กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid)/Hyaluronan/Hyaluronate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดไฮยาลูรอนิค(Hyaluronic acid ย่อว่า HA หรือชื่ออื่น คือ Hyaluronan หรือ Hyaluronate) เป็นสารประกอบประเภทโพลีเมอร์(Polymer,คือสารเคมีที่มีส่วนประกอบเป็นโมเลกุลของสารต่างๆ เช่น สารโปรตีน น้ำตาลประเภทหลายโมกุล/ Polysaccharide และนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ในอุตสาหรรม พลาสติก ไนลอน วัสดุทางการแพทย์ และยาบางชนิด)ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Nonsulfated glycosaminoglycan ซึ่งพบตามเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เนื้อเยื่อของผิวหนัง และเนื้อเยื่อของระบบประสาท

กรดไฮยาลูรอนิค เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำไขข้อ/น้ำ/ของเหลวที่หล่อเลี้ยงข้อ ที่คอยทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่างๆ ที่สำคัญคือ ข้อเข่า และช่วยนำสารอาหารไปเลี้ยงกระดูกอ่อน(Articular cartilage) หากเฉลี่ยน้ำหนักตัวของคนปกติ 70 กิโลกรัม พบว่าในร่างกายจะมีกรดไฮยาลูรอนิคอยู่ประมาณ 15 กรัม และประมาณ 1 ใน 3 ของกรดชนิดนี้จะถูกทำลายและถูกสร้างขึ้นมาใหม่ภายในแต่ละวัน

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้พันธุวิศวกรรมทำให้แบคทีเรียที่ชื่อว่า Bacillus subtilis สังเคราะห์กรดไฮยาลูรอนิคได้สำเร็จ และในทางคลินิกนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กรดนี้ มาเป็นยาบำบัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม(Osteoarthritis of the knee) และภาวะอักเสบรอบข้อไหล่ (Scapulohumeral periarthritis) โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด ผู้ป่วยที่ต้องฉีดยากรดไฮยาลูรอนิคมักจะเป็นกลุ่มที่เคยใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่ได้ผล การฉีดกรดชนิดนี้เข้าในข้อเข่า หรือในข้อไหล่ จะทำให้เกิดการหล่อลื่นรวมถึงช่วยลดแรงกระแทกต่างๆที่บริเวณข้อเหล่านั้นอีกด้วย

ก่อนที่จะใช้ยากรดไฮยาลูรอนิคในการรักษาข้อเสื่อม ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ทางกระดูกเสียก่อน หลังการประเมินผลของแพทย์ แล้วพบว่าตัวยานี้ปลอดภัยและเหมาะสมต่อการใช้กับผู้ป่วย แพทย์จะทำการนัดหมายให้ผู้ป่วยมารับการฉีดยานี้ในสถานพยาบาล ผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร อาจไม่เหมาะต่อการใช้ยานี้ ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังปลีกย่อยของการใช้ยากรดไฮยาลูรอนิคชนิดฉีด เช่น

  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาจากโปรตีนของแบคทีเรียที่ใช้สังเคราะห์ตัวยานี้
  • อาจเกิดอาการแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
  • อาจเกิดการติดเชื้อในบริเวณข้อที่ได้รับการฉีดยานี้
  • หลังจากที่ได้รับการฉีดยากรดไฮยาลูรอนิคเข้าข้อแล้ว โดยเฉพาะข้อเข่า ให้หลีกเลี่ยงการใช้ข้อนั้นๆในลักษณะรุนแรง หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง เช่น การวิ่งออกกำลังกาย การยกของหนัก การยืนเป็นเวลานานๆ เป็นต้น

ยากรดไฮยาลูรอนิค สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบเห็นบ่อย อาทิเช่น การเคลื่อนไหวของข้อที่เพิ่งได้รับการฉีดยานี้จะทำได้น้อยลง ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ นั้นๆมากขึ้น เป็นต้น

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้ระบุให้ยากรดไฮยาลูรอนิคจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยากรดชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

หมายเหตุ: กรดไฮยาลูรอนิคยังสามารถนำไปใช้เป็น “น้ำตาเทียม (Artificial tear)” ซึ่งมีบทความที่อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com

กรดไฮยาลูรอนิคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

กรดไฮยาลูรอนิค

ยากรดไฮยาลูรอนิคที่นำมาใช้เป็นเภสัชภัณฑ์จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างเป็น Sodium hyaluronate เพื่อให้ง่ายต่อการใช้กับร่างกายมนุษย์ โดยมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ทางคลินิกดังนี้

  • บำบัดรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม และอาการอักเสบรอบข้อไหล่
  • ใช้เป็นสารสำคัญของน้ำตาเทียม (Artificial tear)
  • เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวพรรณ

กรดไฮยาลูรอนิคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากรดไฮยาลูรอนิค เป็นสารประเภทโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide/Polymer) มีคุณสมบัติเป็นสารหล่อลื่นของเนื้อเยื่อ เพื่อลดการเสียดสีในข้อต่อ/ข้อระหว่างกระดูกต่างๆ เช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ และยังช่วยบรรเทาอาการเสื่อมของข้อดังกล่าว

นอกจากนั้น อีกหนึ่งกลไกคือใช้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียม เพื่อช่วยหล่อลื่นลูกตาโดยทำตัวเป็นฟิล์ม(Film,แผ่นบางๆ)บางๆ ลดอาการระคายเคืองในลูกตา เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง

กรดไฮยาลูรอนิคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากรดไฮยาลูรอนิคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดบรรจุในหลอดพร้อมใช้ (Pre-fill) ขนาด 20 มิลลิกรัม/2มิลลิลิตร, 25 มิลลิกรัม/2.5มิลลิลิตร, และ 60 มิลลิกรัม/6มิลลิลิตร
  • น้ำตาเทียม (ยาหยอดตา) ขนาดความเข้มข้น 0.18%

กรดไฮยาลูรอนิคมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยากรดไฮยาลูรอนิคมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับรักษาข้อเสื่อม เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าข้อเข่า/ข้อไหล่ ขนาด 20 มิลลิกรัม/2มิลลิลิตร หรือ 25 มิลลิกรัม/2.5มิลลิลิตร 1 เข็ม อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 – 5 สัปดาห์ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระยะเวลาในการใช้ยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง วิธีการใช้น้ำตาเทียมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ตาแห้ง” และเรื่อง “น้ำตาเทียม”

อนึ่ง:

  • แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยานี้เป็น 60 มิลลิกรัม/6 มิลลิลิตร โดยขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของแพทย์
  • ห้ามฉีดยานี้ เข้าหลอดเลือด หรือเข้าข้อขณะที่ข้อดังกล่าวเกิดบาดแผลหรือมีการบาดเจ็บหรือมีการติดเชื้อ
  • หลังการฉีดยานี้ ควรพักอยู่นิ่งๆประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อลด อาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดยา และต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับวาย
  • ห้ามฉีดยานี้เข้าข้อของร่างกายพร้อมกับยาฉีดเข้าข้อชนิดอื่น เช่น ยาสเตียรอยด์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากรดไฮยาลูรอนิค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยากรดไฮยาลูรอนิค อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมมารับการฉีดยากรดไฮยาลูรอนิค ให้รีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการนัดหมายมารับการฉีดยานี้โดยเร็ว

กรดไฮยาลูรอนิคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากรดไฮยาลูรอนิค สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการเจ็บและพบผิวหนังบวมบริเวณที่ฉีดยา รู้สึกอุ่นและรู้สึกหนักบริเวณข้อที่ฉีดยานี้
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจมีความรู้สึก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เกิดภาวะช็อก

มีข้อควรระวังการใช้กรดไฮยาลูรอนิคอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากรดไฮยาลูรอนิค เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สีเปลี่ยน หรือมีผงเจือปน
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
  • หากใช้ยานี้แล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น หรือกลับทรุดหนักลง ต้องรีบด่วนกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดไฮยาลูรอนิคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กรดไฮยาลูรอนิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากรดไฮยาลูรอนิคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาทาฆ่าเชื้อโรคทางผิวหนังประเภทที่มีโครงสร้างเป็นเกลือควอเทอร์นารี แอมโมเนียม(Quaternary ammonium salts) อย่างเช่นยา Benzalkonium chloride, Cetylpyridinium ก่อนการฉีดยากรดไฮยาลูรอนิค อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาในลักษณะของการตกตะกอนของยากรดไฮยาลูรอนิค นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพของยากรดไฮยาลูรอนิคเสียไป ยังอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากการใช้ยากรดไฮยาลูรอนิคได้มากขึ้น จึงไม่ควรใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน

อนึ่งยาทาฆ่าเชื้อโรคทางผิวหนังที่สามารถใช้ด้วยกันได้กับยากรดไฮยาลูรอนิค ได้แก่ แอลกอฮอล์ 70% หรือ Povidone iodine

ควรเก็บรักษากรดไฮยาลูรอนิคอย่างไร?

ควรเก็บยากรดไฮยาลูรอนิค ในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กรดไฮยาลูรอนิคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดไฮยาลูรอนิคที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Hyalgan (ไฮอัลแกน)Fidia
Adant Dispo (แอแดนท์ ดิสโป)Meiji
Atri III (เอทรี 3)Yoo Young Pharm
Hyruan III (ไฮรูแอน ทรี)LG Life Sciences
Suplasyn (ซูพลาซิน) Mylan

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Healon, Hymoist, Hyvisc, Kineflex, Lghyal, Ryvisc, Synject

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cons/hyaluronic-acid-injection.html [2016,Dec31]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyaluronic_acid [2016,Dec31]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/adant%20dispo/?type=brief [2016,Dec31]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/atri%20iii/?type=brief [2016,Dec31]
  5. https://www.drugs.com/ppa/hyaluronate-and-derivatives.html [2016,Dec31]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/benzalkonium-chloride-topical-with-sodium-hyaluronate-339-0-2083-0.html?professional=1 [2016,Dec31]
  7. http://www.fda.gov/downloads/AdvisoryCommittees/CommitteesMeetingMaterials/Drugs/DermatologicandOphthalmicDrugsAdvisoryCommittee/UCM168774.pdf [2016,Dec31]