กระจกตา ตาดำ (Cornea)

บทความที่เกี่ยวข้อง
กระจกตา

กระจกตา (Cornea หรือ คอร์เนีย) คือ เนื้อเยื่อชนิดหนึ่งของลูกตา เป็นเนื้อเยื่อบาง (หนา ประมาณ 0.5 - 0.6 มิลลิเมตร) ใสและโปร่งแสง อยู่ด้านหน้าของม่านตา ซึ่งในคนเอเซียม่านตามักมีสีดำ จึงทำให้เห็นกระจกตาเป็นสีดำ บางคนจึงเรียกกระจกตาว่า “ตาดำ” หรือในบางคน ตาดำก็อาจหมายถึง ม่านตา (ทั้งนี้ยังไม่มีการนิยามคำว่า ตาดำ ทั้งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 และในศัพท์แพทยศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547) และถัดจากม่านตาลึกลงไปคือ แก้วตาหรือเลนส์

ทั้งนี้ กระจกตา มีหน้าที่เป็นทางผ่านของแสง ซึ่งคือ ภาพ ที่อยู่ในรูปพลังงานแสง และช่วยหักเหแสงให้ผ่านเข้าสู่รูม่านตาและผ่านสู่แก้วตา เพื่อช่วยในการมองเห็นภาพ ส่วนม่านตา มีหน้าที่หดและขยายเพื่อปรับรูม่านตาให้หดแคบลงหรือให้ขยายมากขึ้น เพื่อการยอมให้แสงผ่านไปสู่แก้วตาได้อย่างเหมาะสมเพื่อการมองเห็นภาพได้ชัดเจน

โรคของกระจกตาที่พบได้บ่อยคือ กระจกตาถลอก กระจกตาติดเชื้อ แผลกระจกตา และที่พบได้น้อยกว่า คือ กระจกตารูปกรวย

Updated 2014, Sept 20