กลุ่มยาโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonadotropin-releasing hormone analogue)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 6 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?
- กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อย่างไร?
- กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อย่างไร?
- กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis / Chocolate cyst)
- โกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ฮอร์โมน (Gonadotropin releasing hormone drugs)
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary hormones)
- ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส (Hypothalamus hormones)
บทนำ: คือยาอะไร?
กลุ่มยาโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง(Gonadotropin-releasing hormone analogue) คือ กลุ่มยาที่นำมารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น มะเร็งเต้านม, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ภาวะมีบุตรยาก, ฯลฯ
ทั้งนี้ ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน-รีลิสซิง (Gonadotropin-releasing hormone ย่อว่า จีเอนอาร์เอช/GnRH) คือ ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัสชนิดที่ควบคุมการปล่อยฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าที่มีความสำคัญต่อการควบคุมระบบสืบพันธุ์ของร่างกายมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง โดยมีบทบาทควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิง
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ภายหลังนักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ฮอร์โมนดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ จึงมีการพัฒนาเป็นยาชนิดต่างๆที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับฮอร์โมนดังกล่าว (Analogue) ซึ่งคือ ‘กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง’ โดยนำมาใช้เป็นยาในการรักษาโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น
- มะเร็งเต้านม, มะเร็งต่อมลูกหมาก ชนิดที่อาศัยฮอร์โมนในการเจริญเติบโต
- รวมไปถึงภาวะที่ผิดปกติบางประการ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, เนื้องอกมดลูก
- และการนำไปใช้เพื่อช่วยในการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในภาวะมีบุตรยาก
ยาที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง อาจเป็นรูปแบบ’การกระตุ้น’การทำงาน (Agonist) หรือ 'ยับยั้ง' (Antagonist) ต่อตัวรับ(Receptor)ที่ต่อมใต้สมองส่วนหน้า
ในบทความนี้ จะพูดถึงบทบาทการทำงานของยานี้ที่มีลักษณะ’กระตุ้น’การทำงานของตัวรับ (ส่วนการยับยั้งการทำงานของตัวรับ แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ยาปิดกั้นตัวรับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน-รีลิสซิง(Gonadotropin-releasing hormone antagonist)’
ยาในกลุ่มโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง(Gonadotropin-releasing hormone analogue หรือ Gonadotropin-releasing hormone agonist หรือย่อว่า GnRH agonist หรือ GnRH-A ) จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทย ใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีข้อบ่งใช้หรือสรรพคุณในการรักษาโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ: เช่น
ก. มะเร็งชนิดที่ใช้ฮอร์โมนเพศในการเจริญเติบโต (Hormone Responsive Cancer): เช่น
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เช่น ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin) ยาโกเซอรีลิน (Goserelin) ยาฮีสทรีลิน (Histrelin) ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin) ยา ทริปโทริลิน (Triptorelin)
- มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เช่น ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin) ยาโกเซอรีลิน (Goserelin) ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin)
ข. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่: เช่น ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin) ยาโกเซอรีลิน (Goserelin) ยาทริปโทริลิน (Triptorelin)
ค. เนื้องอกมดลูก: เช่น ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin) ยาโกเซอรีลิน (Goserelin) ยาฮีสทรีลิน (Histrelin) ยาทริปโทริลิน (Triptorelin)
ง. รักษาภาวะมีบุตรยาก/ใช้เพื่อการปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro Fertilization; IVF): เช่น ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin) ยาโกเซอรีลิน (Goserelin) ยาทริปโทริลิน (Triptorelin)
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ระบบสืบพันธุ์ของร่างกาย มีความสัมพันธ์กับระบบต่อมไร้ท่อหรือกับฮอร์โมนเพศอย่างใกล้ชิด ฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง สร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ โดยกระตุ้นการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) ให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง (Follicle Stimulating Hormone; FSH) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone; LH) เพื่อไปกระตุ้นเนื้อเยื่อฟอลลิเคิล (Follicle) ในรังไข่ ให้เกิดการสร้างฮอรโมนเอสโตรเจน (Estrogen)ในผู้หญิง, ส่วนในชาย จะกระตุ้นการเจริญของอัณฑะ เพื่อการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) และการสร้างอสุจิ
ซึ่งการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนดังกล่าว จะเกิดขึ้นในช่วงแรกประมาณ 2 สัปดาห์แรก หลังจากนั้น จะเกิดการยับยั้งสะท้อนกลับ/การป้อนกลับทางลบ (Negative feedback) โดยลดการกระตุ้นการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า ทำให้ปริมาณฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง และฮอร์โมนลูทิไนซิงลดลง ทำให้ลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมสเทสโทสเทอโรนในระยะยาว จึงมีการนำมาใช้รักษา มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก ชนิดที่อาศัยฮอร์โมนเพศในการเจริญเติบโต
นอกจากนี้ ยังมีการนำมาใช้รักษาโรคอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่:โดยอาศัยหลักการการลดการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนภายหลังใช้ยาไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ทำให้ลดการทำงานของรังไข่ ทำให้รอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดทีเกิดการฝ่อ
- โรคเนื้องอกมดลูก: โดยอาศัยหลักการการลดการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Hypoestrogenic pseuomenopause) ทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงได้
- ส่วนการนำมาใช้เพื่อใช้ในกระบวนการเด็กหลอดแก้วนั้น (In vitro fertilization) มีการนำหลักการของยานี้มาใช้ใน 2 รูปแบบ คือ
- ยับยั้งไม่ให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ใช้ในการกระตุ้นการตกไข่ หรือ ยับยั้งการตกไข่ก่อนวันที่กำหนด (ใช้หลักการการลดการทำงานของรังไข่เมื่อให้ยานี้ในระยะยาว) และ
- การให้ยานี้เพื่อกระตุ้นการตกไข่ (เมื่อใช้ยาในระยะสั้น)
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรงที่จัดจำหน่าย: เช่น
ก. ยาบูว์เซอรีลิน (Buserelin): มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรงของยาที่จัดจำหน่าย:
- ยาฉีดปราศจากเชื้อ (Sterile Solution for Injection): ขนาดความแรง 1 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร (1mg/mL)
- ยาน้ำพ่นจมูก/ยาพ่นจมูก (Nasal Spray): ขนาดความแรง 1 มิลลิกรัมต่อการพ่นหนึ่งครั้ง
- ยาฉีดปราศจากเชื้อ ชนิดดีโพ (ฉีดฝังยาในชั้นผิวหนัง แล้วยาค่อยๆ ปล่อยออกมาจากจุดที่ฉีดอย่างช้าๆ): ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม ต่อบรรจุภัณฑ์ของยา
ข. ยาโกเซอรีลิน (Goserelin): เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ชนิดฉีดฝังใต้ผิวหนัง (Implant; prefilled syringe) ขนาดความแรง 3.6 มิลลิกรัม และ 10.8 มิลลิกรัม (ชนิดออกฤทธิ์ยาว) ต่อการฉีดหนึ่งครั้ง
ค. ยาฮีสทรีลิน (Histrelin): เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาฝัง (Implant), ใน 1 ชิ้นของยาฝังจะประกอบด้วย ตัวยา 50 มิลลิกรัม และตัวยาที่อยู่ในรูปเพลเลต(Pellets, รูปแบบการปลดปล่อยยาชนิดหนึ่ง) อีก 52 มิลลิกรัม
ง. ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin): เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาผงปราศจากเชื้อเพื่อผสมเป็นยาฉีด (Powder for Injection) ขนาดความแรงดังต่อไปนี้
- ชื่อการค้าอีลิการ์ด (Eligard): ประกอบไปด้วยขนาดความแรง 5, 22.5, 45 มิลลิกรัมต่อการฉีดหนึ่งครั้ง
- ชื่อการค้าอีแนนโทน (Enantone): ประกอบไปด้วยขนาดความแรง 88, 3.75, 11.25 และ 30 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุหนึ่งขวด
จ. ยาทริปโทริลิน (Triptorelin): มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาผงพร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด, ขนาดความแรง 0.1 มิลลิกรัม ต่อขวด, ใช้ร่วมกับยาที่มีรูปแบบการปลดปล่อยนาน (Prolonged Release, P.R.) ขนาดความแรง 11.25 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุหนึ่งขวด
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง มีขนาดการใช้ยาขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยา และประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น น้ำหนักตัว, ภาวะการทำงานของตับและไต, รวมถึงโรคอื่นที่กำลังเป็นร่วมอยู่, ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการใช้ขนาดยาต่อผู้ป่วยเฉพาะรายไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยากลุ่มยาปิดกั้นตัวรับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะยาต้านชัก/ยากันชัก หรือยาที่มีส่วนผสมของเสตียรอยด์ชนิดรับประทาน
- ประวัติโรคประจำตัวที่เคยเป็นหรือที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน ประวัติโรคปวดหลัง โรคเบาหวาน ภาวะปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัดในผู้ชาย หรือภาวะมีเลือดไหลทางช่องคลอดที่ผิดปกติในผู้หญิง โรคหัวใจ และโรคตับ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร โดยทั่วไปยาในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยา แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ซึ่งขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา และหากตรวจพบว่าเกิดการตั้งครรภ์ขณะใช้ยาในกลุ่มนี้ ให้แจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที
- หากผู้ใช้ยานี้ มีความประสงค์ที่จะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ และผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องทำการคุมกำเนิดไปอีกระยะหนึ่งภายหลังการรักษาหรือหยุดยา ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกรถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังหยุดการใช้ยานี้
หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?
หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ใช้ยา ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อนัดหมายการรับการบริหารยาครั้งต่อไป
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง) เช่น ปวดหัว รู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก เหนื่อยล้า อ่อนแรง สูญเสียการรับรสชาติ รู้สึกตึงบริเวณเต้านม (คัดตึงเต้านม) ความต้องการทางเพศลดลง รู้สึกคันผิวหนัง ผิวแห้ง มีของเหลว/สารคัดหลั่ง/ตกขาวไหลจากช่องคลอด รู้สึกกระวนกระวาย หรือ ซึมเศร้า, ทั้งนี้ อาจมีอาการนอนไม่หลับ *ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น หรือไม่ทุเลาลง ให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
*ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ เช่น ปวดบริเวณ มือ หลัง คอ และกราม พูดช้าลงหรือพูดลำบาก วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง คล้ายจะเป็นลม ปวดกระดูก ปัสสาวะลำบาก เหนื่อยล้าอย่างมาก การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือตาพร่ามัว ปากคอแห้ง *รวมไปถึงหากเกิดอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคันขึ้นตามตัว ริมฝีปากและเปลือกตา/หนังตาบวม หายใจลำบาก *ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยาในกลุ่มนี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมาก มีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง เช่น
- ไม่ใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือการใช้ต้องอยู่ภายใต้วิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้กับยาอื่นที่อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG, เช่น มีภาวะคิวทียาว/QT prolongation) เช่น ยาในกลุ่มยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยาฆ่าเชื้อบางชนิด(เช่น ยาโมซิฟลอกซาซิน/Moxifloxacin), หรือยารักษาอาการโรคจิตเภท (เช่น ยาโคลซาพีน/Clozapine ยาฮาโลเพอริดอล /Haloperidol ยาโอแลนซาพีน/ Olanzapine ยาควิไทอาพีน/Quetiapine) เป็นต้น
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหา มวลกระดูกต่ำ(เช่น โรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน), ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ, ผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ/ เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัดขณะใช้ยานี้
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน ไม่มีปฏิกิรยาะหว่างยากับยาชนิดอื่นอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาที่อาจทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น คิวทียาว (QT prolongation) เช่น
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ: เช่นยา ควินิดีน (Quinidine), ไดโซไพรไมด์ (Dysopyramide), อะมิโอดาโรน (Amiodarone), โซทาลอล (Sotalol), โดฟีทีไลด์ (Dofelitide), ไอบูลิไทด์ (Ibulitide)
- รวมไปถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ: เช่น ยาโมซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin)
- และยารักษาอากาโรคจิตเภท: เช่นยา โคลซาพีน (Clozapine), ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), โอแลนซาพีน (Olanzapine), ควิไทอาพีน (Quetiapine)
ควรเก็บรักษากลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง อย่างไร?
ควรเก็บรักษากลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิง: เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นจากที่มีแสงแดดส่องโดยตรง
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อนึ่ง: ยาบางชนิดอาจมีวิธีการเก็บรักษาเฉพาะ จึงควรติดต่อฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายาที่ถูกต้อง หรือสอบถามจากเภสัชกรขณะรับยานี้
กลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาในกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย เช่น
ชื่อสามัญทางยา |
ชื่อการค้า |
บริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย |
บูว์เซอรีลิน (Buserelin) |
ซูพรีแฟ็ก (Suprefact) |
บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด |
รีเซฟทัล (Receptal) |
บริษัท อินเตอร์เว็ท (ประเทศไทย) จำกัด |
|
โกเซอรีลิน (Goserelin) |
โซลาเด็กซ์ (Zoladex) |
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด |
ฮีสทรีลิน (Histreline) |
แวนตาส (Vantas) |
บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) |
ลิวโพรรีลิน (Leuprorelin) |
อีนานโทน (Enantone) |
บริษัท ทาเคดา จำกัด |
อีลิการ์ด (Eligard) |
บริษัท แอสเทลลัส ฟาร์มา (ไทยแลนด์) จำกัด |
|
ทริปโทริลิน (Triptorelin) |
ดิเฟอเรลีน (Diphereline) |
บริษัท เอ.เมนารินี (ประเทศไทย) จำกัด |
ดีคาเปปทิล (Decapeptyl) |
บริษัท เฟอร์ริ่ง ฟาร์มาซูติคัลส์ จำกัด |
บรรณานุกรม
- ชัยเลิศ พงษ์นริศร: https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/myoma-adenomyosis/ [2022, Aug6]
- พัทยา เฮงรัศมี. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis). ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1063 [2022, Aug6]
- กุลภัฒน์การแพทย์สหคลินิก. การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF). http://kullapat.com/index.php?page=pagepreview&pagetype=1&pageids=16 [2022, Aug6]
- Lahlou N, Carel JC, Chaussain JL, Roger M. Pharmacokinetics and pharmacodynamics of GnRH agonists: clinical implications in pediatrics. J Pediatr Endocrinol Metab. 2000;13-1:723–37.
- Sankaran S, Manyonda IT. Medical management of fibroids. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol. 2008;22(4): 655–76.
- https://www.webmd.com/women/endometriosis/understanding-endometriosis-treatment [2022, Aug6]
- MIMS Thailand Online. Diphereline, Decapeptyl, Enantone, Eligard, Zoladex. www.mims.com
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/7855 [2022, Aug6]
- http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503180941.pdf [2022, Aug6]