กรดไทรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- กรดไทรคลอโรอะซีติคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- กรดไทรคลอโรอะซีติคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดไทรคลอโรอะซีติคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดไทรคลอโรอะซีติคมีวิธีการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- กรดไทรคลอโรอะซีติคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดไทรคลอโรอะซีติคอย่างไร?
- กรดไทรคลอโรอะซีติคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดไทรคลอโรอะซีติคอย่างไร?
- กรดไทรคลอโรอะซีติคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- หูด (Warts)
- หูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ (Condyloma acuminata)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- แผลร้อนใน (Aphthous ulcer)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยากรดไทรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic acid ย่อว่า ทีซีเอ/TCA หรือ Bichloroacetic acid/BCA) นี้ ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1839 (พ.ศ. 2382) เป็นยาที่ใช้ภายนอก มีฤทธิ์กัดกร่อน เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ละลายได้ในน้ำ กรดนี้ถูกนำมาใช้ทางเวชกรรมทางผิวหนัง เช่น ลบรอยสัก รักษาโรคหูด รวมถึงหูดหงอนไก่ และทางหูคอจมูก แพทย์ยังใช้กรดนี้จี้รักษาแผลร้อนใน ด้วย
ยากรดไทรคลอโรอะซีติคไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ด้วยฤทธิ์ที่อันตราย การใช้กรดไทรคลอโรอะซีติค จึงต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ผิวหนังเท่านั้น ปัจจุบันยังมีความเข้า ใจผิดๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่พยายามเสาะหากรดตัวนี้มาใช้เอง เพื่อทำให้ผิวขาวและมักเกิด ผลข้างเคียงและผลเสียหายตามมามากมาย
กรดไทรคลอโรอะซีติคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
สรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้ของยากรดไทรคลอโรอะซีติค เช่น
- บำบัดรักษา โรคหูด รวมถึง หูดหงอนไก่
- รักษา กระ ฝ้า รอยแผลเป็นจากสิว
- ลบรอยสักในบริเวณผิวหนังชั้นตื้นๆของหนังแท้ (Superficial Dermis)
- รักษาแผลร้อนใน
กรดไทรคลอโรอะซีติคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากรดไทรคลอโรอะซีติคมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยการกัดกร่อน ทำให้โปรตีนของเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับกรดนี้ ตกตะกอนและเสียสภาพ ด้วยกลไกดังกล่าว จึงมีฤทธิ์ในการลอกและกำจัดเซลล์ผิวหนัง/เซลล์เยื่อเมือกที่ไม่ต้องการ
กรดไทรคลอโรอะซีติคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยากรดไทรคลอโรอะซีติค เช่น
- บรรจุขวดสีชาในรูปแบบสารละลาย 80% ขนาดบรรจุ 15 มิลลิลิตร
กรดไทรคลอโรอะซีติคมีวิธีการใช้อย่างไร?
วิธีการใช้ยากรดไทรคลอโรอะซีติค ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะในการรักษาหูดหงอนไก่เท่านั้น เพราะเป็นการรักษาที่ใช้ยาตัวนี้บ่อยกว่าในการรักษาโรคหรือภาวะอื่นๆ
การรักษาหูดหงอนไก่: เช่น ทาขี้ผึ้งวาสลิน (Petroleum jelly) รอบบริเวณหูดหงอนไก่เพื่อป้องกันผิวเนื้อที่ดีมิให้สัมผัสกรด จากนั้นแต้มกรดไทรคลอโรอะซีติคบนหูดหงอนไก่ ปิดทับด้วยเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม (เช่น เทปปิดแผล) ทิ้งไว้ประมาณ 5 วัน
***** อนึ่ง ด้วยฤทธิ์กัดกร่อนและเป็นอันตราย การใช้กรดไทรคลอโรอะซีติคต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ผิวหนัง เป็นต้น และหัตถการทางการแพทย์/การใช้ยานี้ต้องปฏิบัติในสถานพยาบาลเท่านั้น ห้ามนำไปใช้เองที่บ้านโดยเด็ดขาด
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยากรดไทรคลอโรอะซีติค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทาเฉพาะที่ชนิดใดหรือไม่
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาทาบางประเภทสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
กรดไทรคลอโรอะซีติคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากรดไทรคลอโรอะซีติค หากมีการสัมผัส ยานี้สามารถทำลายผิวหนังปกติ จนรู้สึกแสบ ร้อน คัน ระคายเคือง และบวม
มีข้อควรระวังการใช้กรดไทรคลอโรอะซีติคอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยากรดไทรคลอโรอะซีติค เช่น
- ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากรดชนิดนี้
- ห้ามใช้รักษาก้อนเนื้อมะเร็ง (Malignant)
- ระวังมิให้ เข้าตา หรือสัมผัสกับ เนื้อเยื่อ/ ผิวหนังส่วนที่ดี/ส่วนที่ปกติ
- การใช้ยากรดชนิดนี้ต้องเป็นแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น ห้ามใช้ด้วยตนเอง
- หากสัมผัสกับยากรดนี้โดยเหตุบังเอิญหรืออุบัติเหตุ ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
อนึ่ง:
- เนื่องจากยากรดไทรคลอโรอะซีติคเป็นยาทาเฉพาะที่ ที่มีการดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย จึงสามารถใช้รักษาโรคหูดในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้ แต่ดังกล่าวแล้วว่า *ต้องให้การรักษาโดยแพทย์เท่านั้น
***** หมายเหตุ: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากรดไทรคลอโรอะซีติคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดไทรคลอโรอะซีติคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
โดยทั่วไป ยังไม่พบว่า ยากรดไทรคลอโรอะซีติคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษากรดไทรคลอโรอะซีติคอย่างไร?
ควรเก็บยากรดไทรคลอโรอะซีติค เช่น
- เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะสีชา ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง แสงแดด
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
กรดไทรคลอโรอะซีติคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดไทรคลอโรอะซีติค มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
TRI-CHLOR (ไทร-คลอร์) | Gordon Laboratories |
บรรณานุกรม
1. https://en.wikipedia.org/wiki/Trichloroacetic_acid [2021,Jan30]
2. https://www.drugs.com/pro/tri-chlor.html [2021,Jan30]
3. https://link.springer.com/article/10.1023/A:1026357009886#page-1 [2021,Jan30]
4. https://www.realself.com/question/tca-remove-fade-tattoo [2021,Jan30]
5. https://reference.medscape.com/drug/tri-chlor-trichloroacetic-acid-topical-999550[2021,Jan30]
6. https://www.chemicalbook.com/ChemicalProductProperty_EN_CB9854255.htm [2021,Jan30]