กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- กระดูกอักเสบเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกระดูกอักเสบ?
- กระดูกอักเสบมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยกระดูกอักเสบได้อย่างไร?
- รักษากระดูกอักเสบอย่างไร?
- กระดูกอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- กระดูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันกระดูกอักเสบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย(Bacterial infection)
- เชื้อรา(Fungal infection)
- กระดูกหัก Bone fracture)
- โรคกระดูก(Bone disease)
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) / ซีทีสแกน (CT-scan)
- เอมอาร์ไอ (MRI / Magnetic Resonance Imaging)
- แคนดิไดอะซิส (Candidiasis)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
บทนำ
กระดูกอักเสบ หรือกระดูกอักเสบเป็นหนอง หรือกระดูกอักเสบติดเชื้อ (Osteomyelitis) คือโรคที่เกิดจากกระดูกติดเชื้อโรค ทั่วไปมักเป็นจากเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจพบจากติด โรคเชื้อราได้ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคน
แบคทีเรียที่พบเป็นสาเหตุกระดูกอักเสบมีได้หลากหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยคือ จากชนิด Staphylococcus aureus (แต่อาจพบเกิดจากแบคทีเรียหลายๆชนิดพร้อมๆกันได้บ่อยพอ ควร โดยเฉพาะกรณีเป็นกระดูกอักเสบเรื้อรัง) ส่วนเชื้อราที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยคือ ชนิด Candida(โรคแคนดิไดอะซิส)
กระดูกอักเสบเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นของร่างกาย ที่พบบ่อยคือ กระดูกขา กระดูกเท้า และ กระดูกสันหลัง โดยทั่วไปมักพบกระดูกอักเสบเกิดเพียงตำแหน่งเดียว แต่อาจพบเกิดหลาย ตำ แหน่งพร้อมกันได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย
พบกระดูกอักเสบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบบ่อยในผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี และในผู้มีอายุมากกว่า 50ปีขึ้นไป โอกาสเกิดเท่ากันทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย ทั้งนี้สถิติการเกิดกระดูกอักเสบจะแตกต่างกันในแต่ละสถานพยาบาล /โรงพยาบาลและในแต่ละประเทศ โดยขึ้นกับลักษณะปัจจัยเสี่ยงที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่
กระดูกอักเสบเกิดได้อย่างไร?
กลไกการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุกระดูกอักเสบเกิดได้ 3 ทางคือ
1. การติดเชื้อจากทางกระแสเลือด/กระแสโลหิต (Hematogenous osteomyelitis)
2. การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะใกล้เคียงกระดูกที่อักเสบติดเชื้อ และจากบาดแผลติดเชื้อที่ตัวกระดูกเอง (Contiguous-focus and post traumatic osteomyelitis)
3. การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อกระดูกขาดเลือดจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี (Osteomyelitis due to vascular insufficiency)
ก. ติดเชื้อทางกระแสเลือด (Hematogenous osteomyelitis): เชื้อโรคจากการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นๆแล้วเชื้อแพร่กระจายเข้ากระดูกทางกระแสเลือด ซึ่งพบเป็นสาเหตุได้ประมาณ 20%ของกระดูกอักเสบติดเชื้อทั้งหมด ได้แก่
- พบร่วมหรือตามหลังการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ปอดบวม
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- จากต้องใส่สายสวนอวัยวะต่างๆเป็นเวลานาน เช่น
- ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ
- ใส่สายสวนปัสสาวะในผู้ป่วยอัมพาตหรือในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดใหญ่
- ผู้ป่วยที่มีการล้างไต
- ฉีดยาด้วยเข็มที่ไม่สะอาด เช่น ในผู้ใช้สาร/ยาเสพติด
ข. ติดเชื้อจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะใกล้เคียงกระดูกอักเสบติดเชื้อแล้วลุกลามเข้ากระดูกและ/หรือจากอุบัติเหตุที่กระดูก(Contiguous-focus and post traumatic osteomyelitis): เช่น
- แผลโรคเบาหวานที่เท้า จะทำให้กระดูกเท้าอักเสบได้
- การผ่าตัดที่ข้อ อาจทำให้กระดูกข้อที่ผ่าตัดอักเสบติดเชื้อได้ หรือ
- จากการติดเชื้อจากผิวหนัง หรือ เครื่องมือต่างๆ เช่น
- กรณีกระดูกหักทะลุผิวหนัง
- การผ่าตัดกระดูก หรือการถูกแทง/ตำทะลุกระดูก
ค. การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อกระดูกขาดเลือดจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี (Osteomyelitis due to vascular insufficiency) : เพราะจะส่งผลให้มีแบคทีเรียคั่งอยู่ในเลือดมากกว่าปกติ ร่วมกับการที่เนื้อเยื่อขาดเลือด/ขาดออกซิเจน เนื้อเยื่อต่างๆรวมทั้งกระดูกที่ได้เลือดไม่เพียงพอจึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น
- ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดอักเสบและ/หรือหลอดเลือดตีบ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี
- ผู้ติดบุหรี่ เพราะสารพิษจากบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- ผู้ป่วยที่มีเลือดข้นผิดปกติ เช่น โรคเลือดหนืด
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกระดูกอักเสบ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกระดูกอักเสบ ได้แก่
- มีประวัติอุบัติเหตุหรือผ่าตัดกระดูกหรือข้อในระยะเวลา 1 - 3 เดือนก่อนเกิดกระดูกอัก เสบ แต่มีรายงานนานได้ถึง 1 ปี
- มีโรคที่ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนเลือด/ไหลเวียนโลหิตได้ไม่ดีเช่น โรคเบาหวาน, โรคเลือดหนืด, โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- มีโรคที่ต้องใส่สายสวนต่างๆทั้งผ่านทางหลอดเลือดและ/หรือสายสวนอวัยวะต่างๆ เช่น สายสวนปัสสาวะ
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่อง ร่างกายจึงติดเชื้อได้ง่ายในทุกอวัยวะที่รวมถึงกระ ดูก แต่แพทย์ยังไม่มีคำอธิบายว่า ทำไมผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจึงไม่ค่อยเกิดกระดูกอักเสบ
- ผู้ใช้สาร/ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดยา
กระดูกอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการของกระดูกอักเสบ ถ้าเกิดในช่วงเวลารวดเร็วประมาณ7 - 10 วัน เรียกว่า “กระดูกอักเสบเฉียบพลัน (Acute osteomyelitis)” แต่ถ้าอาการค่อยเป็นค่อยไป เป็นสัปดาห์ หลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน หรือเป็นๆหายๆ หรือมีหนองไหลออกจากกระดูกเรื้อรัง จะเรียกว่า “กระดูก อักเสบเรื้อรัง (Chronic osteomyelitis)” ซึ่งอาการของทั้งกระดูกอักเสบเฉียบพลันและของกระดูกอักเสบเรื้อรังจะคล้ายกัน
อาการที่พบได้บ่อยจากกระดูกอักเสบได้แก่
- มีไข้ อาจหนาวสั่นร่วมกับปวดกระดูกส่วนที่เกิดอักเสบ (มักพบในกระดูกอักเสบเฉียบพลัน)
- บวม เจ็บ กระดูกส่วนที่อักเสบ, ถ้าเป็นการอักเสบเฉียบพลัน ผิวบริเวณกระดูกอักเสบอาจมีสีแดง สัมผัสอุ่นหรือร้อนขึ้น
- เคลื่อนไหวกระดูกส่วนที่อักเสบได้น้อยหรือไม่ได้ ร่วมกับอาการเจ็บเมื่อเคลื่อนไหว
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โดยกรณีการอักเสบเฉียบพลัน อาจมีคลื่นไส้-อาเจียนร่วมด้วย
- ในกระดูกอักเสบเรื้อรังมักมีแผลและมีหนองไหล อาจมีเศษกระดูกที่ตายหลุดออกมาด้วย
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงกับกระดูกอักเสบ(ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ) เจ็บ โต คลำได้ เช่น กระดูกขาอักเสบ อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต เจ็บ ด้านเดียวกับกระดูกขาที่อักเสบ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ควรรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”
แพทย์วินิจฉัยกระดูกอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกระดูกอักเสบ ได้จาก
- ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต เช่น โรคประจำตัว, การเกิดอุบัติเหตุ, การผ่าตัดกระดูก
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจตำแหน่งที่มีอาการ
- เอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอกระดูก/อวัยวะส่วนที่มีอาการ
- การตรวจเชื้อและการเพาะเชื้อจากหนอง
- อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อกระดูกชิ้นที่มีอาการเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา รวมทั้งเพื่อนำมาเพาะเชื้อซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอนที่สุด
- นอกจากนั้นอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น
- การตรวจค่าน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน เป็นต้น
รักษากระดูกอักเสบอย่างไร?
วิธีรักษากระดูกอักเสบ มี 2 วิธีหลักได้แก่ การให้ยาฆ่าเชื้อและการผ่าตัด
ก. การให้ยาฆ่าเชื้อ: แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อ (เช่น ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุจาก แบคที เรีย หรือยาฆ่าเชื้อราเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคเชื้อรา) ที่มีคุณสมบัติตรงกับเชื้อที่ตรวจพบหรือที่เพาะเชื้อพบที่เป็นสาเหตุให้เกิดกระดูกอักเสบ มักเป็นการรักษาโดยให้ยาทางหลอดเลือดดำ และอาจต้องร่วมกับการรับประทานยาฆ่าเชื้อร่วมไปด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ที่ประเมินจากชนิดของเชื้อ, ความรุนแรงของการอักเสบ, กลไกการเกิดการอักเสบ, อวัยวะที่เกิดการอักเสบ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย
ข. การผ่าตัด: โดยแพทย์จะประเมินจากพยาธิสภาพของโรค รวมถึงการที่เชื้อโรคตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อหรือไม่ และการผ่าตัดทุกรูปแบบจะรักษาร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อเสมอซึ่งการผ่าตัดมีได้ตั้งแต่
- การเจาะหนองออก
- ผ่าตัดเปิดทางเดินให้หนองไหลออกจากกระดูกได้สะดวก
- ผ่าตัดเอาออกไปของ เศษกระดูก/กระดูกตาย, เนื้อเยื่อที่ตาย, และ/หรือ สิ่งแปลกปลอม(Foreign object)ในแผล/ในกระดูก เช่น เหล็กดามกระดูก(กรณีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อหลังใส่เหล็กดามกระดูกหัก) เพื่อเร่ง/เพิ่มการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อ/กระดูกเพื่อให้เนื้อเยื่อ/กระดูกที่ติดเชื้อได้รับเลือด/ออกซิเจนมากขึ้นที่เรียกว่า การทำ Debridement หรือ
- ผ่าตัดเพื่อปลูกกระดูกใหม่ (Bone graft) หรือ
- ถ้าโรครุนแรงมาก อาจต้องตัดกระดูกที่ติดเชื้อออกทั้งท่อน (Amputation) เช่น การตัดขา กรณีเกิดกระดูกขาอักเสบรุนแรงมากและเรื้อรัง
ค. การรักษาตามอาการ เช่น
- ยาลดไข้ เมื่อมีไข้
- ยาแก้ปวดกรณีมีอาการปวด
อนึ่ง มีรายงานการรักษาด้วยการเพิ่มออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อด้วยการสูดดมออกซิเจนบริสุทธิ์ภายใต้ความดันบรรยากาศสูงกว่าปกติที่เรียกว่า Hyperbaric oxygen (HBO/เอชบีโอ) therapy เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและ/หรือเชื้อรา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อบ่งชี้การรักษาได้ผลเฉพาะผู้ป่วยบางกรณี ดังนั้นจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
กระดูกอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากกระดูกอักเสบ เช่น
- เนื้อกระดูกตาย (Osteonecrosis) จำเป็นต้องผ่าตัดออก และบางครั้งอาจถึงต้องผ่าตัดกระดูกทั้งชิ้น
- อาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในข้อต่างๆ (Septic arthritis) ที่อยู่ข้างเคียงกระดูกชิ้นที่อักเสบ ส่งผลให้การรักษาควบคุมโรคซับซ้อนยุ่งยากยิ่งขึ้น
- ผิวหนังส่วนที่หุ้มกระดูกที่อักเสบ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นทางไหลผ่านของหนอง จะเกิดการอักเสบเรื้อรังตามไปด้วย จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนังได้ในระยะยาว
- ถ้ากระดูกอักเสบเกิดในเด็กหรือช่วงวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต กระดูกอักเสบจะส่ง ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและต่อส่วนสูงของเด็กจากกระดูกชิ้นที่อักเสบเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
กระดูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค(ความรุนแรง)ของกระดูกอักเสบขึ้นกับหลายปัจจัย ดังนั้นการพยากรณ์โรคจึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะพยากรณ์โรคได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญต่อการพยากรณ์โรค ได้แก่
- สุขภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วย
- โรคร่วมต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และการควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้ดีหรือไม่
- ชนิดของเชื้อโรคที่รุนแรง เช่น ติดเชื้อจากแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน, ติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ดื้อยา, โรคเชื้อรา
- ความรุนแรงของโรคก่อนพบแพทย์
- การพบแพทย์เร็วหรือช้า
ในภาพรวม:
- กระดูกอักเสบเฉียบพลันจะมีการพยากรณ์โรคดีกว่ากระดูกอักเสบเรื้อรังมาก ซึ่งถ้าพบแพทย์ได้เร็ว โอกาสรักษาได้หาย โดยไม่กลายเป็นกระดูกอักเสบเรื้อรัง ค่อนข้างสูง
- ส่วนกระดูกอักเสบเรื้อรัง การรักษามักได้ผลไม่ค่อยดี มีโอกาสการอักเสบเกิดเป็นซ้ำหรือลุกลามสูง จนอาจต้องผ่าตัดกระดูกทั้งชิ้นออก
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีกระดูกอักเสบ ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ถ้าสูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อการติดเชื้อจะควบคุมได้ดีขึ้น
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง ขึ้น เช่น มีหนองไหลจากกระดูกมากขึ้น
- มีอาการใหม่จากที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เกิดหนอง ถ้าเดิมไม่เคยมีหนอง
- อาการที่เคยรักษาหายแล้วกลับมาเป็นใหม่อีก เช่น กลับมามีไข้อีก
- กังวลในอาการ
ป้องกันกระดูกอักเสบอย่างไร?
การป้องกันกระดูกอักเสบคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวใน‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ซึ่งที่สำคัญคือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ และลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดกระดูกอักเสบ เช่น โรค เบาหวาน
- ป้องกันหรือถ้าเป็นโรคแล้วก็ต้องรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ถ้าสูบบุหรี่
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่อกระดูก เช่น ไม่ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่มอยู่ก็ต้องเลิก เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ รวมถึงจากการทะเลาะวิวาทที่จะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุต่อกระดูก
บรรณานุกรม
- Hatzenbuehler, J., and Pulling,T. (2011). Am Fam Physician. 84, 1027-1033
- Lew, D., and Waldvogel, F. (1977). New Engl J Med. 336, 999-1007
- http://emedicine.medscape.com/article/1348767-overview#showall [2021,Jan2]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK532250/ [2021,Jan2]
- https://rarediseases.org/rare-diseases/osteomyelitis/ [2021,Jan2]