กลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ระบบภูมิคุ้มกัน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายช่วยในการป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกหรือจากภายในของร่างกายเอง โดยทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ผ่านกระบวนการต่างๆ ในผู้ป่วยบางราย พบว่าระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกายไม่เป็นปกติ ก่อให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะ/โรคต่างๆ หรือในบางครั้งที่เราต้องการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ต่ำลงกว่าปกติเพื่อลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันจากสิ่งแปลกปลอม เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ อวัยวะภายนอกถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม หากระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้รับการควบคุม ร่างกายก็อาจเกิดการต่อต้านอวัยวะใหม่ที่ได้รับมาได้ จึงเป็นที่มาของการใช้ยาเพื่อลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันหรือยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีหลายชนิดขึ้นกับกลไกการออกฤทธิ์ของแต่ละตัวยา

แคลซินูริน (Calcineurin) เป็นเอนไซม์ในเซลล์ที่ทำหน้าทีกระตุ้นการทำงานของ T-lymphocyte (T-cell) ที่เป็นเซลล์เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ถือเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายของยาต่างๆที่สำคัญที่ช่วยลดการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กลุ่มยาเพื่อวัตถุประสงค์นี้เรียกว่า “กลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitors)” อย่างไรก็ดี การใช้ยาในกลุ่มนี้ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ และควรใช้เมื่อมีการสั่งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ในการลดการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย จึงมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือ ภาวะที่ต้องการให้ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่ในการควบคุม ข้อบ่งใช้ที่ได้รับการจดทะเบียน ได้แก่

ก. โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

ข. โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

ค. ใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ/ป้องการการปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะ

ง. โรคไตรั่ว หรือ กลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือ ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ (Nephrotic syndrome)

จ. โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีบทบาทสำคัญในการป้องกันอันตรายร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม ซึ่งอาจเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างเช่นจุลินทรีย์หรือเชื้อก่อโรคชนิดต่างๆ รวมไปถึงสารเคมี เซลล์แปลกปลอมต่างๆที่เข้ามาในร่างกาย ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นระบบที่มีความซับซ้อน เป็นการทำงานร่วมกับของเซลล์และโปรตีนหลายชนิด เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมที่สำคัญประกอบไปด้วยเซลล์สองกลุ่มคือ กลุ่มทีเซลล์ (T cell) และกลุ่มบีเซลล์ (B cell) (ในบทความนี้จะกล่าวถึงทีเซลล์เท่านั้นเนื่องจากเป็นเซลล์ที่มีความสัมพันธ์กับการทำงานของแคลซินูริน) และโปรตีนสื่อสารที่สำคัญคืออินเตอร์ลิวคิน (Interleukin) ที่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมมากระตุ้น

ทีเซลล์ เป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมอย่างจำเพาะเจาะจง โดยจะสร้างตัวรับ(Receptor)จำเพาะกับสิ่งแปลกปลอม อย่างไรก็ดี การกระตุ้นการทำงานของทีเซลล์ประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน หนึ่งในนั้นคือการกระตุ้นแคลซินูริน ซึ่งเมื่อแคลซินูรินได้รับการกระตุ้นแล้ว ก็จะเหนี่ยวนำให้เกิดการกระตุ้นอินเตอร์ลิวคิน 2 (Interleukin 2) ซึ่งจะไปทำหน้าที่กระตุ้น ทีเซลล์ ให้ทำงานกำจัดเซลล์สิ่งแปลกปลอมต่างๆ

ในบางภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติหรือมากเกินไป เช่น การเกิดโรคสะเก็ดเงิน หรือในบางภาวะที่ต้องการควบคุมไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานต่อต้านสิ่งแปลกปลอมได้อย่างปกติ เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน จะเข้ายับยั้งการทำงานของแคลซินูริน ทำให้ทีเซลล์ไม่ได้รับการกระตุ้นการทำงาน การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมก็จะลดลง

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาในกลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย ดังต่อไปนี้ เช่น

1. ยาไซโคลสปอริน (Ciclosporin/Cyclosporin):

  • ชนิดแคปซูลรับประทาน (Neoral) ซึ่งเป็นรูปแบบไมโครอีมัลชัน (Microemulsion) ขนาดความแรง 25 และ 100 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
  • ชนิดแคปซูลรับประทาน (Sandimmune) รูปแบบคือ ปลดปล่อยยาทันที (Immediate Release) ขนาดความแรง 25 และ 100 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (50mg/mL) ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (100mg/mL) ขนาดบรรจุ 50 มิลลิลิตร

2. ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus):

  • ชนิดแคปซูลรับประทานออกฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง ขนาดความแรง 0.5, 1 และ 5 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
  • ชนิดแคปซูลรับประทาน ขนาดความแรง 0.5, 1 และ 5 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (5 mg/mL) ขนาดบรรจุ 1 มิลลิลิตร
  • ยาขี้ผึ้งสำหรับใช้ทาภายนอก ขนาดความแรง 0.03% และ 0.1%

3. ยาซิโรลิมัส (Sirolimus):

  • ชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 0.5, 1 และ 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ชนิดยาน้ำสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (1 mg/mL) ขนาดบรรจุ 60 มิลลิลิตร

4. ยาพิมิโครลิมัส (Pimecrolimus):

  • ยาครีมใช้ภายนอก ขนาดความแรง 1%

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารของยา/ใช้ยาในกลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินขึ้นกับข้อบ่งใช้ของแต่ละโรค สภาวะของผู้ป่วย น้ำหนักตัว สภาวะการทำงานของตับและไต และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นกรณีๆไป

เมื่อมีการสั่งกลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งกลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • แจ้งประวัติการแพ้ยา หรือแพ้สารเคมีให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบ
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบถึงประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่
  • แจ้งให้ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทราบถึงประวัติโรคต่างๆทั้งที่เป็นมาในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะหากเคยมีประวัติคลอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ มีแมกนีเซียมในเลือดต่ำ มีปัญหาเรื่องขาดสารอาหาร หรือโรคเกี่ยวกับการดูดซึมอาหาร โรคความดันโลหิตสูง มีโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาลทราบว่า กำลังใช้ยาในกลุ่มนี้หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด รวมไปถึงการผ่าตัดทางทันตกรรม (ในช่องปาก) ด้วย
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างการใช้ยานี้ ให้รีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ทำการรักษาดูแลโดยทันที
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ หากกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ให้นมบุตรระหว่างการใช้ยาในกลุ่มนี้
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบ หากมีความประสงค์ในการเข้ารับวัคซีน ห้ามรับวัคซีนโดยไม่แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบว่ากำลังใช้ยาในกลุ่มนี้

หากลืมกินยา/ใช้ยาในกลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยายับยั้งแคลซินูริน ให้ทานยา/ใช้ยามื้อที่ลืมโดยเร็วที่สุด หากใกล้กับเวลามื้อยาถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปทานมื้อยาถัดไปเลย โดยทั่วไปไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

กรณีลืม/ไม่สามารถมารับยายับยั้งแคลซินูรินชนิดฉีดได้ ต้องรีบแจ้ง แพทย์/ พยาบาล/ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทราบทันที เพื่อรับการนัดหมายให้ยาใหม่

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งแคลซินูริน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสียหรือท้องผูก แสบร้อนกลางอก เกิดอาการสั่นตามบางส่วนของร่างกายโดยไม่สามารถควบคุมได้ แน่นท้อง ท้องเฟ้อ มีลม/แก๊สในท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เป็นตะคริว

ส่วนยาไซโคลสปอริน อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มเติม เช่น มีขนขึ้นบริเวณ ใบหน้า ขา หรือหลัง ภาวะเหงือกโต เกิดสิว รู้สึกร้อนวูบวาบ รู้สึกแสบร้อน รู้สึกซ่าตามผิวหนัง มีเต้านมในผู้ชาย/ผู้ชายมีเต้านม นอนไม่หลับ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลงหรือเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/มาโรงพยาบาลก่อนวันแพทย์นัด

หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น เกิดผิวหนังซีด หรือผิวหนังและตาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเหมือนดีซ่าน เกิดอาการลมชัก หมดสติ อารมณ์เปลี่ยนไป ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายยาก การมองเห็นเปลี่ยนไป สับสน เกิดอาการบวมของมือ แขน ขาและข้อเท้า ปัสสาวะลดลง เจ็บหรือปวดเวลาปัสสาวะ เกิดอาการเลือดไหลอย่างผิดปกติ หรือเกิดอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นขึ้นตาม เนื้อตัว ใบหน้า ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยานี้ทันทีและรีบข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานั้น เนื่องจากเห็นว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าโทษ อย่างไรก็ดี หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ป่วยต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อหาวิธีที่จะรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุดต่อไป

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน เช่น

  • ไม่ใช้ยาในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือส่วนประกอบของยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลเกรปฟรุต (Grapefruit)
  • การใช้ยาไซโคลสปอริน อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะไตถูกทำลายได้ ดังนั้นจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีประวัติ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไต และเข้าพบแพทย์/มาโณรพยาบาลโดยทันทีหากมีอาการ มึนงง แขน มือ เท้า ข้อเท้า หรือขาช่วงล่างเกิดอาการบวม หายใจเร็วและถี่ คลื่นไส้ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ยาในกลุ่มนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อ หรือเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เนื่องจากยามีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกัน หากมีประวัติเกี่ยวกับโรคมะเร็ง หรือมีอาการเหมือนเกิดการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไอ ปัสสาวะไม่สะดวก/ปัสสาวะขัด เจ็บเวลาปัสสาวะ เกิดก้อนนูนตามผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เหงื่อออกกลางคืน ต่อมน้ำเหลืองบริเวณ คอ รักแร้ หรือช่วงขาหนีบบวม ปวด/เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เหนื่อยล้า ปวดท้อง ควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ยาทาโครลิมัส อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ จึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้งที่มีแดดส่องแรงหรือมีแสงอัลตราไวโอเลต ควรสวมเสื้อแขนยาที่ปกป้องผิวหนัง หรือทาครีมกันแดด ได้ตามแพทย์สั่ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยายับยั้งแคลซินูริน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน จะถูกเปลี่ยนรูปเพื่อขับออกทางร่างกายผ่านเอนไซม์ CYP3A4 (เอนไซม์ในการเมทาบอไลต์/Metabolite ยาที่พบมากในตับ) จึงมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่มีผลในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ยาถูกสะสมในร่างกายในปริมาณที่สูงขึ้น จนเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยายับยั้งแคลซินูรินได้ ยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวมีจำนวนมาก อาทิ ยาคีโนโคนาโซล (Ketoconazole) ที่มีฤทธิ์ในการรักษาการติดเชื้อรา, ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, และยาต้านไวรัสเอชไอวีบางชนิด เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา จึงควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา

ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินอย่างไร?

โดยทั่วไป การเก็บรักษายายับยั้งแคลซินูริน ให้เก็บในอุณหภูมิห้อง 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บในที่แห้ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง หรือใกล้กับบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณห้องน้ำ หรือห้องครัว เก็บให้มิดชิด และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์ฌลี้ยง อย่างไรก็ดี ยายับยั้งแคลซินูรินบางชนิดอาจมีวิธีเก็บรักษาพิเศษ ควรปรึกษาเภสัชกรและฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายา

กลุ่มยายับยั้งแคลซินูรินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตดังต่อไปนี้ เช่น

บรรณานุกรม

  1. Drug Information: Cyclosporin, Tacrolims. Sirolimus, Pimecrolimus www.uptodate.com [2018,Jan27]
  2. Medication Information medlineplus.gov Cyclosporin, Tacrolims. Sirolimus, Pimecrolimus
  3. Kyle N. Utecht; Jon J. Hiles; Jill Kolesar. Effects of Genetic Polymorphisms on the Pharmacokinetics of Calcineurin Inhibitors. Am J Health Syst Pharm. 2006;63(23):2340-2348.Yamashita M, Katsumata M, Iwashima M, et al. T cell receptor-induced calcineurin activation regulates T helper type 2 cell development by modifying the interleukin 4 receptor signaling complex. J. Exp. Med. 2000; 191 (11): 1869–79.
  4. บทที่ 14 Immunity System. คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้. www.as.mju.ac.th/E-Book/t_sompong [2018,Jan27]