กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยากริซีโอฟูลวินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยากริซีโอฟูลวินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยากริซีโอฟูลวินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยากริซีโอฟูลวินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยากริซีโอฟูลวินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากริซีโอฟูลวินอย่างไร?
- ยากริซีโอฟูลวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายากริซีโอฟูลวินอย่างไร?
- ยากริซีโอฟูลวินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
ทั่วไป
ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) เป็นยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน มีการนำยามาใช้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ สำหรับมนุษย์มักนำมารักษาอาการติดเชื้อราตามผิวหนังและเล็บมือเล็บเท้า ยานี้ถูกสกัดได้จากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘โมลด์ (Mold, ราชนิดหนึ่งที่เซลล์มีลักษณะเป็นเส้นใย)’ ชนิดที่มีชื่อเจาะจงว่า Penicillium griseofulvum
หากพิจารณาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากริซีโอฟูลวินจะพบว่า การดูดซึมจากทางเดินอาหารมีช่วงกว้างมาก กล่าวคือ 25 - 70% ระดับยาในกระแสเลือดจะเพิ่มสูงสุดโดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยากริซีโอฟูลวิน ร่างกายต้องใช้เวลา 9 - 21 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
องค์การอนามัยโลกจัดให้กริซีโอฟูลวินเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุกริซีโอฟูลวินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการรักษาจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยากริซีโอฟูลวินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากริซีโอฟูลวินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาการติดโรคเชื้อรา ที่ ผม ผิวหนัง เล็บมือ เล็บเท้า
ยากริซีโอฟูลวินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากริซีโอฟูลวินคือ ตัวยาจะยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเชื้อราในระยะที่เรียกว่าเมตะเฟส (Metaphase) ยานี้ยังเข้าไปรวมกับเคอราติน (Keratin) ที่ผิวหนังของผู้ป่วย ทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับเชื้อรามีความคงทนและต่อต้านการติดเชื้อราได้
ยากริซีโอฟูลวินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยากริซีโอฟูลวิน:
- ยาเม็ดขนาด 125 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
ยากริซีโอฟูลวินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากริซีโอฟูลวิน มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. การติดเชื้อราที่ผมและผิวหนัง: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 กรัม/วันเป็นเวลา 2 - 8 สัปดาห์ สามารถแบ่งรับประทานหรือจะรับประทานเพียงครั้งเดียวก็ได้ตามคำส่ะงแพทย์
ข. การติดเชื้อราที่เล็บมือ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 กรัม/วันเป็นเวลา 6 เดือน
ค. การติดเชื้อราที่เล็บเท้า: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 กรัม/วันเป็นเวลา 12 เดือนหรือมากกว่านั้นตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารทันที
- เด็ก: ขนาดยานี้ขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก และต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากริซีโอฟูลวิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากริซีโอฟูลวินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากริซีโอฟูลวินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยากริซีโอฟูลวินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากริซีโอฟูลวินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
- วิงเวียน
- สับสน
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- ซึมเศร้า
- อ่อนเพลีย
- นอนไม่หลับ
- ปลายประสาทอักเสบ (โรคเส้นประสาท)
- ผื่นแพ้แสงแดด
- ผื่นคัน
- ลมพิษ
- อาจพบโปรตีนในปัสสาวะ (พบได้จากการตรวจปัสสาวะ, URLในเว็บ haamor.com คือ ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ)
มีข้อควรระวังการใช้ยากริซีโอฟูลวินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากริซีโอฟูลวิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากริซีโอฟูลวิน
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ ผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องจากผลข้างเคียงของยา เช่น สับสน วิงเวียน อ่อนเพลียจากนอนไม่หลับ
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดหรือแสงจากหลอดไฟฟ้า
- ระหว่างการรักษาด้วยกริซีโอฟูลวิน ควรเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของไต ของตับ โดยควรมีการตรวจสอบผลเลือดเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยากริซีโอฟูลวินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้ง ให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยากริซีโอฟูลวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากริซีโอฟูลวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ ยารักษาโรคลมชัก/(ยากันชักยาต้านชัก, URL ในเว็บ haamor.com) เช่นยา Phenobarbital จะทำให้ลดการดูดซึมของยารักษาโรคลมชักจากระบบทางเดินอาหาร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา Estradiol และ Norethindrone/ Norethisterone acetate อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาคุมกำเนิดในกระแสเลือดลดต่ำลง และอาจส่งผลให้มีเลือดออกหรือเสี่ยงกับการตั้งครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ ยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่นยา Paracetamol จะทำให้เพิ่มความเป็นพิษกับตับ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะทำให้มีอาการใบหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามการใช้ยาร่วมกับแอลกอฮอล์
ควรเก็บรักษายากริซีโอฟูลวินอย่างไร?
ควรเก็บยากริซีโอฟูลวิน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซียลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยากริซีโอฟูลวินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากริซีโอฟูลวิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aofen (ออเฟน) | Medicine Products |
Fulvin (ฟูลวิน) | Burapha (Griseo (microcrystalline)) |
Fungivin (ฟังกิวิน) | The Forty-Two |
Fusovin (ฟูโซวิน) | Charoen Bhaesaj Lab |
Grifulvin (กริฟูลวิน) | General Drugs House |
Griseofulvin Acdhon (กริซีโอฟูลวิน แอคฮอน) | Acdhon |
Griseofulvin Chew Brothers (กริซีโอฟูลวิน ชิว บราเทอร์) | Chew Brothers |
Griseofulvin Picco (กริซีโอฟูลวิน พิคโค) | Picco Pharma |
Griseofulvin Pond’s Chemical (กริซีโอฟูลวิน พอนด์ส เคมีคอล) | Pond’s Chemical |
Griseofulvin T Man (กริซีโอฟูลวิน ที แมน) | T.Man Pharma |
Griseo-Med (กริซีโอ-เมด) | Utopian |
Grisflavin (กริสฟลาวิน) | Asian Pharm (Griseo (microcrystalline)) |
Grisin (กริซิน) | Chinta |
Grisovex (กริโซเวกซ์) | The United Drug (1996) |
Grivin (กริวิน) | Atlantic Lab |
K.B. Vinecin (เค.บี. วิเนซิน) | K.B. Pharma |
Mycovin (มายโควิน) | Community Pharm PCL |
Mycoxyl (มายโคซิล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Neofulvin (นีโอฟูลวิน) | Chew Brothers |
Trivanex (ทริแวเน็กซ์) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Griseofulvin [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=griseofulvin&page=0 [2020,Dec12]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fDrug%2finfo%2fgriseofulvin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Dec12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/griseofulvin-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Dec12]