซีด คล้ำ คลำชีพจรไม่ได้

2. อาการผิดปกติจากหลอดเลือดดำถูก กด รัด คือ มือ แขนบวม สีคล้ำ

3. อาการผิดปกติจากเส้นประสาทถูก กด รัด คือ มือ แขน ปวด ชา มีความรู้สึกผิดปกติบริเวณแขนด้านใน และมือลีบ อ่อนแรงได้

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ของกลุ่มอาการทีโอเอส จะเกิดขึ้นข้าง/ด้านเดียว แต่อาจพบเกิด 2 ข้างได้ ทั้งนี้ การที่กลุ่มอาการจะเกิด ข้างเดียว ข้างซ้าย ขวา หรือ 2 ข้าง ขึ้นกับสาเหตุ

อนึ่ง อาการทั้งหมดนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว ไหล่ แขน บ่อยๆ และต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน อาการที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับอวัยวะใดถูกกด รัด ในผู้ป่วยบางราย ถ้าถูกกด รัด ทั้ง 3 อวัยวะ ก็จะมีอาการได้ทั้งหมด ทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการที่ชัดเจน บางรายก็มีอาการไม่ชัดเจน ขึ้นกับความรุนแรงของการ กด รัด และขึ้นกับ อวัยวะที่ถูก กด รัด

และเมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ อย่ารอจนมีการลีบของกล้ามเนื้อของไหล่ แขน หรือ ของมือ

อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น?

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และ/หรือ อาการรุนแรงขึ้น คือ

  • กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวข้อไหล่
  • หรือการกางแขนยกขึ้นสูงๆมากเกินไป(Hyper abduction)
  • หรือการปล่อยห้อยแขนตกลงมาข้างลำตัวอย่างรวดเร็ว
  • หรือ มีการดึงแขน กระชากแขน อย่างแรง

กลุ่มอาการทีโอเอสเกิดจากสาเหตุใด?

สาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการทีโอเอส คือ

  • เกิดจากพังผืด หรือ กระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 (First rib หรือ Cervical rib) กด รัด อวัยวะดังกล่าว ซึ่งสาเหตุจากกระดูกซีโครงซี่ที่ 1 ดัง กล่าว ส่วนใหญ่เป็นมาแต่กำเนิด (มักมีความผิดปกติของรูปร่างและขนาดของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 ทำให้เกิดเป็น แง่ หรือ เป็นแง่ง กด รัดอวัยวะดังกล่าวที่อยู่ใกล้เคียงแง่/แง่งนี้)
  • แต่ในบางรายก็เกิดจากอุบัติเหตุบริเวณกระดูกไหปลาร้า เช่น กระดูกไหปลาร้าหักบริเวณตรงกลาง (Mid clavicle) กระดูกส่วนที่หักจึงกดลงไปในช่องทางออกทรวงอก ก่อให้เกิดการ กด รัด อวัยวะในช่อง ทางออกทรวงอก ดังได้กล่าวแล้ว

กลุ่มอาการทีโอเอสพบบ่อยหรือไม่?

กลุ่มอาการทีโอเอส พบได้น้อยมาก เมื่อพบ

  • จะพบบ่อยกว่าในผู้หญิงวัยกลางคนกรณีที่เกิดจากความผิดปกติของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1
  • แต่ถ้าเกิดจากอุบัติเหตุนั้น พบได้ทั้งสองเพศ ไม่แตกต่างกัน

แพทย์ให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการทีโอเอสอย่างไร?

แพทย์ให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการทีโอเอส โดย

  • ใช้ข้อมูลจากประวัติอุบัติเหตุ และอาการของผู้ป่วยว่า มีอาการเข้าได้กับอวัยวะต่างๆดังกล่าวในตอนต้น ถูกกด รัด หรือไม่ โดยอาการดัง กล่าวนั้น
    • จะเป็นชัดเจนขึ้นเมื่อมีการใช้แขน ไหล่ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
    • โดยช่วงแรกที่มีอาการ อาจต้องทำงานนานๆ
    • ต่อมาการทำงานเป็นระยะเวลาสั้นลง ก็เริ่มมีอาการมากขึ้น
    • และถ้าปล่อยให้มีอาการดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน ก็จะมีอาการที่รุนแรงเด่นชัดมากขึ้น เช่น กล้ามเนื้อไหล่ แขน มือ ลีบ อ่อนแรง อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อฝ่ามือบริเวณอุ้งมือด้านนิ้วหัวแม่มือ
  • ซึ่งเมื่ออาการเข้าได้กับกลุ่มอาการนี้ แพทย์จะส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
    • เอกซเรย์ทรวงอก/ปอดหรือเอกซเรย์กระดูกต้นคอ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของบริเวณดังกล่าวหรือไม่ เช่น การพบความผิดปกติของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 เป็นต้น
    • แต่ถ้าไม่พบความผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ แพทย์ก็จำเป็นต้องส่งตรวจ เอมอาร์ไอของกระดูกคอ และของบริเวณช่องทางออกทรวงอก เพื่อตรวจหาว่ามีพังผืด หรือมีความผิดปกติอะไรไปกดรัดอวัยวะนั้นๆหรือไม่ อย่างไร

มีโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกลุ่มอาการทีโอเอสหรือไม่?

โรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายกันกับกลุ่มอาการทีโอเอสนั้น พบได้บ่อยกว่ากลุ่มอาการทีโอเอส มาก ซึ่งโรคเหล่านั้น ได้แก่

  • กระดูกต้นคอกดทับเส้นประสาทบริเวณต้นคอ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณต้นคอและแขน เป็นมากเวลามีการเคลื่อนไหวคอ จะมีอาการปวดร้าวตามรากประสาท (Nerve root) มากกว่า
  • เนื้องอกบริเวณปอดกลีบบน (Pancoast tumor) โตไปกดทับเส้นประสาทและระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีอาการของมะเร็งปอดร่วมกับอาการปวดไหล่ ปวดแขนมาก ในบางราย มีอาการหนังตาตก เหงื่อไม่ออกครึ่งซีกของใบหน้าและของลำตัวด้านเดียวกับที่เกิดอาการ/เกิดเนื้องอก
  • ภาวะหลอดเลือดอุดตัน จากสาเหตุอื่นๆ เช่น
    • จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก่อให้เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการของหลอดเลือดแขนอุดตัน แขนจะเกิดการขาดเลือดอย่างรวดเร็ว (ปวด เขียวคล้ำ)
  • ภาวะเลือดข้นผิดปกติ
  • หรือผู้ป่วยโรคหนังแข็ง (Scleroderma) เป็นต้น

กลุ่มอาการทีโอเอสรักษาหายหรือไม่? อย่างไร?

กลุ่มอาการทีโอเอส สามารถรักษาให้หายได้โดย

  • การผ่าตัดเอา ซี่โครงซี่ที่ 1 ที่ผิดปกติ หรือเอาพังผืดออก
  • แต่ถ้าอาการไม่รุนแรงอาจใช้วิธีรักษาด้วยการทานยาแก้ปวด และทำกายภาพบำบัด ซึ่งถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด

มีวิธีดูแลตนเองที่ช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการไหม?

วิธีดูแลตนเองที่อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการ คือ

  • ต้องลด หรือ งดการเคลื่อนไหวของแขนและข้อไหล่ด้านที่มีอาการ ที่กางแขนออกมากๆ เช่น
    • การยกของขึ้นสูงเหนือศีรษะ เอื้อมหยิบของด้านหลัง หรือการทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆเป็นระยะเวลานาน
  • นอกจากนั้น ยังป้องกันการเกิดอาการได้โดย ทำให้กล้ามเนื้อรอบหัวไหล่และบริเวณกระ ดูกไหปลาร้าแข็งแรง คือ
    • การออกกำลังกายโดย การยักไหล่ขึ้น และ มีการใช้มือกดต้านเป็นระยะๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงและมีกำลังมากขึ้น ทำให้ไม่มีไหล่ตก จนไป กด รัด เส้น ประสาท และ/หรือ หลอดเลือดได้

เมื่อเกิดอาการควรทำอย่างไรจึงจะบรรเทา?

เมื่อเกิดอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’

  • ควรหยุดทำกิจกรรมนั้นๆ
  • และต้องไม่ทำให้แขนนั้นห้อยตกลง
  • ต้องหาผ้ามาคล้องคอช่วยคล้องแขน เพื่อประคองไม่ให้แขนตก ซึ่งการที่แขนตกจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดถูกดึงรั้ง ก่อให้เกิดอาการได้

ผู้ป่วยกลุ่มอาการทีโอเอสเป็นอัมพาตได้หรือไม่?

ถ้าผู้ป่วยที่เส้นประสาทและหลอดเลือด ถูกกด รัดเป็นระยะเวลานาน ก็มีโอกาสที่ มือ และแขน จะอ่อนแรงเป็นอัมพาตได้

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นกลุ่มอาการทีโอเอส ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้มีอาการ และ/หรือ ทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น ดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ วิธีดูแลตนเองฯ’

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการบ่งบอกว่ามีการ กด รัด เส้นประสาท และ/หรือ หลอดเลือด มากขึ้น เช่น ไหล่ แขน และ/หรือ มือ ปวด ชา บวม หรือสีผิวคล้ำ หรือซีดมากขึ้น
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้องมาก ท้องเสียเรื้อรัง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันกลุ่มอาการทีโอเอสได้หรือไม่?

กลุ่มอาการทีโอเอส ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะสาเหตุการเกิด เป็นการเกิดแต่กำเนิด ยกเว้นกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุบริเวณไหล่ กระดูกไหปลาร้าหัก ที่การป้องกัน คือ การป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุจากรถชนิดต่างๆ หรือ จากการล้ม

วิตามินบำรุงเส้นประสาทป้องกันและรักษากลุ่มอาการทีโอเอสได้หรือไม่?

การรับประทานวิตามิน ไม่น่าจะป้องกันหรือรักษากลุ่มอาการทีโอเอสได้ เนื่องจากสา เหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ดังนั้นถ้าท่านมีอาการปวดบริเวณไหล่ แขน มือ และ/หรือ ร่วมกับมีผิวเปลี่ยนเป็นเขียวคล้ำ บวม ชา หลังจากทำงาน หรือ เคลื่อนไหวติดต่อกัน อย่างต่อเนื่องดังกล่าวในตอนต้นๆ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม