กรดไกลโคลิก (Glycolic acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- กรดไกลโคลิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- กรดไกลโคลิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดไกลโคลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดไกลโคลิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- กรดไกลโคลิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดไกลโคลิกอย่างไร?
- กรดไกลโคลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดไกลโคลิกอย่างไร?
- กรดไกลโคลิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ผิวแห้ง (Dry skin)
- สิว (Acne)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- ผื่นแพ้แสง ผื่นแพ้แสงแดด (Photodermatitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยากรดไกลโคลิก(Glycolic acid)หรือ กรดผลไม้อย่างอ่อน/เอเอชเอ(AHA) วงการยานำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลผิวพรรณ เช่น ริ้วรอย ฟื้นฟูสภาพผิวหนัง บรรเทาอาการผิวแห้ง รักษาสิว
รูปแบบผลิตภัณฑ์ยานี้ จะใช้เป็นยาทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก)ที่มีหลายความเข้มข้นให้เลือกใช้ ผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษาการใช้ยาพวกกรดไกลโคลิกจากแพทย์ผิวหนัง เพื่อเลือกใช้ขนาดความเข้มข้นที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง
อนึ่ง: ยากรดไกลโคลิก หรือ อีกชื่อ คือ Hydroxyacetic acid หรืออาจเรียกว่าเป็น ‘กรดผลไม้อย่างอ่อนๆ (AHA: Alpha Hydroxy Acid)’ ชนิดหนึ่งที่ไม่มีสี ไร้กลิ่น และดูดความชื้นได้ง่าย ละลายได้ดีในน้ำ พบมากในตระกูลพืชที่มีการสร้างน้ำตาลได้มากเช่น อ้อย (Sugar cane)
กรดไกลโคลิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยากรดไกลโคลิก/ กรดผลไม้/ AHA มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- บำบัดริ้วรอยของผิวหน้าให้ดูดีขึ้น
- รักษาสิว
- ฟื้นฟูภาวะผิวแห้ง
- ช่วยผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกทำให้เซลล์ผิวหนังรุ่นใหม่เจริญเติบโตได้เร็วขึ้น
กรดไกลโคลิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดไกลโคลิก/ยากรดผลไม้/เอเอชเอ คือ ตัวยาจะซึมผ่านผิวหนังและช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่ตายแล้วให้หลุดลอกออกไป จึงช่วยสนับสนุนให้ร่างกายผลัดเซลล์ผิวหนังรุ่นใหม่ออกมาได้ง่ายและได้เร็วขึ้นจึงทำให้ริ้วรอยจางลง นอกจากนี้กรดไกลโคลิกยังสามารถจับกับน้ำและทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงในผิวหนังได้นานขึ้น รวมถึงช่วยปรับค่าความเป็นกรดด่างของผิวหนังให้เหมาะ สมมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้กรดไกลโคลิกมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
กรดไกลโคลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากรดไกลโคลิก/กรดผลไม้/ AHA มีรูปแบบการจัดจำหน่าย :
- สารละลาย ขนาดความเข้มข้น 20, 35 และ 50 กรัม/สารละลาย 100 มิลลิลิตร
- ยาครีม ขนาด 80 และ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักยาครีม 10 กรัม
- ยาเจล ขนาดความเข้มข้น 10 มิลลิกรัม/เจล 100 มิลลิกรัม
กรดไกลโคลิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยากรดไกลโคลิก/ กรดผลไม้/ AHA เองที่บ้านควรใช้ตามคำแนะนำวิธีการใช้จากแพทย์ผู้รักษาอย่างถูกต้องเคร่งครัด เพราะยาฯอาจก่ออันตรายต่อผิวได้ ไม่ควรซื้อยาฯมาใช้เอง
อย่างไรก็ตาม ขอยก ตัวอย่างวิธีใช้ยานี้โดยทั่วไปเพื่อให้ทราบเบื้องต้นพอเป็นสังเขป ได้แก่
ก: สำหรับยาชนิดทีเป็นสารละลาย:
- ผู้ใหญ่: ล้างทำความสะอาดใบหน้าจากเครื่องสำอางให้หมด ทาขี้ผึ้งพาราฟินหรือปิโตเลียม เจลลีตรงบริเวณผิวอ่อนบางของใบหน้า เช่น ที่ขอบตา ริมฝีปาก ร่องระหว่างจมูกกับริมฝีปาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผิวหนังในบริเวณดังกล่าวสัมผัสและเกิดอาการระคายเคืองเนื่องจากฤทธิ์ของกรดไกลโคลิก จากนั้นทาสารละลายกรดไกลโคลิกเพียงเบาบางตรงผิวหนังที่ต้องการดูแลรักษา โดยทาไล่จากหน้าผากลงมาถึงด้านข้างของใบหน้าจนถึง คาง จมูก และแก้ม ทิ้งไว้ประมาณ 2 - 5 นาที หรือจนรู้สึกใบหน้าเริ่มแดงในบริเวณที่สัมผัสกับตัวยา จากนั้นทาสารที่ช่วยทำให้ฤทธิ์ของกรดไกลโคลิกเป็นกลางและปลอดภัยมากขึ้น (Neutralized solution) เพื่อที่จะทำการล้างยากรดฯนี้ออกโดยทาเบาๆจนไม่รู้สึกถึงความร้อนจากตัวผลิตภัณฑ์ แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็นให้เกลี้ยง ซับใบหน้าด้วยผ้าเย็นเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาทีเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่สบาย หลังจากนั้นทาผิวหน้าด้วยครีมที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว (Skin moisturizer) และควรต้องใช้ยานี้ควบคู่กับครีมกันแดดเสมอเมื่อต้องออกแดดหรือถูกแสงสว่าง
ข. สำหรับชนิดทีเป็นครีมหรือเจลที่มีความข้นหนืดกว่าชนิดสารละลาย:
- ผู้ใหญ่: ทาก่อนนอน โดยล้างทำความสะอาดใบหน้าจากเครื่องสำอางให้หมด ทาครีม/เจล ลงบนใบหน้า เลี่ยงการทาในบริเวณที่มีผิวหนังบอบบางเช่น มุมจมูก โพรงจมูก ปากและบริเวณตา (ไม่จำเป็นต้องใช้ปิโตเลียม เจลลีดังในข้อ 1. เพราะตัวยาที่ข้นกว่า จะลดโอกาสซึมเข้าเนื้อเยื่อเหล่านั้น) ครั้งแรกให้ทาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำเย็นให้เกลี้ยงสะอาด ในการใช้ครั้งถัด ไปอาจปรับเวลาเพิ่มเป็น 30 นาทีจนถึง 2 ชั่วโมง แล้วค่อยล้างออก บางผลิตภัณฑ์ให้ทาทิ้งไว้ข้าม คืนและล้างออกในตอนเช้า หลังจากนั้นใช้ Skin moisturizer และครีมกันแดดเช่นเดียวกับกรณีใช้ยาทาชนิดเป็นสารละลาย
*อนึ่ง:
- เนื่องจากยานี้เป็นยาเกี่ยวกับความสวยงาม จึงห้ามใช้ยานี้ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จากผิวของเด็กจะไวต่อสาร/ยาต่างๆมากจนยาอาจก่ออันตรายรุนแรงต่อผิวของเด็กได้
- ในครั้งแรกของการใช้ยานี้ควรใช้ยาในปริมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อทดสอบว่าผิวแพ้ยานี้หรือไม่ และอย่างไร และไม่ควรใช้ถ้ายาฯก่ออาการระคายเคืองต่อผิวมาก ควรต้องกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้สั่งใช้ยาเสมอ
- เด็ก: ไม่มีข้อมูลแน่ชัดของการใช้ยานี้ในเด็กทั้งในด้าน ประสิทธิผล ขนาดยา และผลข้างเคียงจากยานี้
***** หมายเหตุ: วิธีใช้ยานี้ที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยา ของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอด้วยขนาดยามีความเข้มข้นและระยะเวลาของการใช้ที่แตกต่างกันออกไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดไกลโคลิก/กรดผลไม้/ AHA ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/ หายใจ ติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากรดไกลโคลิกอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายากรดไกลโคลิก/ กรดผลไม้/ AHA สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กรดไกลโคลิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากรดไกลโคลิก/ กรดผลไม้/ AHA อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- สามารถทำให้ผิวลอกและเกิดเป็นจุดดำหรือน้ำตาลในบริเวณที่ใช้ยานี้
- ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง
- อาจกระตุ้นให้เกิดอาการคัน
- ทำให้ผิวแพ้แสงแดด ได้ง่าย ดังนั้น ระหว่างใช้ยานี้ควรเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานาน
- อาจทำให้เกิดอาการบวมของผิวหนังที่ใช้ยา
- ผิวแห้ง
- ระคายเคืองผิวหนังที่ใช้ยา
มีข้อควรระวังการใช้กรดไกลโคลิกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากรดไกลโคลิก/ กรดผลไม้/ AHA เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาผลิตภัณฑ์กรดไกลโคลิก/กรดผลไม้
- ห้ามให้ผลิตภัณฑ์นี้ เข้าตา ปาก หรือบริเวณที่เป็นผิวอ่อนบาง
- ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวส่วนที่ใช้ยาฯ ได้รับแสงแดดหรือถูกแสงแดดโดยตรง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากรดไกลโคลิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดไกลโคลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาผิวภายนอก (ยาใช้ภายนอก) จึงยังไม่พบรายงานปฏิกิริยาระหว่างยากรดไกลโคลิก/ กรดผลไม้/ AHA กับกลุ่มยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษากรดไกลโคลิกอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยากรดไกลโคลิก/ กรดผลไม้/ AHA:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิด มิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
กรดไกลโคลิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดไกลโคลิก/กรดผลไม้/ AHA มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Glycore (ไกลคอร์) | Pharmacore |
TDF Glycolic Acid Peel (ทีดีเอฟ ไกลโคลิก เอซิด พีล) | Ocean Health |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Glycolic_acid#Uses [2021,July24]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/tdf%20glycolic%20acid%20peel?type=full [2021,July24]
- https://www.mims.com/indonesia/drug/info/glycore [2021,July24]
- https://www.drugsupdate.com/generic/view/1140/Glycolic-acid [2021,July24]
- https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-977/alpha-hydroxy-acids-ahas [2021,July24]
- https://www.dermatech.co.nz/Information/About-Glycolic-Cream/#howtousegc [2021,July24]
- https://www.peterthomasroth.com/collections/glycolic/ [2021,July24]