กลืนแร่แก้มะเร็ง (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 24 สิงหาคม 2563
- Tweet
เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งไทรอยด์ แต่การกลายพันธุ์ของเซลล์ที่ผิดปกติทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งชนิดของเซลล์ที่พบในก้อนเนื้อจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ชนิดไหน และใช้เป็นตัวกำหนดวิธีการรักษาและพยากรณ์โรค
ทั้งนี้ มะเร็งไทรอยด์สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด หลักๆ ได้แก่
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary thyroid cancer) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 80 ของการเกิดมะเร็งไทรอยด์) เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular cells) ซึ่งผลิตและเก็บฮอร์โมนไทรอยด์ มะเร็งไทรอยด์ชนิดนี้สามารถเกิดได้ในคนทุกวัย แต่ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุระหว่าง 30-50 ปี โดยเฉพาะผู้หญิง
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular thyroid cancer) เป็นชนิดที่พบยาก (ร้อยละ 10) เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ด้วยเช่นกัน มักเกิดในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic thyroid cancer) เป็นชนิดที่พบยากแต่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ เป็นชนิดที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและรักษาได้ยาก มักเกิดกับผู้สูงวัยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดูลลารี (Medullary thyroid cancer) เกิดที่เซลล์ไทรอยด์ที่ชื่อว่า C cells ซึ่งมีหน้าที่ผลิต ฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) โดยระดับฮอร์โมนชนิดนี้สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดูลลารีในระยะแรก
- มะเร็งไทรอยด์ชนิดอื่นที่พบยาก เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid lymphoma) ที่มีจุดเริ่มที่เซลล์ระบบภูมิต้านทานของต่อมไทรอยด์ และมะเร็งของต่อมไทรอยด์ (Thyroid sarcoma) ที่มีจุดเริ่มที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ของต่อมไทรอยด์
ทั้งนี้ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี และชนิดฟอลลิคูลาร์ อาจเรียกอีกอย่างว่าเป็น มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีน (Differentiated thyroid cancer) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่รักษาง่ายกว่าชนิดอื่น
มะเร็งไทรอยด์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอในเซลล์ไทรอยด์ที่ควบคุมการเจริญเติบโตไม่ได้ จึงเกิดเป็นก้อน อย่างไรก็ดี ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไทยรอยด์ ได้แก่
- สภาวะไทรอยด์อื่น เช่น ภาวะที่มีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ (Thyroiditis) หรือ โรคคอพอก (Goitre)
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์
- ได้รับรังสีในระดับที่สูงบริเวณศีรษะและลำคอ
- เป็นโรคอ้วน
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Familial adenomatous polyposis = FAP)
- โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) ที่ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ได้สูง
- เพศ – ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า
แหล่งข้อมูล:
- มะเร็งไทรอยด์ ตรวจพบเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้. https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/145905 [2020, August 23].
- Thyroid cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/thyroid-cancer/symptoms-causes/syc-20354161 [2020, August 23].