กระขาวที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Guttate Hypomelanosis)
- โดย รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน
- 6 ธันวาคม 2562
- Tweet
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- กระ (Freckle)
- ฝ้า (Melasma)
- สิว (Acne)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- วิตามินเอ (Vitamin A)
บทนำ
โรคกระขาวที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Guttate Hypomelanosis) เป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของเม็ดสีในผิวหนังที่พบได้บ่อย ทำให้เกิดเป็นรอยขาวกระจายตามผิวหนังได้
อาการและอาการแสดง
อาการและอาการแสดงของโรค คือ มักพบรอยโรคที่ค่อยๆมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลักษณะ วงกลม หรือวงรี สีขาว กระจายตามบริเวณต่างๆของร่างกายอย่างสมมาตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่โดนแสงแดด เช่น บริเวณแขนด้านนอก หน้าแข้ง เป็นต้น ทั้งนี้รอยโรคเหล่านี้มักไม่มีอาการคัน หรือเจ็บปวดใด ๆ
สาเหตุการเกิด
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคนี้ที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชาย
- การโดนแสงแดด
- การได้รับบาดแผลบริเวณผิวหนัง
- ปัจจัยทางพันธุกรรม และ
- ปัจจัยทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
การวินิจฉัย
ส่วนใหญ่ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จาก
- การตรวจร่างกาย การตรวจดูรอยโรค
- การซักถามประวัติอาการที่เกี่ยวข้อง
- ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆเพิ่มเติม
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เนื่องจากโรคนี้ มักไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย ไม่มีผลต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ไม่ใช่โรคติดต่อ อาจมีเพียงผลต่อความสวยงามของผิวหนัง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
การรักษา
มีรายงานการรักษาโรคนี้ด้วยวิธีต่างๆหลากหลายวิธี ซึ่งก็ให้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น
1. การใช้ยา เช่น
- การทายากลุ่มวิตามินเอ
- การใช้ยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่นยา Pimecrolimus, ทาโครลิมัส (Tacrolimus)
2. การจี้ด้วยความเย็น หรือจี้ด้วยกรดยาบางชนิด เช่น ฟีนอล (Phenol)
3. การใช้เลเซอร์ กลุ่มFractional laser
บรรณานุกรม
- Juntongjin P, Laosakul K. Idiopathic Guttate Hypomelanosis: A review of its etiology, pathogenesis, findings, and treatments. Am J Clin Derm 2016; 17: 403-11.