กระ (Freckle)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 28 พฤษภาคม 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- กระเกิดได้อย่างไร?
- กระติดต่อได้ไหม?
- กระมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยกระได้อย่างไร?
- รักษากระได้อย่างไร?
- กระก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- การพยากรณ์โรคของกระเป็นอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันเกิดกระได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ฝ้า (Melasma)
- โรคด่างขาว (Vitiligo)
- กระผู้สูงอายุ (Senile lentigo) กระแดด (Solar lentigines)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- ระบบผิวหนัง (Integumentary system)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- สารทำให้ผิวขาว (Skin whitening agent)
บทนำ
กระ (Freckle หรือ Ephelides) คือ จุดผิวเรียบที่เกิดบนผิวหนัง มีขนาดเล็กๆ สีน้ำตาลเข้มกว่าผิวหนังโดยรอบ พบบริเวณผิวหนังที่สัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะที่ใบหน้า ทั้งนี้ ไม่มีการศึกษาอัตราการเกิดอย่างชัดเจนของกระ เนื่องจากพบได้แตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติ โดยพบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวขาวและผมสีอ่อน เช่น สีแดง หรือ สีทอง เช่นในชาวยุโรป โดยไม่ได้พบตั้งแต่เกิด แต่จะเริ่มพบในช่วงวัยเด็กหลัง 3 ขวบขึ้นไป กระ จะชัดขึ้นในช่วงที่ผิวสัมผัสแสงแดดมาก เช่น ในฤดูร้อน และจะจางลงในช่วงฤดูหนาวที่มีความเข้มของแสงแดดน้อย และลดจำนวนลงเรื่อยๆตามอายุที่มากขึ้น
กระเกิดได้อย่างไร?
กระ เกิดมาจากการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสี(Melanin) ที่ชื่อว่าเมลาโนไซต์ (Melanocyte) มีการทำงานมากขึ้นกว่าปกติจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด และมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมโดยมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบเด่น(คือ สามารถแสดงลักษณะนั้นๆออกมาได้ ถีงแม้มีเพียงจีน/ยีน/Geneจากบิดาหรือจากมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว)
กระติดต่อได้ไหม?
กระ ไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด แต่เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์/พันธุกรรม โดยมีปัจจัยกระตุ้น คือ แสงแดด
กระมีอาการอย่างไร?
อาการ หรือ ลักษณะของ กระ คือ
- เป็นจุด ผิวเรียบบนผิวหนัง ค่อนข้างกลม ขอบเรียบชัดเจน (แต่บางครั้งอาจไม่เรียบได้) สีน้ำตาลเข้มกว่าผิวรอบข้าง
- ขนาดมักเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร
- มักพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดด โดยพบได้บ่อยที่สุดที่บริเวณใบหน้า
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
โดยทั่วไป เมื่อเป็นกระ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เนื่องจากไม่มีผลเสียทางสุขภาพ และรอยกระจะลดลง จากลง เมื่ออายุมากขึ้น แต่หากไม่แน่ใจว่าเป็นกระใช่หรือไม่ หรือต้องการรักษาเพื่อเหตุผลด้านความงาม ก็สามารถปรึกษาแพทย์โรคผิวหนังได้
แพทย์วินิจฉัยกระได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นกระได้จาก
- ประวัติอาการ อายุที่เกิด ประวัติการมีกระในครอบครัว
- และจากการตรวจดูรอยโรค/รอยกระ
- ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ยกเว้นแพทย์สงสัยว่ารอยโรคนั้นๆไม่ใช่กระ เช่น เป็นมะเร็งผิวหนังที่เริ่มเกิด(เช่น จุดกระโตขึ้น ผิวนูน ไม่เรียบ) แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อจากจุดนั้นเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษากระได้อย่างไร?
การรักษากระ คือ
- การทำให้สีของกระจางลง ด้วยการทาครีม/โลชั่นที่ทำให้ผิวขาวขึ้น (Whitening agent) ซึ่งตอบสนองไม่ดีนัก
- อีกวิธี คือ การรักษาด้วยเลเซอร์ ให้ผลการตอบสนองที่ดีกว่า โดยชนิดและจำนวนครั้งที่ทำ ขึ้นกับชนิดของเลเซอร์ที่เลือกใช้ นอกจากนั้น หลังรักษาด้วยเลเซอร์ กระก็สามารถกลับเป็นซ้ำได้อีก
กระก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
กระ ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ แต่อย่างใด แต่อาจส่งผลด้านความงาม ซึ่งขึ้นกับความพอใจของแต่ละบุคคล
การพยากรณ์โรคของกระเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของ กระ คือ
- เป็นภาวะที่ไม่มีอันตราย ไม่ก่ออาการอื่น
- ไม่กลายเป็นมะเร็ง
- และจำนวนของรอยโรค จะลดลงตามอายุที่มากขึ้น รวมถึงสีก็จะจางลงด้วย
ดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อเกิดกระขึ้น การดูแลตนเอง คือ การดูแลผิวหนังตามปกติ และหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดเพื่อไม่ให้กระตุ้นให้ กระ เด่นชัดขึ้น เช่น การใช้ร่ม การสวมหมวกปีกกว้าง การพยายามอยู่ในที่ร่ม และการใช้ครีมกันแดด
ป้องกันเกิดกระได้อย่างไร?
ไม่มีการป้องกันไม่ให้เกิด กระได้ เพราะสาเหตุเป็นจากพันธุกรรม แต่สามารถป้องกันไม่ให้รอยโรคเด่นชัด ซึ่งเท่าที่ทำได้ คือ การเลี่ยงแสงแดดจัด และการทาครีมกันแดด
บรรณานุกรม
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.Pigmentary disorder.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
- Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :Pigmentary disorder.eight edition.McGraw-Hill.2012
- Bastiaens M, Hoefnagel J,Westendorp R,Vermeer BJ,Bouwes Bavinck JN.Solar lentigigines are strongly related to sun exposure in contrast to ephelides.Pigment cell research .2004Jun:225-9
- Brown spot and freckle :http://www.dermnetnz.org/lesions/freckles.html [2020,May9].
- Scott Plensdolf ,MD,Common Pigmentary Disorder : http://www.aafp.org/afp/2009/0115/p109.html [2020,May9].