กลืนแร่แก้มะเร็ง (ตอนที่ 4)

กลืนแร่แก้มะเร็ง-4

      

วิธีการรักษา (ต่อ)

  • การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapies) โดยไม่ทำลายเซลล์ที่ดี ซึ่งวิธีนี้จะแนะนำให้ใช้กรณีที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง (Metastatic thyroid cancer) ไปยังส่วนอื่นของร่างกายและรักษาด้วยไอโอดีนรังสีไม่ได้ผล โดยยาหลัก 3 ชนิดที่ใช้ในการรักษามะเร็งไทรอยด์วิธีนี้ ได้แก่

      o Cabozantinib

      o Lenvatinib

      o Sorafenib

  • เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นวิธีที่ไม่ค่อยใช้ในการรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์ อย่างไรก็ดี อาจใช้ในกรณีที่รักษาโรคมะเร็งไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติกที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย
  • การรักษาด้วยไอโอดีนรังสี (Radioactive iodine treatment = RAI) เป็นการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี เป็นวิธีที่มักแนะนำให้ใช้หลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่และลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวก่อนการรักษาและการระวังตัวหลังการรักษา

ทั้งนี้ หลังการรักษาที่มีการตัดต่อมไทรอยด์ออก ร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้เหมือนปกติ แพทย์จึงต้องจ่ายยาทดแทนฮอร์โมนเพื่อป้องกันภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive thyroid) ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวเพิ่ม และผิวแห้ง

นอกจากนี้ เนื่องจากต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid glands) ที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดและอยู่ใกล้เคียงกับต่อมไทรอยด์อาจได้ผลกระทบระหว่างการผ่าตัด จะทำให้ระดับแคลเซียมลดลงชั่วคราว แพทย์จึงอาจให้อาหารเสริมแคลเซียมจนกว่าร่างกายจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการรักษาและตัดต่อมไทรอยด์ออกแล้วก็ตาม ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งไทรอยด์ได้อีกหากเซลล์มะเร็งได้มีการกระจายตัวออกไปก่อนการตัดออก ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งไทรอยด์ซ้ำบริเวณตำแหน่งที่เชื้อกระจายไปดังนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ
  • บริเวณที่เคยผ่าตัดและมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด
  • บริเวณอวัยวะอื่นของร่างกาย เช่น ปอด กระดูก

ดังนั้น ภายหลังการรักษาจึงต้องมีการติดตามผลการตรวจ (Follow-up tests) เป็นประจำ เช่น

  • การตรวจเลือด (Blood test) – เพื่อหาสารมะเร็ง
  • การอัลตราซาวด์
  • การตรวจไทรอยด์สแกน (Radioisotope scan)

และเนื่องจากแพทย์ยังทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งไทรอยด์ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบถึงวิธีป้องกัน สิ่งที่ทำได้คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

แหล่งข้อมูล:

  1. Thyroid cancer.https://www.nhs.uk/conditions/thyroid-cancer/[2020, August 24].
  2. Thyroid cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/thyroid-cancer/symptoms-causes/syc-20354161 [2020, August 24].